พลีกรรม

 
Krishrong
วันที่  28 เม.ย. 2561
หมายเลข  29698
อ่าน  4,433

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 421

กุณฑกปูวชาดก
ว่าด้วย มีอย่างไรกินอย่างนั้น

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเทวดา สถิต
ณ ต้นละหุ่งต้นหนึ่ง ครั้งนั้น พวกมนุษย์ในหมู่บ้านนั้น พากัน
ยึดเอารุกขเทวดาเป็นมงคล เมื่อถึงงานมหรสพคราวหนึ่ง พวก
มนุษย์ต่างพากันกระทำพลีกรรมแก่รุกขเทวดาของตนๆ ครั้งนั้น
มีทุคคตมนุษย์ผู้หนึ่ง เห็นคนเหล่านั้น พากันปรนนิบัติรุกขเทวดา
ก็ปฏิบัติต้นละหุ่งต้นหนึ่ง ผู้คนทั้งหลายพากันถือเอาดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้และของขบเคี่ยวของบริโภคเป็นต้น
นานัปการไป เพื่อเทวดาทั้งหลายของตน ฝ่ายเขามีแต่ขนมรำ
ก็ถือไปพร้อมกระบวยใส่น้ำ หยุดยืนไม่ไกลต้นละหุ่ง คิดว่า
ธรรมดาย่อมเสวยแต่ของขบเคี้ยวอันเป็นทิพย์ เทวดาคงจักไม่เสวย
ขนมรำนี้ของเรา เราจะยอมให้ขนมเสียหายไปด้วยเหตุนี้ทำไม
เรานั่นแหละจักกินขนมนั้นเสียเอง แล้วก็หวลกลับไปจากที่นั้น.
พระโพธิสัตว์ สถิตเหนือค่าคบกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญ หากท่าน
เป็นใหญ่เป็นโต ก็ต้องให้ของขบเคี้ยวที่อร่อยแก่เรา แต่ท่าน
เป็นทุคคตะ เราไม่กินขนมของท่านแล้ว จักกินขนมอื่นได้อย่างไร
อย่าให้ส่วนของเราต้องเสียหายไปเลย แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :-
"บุรุษกินอย่างไร คนของบุรุษก็กิน
อย่างนั้น ท่านจงเอาขนมรำนั้นมา อย่าให้ส่วน
ของเราเสียไปเลย" ดังนี้.

อยากเรียนถามอาจารย์ถึง
1.รายละเอียดเพิ่มเติมของการทำพลีกรรม
2.การไหว้เจ้าในบ้านแล้วเอากลับมากิน จะถือว่าเป็นพลีกรรมหรือไม่
3.พลีกรรมต่างจากการทำบุญ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เทวดาหรือบรรพบุรุษหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 เม.ย. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1.รายละเอียดเพิ่มเติมของการทำพลีกรรม

คำว่า พลีกรรม ตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์ หมายถึง การสละ การสละ มี ๒ ประเภท สละเพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์ ๑ สละเพื่อบูชาคุณ ๑ การทำพลี ข้อความบางตอนจากปัตตกัมมสูตรมีดังนี้....อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมเป็นผู้ทำพลี ๕ คือญาติพลี (สงเคราะห์ญาติ) อติถิพลี (ต้อนรับแขก) ปุพพเปตพลี (ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย) ราชพลี (ช่วยราชการ) เทวตาพลี (ทำบุญอุทิศให้เทวดา) ด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่นขยัน ฯลฯ ที่ได้มาโดยธรรม นี้เป็นกรรมที่สมควรข้อที่ ๓ของอริยสาวกนั้น เป็นการชอบแก่เหตุแล้ว เป็นการสมควรแล้ว เป็นการใช้ (โภคทรัพย์) โดยทางที่ควรใช้แล้ว..

2.การไหว้เจ้าในบ้านแล้วเอากลับมากิน จะถือว่าเป็นพลีกรรมหรือไม่

การไหว้เจ้า ไม่ใช่การทำกุศล ไม่ใช่การอุทิศให้เทวดา ไม่ใช่พลีกรรม ครับ

3.พลีกรรมต่างจากการทำบุญ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เทวดาหรือบรรพบุรุษหรือไม่

พลีกรรมมีความหมายกว้างขวาง ตามที่ข้อที่ 1 อธิบายไว้ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 28 เม.ย. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อแสวงหาทรัพย์ได้มาโดยชอบธรรมแล้ว ผู้ที่เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตรงตามความเป็นจริง ย่อมใช้จ่ายทรัพย์ใทางที่เป็นประโยชน์ ด้วยการเลี้ยงตนเอง เลี้ยงมารดา บิดา เป็นต้นให้เป็นสุข ใช้ทรัพย์ในการป้องกันภัยอันตรายต่างๆ รวมถึงใช้ทรัพย์ในการทำพลีกรรม ๕ อย่าง คือ สงเคราะห์ญาติ ต้อนรับแขก ช่วยราชการ ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ทำบุญอุทิศให้เทวดา และที่สำคัญพลีกรรมในทางพระพุทธศาสนา ต้องเป็นไปในทางที่เป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่การทำอะไรด้วยความไม่รู้ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Krishrong
วันที่ 29 เม.ย. 2561

..ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ..

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 3 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 4 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kullawat
วันที่ 9 พ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ