มิจฉาสมาธิเพื่อสุขภาพ

 
pdharma
วันที่  16 พ.ย. 2558
หมายเลข  27222
อ่าน  831

ปัจจุบันมีหลักฐานการวิจัยทางการแพทย์มากขึ้นเกี่ยวกับประโยชน์ของการทำสมาธิ (meditation) ทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออก เช่น ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ลดความดันโลหิต เพิ่มการไหลเวียนของเลือดสู่สมอง เพิ่มความหนาของเปลือกสมอง (cortical thickness) ลดความเครียดและฮอร์โมน cortisol ที่หลั่งขณะมีภาวะเครียด เป็นต้น

ประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ป่วยบางโรคหันมาทำสมาธิประเภทนี้กันมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพและป้องกันโรค หากเปรียบแล้วก็ไม่ต่างจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและป้องกันโรค

ในสังคมไทยก็มักจะไปตามสำนักต่างๆ ที่สอนการทำสมาธิ ผู้ที่ไปทำสมาธิในสำนักเหล่านั้นจึงอาจไปด้วยจุดมุ่งหมายแตกต่างกันไป นั่นคือส่วนหนึ่งไปฝึกเพื่อสุขภาพ การฝึกมิจฉาสมาธิเพื่อรักษาสุขภาพนี้ ในทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควร อย่างไร

ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ ดังนี้

โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์นั้น นอกจากจะพอใจในรูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ และพอใจบัญญัติในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ยังพอใจในมิจฉาสมาธิได้ เช่น ผู้ที่พอใจในการบริหารร่างกาย รู้ว่าถ้าฝึกแบบโยคะโดยให้จิตตั้งมั่นจดจ้องที่ลมหายใจจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ในขณะนั้นเป็นการทำสมาธิประเภทหนึ่ง ซึ่งเมื่อไม่ใช่กุศลจิตก็จะต้องเป็นโลภมูลจิตซึ่งเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ผู้นั้นไม่ได้เห็นผิดว่านี้เป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ขณะนั้นเป็นแต่เพียงความพอใจที่จะทำสมาธิ และรู้ว่าในขณะนั้นมีความต้องการสมาธิเพื่อประโยชน์แก่สุขภาพร่างกาย ไม่ใช่เห็นผิดโดยยึดถือว่าต้องทำอย่างนี้เสียก่อน แล้วภายหลังจึงมาพิจารณานามธรรมและรูปธรรม จะได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็ไม่เข้าใจลักษณะของสัมมาสติ ไม่รู้ว่าสัมมาสติเป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่ว่าให้ไปทำมิจฉาสมาธิก่อน แล้วจะได้มาเกื้อกูลให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

แต่การที่สติจะเป็นสัมมาสติเป็นมรรค ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ ได้ก็ต่อเมื่อมี สัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นอารมณ์ที่สติจะต้องระลึกโดยถูกต้องและละเอียดขึ้น เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง เช่น ทางตา ที่กำลังเห็น ก็จะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นบัญญัติและขณะใดเป็นปรมัตถ์ ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เช่นเดียวกัน


ซึ่งจากคำถามที่ว่า ควรทำ ไม่ควรทำนั้น ถ้ากล่าวสัจจะ ตามความเป็นจริง ในเมื่อเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศลธรรม พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญแม้อกุศลเล็กน้อย ก็ไม่ควรโดยประการทั้งปวง แต่ที่สำคัญก็ให้เข้าใจถูกในความเป็นอนัตตา ความเป็นปุถุชนที่หนาด้วยกิเลส ที่ยังยินดี พอใจติดข้อง รักตน ก็มีเหตุปัจจัยให้กิเลส ประพฤติแบบใด ก็ตามเหตุปัจจัยนั้น เหมือนที่รู้ว่า โกรธไม่ดี ไม่ควร แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดโกรธขึ้นอันแสดงถึงความเป็นอนัตตา ครับ เพราะฉะนั้น ไม่ควรลืมหนทางที่ถูกไม่ว่าสิ่งใดเกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมาธิ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกขณะ ไม่ต้องไปทำ เพราะทำไม่ได้ สมาธิเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดเพราะมีปัจจัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูลแก่พุทธบริษัท เพื่อการอบรมเจริญปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งสภาพธรรมที่มีจริงนั้น ก็มีจริงในขณะนี้ ไม่ได้ปราศจากธรรมเลย จึงควรอย่างยิ่งที่จะมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจก่อน ไม่ควรไปทำอะไรโดยที่ไม่เข้าใจ เพราะนั่นมีแต่จะเพิ่มพูนอกุศล ความติดข้อง ความไม่รู้ และความเห็นผิดให้มากขึ้น จะเห็นได้จริงๆ ว่าแต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง การประพฤติปฏิบัติผิด ไม่ได้มีเฉพาะในสมัยนี้ ในสมัยก่อนๆ ตลอดจนถึงแม้ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ปฏิบัติผิดก็มี ซึ่งก็คือความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศล นั่นเอง เมื่อเป็นอกุศล แล้ว ก็มีแต่โทษโดยส่วนเดียว เพราะอกุศล ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก ก็ไม่ดี แม้คนส่วนใหญ่จะเป็นอกุศล แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจความจริงจากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะมั่นคงในความถูกต้อง ไม่คล้อยไปในทางที่ผิดเหมือนคนส่วนใหญ่ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pdharma
วันที่ 17 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 24 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 29 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Jarunee.A
วันที่ 21 ก.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ