อยากทราบความต่างของ ผัสสะ กับ เวทนาครับ

 
กุมารน้อย
วันที่  25 ม.ค. 2550
หมายเลข  2710
อ่าน  2,245

คือ เกิดผัสสะก่อนแล้วจึงเกิดเป็นเวทนาใช่หรือไม่? แล้วอย่างไรจึงจะระลึกรู้ว่าเป็นเวทนา มิใช่เจตสิก (สังขาร) ที่คิดปรุงแต่งไป เช่น เวลาโดนฉีดยา ผัสสะเกิดเพราะ เข็ม ซึ่งเป็นอารมณ์ เข้ามากระทบกับผิวหนัง ซึ่งเป็นอายตนะ เกิดจิตรู้สึกที่ผิวหนัง ครบเป็นกระบวนการผัสสะ จึงเกิดเป็นเวทนา (รู้สึกเจ็บ) ขึ้นใช่หรือไม่? หรือความรู้สึกเจ็บตรงนี้มิใช่เวทนาแต่เป็นเพียงผัสสะเท่านั้น? และหากมีความคิดต่อไปว่าเป็นเราที่เจ็บ อย่างนั้นเป็นเจตสิกที่เกิดใช่หรือไม่? ขอความกระจ่างด้วยครับ เพื่อการระลึกรู้ที่ตรงกับสภาพธรรมะที่ปรากฏจริงๆ มิใช่การคิดปรุงแต่งไปเอง

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 26 ม.ค. 2550

ตามหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์โดยนัยปรมัตถธรรม ผัสสะและเวทนาเมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดพร้อมกันเสมอ คือ ไม่ก่อนไม่หลังในขณะจิตเดียวกันเลย ส่วนสังขารก็เช่นเดียวกันเกิดพร้อมกันในขณะจิตเดียวกัน แต่สังขารขันธ์บางประเภทไม่เกิดร่วมกัน เช่น กุศลสังขาร ไม่เกิดร่วมกับอกุศลสังขาร แต่โดยรวมเมื่อจิตเกิดขึ้นมีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ผัสสเจตสิกก็เป็นสังขารขันธ์

สรุป คือ ทุกขณะจิตขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้นเป็นไปพร้อมกัน แต่นามขันธ์เกิดดับเร็วกว่ารูปขันธ์ แต่โดยนัยพระสูตรอาจจะกล่าวได้เช่นกันว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนาเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ปุถุชนคนหนึ่ง
วันที่ 26 ม.ค. 2550

ธรรม คือ ธรรมดา คือ ปกติในชีวิตประจำวันนั่นเองค่ะ ขณะนี้มีสภาพเห็น มีสิ่งที่ถูกเห็นใช่มั้ยคะ ไม่ทราบเข้าใจว่าอย่างไรบ้างคะ? สิ่งที่เราคิดว่าธรรมดาๆ นี่แหละค่ะ เป็นสิ่งที่ควรทำความเข้าใจและไม่ควรมองข้าม แต่โดยมากคนเรามักอยากจะรู้สิ่งที่ไกลตัวและเกินวิสัย (ถูกโลภะชักจูงไปอีกแล้ว) การศึกษาปริยัติจะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าไม่เกื้อกูลต่อความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฎในขณะนี้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 27 ม.ค. 2550

สภาพธัมมะเกิดดับอย่างรวดเร็ว จากที่คุณกล่าวว่า และหากมีความคิดต่อไปว่าเป็นเราที่เจ็บ อย่างนั้นเป็นเจตสิกที่เกิดใช่หรือไม่? ไม่ต้องรอให้ให้คิดว่าเป็นเราที่เจ็บ ผัสสะ กับเวทนาที่เกิดร่วมด้วยกับ ทุกขกายวิญญาณก็เกิดแล้ว แต่ที่คุณคิดต่อทีหลังว่า เป็นเราเจ็บ ขณะนั้นก็เป็นสภาพคิดนึกซึ่งเป็นจิตที่คิด และก็มีเจตสิก อื่นประกอบด้วย ที่สำคัญก็มี ผัสสะ และเวทนาเจตสิก เกิดพร้อมกันอีกนั่นแหละ เพราะเหตุใด เพราะเจตสิก 2 ดวงนี้ เกิดกับจิตทุกดวงครับ

และที่คุณกล่าวเรื่อง ขอความกระจ่างด้วยครับ เพื่อการระลึกรู้ที่ตรงกับสภาพธรรมะที่ปรากฏจริงๆ มิใช่การคิดปรุงแต่งไปเอง ขอบคุณครับ ต้องเข้าใจว่า สติปัฏฐาน มีอะไร เป็นอารมณ์ ต้องมีปรมัตถ์ เป็นอารมณ์ บัญญัติ หรือเรื่องราว เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ ดังนั้น ที่คุณคิดว่าเป็นเราที่เจ็บ ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะเป็นจิตที่คิดนึก โดยมีเรื่องราว (บัญญัติ) เป็นอารมณ์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornpaon
วันที่ 27 ม.ค. 2550
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
กุมารน้อย
วันที่ 29 ม.ค. 2550

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความกระจ่างครับ ผมคิดว่าตนเองนั้นยังศึกษามาน้อย หากเข้าใจอะไรผิดไปก็กราบขออภัยและขอผู้รู้โปรดชี้ทางที่ถูกด้วย ขอบพระคุณญาติธรรมทุกคนครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ