บิณฑบาต

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  26 ก.ค. 2558
หมายเลข  26822
อ่าน  1,500

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภิกษุและคฤหัสถ์ ควรปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างไร กรณีภิกษุรับบิณฑบาตรจนเต็มแล้ว ต้องหิ้วถุงอาหารอีกต่างหาก พระธรรมวินัย บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับบิณฑบาตอย่างไร

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ลึกซึ้ง ขออธิบายตามกำลัง ความเข้าใจครับ สำหรับการรับอาหารบิณฑบาตของพระภิกษุ ผู้เป็นเพศขัดเกลาอย่างยิ่ง ทุกอย่างก็ต้องเหมาะสมสมควร โดยมีเหตุและผลในการรับครับ อย่างเช่น ในกรณีที่พระภิกษุรับอาหารเกินประมาณไป ก็ไม่สมควรกับเพศพระภิกษุ แต่ถ้าการรับนั้นคือ ภิกษุรูปนั้นรับเต็ม 3 บาตรก็ต้องมีเหตุครับ คือ มีเจตนาไปให้พระภิกษุสงฆ์ที่ในวิหาร แต่ไม่ใช่เพื่อคนอื่นที่อาศัยในวัด เช่น เด็กวัด ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ได้ครับ ต้องกับพระภิกษุทั้งหลายในวัด และถ้ามีผู้นิมนต์ ปวารณา ถ้าจะรับมากก็ได้ แต่ในอรรถกถา ก็แสดงครับว่า ควรรับพอประมาณครับ และภาชนะที่จะใส่ แบ่งไปที่วิหาร (ที่จะถ่ายของกัน) ในเสขิยวัตร ท่านแสดงว่าเป็นบาตรครับ เช่น ภิกษุนำบาตรมาสองใบ รับเต็ม 2 บาตรและก็ส่งบาตรกลับไปที่วิหารให้กับพระภิกษุทั้งหลายครับ ดังนั้นพระท่านรับได้ แต่ต้องมีเหตุอันสมควร และไม่รับมากเกินไป ถ้าเห็นว่า ของท่านจะล้นบาตร เรามีอาหาร ก็อย่าใส่ให้ท่านล้นบาตร เพราะต้องเสมอขอบบาตร และถ้าเห็นว่า พระท่านมีของถ่ายถุง เยอะมากมาย ก็ไม่ควรใส่ครับเพราะอาจทำให้ท่านต้องอาบัติได้ เพราะในอรรถกถาก็ได้แสดงว่า แม้เขามีศรัทธาก็ควรรับพอประมาณครับ ทางที่ดี ก็ควรไปที่ต้นซอย หรือซอยอื่น หรือถวายกับพระภิกษุหรือ สามเณรก็ได้ ที่ยังมีของน้อยอยู่ครับ ไม่เช่นนั้น พระภิกษุที่ไม่ได้ประพฤติตามพระธรรมวินัย ก็อาจจะอ้างได้ว่าเพื่อรักษาศรัทธา แต่รับเกินประมาณเกินไป โดยไม่มีเหตุคือ เพื่อพระภิกษุทั้งหลาย ก็จะย่ำยีพระธรรมวินัยและทำให้พระศาสนาเสื่อมเร็วและตัวท่านเองก็ต้องอาบัติได้โดยไม่รู้ตัวครับ

การกระทำทุกอย่าง ควรมีเหตุ (รับอาหาร 2- 3 บาตรเพื่อเพื่อภิกษุทั้งหลาย) และต้องเหมาะสมครับ บรรพชิต เป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ซึ่งจะต้องขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นอย่างยิ่งซึ่งถ้าได้ศึกษาพระธรรมวินัยและมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติด้วยความจริงใจ ย่อมจะเกิดผลดีต่อตัวท่านเองที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการได้ถือเพศเป็นบรรพชิต และยังเป็นเหตุให้คฤหัสถ์ผู้พบเห็นในกิริยาอาการ ความประพฤติต่างๆ อันสมควรแก่ความเป็นบรรพชิต เกิดกุศลจิตอนุโมทนา หรือ เกิดความเลื่อมใส ได้ด้วย แม้แต่ในเรื่องของการบิณฑบาต ซึ่งตามพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุจะต้องรับอาหารบิณฑบาตแต่พอประมาณ คือ รับพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้วันหนึ่งคืนหนึ่ง เท่านั้น ไม่ควรรับเกินขอบบาตร เพราะถ้ารับเกินขอบบาตร นอกจากสะสมความเป็นผู้มักมากด้วยแล้ว ยังเป็นอาบัติมีโทษทางพระวินัย ด้วย ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว พระวินัยบัญญัติทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ ล้วนเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุ เป็นเพศบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่แตกต่างไปจากคฤหัสถ์ ที่จะต้องศึกษาพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมเป็นโทษแก่ตนเองเท่านั้น เป็นผู้ไม่ได้รับประโยชน์จากการได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่กลับสะสมโทษให้กับตนเองมากยิ่งขึ้น เพราะจริงๆ แล้ว ชีวิตของพระภิกษุดำรงอยู่ด้วยศรัทธาของชาวบ้าน ก็ควรอย่างยิ่งที่จะกระทำตนให้เป็นผู้สมควรแก่การที่จะรับอาหารบิณฑบาตจากชาวบ้านที่เขาถวายด้วยศรัทธา และจะเห็นได้ว่า การบิณฑบาต ก็มีสิกขาบทหลายข้อ ให้พระภิกษุได้ศึกษาและสำรวมตาม เริ่มตั้งแต่ เดินไปตามลำดับบ้าน รับอาหารบิณฑบาตด้วยความเคารพ แลดูแต่ในบาตรในขณะรับอาหารบิณฑบาต ไม่รับอาหารเกินขอบบาตร เป็นต้น และที่สำคัญอาหารที่ได้มานั้น เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต เพื่อที่จะให้ชีวิตเป็นไปได้ และ เห็นคุณของก้อนข้าว ที่จะได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 26 ก.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
talaykwang
วันที่ 3 ก.พ. 2563

ขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Jarunee.A
วันที่ 23 ก.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ