“อุเบกขา” กับ “อุเบกขาพรหมวิหาร”

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  6 ก.ค. 2558
หมายเลข  26738
อ่าน  2,017

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนขอคำอธิบายความแตกต่างเกี่ยวกับ “อุเบกขา” กับ “อุเบกขาพรหมวิหาร” ค่ะ

ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับความอนุเคราะห์ให้ได้รับความรู้ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุเบกขาไม่ได้หมายถึงเพียงเวทนาที่เป็นความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เท่านั้น ยังมีความหมายอย่างอื่น มุ่งหมายถึงสภาพธรรมอย่างอื่นด้วย ดังข้อความบางตอนที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวไว้ในเรื่องของอุเบกขา ๑๐ ดังต่อไปนี้

ฉฬงคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่วางเฉยในอารมณ์ ๖ ของพระอรหันต์ผู้ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว

พรหมวิหารุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งวางเฉยเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย

โพชฌังคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เป็นองค์ คือ ส่วนประกอบที่ทำให้ตรัสรู้อริยสัจธรรม

วิริยุเปกขา ได้แก่ วิริยเจตสิกที่เป็นความเพียรถูก ซึ่งไม่ตึงนักไม่หย่อนนักในการเจริญภาวนา

สังขารุเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่วางเฉยเมื่อประจักษ์ไตรลักษณะของสังขารธรรม

เวทนุเปกขา ได้แก่ เวทนาเจตสิกที่ไม่รู้สึกเป็นทุกข์หรือเป็นสุข

วิปัสสนูเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่เป็นกลางในการพิจารณาอารมณ์ที่เกิดตามเหตุปัจจัย

ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยอคติ

ฌานุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกในฌาน ซึ่งคลายความฝักใฝ่ในธรรมอื่นที่ทำให้ไม่สงบมั่นคง โดยเฉพาะได้แก่ตติยฌาน (โดยจตุกกนัย) ซึ่งคลายปีติแล้ว

ปาริสุทธุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกในจตุตถฌาน (โดยจตุกกนัย) ซึ่งสงบหมดจดแล้วจากข้าศึกทั้งปวง ไม่ต้องทำกิจละองค์ฌานใดอีก" ทั้งหมดนั้น เป็นเจตสิกธรรมแต่ละประเภทๆ ตามความเป็นจริงของธรรม

ถ้าจะมุ่งถึงเฉพาะอุเบกขาที่เป็นพรหมวิหารธรรม แล้ว ก็พิจารณาได้ว่า อุเบกขาเป็นความเป็นกลางในธรรมนั้นๆ คือ เป็นผู้วางตนเป็นกลาง มีความเป็นไปเสมอ โดยเว้นการยินดียินร้าย คือ ไม่ยินดียินร้าย ดุจตาชั่งที่จับไว้เสมอกัน

เวลาที่เห็นใครกระทำผิด เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ถ้าเป็นผู้ที่ได้อบรมเจริญอุเบกขา ก็จะมีความเป็นกลาง ไม่เอนเอียง จะมีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่าผู้ที่กระทำในสิ่งที่ไม่ดี ผลที่ไม่ดีก็ย่อมจะเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นอย่างแน่นอน หรือแม้กระทั่งเวลาที่เขาได้รับในสิ่งที่ดีที่น่าพอใจ ก็จะไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียงไป ด้วยอำนาจของโลภะความติดข้องยินดีพอใจ

อีกประการหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ อุเบกขาพรหมวิหาร บางครั้งก็แปลว่า ความวางเฉย แต่ความวางเฉยที่เป็นอุเบกขาพรหมวิหารนั้น เกิดจากการที่เห็นสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ไม่ได้หมายความว่าวางเฉย (อยู่เฉย) โดยไม่ให้ช่วยเหลือ แต่ควรช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ แต่เมื่อไม่สามารถช่วยเหลือได้มากกว่านี้ ก็มีปัญญาที่เข้าใจว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เขามีกรรมที่จะต้องได้รับผลอย่างนั้น ดังนั้น กิจหน้าที่ของอุเบกขาพรมหวิหารคือความวางเฉย เป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปในทางอกุศลทั้งโลภะ โทสะ เป็นต้น นั่นเอง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ตามความเป็นจริง เพราะสิ่งที่กำลังฟังกำลังศึกษาให้เข้าใจนั้น ล้วนมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องฟัง ต้องศึกษาให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง จากที่มากไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริงๆ ตั้งแต่ขั้นฟังว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้ในที่สุด แม้แต่ อุเบกขาพรหมวิหาร ก็มีจริงในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ศึกษาจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีจริง

กิจของอุเบกขาพรหมวิหาร เป็นความเที่ยงตรง มีความเป็นกลางไม่เอนเอียงไปด้วยความรักหรือความชัง มีความเป็นกลางไม่ยินดียินร้าย ว่าโดยสภาพธรรมแล้วก็ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตาเจตสิกนั่นเอง เจตสิกนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่เอนเอียง เที่ยงตรง เป็นกลาง ซึ่งเป็นการยาก ลองพิจารณาดูถึงการที่จะเป็นผู้ที่ตรง ไม่เอนเอียง ในเมื่อยังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แล้วจะเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณาและจะต้องเป็นผู้ตรงต่อสภาพของจิตจริงๆ

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อเกื้อกูลให้ได้เข้าใจว่า กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล กุศลควรอบรมเจริญ ควรสะสมให้มีขึ้น แต่ถ้าเป็นอกุศลแล้ว ควรเห็นโทษแล้วถอยกลับจากอกุศล ไม่ควรสะสมให้มีมากขึ้น สภาพธรรมที่ดีงามในชีวิตประจำวันย่อมคล้อยไปเป็นไปตามความเข้าใจพระธรรมอย่างแท้จริง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 6 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ก.ค. 2558

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 6 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 7 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jirat wen
วันที่ 21 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kullawat
วันที่ 24 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 19 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ