ต้องการแยกแยะถึงสิ่งที่กระทบและจิตเจตสิกทำหน้าที่กันอย่างไร

 
young
วันที่  22 พ.ค. 2558
หมายเลข  26566
อ่าน  711

เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วผมได้ไปทำบุญที่จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากพระรูปหนึ่งส่งจดหมายมา

ในคราวนั้นเป็นช่วงกฐินเป็นสำนักสงฆ์ พระที่จดหมายมานั้นได้ (เป็นพระสายธรรมยุติ) สวดมนต์ รับกฐิน ดูเหมือนทุกอย่างจะเรียบร้อย แต่พอหันมาเห็นผ้าสีขาว (ที่ตั้งใจเตรียมนำมาทำพิธี) ถูกนำไปปูรอง อาหารที่ถวายพระ พระรูปนั้นก็เกิดโทสะ กล่าวว่า ผู้ที่นำสวดที่เป็นฆราวาส ว่า มีใจทางมหายาน เลยตั้งใจมาทำลายพิธี

ในคราวนั้น ผู้มาร่วมบุญก็พากันลุกและขึ้นรถกลับบ้าน หนึ่งในนั้นได้กล่าวว่าหากเป็นพระแล้วไม่สำรวม ไม่สามารถระงับความโกรธได้ ก็ขอลาละ แล้วก็พากันกลับ

คำถาม

1.สิ่งที่เป็นรูปกระทบต่อพระรูปนั้นคือด้าน การเห็น ทางตา ใช่หรือไม่

2.จิตได้รับเอาอารมณ์ ของการไม่พอใจของการใช้ผ้านั้นใช่หรือไม่

3.เจตสิกเริ่มต้นจากโมหะ และ โทสะ และ มี ทิฏฐิ ด้วยใช่หรือไม่ และเจตนาเจตสิก ใช่หรือไม่

4.การกล่าววาจาออกไป ถือเป็นการสร้างอกุศลใหม่ซึ่งจะต้องติดตามไปในโอกาสต่อไปเมื่อกรรมส่งผลใช่หรือไม่

5.ผู้ร่วมบุญที่กล่าวกับภิกษุไปนั้นจะมีกรรมใหม่หรือไม่ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 22 พ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้วก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม สภาพรู้ ธาตุรู้ ได้แก่จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ นั่นก็คือ รูปธรรม ชีวิตประจำวันไม่พ้นจากนี้เลย ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกได้เลย

จากประเด็นคำถาม ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นสั้นๆ ดังนีี้

๑.สิ่งที่เป็นรูปกระทบต่อพระรูปนั้นคือด้าน การเห็น ทางตา ใช่หรือไม่

ขณะนั้น ย่อมมีการเห็น สภาพที่เห็นเป็นนามธรรม เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้สีที่ปรากฏทางตา แล้วก็มีการคิดนึกว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้

๒.จิตได้รับเอาอารมณ์ ของการไม่พอใจของการใช้ผ้านั้นใช่หรือไม่

เพียงขณะที่เห็น ขณะนั้น เป็นวิบาก เป็นของกรรม เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็ดับไป แต่จากจากนั้น หลังจากที่เห็นแล้ว เพราะสะสมมาที่จะไม่พอใจ โทสะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ใครๆ เลยทั้งสิ้น แต่เพราะโทสะเกิดขึ้นกับพระรูปนั้น จึงกล่าวได้ว่า พระภิกษุรูปนั้น เป็นผู้โกรธ๓.เจตสิกเริ่มต้นจากโมหะ และ โทสะ และ มี ทิฏฐิ ด้วยใช่หรือไม่ และเจตนาเจตสิก ใช่หรือไม่

ธรรม เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ ศึกษาจริงๆ ขณะที่เป็นอกุศล ยกตัวอย่างขณะที่เกิดโทสะ ขณะนั้น โทสะ ก็มี โมหะ ก็มี เจตนาก็มี ซึ่งเป็นอกุศลเจตนา และจิตก็เป็นอกุศลจิต ด้วย แต่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าทิฏฐิหรือความเห็นผิดนั้น จะเกิดร่วมกับจิตที่มีโลภะ เป็นมูล เท่านั้น

๔.การกล่าววาจาออกไป ถือเป็นการสร้างอกุศลใหม่ซึ่งจะต้องติดตามไปในโอกาสต่อไปเมื่อกรรมส่งผลใช่หรือไม่

ถ้ามีการว่าร้าย กล่าวร้ายต่อผู้อื่น ประทุษร้ายผู้อื่น ก็เป็นอกุศลกรรมทางวาจา เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีแล้วในขณะนั้น เมื่อเป็นอกุศลกรรมแล้ว สามารถให้ผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้ ตามความเป็นจริงแล้วแต่ละคนมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสมดีบ้าง ไม่ดี บ้าง เมื่อพบเห็นพฤติกรรมที่ไม่ดีของคนอื่น แล้วเกิดความไม่พอใจ จนถึงล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ นั้น เป็นอกุศล เป็นโทษกับตนเองโดยส่วนเดียว เพราะแท้ที่จริงแล้ว บุคคลที่ควรโกรธ ไม่มี และเป็นที่น่าพิจารณาว่า ใครๆ ก็ทำให้เราโกรธไม่ได้ ถ้าเราไม่มีความโกรธ

๕.ผู้ร่วมบุญที่กล่าวกับภิกษุไปนั้นจะมีกรรมใหม่หรือไม่

อกุศล เป็นอกุศล ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ถ้ามีการว่ากล่าวด้วยจิตที่เป็นอกุศล ด้วยโทสะ ขณะนั้น เป็นอกุศล เป็นการสะสมเหตุใหม่ที่ไม่ดี แต่ถ้ามีการกล่าวถึงความจริงเกื้อกูลให้ท่านได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ด้วยสภาพจิตที่ดีงาม เป็นมิตรเป็นเพื่อน ขณะนั้นก็เป็นกุศล ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับสภาพจิตเป็นสำคัญ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
young
วันที่ 23 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 30 พ.ค. 2558

รูป หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่เจ็บ ไม่รู้สึกสุข ทุกข์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ส่วนนามธรรม หมายถึง สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ เช่น จิตเห็นเป็นนามธรรม สีเป็นรูปธรรมเพราะไม่ใช่สภาพรู้ ไม่มีความคิดนึก ขณะที่เห็นดีเป็นกุศลวิบากทางตา ได้ยินเสียงไม่ดีเป็นอกุศลวิบากทางหู ทุกขณะเป็นธรรม ถ้าสติเกิดระลึกตรงลักษณะนั้นว่าเป็นนามธรรม หรือ รูปธรรม เกิดแล้วดับแล้ว ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีเรื่องราวในขณะนั้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jarunee.A
วันที่ 5 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ