การบวชช่วยให้บุพการีพ้นอบายได้จริงหรือ

 
chatchai.k
วันที่  24 มี.ค. 2558
หมายเลข  26369
อ่าน  2,657

พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกชายบวช บางคนเชื่อเรื่องเกาะชายผ้าเหลือง คงได้ไปสุคติ หรือช่วยให้พ้นอบาย เรื่องเช่นนี้มีข้อเท็จจริงอย่างไร ตามหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบวช หรือ บรรพชา หมายถึง การเว้นทั่ว เว้นทั่วจากกิเลสทั้งปวง ซึ่งจุดประสงค์ในการบวชที่ถูกต้อง คือ เพื่อสละ ละกิเลสประการทั้งปวง ไม่ใช่เพราะประเพณี หรือเหตุอื่นๆ การบวช จึงจะต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษของการครองเรือน จึงสละทุกสิ่งด้วยความเป็นอัธยาศัยที่สะสมมา จึงสละทุกอย่างและอบรมปัญญาเพียงอย่างเดียวเพื่อพ้นจากทุกข์ ดังนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า หากว่ามีใครถามเธอว่า เธอบวชเพื่ออะไร เธอจึงตอบเขาว่า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ คือ รู้ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา และเป็นไปเพื่อละคลายกิเลสทั้งหมดครับ ดังนั้น การบวชเป็นเพศบรรพชิต จึงต้องมีความจริงใจที่จะบวชเพื่อสละ ละกิเลสจนหมดสิ้น จึงสละทุกสิ่ง ไม่เป็นดังเช่นคฤหัสถ์อีกแล้วครับ

คำว่า "เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์" ไม่มีในพระไตรปิฎกและคำสอนของพระพุทธเจ้า มีแต่ผู้เป็นบิดา ใกล้ตาย นึกถึงกุศลที่ทำในการถวายผ้ากับบุตร ผู้เป็นพระ จึงไปเกิดในสวรรค์ เชิญอ่าน ครับ

ข้อความในพระไตรปิฎมีดังนี้ครับ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 205

อีกคนหนึ่ง ถวายผ้าสาฏกเนื้อหยาบแก่ภิกษุหนุ่มเป็นบุตรวางไว้ใกล้เท้า. ในเวลาใกล้ตาย เขาถือนิมิตในเสียงว่า ปฏะ ปฏะ แม้เขาเกิดใกล้อุสสุทนรก ก็ระลึกถึงผ้านั้น เพราะเสียงเปลวไฟจึงไปเกิดบนสวรรค์.

-------------------------------------------------------------------------------------------

จากเรื่องในพระไตรปิฎกคือ ผู้เป็นบิดาหรือมารดา ของพระรูปหนึ่ง ได้ถวายผ้ากับพระ ผู้เป็นบุตร เมื่อบิดาหรือมารดาคนนั้นได้ตายไป ไปเกิดในนรกแล้ว แต่เพราะระลึกถึงกุศลได้ทำในขณะนั้นคือ การถวายผ้ากับพระภิกษุผู้เป็นบุตร จึงได้ไปเกิดในสวรรค์

จากที่ผมเล่ามา จะเห็นนะครับว่า ไม่ใช่ว่าเมื่อลูกบวชแล้วก็จะทำใหผู้เป็นบิดา หรือมารดาได้บุญเพราะลูกบวช แต่ต้องไม่ลืมว่า บุญ คือสภาพจิตที่ดีงาม บุญของใครก็ของคนนั้น จิตของใครก็ของคนนั้น หากลูกบวช แต่ไม่ได้ทำกุศลประการใดเลย จะบอกว่าเป็นบุญไม่ได้ครับ และหากผู้ที่บวชประพฤติไม่ดี ผู้เป็นบิดา มารดา ก็ต้องบาปด้วยใช่ไหม คำตอบก็คือไม่ใช่เพราะ บาปของใครก็ของคนนั้นครับ ซึ่งจากตัวอย่างในพระไตรปิฎก แสดงไว้ชัดเจน ว่าผู้ที่เป็นมารดา หรือ บิดาของพระรูปนั้นได้กระทำกุศล คือ การถวายผ้ากับพระผู้เป็นบุตร จะเห็นนะครับว่า ต้องมีการทำกุศล ไม่ใช่ว่าเมื่อลูกบวชก็จะเท่ากับว่า บิดา มารดาจะได้บุญ เกาะชายผ้าเหลืองไปเพราะลูกบวชครับ เมื่อบิดาหรือมารดา ได้ถวายผ้า บุญสำเร็จแล้ว เมื่อตกนรก แต่ก็ระลึกถึงบุญกุศลที่ได้ถวายผ้า นั่นคือระลึกถึงกุศลที่ได้ทำ ไม่ได้นึกถึงการที่ลูกบวชครับ เมื่อระลึกถึงกุศลที่ได้ทำ จิตขณะนั้นเป็นกุศลของผู้นั้นเอง ไม่ใช่จากผู้อื่น เมื่อเป็นกุศลของผู้นั้นเอง ก็เลยทำให้จุติและไปเกิดในสวรรค์เพราะกุศลของผู้นั้นเองครับ โดยนัยตรงกันข้าม ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อลูกบวช บิดา มารดานึกถึงตอนที่ลูกบวชด้วยความยินดี ที่เป็นโลภะก็ได้เมื่อใกล้ตาย เมื่อตายไป ก็ไปอบายเพราะจิตเศร้าหมอง จะกล่าวว่าเกาะชายผ้าเหลืองไปนรกได้ไหมครับ ดังนั้นจึงไม่ได้อยู่ที่ผู้อื่น ที่ลูกหรือที่ใครที่จะทำให้ไปนรกหรือสวรรค์ แต่การจะเกิดในที่ใด ขึ้นอยู่กับใจของบุคคลนั้นเองว่าก่อนตายจิตของผู้นั้นเอง เป็นกุศล หรือ อกุศลครับ

-----------------------------------------------------------------------

ดังนั้นไม่จำเป็นเลยครับว่า ลูกผู้ชายจะต้องบวช เพราะเป็นเรื่องของอัธยาศัยและปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส ผู้ที่มีอัธยาศัยเห็นโทษของกิเลส ก็บวช ตามการสะสม ส่วนผู้ที่ไม่มีอัธยาศัย ก็สามารถอบรมปัญญาในเพศคฤหัสถ์และก็สามารถบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะว่า ปัญญาไม่ไ่ด้เลือกและไม่ได้จำกัดที่จะเกิดในเพศหนึ่งเพศใด ปัญญาสามารถเกิดได้ กับทุกคน ที่สะสมปัญญามา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีอัธยาศัยน้อมไปในความเป็นบรรพชิต เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสที่มีเป็นอย่างมากในเพศของบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ โดยเห็นว่าอยู่ครองเรือนของคฤหัสถ์เป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วจึงสละทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้นจริงๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างแน่นอน เป็นที่ชื่นชมอนุโมทนาของชนทั้งหลาย มีมารดา บิดา เป็นต้น ขณะที่เกิดกุศลจิตอนุโมทนาในความดี ก็เป็นกุศลจิตของผู้ที่อนุโมทนา และที่สำคัญความเป็นบรรพชิตไม่ได้อยู่ที่เพศ หรือเครื่องแต่งกาย แต่อยู่ที่ความเป็นผู้จริงใจในการขัดเกลากิเลส

แต่ละคนมีกรรมเป็นของของตน มารดาบิดา จะไปสู่สุคติ ก็ต้องด้วยกรรมดีของมารดาบิดา เท่านั้นจริงๆ ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ms.pimpaka
วันที่ 24 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jarunee.A
วันที่ 4 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ