จิตเป็นธาตุรู้ แล้วเจตสิกเป็นธาตุรู้ด้วยหรือเปล่าหรอคะ

 
Pugwaree
วันที่  15 ก.พ. 2558
หมายเลข  26183
อ่าน  1,305

คือตามความเข้าใจของหนู จิตคือธาตุรู้เป็นนามธรรม ส่วนเจตสิกเป็นนามธรรมเป็นสิ่งที่ประกอบกับจิตแต่ไม่ใช่ธาตุรู้ หนูเข้าใจแบบนี้ถูกหรือเปล่าคะ (คือ เคยได้ยินมาบ้างว่าเจตสิกคือธาตุรู้) ขอความกรุณาอาจารย์ด้วยนะคะ

ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องมีความเข้าใจในความเป็นจริงของจิต ว่า จิต เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เกิดขึ้นทางทวารใด หรือ เกิดโดยไม่อาศัยทวารใดเลย มีลักษณะเดียวคือ มีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ ที่จิตมีความหลากหลายแตกต่างกันไป นั้นเพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เพราะอารมณ์ต่างกันเป็นต้น จะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวัน ไม่เคยขาดจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงกาละที่อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีจิตเกิดขึ้นอีกเลย เพราะได้ดับเหตุคือกิเลสที่จะเป็นเหตุให้มีการเกิดได้แล้ว

จิต มีลักษณะเพียงรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เท่านั้น กระทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จิตเป็นสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกประการต่างๆ เกิดร่วมด้วย และมีอารมณ์ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

เจตสิก หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เจตสิกมีมากมายถึง ๕๒ ประเภท มีผัสสะ เวทนา สัญญา เป็นต้น เป็นจริงแต่ละหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป เจตสิกย่อมเกิดขึ้นกับจิตตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

สิ่งที่มีจริงคือเจตสิก จึงหมายถึง สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เกิดที่เดียวกัน และรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต จึงเป็นสัมปยุตตธรรมซึ่งกันและกัน เพราะเป็นนามธรรมที่สามารถกลมกลืนกันได้อย่างสนิท เจตสิกมี ๕๒ ดวง (ประเภท)

เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิต และ รู้อารมณ์เดียวกับจิต เป็นธาตุรู้ เพราะเป็นธาตุรู้ จึงเป็นนามธรรมด้วย ครับ ทั้งจิต และ เจตสิก ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่า ธาตุรู้ หรือ สภาพรู้นั้น มี ๒ อย่าง คือ อย่างแรก เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ (ได้แก่ จิต) และ อย่างที่สอง คือ สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และ สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ด้วย (ได้แก่ เจตสิก) ตัวอย่างเจตสิก เช่น โลภะ (ความโลภ,ความติดข้องต้องการ) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความไม่รู้) ศรัทธา (ความเลื่อมใส,ความผ่องใสแห่งจิต) สติ (ความระลึกเป็นไปในกุศลธรรม) ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) วิริยะ (ความเพียร) อโลภะ (ความไม่โลภ) อโทสะ (ความไม่โกรธ) สัญญา (ความจำ) เวทนา (ความรู้สึก) เป็นต้น เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย กระทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยังยืน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครทำอะไรเลย เพราะมีแต่สภาพธรรมกล่าวคือ จิต และ เจตสิก เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้นจริงๆ

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เจตสิกก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต [สำหรับในภูมิที่มีแต่นามธรรม ไม่มีรูปธรรม คือ ในอรูปพรหมภูมิ จิตและเจตสิก อาศัยกันและกันเกิดขึ้น] ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ตามควรแก่ประเภทของจิตนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นอกุศลจิต ก็จะมีอกุศลเจตสิก เช่น อหิริกะ (ความไม่ละอายต่ออกุศล) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อโทษภัยของอกุศล) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบแห่งจิต) โมหะ (ความไม่รู้) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย และ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นกุศลจิต ซึ่งเป็นจิตที่ดีงาม ก็จะมีเจตสิกฝ่ายดี เช่น ศรัทธา (ความเลื่อมใส, ความผ่องใสแห่งจิต) หิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อโทษภัยของอกุศล) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เพื่อประโยชน์แก่สาวกผู้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่าเจตสิกเป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตนที่แทรกอยู่ในเจตสิกแต่ละประเภทเลย

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีจริงในขณะนี้ แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องศึกษา เพื่อจะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง บุคคลผู้ที่ตั้งใจศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมจะได้ประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง ธรรม เป็นเรื่องยาก ต้องตั้งใจฟังตั้งใจศึกษาด้วยความอดทนและจริงใจ ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 16 ก.พ. 2558

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Pugwaree
วันที่ 16 ก.พ. 2558

กราบขอบพระคุณมากๆ เลยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 16 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Kraisorn
วันที่ 16 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนาสาธุทั้งคุณผู้ตั้งคำถามและท่านผู้ให้ความรู้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
thilda
วันที่ 16 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์ทั้งสองท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 20 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 9 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Jarunee.A
วันที่ 8 มี.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ