ศรัทธา

 
papon
วันที่  11 ก.พ. 2558
หมายเลข  26166
อ่าน  1,794

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

"ศรัทธา" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้อรรถาธิบายในคำนี้ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัทธา เป็นภาษาบาลี ส่วน ศรัทธา ก็มีความหมายเดียวกับ สัทธา เพราะมาจากคำเดียวกัน คือ สัทธา ครับ ซึ่ง สัทธา หรือ ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือ จิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต และสัทธา หรือ ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเป็นเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกประเภท ศรัทธา จึงเปรียบเหมือนสารส้มหรือแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลง คือเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้น อกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดีจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

ลักษณะของศรัทธาในพระไตรปิฎกแสดงลักษณะไว้ 2 อย่างคือ

1. มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ

2. มีการข่มนิวรณ์คือข่มกิเลสทำให้จิตผ่องใสเป็นลักษณะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 11 ก.พ. 2558

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

ขณะที่มีทุกขเวทนา ศรัทธาเกิดร่วมด้วยได้หรือไม่อย่างไรครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

ทุกขเวทนา ถ้ากล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ ทุกขเวทนาทางกาย ที่เกิดร่วมกับ กายวิญญาณ อกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรม และถ้าเป็นทุกข์ทางใจ เรียกว่า โทมนัสเวทนา จะเกิดร่วมกับอกุศลจิต ประเภท โทสมูลจิต เท่านั้น ดังนั้น ขณะที่ศรัทธาเกิด จะไม่มีเวทนาที่เป็นทุกขเวทนาเกิดร่วมด้วยเลย ครับ

ศรัทธา เป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม (สภาพธรรมที่มีจริง) เป็นธรรมที่ดีงาม เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท เมื่อศรัทธาเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลงคือเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้น อกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต สำหรับเหตุให้เกิดศรัทธานั้น ในคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้หลายนัย เช่น การคบสัตบุรุษ การฟังธรรมของสัตบุรุษ ย่อมทำให้เกิดศรัทธา หรือ การเว้นจากบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา การคบบุคคลผู้มีศรัทธาและการพิจารณาธรรมที่เป็นพระธรรมที่ทำให้เกิดศรัทธา ก็เป็นปัจจัยให้ศรัทธาเจริญขึ้นได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่พ้นจากการฟังพระธรรมเลย เพราะการฟังพระธรรมนี้เองจะนำมาซึ่งการเจริญขึ้นแห่งศรัทธา

ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สถาควรรค สัทธาสุตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ศรัทธา เป็นเพื่อนสองของคน หมายถึง เป็นเพื่อนของผู้ที่จะไปสู่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุว่า เมื่อบุคคลประกอบด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมสามารถทำให้ได้รับประโยชน์ทั้งในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้าคือเกิดในภพภูมิที่ดี (มีสวรรค์ และมนุษย์ภูมิ) และได้รับสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล และทำให้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น

เนื่องจากว่าบุคคลผู้ที่มีศรัทธา จึงมีการเจริญกุศลทุกประการ มีการคบหาสัตบุรุษหรือกัลยาณมิตรผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะอาศัยศรัทธา เป็นเบื้องต้น นั่นเอง ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า ศรัทธา เป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์เท่านั้น เป็นเหมือนเพื่อนที่ดีที่ช่วยให้สำเร็จกิจประการต่างๆ ทั้งในโลกนี้ ในโลกหน้า และช่วยให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 11 ก.พ. 2558

ขอบคุณมากคะอนุโมทนาสาธุคะ

ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น...ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย 19 ดวง...คือ..ศรัทธา สติ หิริ โอตัปปะ อโลภะ อโทสะ ตัตรมัชณัตตตา กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ กายลหุตา จิตตลหุตา กายมุทุตา จิตตุมุทุตา กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา กายุชุกตา จิตตุชุกกตา กายกัมมัญญตา จิตกัมมัญญตา

ขณะอกุศลจิตเกิดจะไม่มีโสภณสาธารณเจตสิก 19 ดวงนี้เกิดร่วมด้วยเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 11 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 11 ก.พ. 2558

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

ทุกขเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธาได้หรือไม่อย่างไรครับ

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.พ. 2558

เรียน ความคิดเห็นที่ 6 ครับ

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ทุกขเวทนา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สำหรับผู้ที่ยังเป็นผู้หนาด้วยกิเลสที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ไม่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้นย่อมไม่สบายใจ ทุกข์ใจ หวั่นไหว เกิดอกุศลตามมาอย่างมากมาย ขณะที่เป็นอกุศลนั้น ศรัทธา ไม่เกิด

แต่สำหรับผู้ที่มีการอบรมเจริญปัญญา ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ก็สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ว่า ทุกขเวทนา นั้น เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา ขณะนั้น ก็มีเวทนา เป็นที่ตั้งให้สติปัญญาพร้อมด้วยโสภณธรรมอื่นๆ มี ศรัทธา เป็นต้น เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีเหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรม ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ใช่การไปบังคับไม่ให้เวทนาเกิด เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากสภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย และไม่ใช่เฉพาะเวทนาเท่านั้นที่ควรรู้ ควรเข้าใจ แต่หมายรวมถึงสิ่งที่มีจริงๆ ประการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 11 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 11 ก.พ. 2558

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนา ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 12 ก.พ. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peem
วันที่ 12 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ปวีร์
วันที่ 12 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
nong
วันที่ 12 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
nopwong
วันที่ 15 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
wannee.s
วันที่ 24 ก.พ. 2558

ศรัทธา คือ ความเลื่อมใส ความเชื่อ เช่น เลื่อมใสในคุณของพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในคุณของพระธรรม เลื่อมใสในคุณของพระสงฆ์ และศรัทธาประกอบด้วยปัญญาก็มี ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
Jarunee.A
วันที่ 17 มี.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ