วิริยะ

 
papon
วันที่  29 ม.ค. 2558
หมายเลข  26108
อ่าน  1,636

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

"วิริยเจตสิก" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้อรรถาธิบายในคำนี้ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิริยะเป็นเจตสิก หรือ ความเพียร เป็นปกิณณกเจตสิก ดังนั้น จึงสามารถเกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตได้ ขณะใดที่เป็นไปในอกุศล ก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ มีความเพียร อุตสาหะที่เป็นไปในอกุศล ขณะใดที่เป็นไปในกุศลก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย สำหรับ ความเพียร นั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง คือ วิริยเจตสิก ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เกิดกับจิตได้ทุกชาติเลย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เพียรที่เป็นกุศลก็มี เพียรที่เป็นอกุศล ก็มี

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก ความเข้าใจพระธรรม จึงต้องศึกษาด้วยความละเอียดให้สอดคล้องทั้ง ๓ ปิฎก ดังนั้น เมื่อศึกษาพระอภิธรรม ก็เข้าใจครับว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา มีแต่ธรรม และเป็นอนัตตา คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ทุกอย่างต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเรา ไม่มีบุคคลที่จะล่วงทุกข์ ที่จะทำความเพียร แต่เป็นหน้าที่ของธรรมที่จะทำให้ละกิเลสได้

ซึ่งในความเป็นจริง ความเพียรที่เป็น วิริยเจตสิก เกิดกับจิตเกือบทุกประเภท แม้ในขณะที่อกุศลจิตเกิดก็มีความเพียรแล้ว เพียรเป็นไปในอกุศล แม้ในขณะที่กุศลจิตก็มีความเพียรแล้ว เพียรเป็นไปในกุศล เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ โดยไม่รู้ตัวเลย มีความเพียรเกิดอยู่ ที่เป็นวิริยเจตสิก ไม่ต้องทำความเพียรก็มีความเพียรเกิดแล้ว เกิดกับจิตเกือบทุกขณะ จึงไม่มีเรา ไม่มีตัวตนที่จะทำความเพียร ให้ความเพียรเกิดขึ้นเลย ครับ

สำหรับความเพียรที่เป็นไปในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นหนทางบรรลุนั้น ต้องเป็นความเพียร ที่เป็นไปกับกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ และประการที่สำคัญ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น วิริยเจตสิกที่เกิดขึ้นแล้ว พร้อมด้วยโสภณธรรมอื่นๆ มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ รวมถึงสติ และปัญญาด้วย ในขณะนั้นก็เป็นไปเพื่อกำจัดความติดข้อง กำจัดความขุ่นเคืองใจ เป็นการเผาผลาญกิเลส เพราะขณะนั้นจิตเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา กิเลส อกุศลธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

สำคัญที่สุด หากมีความเพียร แต่ ไม่มีปัญญา ก็เป็นความเพียรผิด ที่เพียรไปในทางอกุศลธรรมก็ได้ สำคัญ คือ จะต้องมีปัญญา ความเข้าใจถูกเพราะอาศัยปัญญาก็ทำให้มีความเพียรที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า สัมมาวายามะ เพราะอาศัย สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นถูก เป็นสำคัญ ครับ

เพราะฉะนั้น บุคคลในสมัยพุทธกาล ท่านสะสมปัญญามาด้วย มีความเพียรที่ถูกต้องพร้อมปัญญา และผู้นั้นสะสมอุปนิสัยที่มากไปด้วยความเพียร แต่เข้าใจหนทางถูกแล้ว จึงปฏิบัติตามอัธยาศัยของท่าน มีการเดินจงกรม จนเท้าแตก ไม่นอนทั้งคืน เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของอุปนิสัยและความเข้าใจถูก แต่ก็มีบุคคลจำนวนมากที่บรรลุธรรมโดยไม่ได้ทำการเดินจงกรม ไม่นอนทั้งคืน เช่น ท่านพระพาหิยะ นางวิสาขาและบุคคลอื่นๆ อีกมากมาย โดยท่านเหล่านั้นฟังธรรม และก็บรรลุธรรม ขณะนั้นก็มีความเพียรแล้ว ในขณะที่เข้าใจ ประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริง เพราะ มีวิริยเจตสิก ที่เป็นสัมมาวายามะ ที่เกิดร่วมกับปัญญา โดยไม่ต้องไปทำความเพียร แต่มีความเพียรที่เป็นธรรมไม่ใช่เรา เกิดกับปัญญา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kullawat
วันที่ 29 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 29 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไร ก็ไม่พ้นไปจากธรรมเลย แม้แต่ที่กล่าวถึงความเพียร ก็ไม่พ้นไปจากธรรม เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่มีตัวตนที่ไปทำความเพียร เพราะความเพียรเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเพียรไปทางใด ระหว่างเพียรถูก กับ เพียรผิด ซึ่งเป็นไปตามการสะสม ของแต่ละบุคคลจริงๆ

ความเพียร (วิริยะ) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เกิดร่วมกับจิตเกือบทุกประเภท เช่น ในขณะที่ฟังพระธรรม ขณะที่ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย หรือ แม้กระทั่งขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจโกรธ หรือ ติดข้องยินดีพอใจ เป็นต้น ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย ดังนั้น ความเพียรจึงมีทั้งเพียรที่เป็นกุศล และเพียรที่เป็นอกุศลด้วย จึงควรพิจารณาว่า ความเพียรใดๆ ก็ตาม ถ้าหากว่าเมื่อเพียรไปแล้วเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของอกุศล ทำให้กุศลธรรมเสื่อมไป ความเพียรนั้นไม่ควรเริ่มตั้ง ไม่ควรประกอบ ในทางตรงกันข้าม ความเพียรใดๆ ถ้าหากว่าเมื่อเพียรไปแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ทำให้อกุศลธรรมเสื่อมไป ความเพียรนั้น ควรเริ่ม ควรประกอบ

สำหรับในชีวิตประจำวัน ที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล คือ ความเพียรที่เป็นไปกับการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งเจริญกุศลทุกๆ ประการ เพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน เป็นความเพียรที่ควรประกอบ ควรอบรมให้มีขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะคล้อยไปสู่การดับกิเลส พ้นจากทุกข์ได้ในที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 29 ม.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 30 ม.ค. 2558

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 30 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ