คนไร้ญาติขาดมิตร+มีแต่คนอิจฉา

 
lovedhamma
วันที่  24 ส.ค. 2557
หมายเลข  25387
อ่าน  11,209

คนที่ไร้ญาติขาดมิตร หรือแบบมีญาติก็เหมือนไม่มี


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
lovedhamma
วันที่ 24 ส.ค. 2557

แถมมีแต่คนคอยอิจฉาทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไร หรือมีอะไรที่ดี/วิเศษเนี่ย เป็นผลจากกรรมอะไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดีนั้น ก็ต้องมาจากเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ถ้าเป็นผลของกรรมดี ก็ได้รับสิ่งที่ดี น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผลของกรรมชั่วที่เคยได้กระทำแล้ว ก็ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยไม่มีใครทำให้เลย

สำหรับการถูกคนอื่นริษยา ไม่ชอบ มีศัตรูมาก ก็เกิดจากเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การประพฤติผิดในกาม ล่วงศีลข้อสาม ถ้าถึงคราวที่กรรมดังกล่าวให้ผล ก็ทำให้มีศัตรูมาก มีคนไม่ชอบ มีคนริษยา ที่น่าพิจารณา คือ ขณะที่เขาริษยาเรา ก็เป็นอกุศลของเขา ไม่ใช่ของเราเลย แต่ละคนมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม ไม่เหมือนกันเลย ควรอย่างยิ่งที่จะมีความมั่นคงในความเป็นจริงของการสะสมของแต่ละคน สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิต ไม่ใช่อกุศลธรรม ไม่ใช่มัวแต่ไปคิดว่าทำไมคนอื่นริษยาเรา ทำไมคนอื่นทำไม่ดีกับเรา เป็นต้น ก็มั่นคงในเหตุในผล ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วเพิ่มพูนคุณความดีในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจธรรมก็ทำให้เข้าใจตนเองและเข้าใจคนอื่นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าคนอื่นเขาจะมีพฤติที่กรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างไร ใจเราสามารถเป็นกุศลได้ไหม มีเมตตากับเขาได้ไหม นี้แหละคือสิ่งที่เป็นประโยชน์ และขอให้ได้พิจารณาว่า แม้ว่าเขาจะเดือดร้อนเร่าร้อนเพราะริษยาเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถหยุดยั้งไม่ให้กุศลกรรมของเราที่ได้สะสมมาให้ผลได้เลยเพราะเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ผลที่ดีที่น่าปรารถนาอันมาจากเหตุกคือกุศลกรรมที่เราได้กระทำแล้ว ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามควรแก่เหตุ ที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 24 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับ การที่ไม่มีญาติ ไม่มีบริวาร ไร้ญาติขาดมิตร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งพระธรรมที่พระุพทธเจ้าทรงแสดงเหตุของการมีบริวาร และไม่มีบริวาร ดังข้อความในพระไตรปิฎก ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ ๓๑๘

ต่อมาวันหนึ่ง ในกาลเป็นที่เสร็จภัตกิจ พระศาสดาได้ทรงทำอนุโมทนา อย่างนี้ว่า "อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้คิดว่า 'เราให้ของๆ ตนเท่านั้นควร, ประโยชน์อะไรด้วยการชักชวนคนอื่น' ดังนี้แล้ว จึงให้ทานด้วยตนเท่านั้น ไม่ชักชวนผู้อื่น, เขาย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติในที่ๆ ตนเกิดแล้ว, บางคนชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน, เขาย่อมได้บริวารสมบัติไม่ได้โภคสมบัติในที่ๆ ตนเกิดแล้ว, บางคนทั้งไม่ให้ด้วยตน ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น. เขาย่อมไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ เป็นคนกินเดนเป็นอยู่ ในที่ๆ ตนเกิดแล้ว; บางคนทั้งให้ด้วยตน ทั้งชักชวนผู้อื่น, เขาย่อมได้ทั้งโภคสมบัติในที่ๆ คนเกิดแล้ว."

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า แม้การมีบริวารไม่มีบริวารก็ตามเหตุ หรือไม่ได้ทำเหตุ คือ การทำบุญชักชวนคนอื่นทำบุญ ย่อมมีบริวารมีญาติพี่น้องที่คอยช่วยเหลือ แต่ผู้ที่ไม่ชักชวนคนอื่นทำบุญย่อมไม่มีบริวารไม่มีญาติพี่น้อง ถึงมีก็ไม่ใช่บริวาร เพราะไม่ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ครับ การที่มีคนไม่ชอบ อิจฉาริษยา มีศัตรูต่างๆ เพราะเกิดจากกรรมบางอย่าง คือ การล่วงศีลข้อที่ 3 คือ การประพฤติผิดในกาม ทำให้ บาปกรรมให้ผล เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ เศษของกรรมทำให้มีศัตรูมาก มีคนไม่ชอบ อิจฉาริษยา เป็นต้น ครับ

เพราะฉะนั้น ที่สำคัญ ที่ควรพิจารณาว่า ความอิจฉาริษยามีกันได้ทุกคน และควรเข้าใจความจริงของอกุศลของเขา ไม่มีใครไปห้ามใจของใครได้ เพราะฉะนั้น อกุศลของใครก็ของคนนั้น ควรเห็นใจคนที่เกิดอกุศลเกิดความอิจฉาริษยา เพราะเป็นอกุศลที่ทำร้ายใจของเขาเอง เพราะฉะนั้น หน้าที่สำคัญ คือ การฟังศึกษาพระธรรมเพื่อละอกุศลของตนเองเป็นสำคัญครับ ซึ่งขอเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องความอิจฉาริษยาว่าคืออะไร อย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป คือ จิต เจตสิก รูป โดยไม่มีเราที่ทำให้เกิด และไม่มีเรา ที่เกิดความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ แม้แต่ความอิจฉา ริษยา ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ลักษณะของความอิจฉาริษยา หรือ อิสสา นั้น คือ ขณะนั้นย่อมไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ขุ่นใจ ในเมื่อบุคคลอื่นได้ลาภได้สักการะ ได้ความเคารพ ได้ความนับถือ ได้รับการไหว้และบูชา กล่าวได้ว่าเห็นบุคคลอื่นได้ดีแล้ว ทนไม่ได้ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้ดี นี้เป็นลักษณะของความอิจฉา ริษยา (ธรรมที่ตรงกันข้ามกับ ความริษยา คือ มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี เมื่อผู้อื่นได้รับในสิ่งที่ดี) ความริษยา จึงมีความไม่พอใจไม่อยากให้ผู้อื่นได้ในสิ่งที่ดีเป็นลักษณะของความอิจฉา ริษยาครับ

ผู้ที่จะไม่เกิดความอิจฉา ริษยาอีกเลย คือ ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า มีพระโสดาบัน เป็นต้น ก็จะไม่เกิดความอิจฉา ริษยา แต่ในเมื่อยังเป็นปุถุชน ความอิจฉา ริษยาก็เกิดได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น หนทางละ คือ เข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้ว เพราะเราไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เพราะมีตัวเรา สำคัญว่ามีเรานั่นเอง ก็ทำให้เกิดความอิจฉา ริษยา เพราะในความเป็นจริง การที่ใครจะได้ดี มีความสุข ไม่ใช่เขาที่ได้ แต่เพราะกรรมดีให้ผล ทำให้บุคคลนั้นได้ ดังนั้น เพราะกรรมดีเป็นเหตุ จึงทำให้มีความสุข ได้รับสิ่งที่ดีทาง ตา คือ การเห็นที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี เป็นต้น ครับ

เพราะไม่เข้าใจความจริงว่า อิจฉา ริษยาเป็นธรรมที่จะต้องเกิดเป็นธรรมดา กับปุถุชน แม้แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วก็ตาม ครับ แต่เพราะสำคัญผิดว่ามีเรา จึงเดือดร้อนกับความเป็นเรา ว่าเราไม่ดี เราอิจฉา ริษยา ทั้งๆ ที่ความจริงก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นอกุศลจิต มีความอิจฉา ริษยา โดยที่ไม่ใช่เราที่อิจฉา ริษยาเลย เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นไป และเกิดแล้ว ดังนั้น หนทางละ คือ ไม่ใช่หนทางที่จะไม่ให้อิจฉา ริษยา เกิด เพราะเป็นไปไม่ได้ มีเหตุปัจจัยที่จะต้องเกิด แต่หนทางละจริงๆ คือ เข้าใจสิ่งที่เกิดว่า คือ อะไร เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมเป็นไป และไม่ใช่เราที่อิจฉา ริษยา

แม้ความเข้าใจเพียงขั้นการฟังเช่นนี้ ว่าไม่ใช่เรา และเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็ไม่เดือดร้อนกับอกุศลที่เกิด เพราะรู้ เข้าใจเบื้องต้นว่า ไม่มีเราที่อิจฉา เพราะหากเข้าใจผิด ก็เป็นอกุศลซ้อน อกุศล คือ อิจฉา เกิด ก็เดือดร้อน (เกิดโทสะ) ว่า เป็นเราที่ไม่ดี ไม่อยากให้เกิด ลืมไปว่า ต้องเกิดแน่ และไม่สามารถบังคับบัญชาได้ และไม่มีเราที่ไม่ดี มีแต่ธรรมที่เป็นไป ครับ

การเข้าใจถูกเบื้องต้นเช่นนี้ คือ เริ่มจากความเข้าใจธรรม แม้ยังไม่สามารถละอิจฉาได้ แต่นี่เป็นหนทางที่ถูกต้อง ที่จะค่อยๆ เข้าใจความจริงของอิจฉา ว่าคืออะไร คือ เป็นแต่เพียงธรรม การเข้าใจแบบนี้ คือ เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรม อบรมปัญญาไปเรื่อยๆ อนาคตกาล ก็ย่อมถึงการดับกิเลส บรรลุเป็นพระโสดาบัน ถึงตอนนั้นความอิจฉา ริษยาก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย ครับ

การศึกษาธรรม จึงไม่ใช่ เป็นยาที่กินแล้วจะหายโรคทันที หรือ สนิมที่เกาะที่เหล็ก จะทำความสะอาดเพียงครั้งเดียว ให้สนิมออกจากเหล็กจนหมด ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องทำความสะอาดบ่อยๆ ซึ่งโรคใจคือกิเลส สะสมมามาก ต้องค่อยๆ สะสมปัญญาและค่อยๆ เข้าใจถูกในสิ่งทีเกิดขึ้นแล้ว ก็จะค่อยๆ ละคลายทีละน้อย ตามกำลังปัญญาที่เกิดขึ้นทีละน้อยจากการศึกษาพระธรรม ครับ

หนทางที่ถูก คือ ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมต่อไป ปัญญาที่เจริญขึ้นย่อมเห็นโทษของกิเลส อกุศลก็จะเกิดน้อยลงตามปัญญาที่เจริญขึ้น แต่หากจะให้บอกวิธีและทำได้ทันที นั่นไม่ใช่หนทางที่จะละกิเลสได้จริงๆ เพราะมีแต่เราที่จะพยายามทำ ไม่ใช่ปัญญาทำหน้าที่ ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Chalee
วันที่ 25 ส.ค. 2557

สาธุๆ ๆ ค่ะที่ให้รู้ธรรมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 25 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 26 ส.ค. 2557

ในพระไตรปิฏกมีแสดงไว้ว่า มิตรแท้ที่คบกันไม่หวังผลประโยชน์หาได้ยาก คนที่มีมิตรเทียมเป็นเพื่อนก็ผลของอกุศลกรรม หรือได้เจอมิตรแท้ก็เป็นผลของบุญ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
lovedhamma
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขออนุญาตถามเพิ่มเติมนะครับว่า>>>

การชักชวนคนอื่นทำบุญเนี่ย หมายถึง ผู้ที่เราไปชวนก็ต้องได้ทำบุญร่วมกับเราด้วยใช่มั้ยครับ หรือว่าถ้าเราชวนแล้วแต่คนๆ นั้น ไม่ยอมร่วมทำบุญกับเรา จะถือว่าเปล่าประโยชน์รึเปล่าครับ

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 2 ก.ย. 2557

ชักชวนคนอื่นทำบุญ ถ้าเขาทำก็เป็นบุญของเขา ส่วนเรามีความหวังดีเป็นมิตรที่อยากให้เขาเกิดกุศลจิต ถ้าเขาไม่ทำก็เป็นเจตนาดีของเรา ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ