ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณทักษพล คุณจริยา เจียมวิจิตร ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  20 ส.ค. 2557
หมายเลข  25348
อ่าน  3,124

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจากคุณทักษพล คุณจริยา และ คุณศิริพล เจียมวิจิตร เพื่อไปสนทนาธรรม ณ บ้านริมสนามกอล์ฟรอยัลเจมส์ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๓๐ น.

สำหรับครั้งนี้ เป็นครั้งที่ ๓ ที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปร่วมฟังการสนทนาธรรมด้วย ทราบว่า ก่อนหน้านั้น ท่านเจ้าบ้านได้เรียนเชิญท่านอาจารย์ไปสนทนาธรรมที่บ้านของท่าน หลายครั้งมาแล้วด้วยกัน และในทุกครั้ง ที่ได้เชิญท่านอาจารย์มาสนทนาธรรม คุณจริยา (คุณต๋อย) ท่านเจ้าของบ้าน จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่ระลึก เช่น ในครั้งก่อนโน้น ท่านได้กราบเรียนท่านอาจารย์ปลูกต้นอโศกพวงไว้ต้นหนึ่ง อยู่ใกล้ๆ กับต้นเดิมที่มีอยู่ ซึ่งกำลังให้ดอกพวงใหญ่ สวยงามมากครับ

และในครั้งถัดมา เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ท่านได้กราบเรียนท่านอาจารย์ ปลูกต้นมะลิเฉลิมนรินทร์ ซึ่งเพื่อนของท่านคือ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น เพิ่งค้นพบมะลิพันธ์ุนี้ และได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อขอพระราชทานนาม ซึ่งทรงพระราชทานนามว่า "เฉลิมนรินทร์" ในวันนี้ ท่านเจ้าของมะลิพันธ์ใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ คือ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ก็ได้เดินทางมาร่วมฟังการสนทนาด้วย และได้พาท่านอาจารย์ไปชมต้นมะลิ ที่ท่านอาจารย์ได้ปลูกไว้ในคราวก่อนอีกด้วย

หลังจากนั้น ท่านเจ้าของบ้าน ได้กราบเรียนท่านอาจารย์ ปลูกต้นสิรินธรวัลลี หรือสามสิบสองประดง ไว้เป็นที่ระลึกสำหรับการสนทนาธรรมในครั้งนี้

ดังที่ได้เคยเรียนให้ทุกท่านทราบแล้วในครั้งโน้น ว่าท่านเจ้าของบ้าน คือ คุณจริยา ท่านเป็นผู้ที่ชอบสะสมพันธ์ุไม้ และ ชื่นชอบการปลูกดอกไม้นานาๆ พันธ์ุ เป็นอย่างยิ่ง ภายในเนื้อที่กว่าสามไร่แห่งนี้ เต็มไปด้วยดอกไม้ต้นไม้ นานาชนิด ทั้งที่หาดูหาชมได้ยาก ก็สามารถหาดูได้จากที่นี่ และด้วยเวลาอันจำกัด ข้าพเจ้าทำได้เพียงรีบบันทึกภาพ ด้วยความรวดเร็ว เพื่อนำเพียงตัวอย่าง ขอย้ำว่า เพียงตัวอย่าง ของดอกไม้ ที่กำลังผลิดอกบานสะพรั่ง ทั่วบริเวณสวนสวยอันกว้างขวางและร่มรื่น โดยรอบบริเวณบ้าน

นอกจากดอกไม้นานาพันธ์ุดังกล่าวแล้ว คุณจริยา ยังได้เนรมิตกล้วยไม้นานาชนิด ที่กำลังออกดอกบานสะพรั่ง มีสีสันสวยงามหลากหลาย ประดับประดาอยู่ตามโคนต้นไม้ใหญ่น้อย ทั่วบริเวณที่ใช้เป็นที่สนทนาธรรมในวันนี้ เป็นความวิจิตรบรรจงของการให้ อันบุคคลสะสมมา คือ นอกจากการให้ธรรมทาน อันเป็นเลิศกว่าทานทั้งปวงแล้ว ท่านเจ้าบ้าน ยังมีจิตที่ประกอบไปด้วยความเป็นมิตร คือ ความเมตตา และ ความปรารถนาดี ที่จะให้ทุกท่านที่มา ได้รับสิ่งอันเลิศที่สุด คือ ความเข้าใจพระธรรม ท่ามกลางบรรยากาศ ที่พรั่งพร้อมไปด้วยความสะดวกสบาย สวยงาม และร่มรื่นอย่างยิ่ง และ เมื่อฟังการสนทนาธรรมเสร็จ ก็ได้จัดเตรียมอาหารอันประณีต หลากหลาย ไว้ให้ทุกๆ ท่าน ได้รับประทานอย่างเต็มที่ก่อนกลับ อีกด้วย

"สัตว์โลกเป็นที่ดูผลของบุญและบาป" และ "ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้รับผลอันเลิศ" เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าสังเกตุและชื่นชมอนุโมทนาโดยบ่อย เมื่อได้เดินทางไปในที่ต่างๆ ที่มีการเชิญท่านอาจารย์ไปสนทนาธรรม ข้าพเจ้าได้เห็นความมีค่าที่สุด ที่บุคคลให้และได้รับ ได้เห็นความสะสมของการเป็นผู้ให้ ความเป็นผู้ละเอียด ความเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ความเป็นผู้มีเมตตา คือความเป็นมิตร ความประณีตบรรจง ความเป็นผู้พรั่งพร้อมในรูปสมบัติ ในทรัพย์สมบัติ ประการสำคัญที่สุด สำหรับท่านผู้พรั่งพร้อมเหล่านั้น ที่ควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง ก็คือ การที่ได้พบกับพระธรรมในหนทางที่ถูกต้อง ที่ได้ทรงแสดงไว้ดีแล้วนี้ เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด สำหรับการได้เกิดมาในชาตินี้ ซึ่งไม่สูญเปล่าแล้ว ความเข้าใจพระธรรม เป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐ ยิ่งกว่าทรัพย์ใด ในโลก ที่จะติดตามไป เป็นที่พึ่งแก่บุคคลได้อย่างแท้จริง ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมมากขึ้น ย่อมเป็นผู้ที่น้อมไปในความดีทุกประการ ทุกเมื่อ

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 215
รัตนสูตร
ว่าด้วยรัตนอันประณีต
ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อย่างใดอย่างหนึ่งในที่นี้ หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใด อันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ และรัตนะนั้น ที่เสมอด้วยพระตถาคต ไม่มีเลย แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

สำหรับการสนทนาธรรม เป็นเวลากว่าสองชั่วโมงครึ่ง ในวันนั้น เป็นไปด้วยประโยชน์สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง ด้วยเป็นการสนทนาธรรมที่หลากหลาย มีทั้งบรรพชิต และผู้ใหม่มาร่วมสนทนา เป็นช่วงเวลาที่มีค่าอย่างยิ่ง และ เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่มีความประทับใจจากการได้ฟังพระธรรม ที่นี่ ตลอดช่วงเวลาแห่งการสนทนาธรรม ข้าพเจ้ารับรู้ได้ ถึงความเข้าใจของหลายๆ ท่าน ที่ได้มีโอกาสมาฟัง ในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ข้าพเจ้าได้เห็นภาพของท่านผู้มาฟัง ที่มีความตั้งใจฟังด้วยดีมาก รู้สึกปีติไปด้วยครับ กราบอนุโมทนาในความเกื้อกูลของท่านเจ้าบ้านทั้งสองท่านจริงๆ ครับ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทานให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ.
เทวทหวรรคที่ ๑ จูฬปุณณมสูตรที่ ๑๐
[เล่มที่ 22] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๘๙

ขอนำความการสนทนาบางตอนในวันนั้น มาให้ทุกท่านได้อ่านและพิจารณา เช่นเคย และ อย่างที่ข้าพเจ้าเคยปรารภอยู่บ่อยๆ ว่า กระทู้ที่ข้าพเจ้าจัดทำขึ้นนี้ เพื่อบันทึกเรื่องราวของ ณ กาลครั้งหนึ่ง ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่ได้เดินทางไปสนทนาธรรมในที่ต่างๆ พร้อมภาพและข้อความธรรมะ ที่ท่านสนทนาไว้ อันจะยังประโยชน์แก่การพิจารณาในธรรม ที่ได้นำมาเป็นบรรณาการแก่ทุกๆ ท่าน ที่ไม่มีโอกาสได้ไป เพื่อประโยชน์ สำหรับท่านที่มีเวลา ในการอ่านและพิจารณา อย่างช้าๆ ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก แล้วๆ เล่าๆ เพื่อความเข้าใจ อันท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเอง นะครับ

สำหรับครั้งนี้ ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่กระทู้จะมีความยาวเป็นพิเศษ ด้วยความธรรมะ ที่มีความไพเราะอย่างยิ่ง และเห็นว่า จะเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับท่านผู้ใหม่ ที่จะได้รับคำตอบในเรื่องสำคัญๆ โดยครบถ้วน เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของบุคคลที่แสวงหาธรรมอยู่โดยทั่วไป ในขณะนี้ ซึ่งเป็นการสนทนา โต้ตอบ คำต่อคำ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจได้เป็นอย่างดีมากๆ ครับ

ท่านผู้ถาม กราบสวัสดีท่านอาจารย์ค่ะ คือ หนูมีข้อสงสัยว่า หนูมีความเชื่อในเรื่องของกรรม ก็คือ เชื่อมาแต่เด็กว่า เราเกิดมา เรามีกรรมในส่วนหนึ่ง ที่เราต้องมากำเนิด ที่นี้ เราก็จะมีคำพูดที่ว่า เราจะต้องชดใช้กรรม เพื่อให้กรรมที่ติดตามเรามา ได้หมดไป หนูก็มีจิตตั้งมั่น ว่าอยากจะใช้กรรม เพื่อที่ว่า จะได้ไม่ต้องมาเกิดอีกแล้ว เพื่อที่จะได้ไป ถ้าเป็นไปได้ตามที่ตั้งจิต ก็คือ อยากเข้าสู่ถึงพระนิพพาน ในปัจจุบันชาตินี้.. . . .... ....... . ..ขอโทษค่ะ รู้สึกตื้นตัน แล้วก็ปีติ ที่จะได้ถาม.. . .. . .

ค่ะ ทีนี้ถ้าเกิดว่า เราจะต้องใช้กรรม อย่างที่หนูเคยเจอ เช่น กรณีที่เรามียุงลายมากัด ตอนที่เราปฏิบัติธรรม คือหนูก็เห็นแล้ว ว่าเป็นยุงลาย แต่จิตหนูคิดว่า นี่แหละเราจะใช้กรรมให้กับเขา จะได้ไม่ต้องติดตามกันไปอีก หนูก็ยอมให้เขากัด ก็คิดว่า อาจจะไม่ทำให้เราถึงขั้นเป็นไข้เลือดออก แต่ก็ให้เราได้ใช้กรรมบางส่วนไป แล้วก็เอามือปัดเขาออกไป แล้วก็แผ่เมตตาให้กับเขา ณ ตรงนั้น หนูก็คิดว่า เพราะเราตั้งใจว่าเราอยากใช้กรรมให้กับเขา หากเราเคยทำกรรมอันใดให้กับเขาไว้ ไม่ว่าจะในอดีตชาติ หรือปัจจุบันชาตินี้ แต่พอเรากลับมา ก็มาป่วยเป็นไข้เลือดออกจริงๆ ก็คือการใช้กรรม ถูกไหมคะท่านอาจารย์?

ท่านอาจารย์ คิดเองหมดเลย แต่พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ แสดงว่าอย่างไร? มีคำว่า กรรม ใช้กรรม มีคำว่า ปฏิบัติ มีคำว่า อยากจะถึงนิพพาน ทั้งหมด เป็น "คำที่เรายังไม่รู้จัก" จะไปถึงนิพพานใช่ไหม? นิพพาน คือ อะไร?
ท่านผู้ถาม นิพพาน ก็คือ เราไม่ต้องกลับมาเกิดอีกแล้วค่ะ
ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ ยังไงล่ะคะ? ถึงจะไม่เกิดอีก? เหตุอะไร ที่จะทำให้ไม่เกิด? เหตุอะไร ที่จะทำให้ถึงนิพพาน? ไม่ใช่เพราะอยาก และ ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ "คิดเอง"

ถ้าเราเริ่มศึกษาพระธรรมเมื่อไหร่ เราจะรู้ว่า "คิดเอง" ผิด เพราะว่า เราไม่สามารถจะเข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำ อย่างคำว่า "นิพพาน" มาจากคำว่า "นิ-วานะ" หมายถึง ดับกิเลส ดับโลภะ เราไม่รู้เลย แต่เราอยากถึง แล้วจะดับได้อย่างไร? ถ้าเป็น "เรา" ไม่มีทาง เพราะการ "เป็นเรา" ก็ผิดแล้ว ไม่รู้จักธรรมะเลย เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด พึ่งใคร ที่จะไม่ผิด
ท่านผู้ถาม พึ่งตัวเราค่ะ
ท่านอาจารย์ ผิดเลย
ท่านผู้ถาม ผิดหรือคะ?

ท่านอาจารย์ พระรัตนตรัย ลืมไม่ได้เลย ที่พึ่งจริงๆ คนอื่น พึ่งไม่ได้ ความเห็นของคนอื่น ก็ไม่ใช่พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีใครจะเข้าใจธรรมะได้เลย เพราะว่า ธรรมะ ลึกซึ้งมาก ถ้าศึกษาแล้วจะรู้เลย เราเป็นใคร? พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร? ห่างไกลกันแค่ไหนคะ? ยิ่งกว่าฟ้า กับ น้ำ แล้วเราจะคิดเอง ยังไงๆ ก็ผิดแน่ๆ เท่ากับว่า เราไม่ได้พึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามที่บอกไว้คือพึ่งตนเอง ใช่ไหม?

มีคำที่แสดงไว้ว่า ท่านพระอานนท์ ก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคฯ ว่า ผู้ที่จะรู้แจ้งธรรมะ เพราะพึ่งพระธรรมครึ่งหนึ่ง และพึ่งตัวเองครึ่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่ ทั้งหมด คือ พึ่งพระธรรม พระพุทธองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกัลยาณมิตร เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย พึ่งอะไร? พึ่ง "ความไม่รู้" ของเรานั่นเอง!! จะ "เริ่มมี" พระธรรมเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระสังฆรัตนะเป็นที่พึ่ง เมื่อไหร่?
ท่านผู้ถาม เมื่อเราได้ฟังธรรม

ท่านอาจารย์ เมื่อฟังแล้ว ต้องเข้าใจด้วย ปฏิบัติ คือ อะไร? ปฏิบัติธรรม ใช่ไหม?
ท่านผู้ถาม เพื่อให้เกิดปัญญา
ท่านอาจารย์ ปฏิบัติยังไง?
ท่านผู้ถาม ก็คือ รักษาศีลค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วศีล จะทำให้รู้อะไร? แล้ว อะไรเป็นศีล? ทั้งหมด มีในพระไตรปิฎก เราจะไม่ผิดเลย ถ้าได้ศึกษา ละเอียดอย่างยิ่ง ตรงที่สุดกับสภาพธรรมะที่กำลังมีในขณะนี้!!! เป็นเครื่องยืนยันว่า ไม่ผิดจากสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏ

แต่ว่า รู้ละเอียดลึกซึ้ง จึงทำให้สามารถเข้าถึงความหมายของคำว่า อนัตตา "ไม่ใช่เรา" ที่จะไปถึงนิพพาน "ไม่ใช่เรา" ที่ใช้กรรม "ไม่ใช่ยุง" เป็นเจ้ากรรมนายเวร ของเรา เพราะฉะนั้น ยังไม่มีพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง จนกว่าจะได้เข้าใจธรรมะ
ท่านผู้ถาม ขอบพระคุณค่ะ
ท่านอาจารย์ มีตัวเองเป็นที่พึ่ง พึ่งอย่างไร?
ท่านผู้ถาม คือหนูแค่คิดว่า การที่เราพึ่งตัวเรา ก็คือ เราไม่ไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เราคิดว่า หากสิ่งที่เราทำได้ เราปฏิบัติด้วยตัวเรา แล้วเราไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น รักษาศีล มีวินัย ในตัวเราเอง อะไรอย่างนี้ค่ะ ก็คือ การที่เราพึ่งตัวเอง ปฏิบัติใจ บวชใจตัวเอง อะไรอย่างนี้ค่ะ

ท่านอาจารย์ บวชใจตัวเอง ทำอย่างไร?
ท่านผู้ถาม ก็อย่างเช่น ถ้าอยู่บ้าน เราก็ต้องละความโกรธ หรือว่า...
ท่านอาจารย์ เก่งมาก เก่งมากเลย
ท่านผู้ถาม (หัวเราะ) เวลาคุยกับคุณแม่ เรามักจะชอบทะเลาะกับคุณแม่...

ท่านอาจารย์ (หัวเราะ) เก่งมากเลย ละได้หรือคะ? เกิดแล้ว ดับแล้ว ละอย่างไร?
ท่านผู้ถาม คือ เราก็รู้ พอมันเกิดปุ๊บ แล้วเราก็ดับตอนนั้นเลย พอเราปฏิบัติมาสัก.. คือ หนูยังไม่ได้ปฏิบัติได้เยอะ นะคะ แต่หมายถึงว่า....
ท่านอาจารย์ เรารู้ เราดับ เป็น "อนัตตา" หรือเปล่า?
ท่านผู้ถาม เป็นค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลยค่ะ "เรา" เวลานี้ มี "เรา" ไหม?
ท่านผู้ถาม เวลานี้มีเรา ค่ะ
ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้า ตรัสว่าอย่างไร?
ท่านผู้ถาม ตัวเรา ไม่มีตัวตน
ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วไงคะ? เวลานี้ "มีเรา" ผิดหรือถูก?
ท่านผู้ถาม เพราะฉะนั้น ก็ต้องผิดค่ะ

ท่านอาจารย์ ธรรมะ เป็นเรื่อง "ตรง" ผู้ใดเป็น "ผู้ตรง" ผู้นั้นได้สาระจากพระธรรม แล้วต้องเป็นผู้ที่อาจหาญ กล้าหาญ ในทางที่จะรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด มิฉะนั้นแล้ว ละสิ่งที่ผิด ไม่ได้ กล้าหาญ ที่จะอดทน ที่จะฟัง ที่จะเข้าใจ เพราะเหตุว่า ปัญญา นำไปในกิจทั้งปวง ไม่ทำให้เดือดร้อน ไม่ทำให้เป็นทุกข์เลย แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญา ความไม่รู้ ก็จะนำมาซึ่งความทุกข์ เพราะความติดข้อง และ การยึดถือ เพราะ "ความเป็นเรา" ซึ่ง "ไม่มีเรา" ก็เข้าใจว่า "เป็นเรา" "เห็น" เมื่อกี้นี้ ดับหรือยัง?
ท่านผู้ถาม ดับแล้วค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้ว "เรา" อยู่ไหน? กำลังเห็น คิดว่า "เราเห็น" ใช่ไหม? แต่ "เห็น" เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีก ไม่เหลือเลย ด้วยแล้ว "เรา" อยู่ไหน?

เพราะฉะนั้น ความจริง ธรรมะ เป็นอย่างนี้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่จะเป็นเราได้เลย ถ้ารู้ความจริง "หลงติดข้อง ในสิ่งที่ไม่มี" เพราะเข้าใจว่า ยังมีอยู่ แต่ทุกอย่าง ดับหมดเลย ไม่กลับมาอีกด้วย ต้องอาจหาญ กล้าหาญ ที่จะเผชิญความจริง รู้ว่าความจริง เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะโล่งใจ ไม่เดือดร้อน เพราะ ไม่ใช่เรา

ท่านผู้ถาม คือ หมายถึงว่า มันจะต้องไม่เกิดขึ้นเลย ความโกรธ หรือความ...
ท่านอาจารย์ ทำยังไงหรือคะ? ไม่เกิดอีกเลย? ความโกรธไม่เกิดอีกเลย ได้อย่างไร? อะไร? จะไปทำให้ความโกรธไม่เกิดอีกเลย
ท่านผู้ถาม นึกถึงพระรัตนตรัย ค่ะ
ท่านอาจารย์ แค่นึก ความโกรธก็เกิดอีกได้ค่ะ "ปัญญา" มี ๓ ขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง อย่าใช้คำว่า "ปฏิบัติ" โดยไม่เข้าใจคำว่า "ปฏิบัติ" ถึงได้ถาม "ปฏิบัติธรรม" ทำยังไง?


ท่านผู้ถาม เมื่อสักครู่ หนูบอกว่า ไปปฏิบัติธรรม คือ ไปถือศีลเนกขัมมะ ค่ะ
ท่านอาจารย์ เป็นยังไงคะ? เนกขัมมะ เนกขัมมะเป็นยังไง?
ท่านผู้ถาม ถือศีล ๘ ค่ะ แล้วก็ นุ่งขาว ห่มขาว
ท่านอาจารย์ ไม่นุ่งได้ไหม?
ท่านผู้ถาม คือ สำหรับความคิดหนูเอง จริงๆ หนูคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องไปที่ไหนเลย เราอยู่กับบ้าน เราก็ทำได้ แต่ คิดว่า.....
ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่ต้องนุ่งขาวได้ไหม?
ท่านผู้ถาม ใช่ค่ะ ไม่ต้องนุ่งก็ได้
ท่านอาจารย์ แล้วทำ ทำไม?
ท่านผู้ถาม แต่ว่า ที่คิดว่า เราไป เราได้ที่ ที่สงบกว่าอยู่ที่บ้านค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะ "อยาก" ใช่ไหม?
ท่านผู้ถาม ก็ต้องมี "ความอยาก" นิดนึง ค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วจะ "ดับความอยาก" นั้น ได้อย่างไร?

พระพุทธศาสนา ต้องไม่ลืม นะคะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ทุกสิ่ง ตามความเป็นจริง ถ้าศึกษาแล้วจะเข้าใจ แล้วก็จะมีพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง เมื่อ "เข้าใจ" จะ "นุ่งขาว" ต่อไปไหม?
ท่านผู้ถาม (หัวเราะ) ถ้าหากมีเวลา ไปบ้างได้ไหมคะ?
ท่านอาจารย์ ที่ไหนก็ตามค่ะ จะนุ่งขาวอีกไหม?
ท่านผู้ถาม (หัวเราะ) ถ้าหนูตอบ ก็เป็นการให้สัจจะ แต่ตัวหนูเอง บางครั้งมีเวลา หนูยัง...
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ "เข้าใจ" ค่ะ "ปัญญา นำไปในกิจทั้งปวง" ที่เป็นเหตุ เป็นผล เป็นความจริง พิสูจน์ได้นี่คะ "นุ่งขาว" เพราะอะไร? ต้อง "เข้าใจ" ต้อง "ตรง" ถ้าไม่ตรง ก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีทางถึงนิพพาน ไม่มีทางที่จะดับกิเลส เพราะ ไม่รู้จักกิเลส

ไม่รู้จักกิเลส แล้วจะดับกิเลสได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น คำถาม ถามเพื่อจะรู้ว่า เข้าใจจริงๆ หรือเปล่า? อาจหาญ ร่าเริง ที่จะตรงต่อความจริง หรือเปล่า? กิเลส อยู่ที่สีดำหรือ? หรืออยู่ที่สีแดง สีเหลือง แล้วพอไปใส่สีขาว แล้วกิเลสหายไปหรือ?
ท่านผู้ถาม ไม่ค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วใส่ทำไม? นุ่งขาวทำไม?
ท่านผู้ถาม หนูเข้าใจแล้วค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วจะใส่สีขาวอีกไหม? จะนุ่งขาวอีกไหม?
ท่านผู้ถาม ไม่ค่ะ
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจ ก็จะรู้ได้ ดิฉันเคยถามคนที่นุ่งขาว บวชเนกขัมมะอะไรก็ตาม เชิญไปพูด ดิฉันก็ถามว่า แต่งสีขาวแล้วเป็นยังไงคะ? คำตอบ คือ สวยดี
ท่านผู้ถาม ขอบพระคุณค่ะ

ท่านผู้ถาม พูดถึงเรื่องสีขาว คือ ตามความเข้าใจของตัวเอง คิดว่า มันเสมือนเครื่องแบบ ที่แต่ละที่ เขากำหนดขึ้นมา เพื่อเหมือนกับว่า เป็นระเบียบของแต่ละที่ ว่าไปปฏิบัติธรรมแล้ว เขาก็ให้แต่งชุดสีขาว เหมือนกับพระ คล้ายๆ กับพระ ตรงที่ว่า ถ้าถือศีล ไม่ต้องใส่สีเหลืองก็ได้ แต่ทำไมต้องใส่สีเหลือง เหมือนกันไหมคะ?
ท่านอาจารย์ คนละเรื่องเลยค่ะ คนละเรื่องเลย
ท่านผู้ถาม คือ ตามที่ตัวเองเข้าใจ ก็คือว่า ตามที่ต่างๆ เขากำหนดว่า ให้ใส่ชุดสีขาว เหมือนกับรวบรวมว่า เป็นที่มาปฏิบัติ เหมือนๆ กัน อะไรอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ต้องเหมือนกันด้วยหรือ?
ท่านผู้ถาม ก็ ในแต่ละที่ เขาก็จะกำหนดการ...
ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ แต่ละที่นี่ ในพระไตรปิฎก มีไหม? ในพระไตรปิฎก มีสำนักปฎิบัติไหม? มีคนที่จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วต้องใส่สีขาวไหม?
ท่านผู้ถาม ก็ไม่น่าจะมี นะคะ

ท่านอาจารย์ ไม่น่า? หรือ ไม่มี หรือ ต้องมี? หรือ ยังไง? ความจริง ค่ะ
ท่านผู้ถาม คือ อันนี้ เราไม่ได้ศึกษา
ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้า ไม่ได้จำกัด คนที่ไปเฝ้าเลย ว่าต้องแต่งตัวอย่างไร
ท่านผู้ถาม แต่พระสงฆ์ นี่ต่างกันใช่ไม๊คะ?
ท่านอาจารย์ ต่างกันมาก เพศบรรพชิต ไม่ใช่เพศคฤหัสถ์
ท่านผู้ถาม ทีนี้ โดยทั่วๆ ไป ที่แต่งชุดสีขาว ที่เวลานี้ส่วนใหญ่ สำนักต่างๆ ก็จะกำหนดขึ้นมา อย่างนี้
ท่านอาจารย์ เพื่ออะไร?
ท่านผู้ถาม คือ เข้าใจที่น้องเขาพูดว่า ถ้ารับปากแล้ว ก็จะเป็นการผิดสัจจะ เพราะว่า ต่อไป จะไม่ใส่ชุดสีขาว

ท่านอาจารย์ สัจจะ คือ อะไรด้วย ค่ะ ทุกคำ ต้องเข้าใจ เขาบอกให้เราไปขโมย เราบอกว่าไป แล้วเราก็ไปขโมย นั่นหรือคะ สัจจะ?
ท่านผู้ถาม คงไม่ใช่แบบนี้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สัจจะ คือ อะไร?
ท่านผู้ถาม เหมือนกับ เราให้คำมั่นไว้
ท่านอาจารย์ แล้วถ้าเราพูดบอกว่า เราจะไปช่วยเขาโกง แล้วเราก็ทำ อย่างนั้นหรือคะ สัจจะ?
ท่านผู้ถาม ก็ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น สัจจะ คือ อะไร? สัจจะ คือ ความจริงใจ ความตรงต่อพระธรรม ต่อ ความจริง ความจริงเป็นอย่างไร ถ้าไม่ตรงต่อความจริง ผิดทันที เพราะ ไม่ตรงต่อความจริง

ท่านผู้ถาม คือ ก็เหมือนกับ เครื่องแบบสีขาว เขากำหนดขึ้นมาเอง
ท่านอาจารย์ ใคร? ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แล้วเราเป็นใคร? เราเป็นพุทธศาสนิกชน
ท่านผู้ถาม แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ที่เขากำหนดขึ้นมา?
ท่านอาจารย์ แต่เราลองคิด ถ้าเราไม่ใส่สีขาวนี่ เราเข้าใจธรรมะ ได้ไหม?
ท่านผู้ถาม ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วทำไมต้องใส่?
ท่านผู้ถาม ก็เหมือนกับว่า เรา เหมือนกับน้อง เขาจะไปหาที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งคิดว่า จะสงบกว่าที่บ้าน

ท่านอาจารย์ ที่ปฏิบัติธรรม? ปฏิบัติ คือ อะไร? ถ้าไม่มีปัญญา ปฏิบัติได้ไหม? ลืมคิดข้อนี้หรือเปล่า? ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แล้วไปปฏิบัติธรรมะ ถูกหรือ?
ท่านผู้ถาม คือ เหมือนกับว่า เราคิดว่า เราไม่ใช่ผู้รู้ เราก็จะไปหาผู้รู้ สอน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ผู้รู้ ที่เราไปหา เป็นใคร?
ท่านผู้ถาม คือ ถ้าไม่เริ่มต้น ก็ไม่รู้
ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ เราจะไปหา "ผู้รู้" แล้วเราจะรู้ไหม? ว่า "ผู้รู้" ที่เราจะไปหา เขารู้อะไร? ที่เราจะได้รู้ด้วย เราต้องรู้ ว่าเขารู้อะไร ใช่ไหม? ถ้าเราไม่รู้ ว่าเขารู้อะไร แล้วเราจะไปหาเขา แล้วเราจะรู้อะไร?

ท่านผู้ถาม ก็ต้องมีปัญญา มีปัญญาตรึกตรอง ในสิ่งที่เราเห็น ในสิ่งที่เราฟัง ถูกต้องหรือเปล่าคะ?
ท่านอาจารย์ เอาละ ปัญญา คือ ความรู้ ใช่ไหม? รู้อะไร? แม้แต่คนที่จะไปปฏิบัตินี่ ต้องการรู้อะไร? เห็นไหม? ไม่มีความรู้ให้เลยสักอย่างเดียว ตอบได้ไหม? คนที่ไปปฏิบัติแล้ว แม้จะเพิ่งไปก็ตามแต่ ปฏิบัติ เพื่อรู้อะไร? ตอบได้ไหม? ไปปฏิบัติ เพื่อรู้อะไร? ตอบหน่อยสิคะ? ไปปฏิบัติ เพื่อรู้อะไร? ค่ะ เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง ด้วย สัจจะ คือ ความจริง ต้อง ตรง ต่อความจริง เพราะฉะนั้น ไปปฏิบัติ เพื่อรู้อะไรคะ?

ท่านผู้ถาม คือ หนูไปปฏิบัติ ก็เพื่อที่จะรู้ว่า ศีลที่เราจะต้องไปปฏิบัติ มีอะไรบ้าง? ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปก็รู้ค่ะ ไม่ต้องไปก็รู้ ว่าศีลมีอะไรบ้าง ท่านผู้ถาม คือ จริงๆ ก็ทราบอยู่แล้ว แต่เมื่อไปอยู่ในการปฏิบัติ เราจะสามารถรักษาศีล ได้อย่างมั่นคง มากกว่าที่เราอยู่ในปัจจุบันของเรา
ท่านอาจารย์ แปลว่า สถานที่นั้น ทำให้เรามีศีลหรือ?
ท่านผู้ถาม หนูไม่คิดอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ แล้วไปทำไม?
ท่านผู้ถาม ก็ (หัวเราะ) คือ เพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่ง อยากจะให้....
ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ คือ ต้องมีเหตุผลไงคะ? ธรรมะ ต้องตรง และ เป็นเหตุเป็นผล ถ้าไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่ธรรมะ เลย ไปทำไม ก็ต้องรู้ว่า ไปทำไม ถ้าจะรักษาศีล ไม่ต้องไป ก็รักษาได้ อยู่ที่ไหนก็รักษาศีลได้ ทำไมจะต้องไปที่นั่น แล้วรักษาศีล? แปลว่า อยู่ที่อื่น รักษาศีลไม่ได้

ท่านผู้ถาม ขอโทษนะคะ อาจจะเป็นกำลังแสวงหา ในสิ่งที่ตนเองไม่รู้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แล้วแสวงหาอะไร? เห็นไหม? ธรรมะ ละเอียดมาก ยิ่งละเอียด ยิ่งถูกต้อง เพราะว่า สามารถที่จะให้ความจริง ทุกอย่างยิ่งขึ้นได้ เพราะฉะนั้น แสวงหาอะไร?

ท่านผู้ถาม คือหนูคิดว่า เมื่อเราไปปฏิบัติ ในขณะที่ปฏิบัติ เมื่อพระอาจารย์....
ท่านอาจารย์ ยังค่ะ ยัง แสวงหาอะไร?
ท่านผู้ถาม หนูต้องการมีปัญญา ค่ะ
ท่านอาจารย์ ปัญญา รู้อะไร?
ท่านผู้ถาม ปัญญา รู้ความจริงที่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ความจริงของอะไร?
ท่านผู้ถาม ความจริงที่ คือ จริงๆ ทุกคนเกิดมา มีทุกข์ คือ มีกรรม ก็จะทำให้เกิดทุกข์ แต่ว่า เราแสวงหา เพื่อที่จะให้พ้นความทุกข์ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพื่อจะรู้ความจริง หรือ เพื่อให้พ้นทุกข์ โดยไม่รู้ความจริง?
ท่านผู้ถาม รู้ความจริง เพื่อให้พ้นทุกข์

ท่านอาจารย์ แสวงหาความจริง ใช่ไหม? เดี๋ยวนี้!!! จริงไหม?
ท่านผู้ถาม เดี๋ยวนี้ก็จริง
ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้ความจริงของเดี๋ยวนี้ไหม? จะรู้ความจริงของเดี๋ยวนี้ ได้อย่างไร? ธรรมะ มีคำตอบ ความจริง เป็น ความจริง พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ ทรงแสดง ไม่ใช่ให้เรา หลงคิดเอง ผิดๆ ถูกๆ แต่ต้อง "ตรง" และ "จริง" จึงจะได้สาระ จากพระธรรม ไม่เสียเวลาเปล่า เพราะฉะนั้น ต้อง "ตรง" และ "จริง"

แล้วจะรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ ได้อย่างไร?
ท่านผู้ถาม โดยใช้ปัญญา ใช่ไม๊คะ?
ท่านอาจารย์ จะมีปัญญาได้อย่างไร? ไม่ใช่ชื่อ เดี๋ยวนี้ มีสิ่งที่มีจริงๆ แล้วจะรู้ความจริง ได้อย่างไร?
ท่านผู้ถาม เมื่อเข้าใจ ค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วจะเข้าใจได้อย่างไร?
ท่านผู้ถาม เมื่อได้ฟัง สิ่งที่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ฟังแล้ว เข้าใจไหม?
ท่านผู้ถาม ตอนนี้ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ค่ะ
ท่านอาจารย์ นั่นคือ "รู้ความจริง" เพราะ "ฟัง" ไม่ใช่เพราะไปที่ไหน ไม่ใช่เพราะ นุ่งขาว ห่มขาว ต้องรู้ให้ตรง ค่ะ ไปหลงทำ สิ่งที่ไม่ตรง ทำไม?

ท่านผู้ถาม แต่อย่างที่หนูไป ส่วนหนึ่งก็คือว่า เรามีพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่เราได้ฟังธรรม เหมือนที่หนูฟังท่านอาจารย์อย่างนี้น่ะค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไปแล้ว เข้าใจอะไร?
ท่านผู้ถาม ก็ไปฟังท่าน ให้เราเกิดปัญญา ที่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ปัญญา รู้อะไรคะ? ปัญญา รู้อะไร?
ท่านผู้ถาม รู้ความจริงค่ะ เพื่อที่จะหลุดพ้นได้
ท่านอาจารย์ ความจริงของอะไร? แล้ว หลุดพ้นจากอะไรคะ? ไปแล้วรู้อะไร? เห็นไหม? ไปแล้วรู้ ตามที่ต้องการรู้หรือเปล่า?ต้องการรู้ความจริง เพื่อหลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร? ก็ไม่รู้เลย!!!

แต่รู้ไหม? ว่าเดี๋ยวนี้ ไม่หลุดพ้น จากอะไร? เพราะอะไร? "กำลังเห็น" ไม่หลุดพ้นจากการยึดถือเห็น "ว่าเป็นเรา" เพราะฉะนั้น จะหลุดพ้นจากการยึดถือเห็น ว่าเป็นเรา ได้อย่างไร? ไม่ใช่ไปนุ่งขาว ห่มขาว!!! แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ในพระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ไม่ใช่ "คำของคนอื่น" แต่ เป็นคำจริง และ ความเข้าใจ คือ การรู้ความจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงชื่อว่า "ปัญญา" หรือ "เข้าใจถูก"

ต้องมีสิ่งที่กำลังรู้ถูกต้อง ว่า "เห็น" ขณะนี้ เกิดแล้วดับ นี่คือ ความจริง จนกว่าปัญญา จะรู้ความจริงอย่างนี้ เข้าใจจริงๆ อย่างนี้แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่รู้เลยว่า ขณะนี้ กำลังยึดถือ "เห็น" ว่า "เป็นเรา" เต็มที่ ไม่มีทางที่จะละคลายเลย ไม่มีการเข้าใจธรรมะ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทีละเล็ก ทีละน้อย หนทางเดียว ไม่ใช่หนทางอื่น!!!

เวลาที่ดิฉันไป ที่เขาบวชอะไรนะคะ ชีพราหมณ์ เนกขัมมะ ดิฉันก็ไม่ได้ใส่สีขาวไป เพราะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่าง ตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ระเบียบ ที่ใครจะจัดขึ้น แล้วก็กล่าวว่า เมื่อทำอย่างนี้แล้ว จะมีปัญญา ก็ไม่ใช่ ถ้าจะว่ามีศีล ศีลที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะมีศีลตรงนั้น ตรงอื่นไม่มี แล้วก็ เป็นเรื่อง "ติด" หรือเป็นเรื่อง "ละ"? เป็นเรื่องติด แล้วเราก็ติดต่อไป เพราะต้องตามเขา "เกรงใจอกุศล" ซึ่งไม่ควรจะเกรงใจเลย "อกุศล" ก็แล้วแต่อัธยาศัย มิฉะนั้น จะไม่มีพวกเดียรถีย์เลย ในสมัยพุทธกาลประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรม แต่คนเห็นผิด ก็เห็นผิดต่อไป ถ้าเริ่มเห็นผิดแล้ว ความเห็นผิดนั้น จะยิ่งงอกงามไพบูลย์ต่อไป เพราะว่า ไม่ตรง ตั้งแต่ต้น

[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 209

มหาสติปัฏฐานสูตร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความหมดจดวิเศษ ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงซึ่งความโศกและความร่ำไร เพื่ออัสดงค์ ดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้คือสติปัฏฐาน (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ) ๔ อย่าง. สติปัฏฐาน ๔ อย่างเป็นไฉน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌา และโทมนัส (ความยินดียินร้าย) ในโลกเสียให้พินาศ เธอย่อมพิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ เธอย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต เนืองๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ.

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ คุณทักษพล คุณจริยา และ คุณศิริพล เจียมวิจิตร
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

..................

ขอเชิญชมกระทู้การสนทนาธรรมที่บ้านคุณทักษพล และ คุณจริยา ได้ที่นี่ครับ...

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณทักษพล คุณจริยา เจียมวิจิตร ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณทักษพล คุณจริยา เจียมวิจิตร ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ซาบซึ้งในหทัย [10]


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ที่เคารพยิ่ง,

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธา

ของคุณทักษพล และคุณจริยา เจียมวิจิตร ที่ได้จัดให้มีการสนทนาธรรม

อันเป็นไปเพื่อการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกสำหรับผู้ที่ได้ฟัง

ได้ศึกษาอย่างแท้จริง,

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม

ที่ได้ถ่ายทอดความงามของพระธรรม และภาพอันสวยงาม,

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Dechachot
วันที่ 20 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
swanjariya
วันที่ 20 ส.ค. 2557

♡กราบอนุโมทนาขอบพระคุณ♡

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง และซาบซึ้งในความเมตตาอันไม่มีประมาณของท่านที่มีต่อทุกๆ คน การมีโอกาสได้ฟังการถ่ายทอดธรรมะจากท่านเป็นสิ่งประเสริฐที่สุด

☆กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย

และอนุโมทนาขอบคุณ คุณวันชัย ภู่งามที่ตั้งใจประมวลภาพและเก็บบทสนทนามาให้ทุกท่านได้ศึกษา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 20 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปวีร์
วันที่ 21 ส.ค. 2557

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพ

อนุโมทนา พี่วันชัย ภู่งาม อย่างสูงครับ

รูปสวยงามมาก บทสนทนาธรรมไพเราะมากๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 21 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนา

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 21 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 21 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เมตตา
วันที่ 21 ส.ค. 2557

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ คุณทักษพล และ คุณจริยา เจียมวิจิตร ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม ที่ได้ถ่ายทอดความงามของพระธรรม และภาพอันสวยงาม, และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
papon
วันที่ 21 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ch.
วันที่ 21 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
tanrat
วันที่ 22 ส.ค. 2557

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 23 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ใหญ่ราชบุรี-ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
สิริพรรณ
วันที่ 8 พ.ย. 2557
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง อนุโมทนาในกุศลจิตของ คุณทักษพล และ คุณป้าต๋อย (จริยา เจียมวิจิตร) ที่ได้จัดการสนทนาธรรมทานท่ามกลางความร่มรื่นสบายตา อนุโมทนากับคุณวันชัย ภู่งาม ที่ถ่ายทอดเนื้อหา และภาพการสนทนาธรรมโดยละเอียด อนุโมทนากุศลจิตกับทุกท่านในการสร้างเหตุดี ที่จะเป็นปัจจัยได้รับกุศลวิบาก เห็นดี และมีปัญญา ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ