มารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรควรทะนุบำรุงด้วยสถาน ๕

 
chatchai.k
วันที่  13 ส.ค. 2557
หมายเลข  25290
อ่าน  7,057

สิงคาลกสูตร

ดูก่อนบุตรคหบดี มารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า

บุตรควรทะนุบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ

๑. ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้ว เราจักเลี้ยงดูท่านเหล่านั้น

๒. เราจักทำกิจของท่าน

๓. เราจักดำรงวงศ์ตระกูลไว้

๔. เราจักปฏิบัติตนเป็นผู้รับมรดก

๕. เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว เราจักเพิ่มทักษิณาทานให้

ท่านวิทยากรได้ขยายความ เราจักดำรงวงศ์ตระกูล ไว้ดังนี้

การดำรงวงศ์ตระกูลของบุตร คือ การประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีรักษาวงศ์ตระกูล เมื่อเป็นคนดี รู้จักสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ย่อมรักษาทรัพย์สินเงินทองของบิดา มารดา ไม่ทำให้ทรัพย์สิน เงินทองของท่านให้พินาศ ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพราะนั่นเป็นทรัพย์สมบัติของท่านที่หามาได้ด้วยแรงกายแรงใจของท่าน ครับ การไม่ตั้งใจเรียน เกเร ก็ย่อมชื่อว่าไม่รักษาวงศ์ตระกูล เมื่อรักษาทรัพย์ได้ รู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสมตั้งใจเรียน ไม่เกเร ก็ชื่อว่ารักษาวงศ์ตระกูลได้ ไม่ทำให้วงศ์ตระกูลเสียหาย ทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สินครับ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัตตนไม่ดี ก็ทำลายวงศ์ตระกุล ทั้งชื่อเสียง คำว่าร้ายจากคนอื่นที่มีต่อ บิดา มารดาและวงศ์ตระกูลเรา

การรักษาวงศ์ตระกูลที่ประเสริฐสูงสุด คือ ให้บิดา มารดา ออกจากวงศ์ คือ อธรรม คือ ความไม่ดี ออกจากอกุศล มีความเห็นผิด ให้ตั้งอยู่ในวงศ์คือ วงศ์ของธรรม วงศ์ของความดี ที่ถูกด้วยการให้ความเข้าใจพระธรรม ชื่อว่า เป็นบุตรที่ดำรงวงศ์ตระกูลไว้ได้อย่างสูงสุดครับ

ขอเรียนถามเพิ่มเติมดังนี้

ดังที่ท่านวิทยากรได้ชี้แจงข้างต้น บุตรที่เป็นโสด ก็น่าจะดำรงวงตระกูลได้ใช่ไหมครับ ถ้าสามารถประพฤติปฏิบัติตามที่กล่าวข้างต้น ถึงแม้จะไม่มีทายาทสืบสกุลให้บิดามารดา ดังนั้น การดำรงวงตระกูล และ การสืบสกุล น่าจะเป็นคนละเรื่องกัน ไม่ทราบว่าการสืบสกุลเป็นหน้าที่ของบุตรที่จะปฏิบัติต่อบิดามารดาหรือไม่ครับ เพราะบิดามารดาบางท่านอยากให้บุตรช่วยสืบสกุล

กรุณาช่วยชี้แนะให้กับบุคคลที่ยังโสดครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๑๒

บทว่า เราจักดำรงวงศ์ตระกูล ความว่า บุตรไม่ทำให้นา วัตถุ เงิน และทอง เป็นต้น อันเป็นของมารดาบิดาให้พินาศ แม้รักษาอยู่ก็ชื่อว่าดำรงวงศ์ตระกูล บุตรที่ให้มารดาบิดาเสื่อมจากวงศ์ที่ประกอบด้วยอธรรม แม้ให้ตั้งอยู่ในวงศ์ที่ประกอบด้วยธรรม ไม่เข้าไปตัดสลากภัตรเป็นต้น อันมาถึงแล้วโดยวงศ์ตระกูล แม้ให้เป็นไปอยู่ ก็ชื่อว่าดำรงวงศ์ตระกูล.

การดำรงวงศ์ตระกูล ไมได้หมายถึง การให้มีนามสกุลของครอบครัวสืบต่อไป หรือให้มีบุตรสืบต่อไป เพราะความดำรงวงศ์ตระกูลที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่นามสกุลบุตร เพราะสำคัญที่ความดีงามที่สืบต่อไป เป็นการดำรงไว้ซึ่งตระกูล ซึ่งสิ่งดีงามที่ควรแก่การสืบต่อ เพราะหากแม้มีนามสกุลสืบต่อ บุตรหลานมากมาย แต่การกระทำความดีของวงศ์ตระกูลนั้นหายไป แต่ประพฤติไม่ดี ไม่ให้ทาน ทำบุญ เหมือนต้นตระกูลที่ทำมา ก็ไม่ชื่อว่าดำรงวงศ์ตระกูลเลย เพราะไม่ใช่การสืบต่อความดีแต่เป็นการสืบต่อความไม่ดี

เพราะฉะนั้น การดำรงวงศ์ตระกูล แท้จริงแล้จึงไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นจิต เจตสิก ที่เป็นความดีงาม ไม่ได้หมายถึง รูป ที่ดำรงวงศ์ตระกูล คือ บุตร เป็นต้น ไม่ได้หมายถึงบัญญัติ เรื่องราว ดำรงศ์วงศ์ตระกูล แต่หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นความดีงามที่เป็นจิต เจตสิก สืบต่อกันไป อย่างเช่น ใน อรรถกถา อธิบายว่า ตระกูลที่เคยทำความดี ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ผู้เป็นบุตร ทายาท ก็ประพฤติตามทำความดี มีการให้ทานต่อไป ก็ชื่อว่าดำรงวงศ์ตระกูล แม้จะไม่มีครอบครัว ไม่มีบุตรเลย แต่ชื่อว่า ดำรงวงศ์ตระกูลแล้ว เพราะสืบต่อซึ่งความดีให้วงศ์ ให้ตระกูลต่อไปดั่งเช่นที่เคยทำมา

อีกนัยหนึ่งตามอรรถกถา การที่รักษาทรัพย์สิน เงินทอง ไว้ด้วยความสุจริตตามที่วงศ์ตระกูลได้ทำมา แม้ไม่ได้มีครอบครัวไม่ได้มีบุตร แต่ได้ทำสิ่งที่ควรทำกับวงศ์ตระกูล กับบิดามารดา ปู่ยา ตายาย ที่ท่านหาทรัพย์เก็บไว้ เพื่อบุตรหลาน การที่ทายาทรักษาด้วยดีด้วยความสุจริตก็ชื่อว่าดำรงวงศ์ตระกูลแล้ว แม้จะไม่มีบุตรครอบครัวก็ตาม เพราะดำรงไว้ ในสิ่งที่วงศ์ตระกูลหาไว้ด้วยดี และนัยที่สำคัญที่สุด คือ ที่เป็นการดำรงวงศ์ตระกูลสูงสุด คือ ตระกูลใดที่บิดามารดาตั้งอยู่ในอธรรม ความไม่ดี ความเข้าใจผิด เห็นผิด หรือ ไม่เลื่อมใสในความดี ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่ผู้เป็นบุตร สามารถทำให้บิดามารดา ญาติพี่น้อง ได้ละความเข้าใจผิด มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เจริญซึ่งคุณความดีประการต่างๆ ผู้นั้นชื่อว่าดำรงวงศ์ตระกูลอย่างแท้จริง เพราะทำให้ตระกูลสืบต่อซึ่งความดีขึ้นมาใหม่ และเกื้อกูลวงศ์ตระกูลมีบิดามารดา ญาติพี่น้องอย่างแท้จริง แม้ไม่มีบุตร ไม่มีครอบครัว ก็ชื่อว่า ดำรงไว้ซึ่งตระกูลอย่างประเสริฐยิ่ง

ต่างจากผู้ที่มีครอบครัว มีบุตร สืบต่อนามสกุล แต่ไม่ได้ทำให้ ตระกูล เข้าใจธรรม ละความเข้าใจผิด เป็นต้น ก็ชื่อว่าดำรงวงศ์ตระกูลแต่ชื่อ แต่ไม่ใช่ด้วยปรมัตถ์ที่เป็นสัจจะ คือ คุณความดี ครับ การศึกษาพระธรรมทำให้ปัญญาเกิดเจริญขึ้น ย่อมรู้สิ่งที่ควรทำ แม้แต่มารดาบิดา ญาติพี่น้อง ย่อมดำรงวงศ์ตระกูลได้ด้วยปัญญา ด้วยความดี ดั่งเช่น พระพุทธเจ้า พระอริยสาวก ที่ไม่มีบุตร ครอบครัวแล้ว แต่ก็เกื้อกูล มารดาบิดา มีพระพุทธเจ้าโปรดพุทธบิดาและพุทธมารดา และท่านพระสารีบุตรที่เกื้อกูลมารดา ได้ให้เข้าใจถูกละกิเลสเกิดปัญญา ชื่อว่า เป็นผู้ดำรงวงศ์ตระกูลอย่างประเสริฐ ความดี และปัญญาเท่านั้น ที่จะดำรงวงศ์ตระกูลได้อย่างแท้จริง

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่การน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกที่ควร เป็นกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นบุตรธิดาคนใด จะแต่งงานหรือไม่แต่งงาน ก็สำคัญอยู่ตรงนี้จริงๆ คือ การกระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ความดี ควรประพฤติ ควรที่จะสะสมอบรมให้เจริญยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นอกุศลแล้วควรที่จะได้เห็นโทษและค่อยๆ ขัดเกลา หลีกออกห่างไปทีละเล็กทีละน้อย

บุตรธิดาที่เป็นคนดี ย่อมเป็นที่สรรเสริญยกย่อง ไม่ถูกตำหนิติเตียนจากผู้อื่น ความดีไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อนเลยแม้แต่น้อย ยิ่งบุตรธิดาคนใดที่มีความเข้าใจธรรม ตั้งอยู่ในคุณความดีแล้วสามารถที่จะให้มารดาบิดาได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะเป็นการตอบแทนพระคุณที่ดียิ่ง เพราะความเข้าใจพระธรรมนี้เองจะเกื้อกูลให้คุณความดีประการต่างๆ เจริญขึ้น เป็นที่พึ่งในชีวิตของท่านได้อย่างแท้จริง ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นเครื่องนำพาชีวิต ให้ออกห่างจากอกุศลธรรม แล้วตั้งมั่นในกุศลธรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 13 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 14 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Looksorn
วันที่ 14 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kullawat
วันที่ 16 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ