เรียนถามเกี่ยวกับจิตที่ทำตทาลัมพนกิจ และมนุษย์ที่พิการแต่กำเนิด

 
thilda
วันที่  30 ก.ค. 2557
หมายเลข  25190
อ่าน  818

เรียนถามอาจารย์ดังนี้ค่ะ

1. จิตที่ทำตทาลัมพนกิจ มี 11 ดวง คือ สันตีรณจิต 3 ดวง และมหาวิบากจิต 8 ดวง ไม่ทราบว่า กรณีที่เป็นมนุษย์ ไม่พิการแต่กำเนิด จิตที่ทำตทาลัมพนกิจ จะเป็นมหาวิบากจิตดวงใดดวง หนึ่งใน 8 ดวง ที่ทำกิจปฏิสนธิของบุคคลนั้นเสมอหรือเปล่าคะ และกรณีที่เป็นมนุษย์ พิการแต่กำเนิด หรือในภพภูมิอื่นที่เกิดตทาลัมพนจิตได ้จิตที่ทำตทาลัมพนกิจก็จะเป็นสันตีรณจิต 1 ใน 3 ดวง ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของตทาลัมพนจิตนั้นว่าเป็นอิฏฐารมณ์ อติอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ หรือเปล่าคะ

2. กรณีที่เป็นมนุษย์ พิการแต่กำเนิด ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ไม่ทราบว่ามีหลักเกณฑ์บอกไว้ด้วยไหมคะ ว่าพิการในลักษณะใดบ้างค่ะ เช่น ถ้ามีความผิดปกติของยีนตั้งแต่กำเนิด ทำให้เติบโตมาแล้วมีรูปร่างผิดปกติ แต่ไม่ได้ถึงกับพิการ ถือว่าเป็นกรณีนี้ด้วยหรือเปล่าคะ

ขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านมากๆ ค่ะ และขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑.) มนุษย์ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด ต้องปฏิสนธิด้วยมหาวิบาก ดวงใดดวงหนึ่งใน ๘ ดวง

จิตที่จะกระทำ ตทาลัมพนกิจ ได้นั้น ล้วนแต่เป็นวิบากจิตทั้งสิ้น (ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่

อกุศล ไม่ใช่กิริยา) มี ๑๑ ดวง ได้แก่

- อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง

- โสมนัสสันตีรณจิต๑ ดวง

- และ มหาวิบาก ๘ ดวง

ที่เรียกว่า ตลาลัมพนจิต ก็เรียกตามจิตที่กระทำกิจนี้ ตทาลัมพนจิต เป็นจิตที่รับรู้อารมณ์ต่อจากชวนจิต โดยวิสัยของกามบุคคล ซึ่งเป็นผู้ปฏิสนธิ ด้วยวิบากของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ยังเป็นไปในกาม เมื่ออารมณ์ยังมีอายุเหลืออยู่ ตทาลัมพณจิต ซึ่งเป็นวิบากของกรรมที่เป็นกามวจร จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เหลือ ๒ ขณะ และตทาลัมพณจิตดวงสุดท้ายก็ดับไปพร้อมกับอารมณ์ซึ่งเป็นสภาวรูปรูปๆ หนึ่ง นั้น กามชวนะ จะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็ตาม ถ้าอายุของรูปยังเหลืออยู่ ก็ย่อมเป็นเหตุให้ตทาลัมพณจิต เกิดต่อได้

ตทาลัมพณจิต เกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และทางมโนทววาร ที่สำคัญจะต้องเกิดต่อจากกามชวนะ ไม่ใช่อัปปนาชวนะ ไม่ใช่โลกุตตรชวนะ และจะต้องเกิดกับกามบุคคล คือ บุคคลในกามภูมิ เท่านั้น

ตทาลัมพณจิต เป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตทุกประเภทเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ ตทาลัมพณจิตก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ ถ้าเป็นทางปัญจทวารอารมณ์ ของตทาลัมพณจิตต้องเป็นอติมหันตารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ใหญ่ยิ่ง และถ้าเป็นอารมณ์ทางมโนทวารต้องเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนอย่างยิ่ง คือ เป็นวิภูตารมณ์

อารมณ์ทั้งสองอย่างนั้น ต้องเป็นปรมัตถอารมณ์ เท่านั้น

๒.) การพิการตั้งแต้กำเนิด แสดงว่า บ้าใบ้ บอด หนวก พิการทางสมอง แต่ไม่ได้ระบุตายตัวว่ามีลักษณะละเอียดอย่างไรบ้าง ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้นให้สัตว์โลกได้รู้ตาม ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้นไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้ เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น หนึ่งในธรรมที่มีจริงนั้น คือ จิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นย่อมกระทำกิจหนึ่งกิจใด ตามสมควร แม้แต่ ตทาลัมพนจิต ก็เช่นเดียวกัน เป็นจิตที่เกิดขึ้น รับผลของกรรม รับรู้อารมณ์ต่อจากชวนจิต เมื่อรูปนั้นยังไม่ดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อได้ซึ่งเป็นการตรัสรู้โดยบุคคลผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุด คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถ้าจะศึกษาแล้ว ก็จะเข้าใจว่าจิตที่จะกระทำตทาลัมพนกิจได้นั้นล้วนแต่เป็นวิบากจิตทั้งสิ้น มี ๑๑ ดวง ได้แก่ อุเบกขา สันตีรณจิต ๒ ดวง โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง และมหาวิบาก ๘ ดวง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง ตามควรแก่บุคคล และภพภูมินั้น คือ เฉพาะกามบุคคล ที่เกิดในกามภูมิ เท่านั้น

แต่ละคน เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ที่เหมือนกัน คือมีความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม คือ จิต เจตสิก และ รูป เสมอกันโดยความเป็นธรรม แต่ที่ต่างกัน คือการสะสม และผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ที่เกิดมาพิการหรือไม่พิการนั้น กรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นเครื่องจัดสรร ไม่มีใครทำให้เลย ไม่มีใครบังคับให้เป็นอย่างนั้นได้เลย แต่เป็นไปแล้ว ตามสมควรแก่เหตุ คือ กรรม ที่ได้กระทำแล้ว นั่นเอง

การเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นผลของกรรมประเภทใด ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิอย่างเดียว, แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ ตามสมควรแก่กรรม ทั้งที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ หรือ เหตุ ๒ หรือไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ เลย การเกิดเป็นมนุษย์ผู้พิการบ้าบอดหนวก ตั้งแต่กำเนิด (ผิดปกติตั้งแต่เกิด) เป็นผลของกุศลที่มีกำลังอ่อน เช่น มหากุศลดวงที่ ๘ ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีเวทนาเป็นอุเบกขาเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน มหากุศลดวงนี้ เวลาจะให้ผล ก็จะไม่ให้ผลเป็นอกุศลวิบากเลย เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่กุศลกรรมจะให้ผล เป็นอกุศลวิบาก แต่จะให้ผลเป็นกุศลวิบาก ประเภทที่เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก อันเป็นผลมาจากเหตุคือกุศลที่มีกำลังอ่อน ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ผู้พิการบ้าบอดหนวกตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะแตกต่างจากผลของอกุศลกรรม ที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ เท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 31 ก.ค. 2557

ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว มาพิการภายหลัง เช่น ประสบอุบัติเหตุ เป็นผลของกรรมที่ทำไว้แล้วในอดีต แต่ไม่ใช่อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 31 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 31 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆ ค่ะ ที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดไปค่ะ ขออนุโมทนาที่ช่วยให้เกิดความเห็นถูกค่ะ สิ่งที่เกิดแล้วก็เป็นไปแล้ว ก็คงต้องสะสมที่เป็นกุศลกรรมและความคิดที่ถูกต่อไปค่ะ แต่ก็ไม่มีใครสะสม ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย

ขอบพระคุณค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ