ให้เข้าใจว่าขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล

 
นิ้ง
วันที่  24 ก.ค. 2557
หมายเลข  25160
อ่าน  856

หนูยังมีความสงสัยในคำว่า "กุศล" และ "อกุศล" อยู่ ถ้าแปลอย่างหยาบๆ ตามความจำของหนูคือ กุศล หมายถึงสิ่งที่ดีงาม ส่วนอกุศล คือ สิ่งที่ไม่ดี และเมื่อหนูนำสองสิ่งนี้ไปเชื่อมโยงกับสมาธิ จากการที่ได้ฟังพระธรรมจากคณะวิทยากรบ้านธัมมะล้ว ยิ่งทำให้หนูพบว่า ที่หนูเคยทำผ่านมา เป็นมิจฉาสมาธิ บ้างก็มีโลภะ (อยากสงบ) บ้างก็เป็นโมหะ (ทำไปแบบไม่รู้อะไรเลย เฉยไป) อาจารย์บอกว่า สมาธิที่ดีคือ สัมมาสมาธิ ขณะนั่งนั้น ให้เข้าใจว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล ส่วนกุศลจะเกิดได้นั้น ปัญญาต้องเกิดก่อน

1. ปัญญา คือ สภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเข้าใจถูก เห็นถูก ดังนั้น เมื่อเห็นถูก กุศลก็จะเกิด แล้ว ความเห็นถูกที่ว่านั้น ควรจะเห็นเป็นอย่างไร?

2. หากถือว่า ปัญญาเป็นสภาพธรรม ดังนั้น ปัญญา คือเจตสิก ใช่ไหมคะ?

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมาธิ เป็นความตั้งมั่น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีสมาธิเกิดร่วมด้วย สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง มีความเสมอกันกับจิตที่เกิดร่วมด้วย เป็นไปได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ตามประเภทของจิตนั้นๆ

มิจฉาสมาธิ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นผิด เกิดร่วมกับอกุศลจิต ขณะที่อกุศลจิตเกิด จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามไม่ได้ ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี

เหตุ ให้เกิด มิจฉาสมาธิ คือ ความไม่รู้ และความเห็นผิด เพราะอาศัยความไม่รู้ ทำให้มีการทำที่ผิด ปฏิบัติที่ผิด ครับ

ส่วน ระดับของมิจฉาสมาธิ ไม่มีทางที่จะถึง อุปจารสมาธิ และอัปนาสมาธิ เพราะการจะถึงระดับทั้งสองนั้น จะต้องเป็น สัมมาสมาธิเท่านั้น เช่น การเจริญฌานต่างๆ ที่เป็นการเจริญสัมมาสมาธิ มีการเจริญพรหมวิหาร เป็นต้น ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ เรื่อง สัมมาสมาธิ และ มิจฉาสมาธิ ครับ

ท่านผู้ฟัง : สมาธินั้น...แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ.

ท่านอาจารย์ : เอกัคคตาเจตสิก มีสภาพที่มีอารมณ์เดียว ขณะที่เป็นสมาธิก็มีเอกัคคตาเจตสิก ที่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งปรากฏ เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะเอกัคคตาเจติก เป็น "สัพพจิตตสาธารณะเจตสิก".

ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิเพราะมีอยู่แล้วกับจิตที่เกิดทุกดวง เพียงแต่ว่าเวลาที่จิตเกิดนั้น (ปกติ) ...ลักษณะของเอกกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏ เพราะจิตที่เกิดก็สั้นมากและสิ่งที่ปรากฏ วาระหนึ่งๆ ก็สั้นมาก ฉะนั้น ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏตั้งมั่น ถึงระดับที่เราใช้คำว่า "สมาธิ".

แต่ถ้าจิตจดจ่ออยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนาน...ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ เช่น ตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง...เดินให้ดี ไม่ให้ล้ม ข้ามสะพานไม่ให้ตก เป็นต้น เหล่านี้ ก็เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกขณะนั้น...ไม่ใช่กุศลจิต.

ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิก ไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต. ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิก ไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่ "สัมมาสมาธิ" แต่เป็น "อกุศลสมาธิ" หรือ "มิจฉาสมาธิ" ขณะที่เอกัคคตาเจตสิก เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นเป็น "สัมมาสมาธิ".

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปัญญา คือ ความเห็นถูก ส่วน สัมมาทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นชอบ ซึ่งก็เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นถูกนั่นเอง ซึ่งก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา เพราะฉะนั้น พยัญชนะ แม้ต่างกัน แต่ อรรถ ก็ไม่ต่างกัน คือ เป็นความเห็นถูก เห็นชอบเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ครับ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้ผู้ฟังได้พิจารณาไตร่ตรอง เป็นความเข้าใจของผู้ฟังเอง ขอเพียงเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการเข้าใจธรรม ซึ่งก็หมายถึง สิ่งที่มีจริงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม เพราะในการฟังการศึกษาพระธรรมนั้น เป็นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีในขณะนี้จริงๆ ซึ่งตัวสภาพธรรมจริงๆ นั้นมีลักษณะเฉพาะของตนๆ โดยไม่ต้องใช้ชื่ออะไรๆ ก็ได้ แต่ที่มีชื่อหรือใช้ชื่อนั้น ก็เพื่อบอกให้รู้ว่า กำลังกล่าวถึงอะไร ก็เพื่อให้เข้าถึงตัวจริงของสภาพธรรม ที่กำลังกล่าวถึง นั่นเอง เพราะการฟังพระธรรม จะต้องมีเรื่องที่กำลังฟัง และก็จะต้องเป็นผู้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรม นั้นๆ ด้วย สิ่งสำคัญ คือ การฟังแล้ว เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง ขอเพียงฟังให้เข้าใจจริงๆ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เป็นปัญญาของตนเอง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ

พระธรรมคำสอนของของอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีค่ามาก มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลกทั้งปวง ซึ่งถ้าไม่มีโอกาสได้ฟัง ไม่มีโอกาสได้ศึกษา ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจเลย บุคคลผู้ที่ฟังศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบเท่านั้น ถึงจะเข้าใจและได้รับประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง, สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม เป็นโอกาสที่หายากในชีวิต เป็นการยากมากที่จะได้ฟัง เมื่อมีโอกาสแล้ว ได้พบพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ก็ไม่ควรจะปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไป ควรตั้งใจฟังด้วยความเคารพ

ขณะที่ฟังพระธรรม ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นความดี เป็นกุศลแล้ว ในขณะที่ฟังพระธรรม ซึ่งก็หมายรวมถึง การพิจารณาไตร่ตรอง การสนทนา การสอบถามจากกัลยาณมิตร ผู้ที่มีปัญญาด้วย ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาทั้งสิ้น แต่จะเจริญขึ้นมากน้อยแค่ไหนนั้น ย่อมขึ้นอยู่ที่การสะสมมาของแต่ละบุคคล อย่างแท้จริง ครับ

...ขออนุโมทนา ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็ต้องตั้งต้นที่การค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก จากการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขอให้มีความเข้าใจในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟังแม้แต่คำว่ากุศล กับ อกุศล ก็กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะกุศล เป็นสภาพธรรมที่ดี เป็นธรรมที่กำจัดบาปธรรม เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ให้ผลเป็นสุข เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ และมีในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศล ขณะที่มีเมตตา มีความเป็นมิตร เป็นเพื่อนกับผู้อื่น ไม่หวังร้ายต่อผู้อื่น ขณะที่มีการสละสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เป็นต้น เป็นตัวอย่างของขณะที่เป็นกุศลในชีวิตประจำวัน ส่วน อกุศลเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกุศลอย่างสิ้นเชิง เพราะอกุศลเป็นธรรมที่ไม่ดี เป็นสภาพธรรมที่มีโทษ ไม่นำมาซึ่งคุณประโยชน์ใดๆ เลย และมีจริงในชีวิตประจำวันอกุศล ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่อยู่ในชีวิตจริงๆ เช่น ขณะที่ติดข้อง ขณะที่ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ขณะที่ริษยา ขณะที่ตระหนี่ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นขณะที่เป็นอกุศล หรือแม้แต่ที่กล่าวถึง มิจฉาสมาธิบ้าง ความอยากที่จะให้จิตสงบบ้าง ก็ไม่พ้นไปจากอกุศล เป็นธรรมฝ่ายไม่ดี ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

น่าพิจารณาในคำที่กล่าวถึง คือ คำว่าสัมมาสมาธิ คำว่า สัมมาสมาธิ นั้นเป็นความตั้งมั่นชอบ เป็นกิจหน้าที่ของธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งมั่นในอารมณ์ที่สติและปัญญารู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปนั่งทำอะไรที่ผิดปกติ ขณะที่ไปนั่งหรือไปทำอะไรที่ผิดปกติ ด้วยความอยากความต้องการให้สงบ นั่นไม่ใช่สัมมาสมาธิ เพราะเป็นอกุศล จะเป็นสัมมาสมาธิไม่ได้

สำหรับเรื่องของกุศลนั้น จะต้องเข้าใจด้วยว่ากุศลที่เกิดนั้น ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี มีปัญญา เกิดร่วมด้วยก็มี ไม่ใช่ว่าขณะที่เป็นกุศลทุกครั้ง จะต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย แม้ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ก็เป็นกุศลได้ โดยที่เป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยให้ปัญญาเกิดไม่ว่าจะเป็นที่ไหน เมื่อใดก็ตาม ปัญญาก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ได้

ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก กิจของปัญญา คือ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ขณะที่ปัญญาเกิดนั้น ก็พร้อมด้วยเจตสิกธรรมที่ดีงามประการอื่นๆ มีศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น และถ้ามีความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะอุปการะให้กุศลเจริญยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะปัญญาจะไม่นำพาไปสู่ทางตกต่ำเลย มีแต่จะทำให้ความดีเจริญขึ้น เป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกที่ควร ละทิ้งในสิ่งที่ไม่ควร ขณะที่ปัญญาเกิดจะไม่เป็นอกุศลเลย เพราะกุศล กับ อกุศล จะไม่เกิดร่วมกันอย่างเด็ดขาดตามความเป็นจริงของธรรม

ธรรม ไม่ใช่เรื่องถือ แต่เป็นความจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ปัญญา ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แปลเป็นไทย ก็คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งก็ คือ ปัญญาเจตสิก นั่นเอง ปัญญา เป็นเจตสิกที่ดีงามประการหนึ่ง ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ความแตกต่างระหว่างสัมมาสมาธิและิมิจฉาสมาธิ

จะนั่งสมาธิอีกแล้วครับ

กุศลและอกุศล เกิดดับพร้อมกันหรือไม่

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 ก.ค. 2557

ปัญญา คือ ความเห็นถูกกับสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 26 ก.ค. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
natural
วันที่ 28 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 29 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ