ธรรมจาริกในสรีลังกา - 2.

 
พุทธรักษา
วันที่  18 มิ.ย. 2557
หมายเลข  25002
อ่าน  1,134

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ.ดร.ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
คัดลอกจาก members.tripod.com/buddhiststudy/srilanka.htm

บทที่ ๒

สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงบุญกิริยาประการต่างๆ และกุศลประการหนึ่งก็คือ ทาน หรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราควรอบรมเจริญความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ทว่า เราจะรู้ไหมว่า ขณะใดเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จริงๆ

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้น ไม่จีรัง ไม่มีอัตตา ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีชีพที่ถาวร มีแต่กระแสของสภาพรู้ ที่สืบต่อและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จิต (สภาพรู้) เกิดขึ้นและดับไปในทันที แล้วก็สืบต่อด้วยจิตดวงต่อไป จิตต่างๆ เกิดขึ้น แล้วดับไป สืบต่อกันไปเรื่อยๆ

อกุศลจิต (สภาพรู้ที่ไม่ดี) อาจจะเกิดภายหลังกุศลจิตไม่นาน แต่เราก็ไม่ทันสังเกต แต่ อกุศลจิต จะเกิดพร้อมกับกุศลจิตในขณะเดียวกัน ไม่ได้ เพราะว่า ในหนึ่งขณะ จิตจะเกิดขึ้นได้ทีละหนึ่งดวงเท่านั้น ความโลภ กับ ความเอื้อเฟื้อ จะเกิดขึ้นในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่ ความโลภ อาจเกิดสืบต่อได้อย่างรวดเร็ว หลังจากความเอื้อเฟื้อดับไปแล้ว ในวันหนึ่งๆ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกิดขึ้นน้อยมาก

ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งหลับ เราก็มีแต่แสวงหาสิ่งต่างๆ มาเป็นของเรา ส่วนช่วงเวลาที่เราเป็นฝ่ายให้ แทนที่จะเป็นฝ่ายได้นั้น ช่างเล็กน้อยเสียเหลือเกิน เรารู้ตัวจริงๆ หรือ ว่าขณะไหนเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราอาจจะไปยึดถือ สิ่งที่ความจริงแล้วเป็นโลภะ ว่าเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็ได้ เรารู้ตัวหรือเปล่า ว่ามีความผูกพันในบุคคลผู้รับ ผูกพันกับสิ่งของที่เราให้ และผูกพันกับกุศลกรรมของเราเอง เราติดข้องในความรู้สึกแช่มชื่นที่เกิดจากการให้ และ ไม่ได้สังเกตแม้แต่น้อย ว่าขณะนั้นเป็น โลภะ

เราอาจจะคิดถึง “การให้ของฉัน” และยึดถือกุศลกรรมว่า เป็นตัวตน โลภะ เกิดขึ้นมากมายหลายขณะ เกินกว่าที่เราคาดคิด บางคนอาจจะคิดว่า โลภะ เกิดก็ต่อเมื่ออยากได้อะไรๆ เมื่อเกิดละโมบ แต่โลภะมีมากมายหลายรูปแบบ บางอย่างก็หยาบและบางอย่างก็ละเอียดกว่า บ่อยครั้งไหม ที่พอเราเห็นอะไรเข้าก็เกิดพอใจสิ่งที่เห็น เราไม่ยึดมั่นในการเห็นและในตาของเราหรือ เราย่อมไม่อยากสูญเสียดวงตา หรือสายตาที่ดี นั่นก็แสดงว่า มีโลภะ โลภะ มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบกับสิ่งที่สัมผัสกาย และขณะรู้สิ่งที่ปรากฏทางมโนทวารด้วย

บางคน อาจจะสงสัยว่า “ทวาร” หมายถึงอะไร ทวาร คือ ทางที่จิตรู้อารมณ์ จิตเห็น รู้สิ่งที่ปรากฏทางทวารตา จักขุทวาร ก็คือ จักขุปสาท อันเป็นรูปชนิดหนึ่ง ที่สามารถกระทบกับ สิ่งที่ปรากฏทางตาได้ จักขุปสาทเองนั้น ไม่เห็น แต่ เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเห็น ทวารทั้งหมด มีอยู่ ๖ ทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ไม่มีตัวตน ที่รู้สิ่งที่ปรากฏต่างๆ มีแต่ จิตประเภทต่างๆ ที่เกิดดับ สืบต่อกัน โดย รู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด ใน ๖ ทวาร นั่นเอง

ความโลภ ความโกรธ และความหลง สามารถเกิดในอารมณ์ ที่รู้ทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๖ ทวารนั้น เรามักจะทึกทักจิต ซึ่งที่แท้จริงแล้วเป็น อกุศลจิต ว่าเป็นกุศลจิต บ่อยๆ เช่น ดิฉันไปช่วยคนที่ตักน้ำให้สตรีชราคนหนึ่ง ขณะที่ช่วยเขาตักน้ำ ดิฉันก็พูดธรรมไปด้วย แต่ดิฉันก็เกิดความโลภต่อกุศลของดิฉันอยู่หลายขณะทีเดียว และเมื่อผู้คนที่วัด แสดงความปรารถนาดี ชื่นชมต่อดิฉันและอนุโมทนากุศลนั้น ดิฉันก็ซาบซี้งในความเอื้ออารีของเขา แต่ก็เกิดโลภะต่อสิ่งเหล่านั้นและต่อกุศลของดิฉันเองด้วยทันทีเนื่องจากจิตต่างๆ เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงยากเหลือเกินที่จะรู้ได้อย่างชัดแจ้งว่าขณะใดจิตเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล ขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นไม่มีโลภะ โทสะ และโมหะเลย

เมื่อเรารู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้นแล้ว เราก็จะทราบได้ว่าแม้แต่กุศล ดังเช่นทานนั้น ก็อาจเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะขึ้นได้ เราจะรู้ ก็ต่อเมื่อ มีความติดข้องในผลของกุศลกรรม เช่น การเกิดในสุคติภพ หรือมิฉะนั้น ก็รู้ได้ เมื่อมีความสำคัญตนในกุศลนั้น เราอาจคิดว่าเราดีกว่าคนอื่น

บุคคล จึงต้องอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะได้รู้ถึงความต่างกันระหว่าง กุศลกับอกุศล ความเข้าใจอันถูกต้อง หรือปัญญานั้น ไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิตทุกดวง เช่น คนบางคน อาจช่วยเหลือคนอื่น เพราะเป็นอุปนิสัยของเขา โดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมกับกุศลจิตขณะนั้นเลยก็ได้

เราอาจถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุหรือถวายดอกไม้บูชาในโบสถ์ เพราะเป็นประเพณีที่ดีงามที่เราได้รับการอบรมสั่งสอนมา ในขณะเหล่านั้น เป็นกุศลจิตแต่อาจจะไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ เมื่อกุศลจิตดับไปแล้ว อกุศลจิตอาจจะเกิดขึ้น แต่เราก็มักจะไม่ค่อยรู้ บางคนอาจคิดว่า กุศลจิตเกิดขึ้นตลอดเวลาที่อยู่ในโบสถ์ หรือในขณะที่กำลังช่วยเหลือคนอื่นอยู่ เราอาจคิดไปว่า ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จะคงอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งโดยแท้ที่จริงแล้ว ระหว่างนั้น เป็นอกุศลจิตมากมายหลายขณะก็ได้

การรู้ความจริงของตัวเองนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นการเตือนสติ ให้เจริญปัญญา เพื่อรู้ชัดว่า ขณะใดเป็นกุศลและขณะใดเป็นอกุศล เราจะต้องตรงต่อตัวเองจริงๆ และควรรู้ว่า อกุศลย่อมเกิดขึ้นบ่อยกว่ากุศล

ศีล เป็นกุศลอีกอย่างหนึ่ง ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง การละเว้นการกระทำชั่ว ทางกาย ทางวาจาและใจ เป็นกุศลศีล การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม และการช่วยเหลือผู้อื่น ก็รวมอยู่ในศีลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระหว่างการประชุมที่อนุราธปุระ ได้มีคนถามเรื่องการรักษาศีลหลายประเด็น บางคนที่มีอาชีพเป็นทหาร ได้ถามว่า การปฏิบัติตามคำสั่งให้ฆ่าคนนั้นเป็นอกุศลหรือไม่

คุณสุจินต์ได้ถามเขาว่า “คุณต้องการจะฆ่าหรือว่าคุณจำเป็นต้องฆ่าเล่า” ตรงนี้เองเป็นข้อที่ต่างกัน การฆ่าเป็นอกุศลกรรม (การกระทำชั่ว) แต่อกุศลกรรมก็มีหลายระดับ เมื่อบุคคลใด ต้องการฆ่าอย่างสุดหัวใจ อกุศลกรรมนั้น เป็นขั้นแรงกว่าการฆ่าโดยปฏิบัติตามคำสั่งผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ควรคิดว่าไม่มีวันจะล่วงละเมิดศีลห้าเลย

ความโน้มเอียงที่จะเกิดอกุศลสารพัดชนิดนั้น ย่อมนอนเนื่องอยู่เป็นประจำ และเมื่อประจวบโอกาส เราก็อาจกระทำอกุศลกรรมได้ บางคนอาจจะไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จำต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่นาน แต่ใครจะรู้แน่ได้เล่าว่า ถ้าอยู่ในสภาวการณ์คับขันแล้วจะไม่ฆ่าสัตว์ เช่น เราอาจจะต้องฆ่าแมลง เพราะแขกกำลังจะมาบ้าน

เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้หนึ่งถามว่า เขาจะกระทำหน้าที่ของเขา ด้วยกุศลจิตได้ไหม คุณสุจินต์ ได้กล่าวว่า อาชีพของเขามีโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้มากมาย เช่น ช่วยในการรักษาระเบียบและช่วยประชาชนที่เดือดร้อน

ผู้พิพากษาท่านหนึ่งถามว่า การที่จำต้องตัดสินลงโทษประหารชีวิตคนนั้น เป็นการกระทำอกุศลกรรมหรือเปล่า มีกฎหมายที่เราทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม การลงชื่อตัดสินคดีเช่นนั้น อาจไม่เป็นอกุศลกรรมก็ได้ แต่ก็มักจะกระทำไปด้วยอกุศลจิต

บ่ายวันหนึ่ง ผู้พิพากษาท่านนั้นพร้อมทั้งครอบครัว ได้มานมัสการพระธัมมธโรภายใต้ร่มไม้ในบริเวณมหาวิหารที่อยู่ระหว่างพระสถูป “รูวันเวลิสายะ” กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ เรารู้สึกว่า สถานที่นี้ ซึ่งเคยเป็นที่สนทนาธรรมตั้งแต่อดีตกาล เป็นที่เหมาะสำหรับสนทนาธรรมมาก

ท่านพระธัมมธโร ได้พูดถึง อันตรายของความทะเยอทะยาน ซึ่งอาจเป็นตัวก่อให้เกิดอกุศลจิตลักษณะต่างๆ และบางคนอาจกระทำอกุศลกรรม เช่น กล่าวเท็จ เพื่อจะได้บรรลุจุดหมายของตน แต่ การได้รับสิ่งที่น่าพอใจ เช่น เกียรติยศ และความเคารพนับถือนั้น เป็น ผลของกุศลกรรม จะเป็น ผลของอกุศลกรรม ไปไม่ได้เลย เมื่อใด ที่ไม่มีปัญญา ก็ไม่รู้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิตและขณะใดเป็นอกุศลจิต และไม่รู้ว่าจะเจริญกุศลขึ้นได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้เราจึงตกเป็นทาสของกิเลสทั้งหลายแหล่ ท่านผู้พิพากษา ได้ให้เงินหญิงยากจนที่เดินเข้าใกล้ๆ กลุ่มของเรา คุณสุจินต์ได้กล่าวว่า “การให้ทานขณะนี้ เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย หากปราศจากเหตุปัจจัยที่จะให้แล้ว การให้ก็เกิดไม่ได้”

การเตือนสติว่า ไม่มีตัวตน ที่เป็นผู้ให้ ไม่มีบุคคลในการให้ มีแต่จิตเท่านั้น ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น จะเป็นประโยชน์มาก ถ้าหากไม่มีการให้มาแล้วในอดีต ก็ย่อมจะไม่มีการให้ในปัจจุบันนี้ จิตที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป ไม่คงอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม จิตดวงนี้ ก็เป็นเหตุปัจจัยแก่จิตดวงต่อไป และจิตดวงใหม่นี้ ก็เป็นปัจจัยแก่จิตดวงต่อไปอีกตามลำดับ ด้วยเหตุนี้เอง กรรมดีและกรรมชั่ว จึงสืบต่อกันไปจากขณะหนึ่งไปยังขณะหนึ่ง จากชาติหนึ่ง ไปยังอีกชาติหนึ่ง

การละเว้นจากมิจฉาวาจา ก็เป็นอาการของศีลอย่างหนึ่ง ซึ่งเราเข้าใจในทางทฤษฎี แต่ในชีวิตประจำวัน เราระลึกได้หรือเปล่า เมื่อกำลังจะกล่าววาจาที่ไม่น่าฟัง เช่น หากมีคนเสนอแผนงานที่เราไม่ชอบเลย เราหมดความอดทน แล้วพูดโผงผางออกไปหรือเปล่าว่าเราไม่ชอบแผนงานของเขา หรือว่าเราจะสงบปากสงบคำไม่เพราะหูนั้น ด้วยความเกรงใจเขา เราอาจจะรู้ว่า เวลาที่เราขึ้นเสียงเอะอะนั้นเป็นวาจาที่ไม่ดี ซึ่งนั่นก็เห็นชัดๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อใด ที่เราพูดจาไม่เกรงอกเกรงใจคนอื่นนั้น เรารู้ตัวหรือเปล่าว่า นั่นเป็นวาจาที่ไม่สมควรเลย

แม้ว่าเราจะไม่เอะอะเลยก็ตาม การแสดงความไม่พอใจด้วยวาจา เป็นการพูดที่เกิดจากความขัดเคืองใจ ด้วยเหตุนี้ คำพูดนั้นๆ จะเป็นสัมมาวาจาได้อย่างไร และแม้แต่การที่เราไม่ได้กล่าวอะไรเลย แต่หุบปากเงียบด้วยความไม่พอใจ เมื่อไม่เห็นด้วยกับคนอื่น ก็ไม่ใช่กุศลจิตที่ละเว้นวจีทุจริต

มีหลายพระสูตร ที่มีข้อความเรื่องวาจาที่อ่อนโยน เช่น ในจุฬหัตถิปโทปมสูตร

(มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๓๓๓) ซึ่งพระมหินทเถระ ได้เทศน์โปรดพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ ข้อความเรื่องวาจามีว่า

"ให้พึงละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษเพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ…"

พระธัมมธโร ได้เล่าให้ดิฉันฟังเรื่องหนึ่ง ซึ่งดิฉันได้เห็นว่าเป็นข้อเตือนใจเราอย่างดียิ่ง ให้มีความอดกลั้นในการกล่าววาจา ท่านเล่าว่า คืนหนึ่งระหว่างการประชุม พระภิกษุไม่มีไมโครโฟน เมื่อพระภิกษุต้องการจะพูดอะไร ก็ต้องคอยรับไมโครโฟนที่ส่งต่อกันมาให้ พระภิกษุทั้งหลาย ต่างรู้สึกว่า การรอคอยนี้เกิดประโยชน์มาก เพราะถ้าหากผู้ใด พูดอะไรออกมาทันทีแล้ว เขาก็อาจจะพูด ด้วยอกุศลจิตได้ เมื่อเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คนอื่นพูด ถ้าจำเป็นต้องรอ เขาก็มีเวลาที่จะมีสติยับยั้งได้

การที่จะพูด ด้วยกุศลจิตเสมอไปนั้น ช่างยากเย็นจริงๆ แม้แต่ในการพูดธรรม ก็อาจจะมีความยึดมั่นในคำพูด และความคิดของตนเอง หรืออาจไม่พอใจคำพูดของคนอื่น หรืออาจจะมีความภาคภูมิใจในความรู้ของตนเอง เมื่อใดที่อกุศลจิตทำให้พูด แม้จะเป็นเรื่องธรรมก็ตาม ผู้พูด ย่อมไม่สามารถอำนวยประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ผู้อื่นได้เลย ด้วยเหตุนี้ เราจะเห็นได้ว่า ความเข้าใจจิตต่างๆ ของตนเอง ย่อมเป็นประโยชน์ที่สุดในการเจริญกุศล

ขออนุโมทนา
และขออุทิศกุศล แด่ พ.อ.ดร.ชิณวุธ สุนทรสีมะ
และขอขอบพระคุณข้อมูลจาก
www.dharma-gateway.com/ubasika/nina/nina-sri_lanka_02.htm


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
natural
วันที่ 19 มิ.ย. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ประสาน
วันที่ 20 มิ.ย. 2557

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
siraya
วันที่ 20 มิ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ