อารมณูปนิสสยปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัย

 
papon
วันที่  10 มิ.ย. 2557
หมายเลข  24964
อ่าน  1,167

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"อารมณูปนิสสยปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัย" ขอความกรุณาอาจารย์อธิบายความละเอียดของทั้งสองคำด้วยครับ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นสภาพธรรม ที่มีกำลังจนสามารถ เป็นปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมอื่นที่เป็นจิต เจตสิกครับ ซึ่งปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่กว้างขวางมากครับ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอื่นๆ เกิดนั้น ปัจจัยที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือ จิต 89 เจตสิก 52 รูป 28 เป็นต้น ซึ่งปกตูปนิสสยปัจจัย มีหลายอย่างดังนี้ครับ

1. กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด กุศลที่เป็นจิต เจตสิก เช่น สะสมการฟังธรรม ความเห็นถูกมา ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต คือปัญญาเกิดได้อีกครับ หรือ กุศลขั้นการฟังเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลขั้นสูงครับ

2. กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด อกุศล เช่น เพราะมีความเห็นถูก (ปัญญา) ทำให้เกิดมานะ ดูหมิ่นผู้อื่น เป็นต้น

3. กุศลเป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ เกิดวิบาก

4. อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล

5. อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล

6. อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ ที่เป็นวิบากจิต

7. อัพยากตะ เป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ

จะเห็นนะครับว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่กว้างขวางครับ สภาพธรรมทั้งที่เป็นจิต เจตสิก รูปและบัญญัติด้วย

ความหมายของอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ธรรมที่เป็นจิต และ เจตสิกใดๆ ทำธรรมใดๆ ให้เป็นอารมณ์อย่างหนักแน่นเกิดขึ้น ธรรมนั้นเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เป็นจิต เจตสิก นั้นๆ โดยอารัมมณาธิปติปัจจัย

อารัมมณูปนิสสยปัจจัย หมายถึง ธรรมที่เป็นอารมณ์หนักแน่น คือ จิต เจตสิก รูป ที่เกิดในวาระก่อนๆ และ นิพพาน เป็นปัจจัยมีกำลังอุปการะให้นามธรรม คือ จิต และ เจตสิก เกิดภายหลัง

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 10 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาในส่วนของปัจจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ประโยชน์คือความเข้าใจถูก เข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามปัจจัย ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ โดยปราศจากปัจจัย ทำให้เข้าใจมั่นคงยิ่งขึ้นในความเป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อารัมมณูปนิสสยปัจจัย คือ สิ่งที่เป็นอารมณ์ และเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง เป็นเหตุให้จิตและเจตสิก มีกำลัง ส่วนปกตูปนิสสัยปัจจัย นั้น คือ ความเป็นปัจจัยเป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยปกติที่ได้กระทำ คือ สะสมไว้เป็นปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ เช่น จิตที่เป็นโลภมูลจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับแล้ว สภาพธรรมที่เกิดกับโลภมูลจิตที่ดับไปแล้ว นั้น สะสมสืบต่อในจิตดวงต่อๆ ไป เคยคิดอย่างนั้น เคยเห็นอย่างนั้น เคยกระทำอย่านั้น ก็สะสมมีกำลังที่จะทำให้โลภมูลจิตอย่างนั้นเกิดอีก เป็นต้น จะเห็นได้ว่า แต่ละท่านมีความพอใจมีอัธยาศัยต่างๆ กันไป ก็เพราะเคยพอใจอย่างนั้น เคยสะสมเคยกระทำอย่างนั้นมาแล้ว จึงเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยปกติที่เคยกระทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว นั่นเอง ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ ฯ ได้ที่นี่ครับ

ชีวิตประจำวันเป็นไปตามปกตูปนิสสยปัจจัย

อารัมมณาธิปติปัจจัย - อารัมมณูปนิสสยปัจจัย - อุปนิสัย

อารัมมณาธิปติปัจจัย - อารัมมณูปนิสสยปัจจัย - นิพพาน

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 10 มิ.ย. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

รูปเป็นอารมณาธิปติปัจจัยแต่เฉพาะโลภะเท่านั้นหรือครับ? ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 10 มิ.ย. 2557

รูปธรรมทั้งหมดเป็นอารัมณปัจจัยแก่กุศลจิต แต่ไม่เป็นอารัมณาธิปติปัจจัยแก่กุศลจิต เพราะรูปเป็นอารัมณาธิปติปัจจัยได้เฉพาะอกุศลเท่านั้น ส่วนนามธรรม เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยทั้งกุศลจิตและอกุศลจิตได้ เพราะเหตุว่าขณะที่จิตมีรูปเป็นปัจจัยอย่างหนักแน่น มีอารมณ์เป็นใหญ่ยิ่งเป็นปัจจัย จิตจะเป็นกุศลไม่ได้ ต้องเป็นอกุศลเท่านั้นครับ เพราะสภาวของกุศลธรรมต่างจากอกุศลธรรมที่ติดข้องต้องการอย่างยิ่งในอิฏฐารมณ์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 10 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 10 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ