วันฟ้าสางที่เวียดนามกลาง 2
ฮอยอัน
ทุกอย่างเป็นอนัตตาจริงๆ คือ ไม่เป็นไปตามความตั้งใจ ไปคราวนี้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า
จะรายงานข่าวการสนทนาธรรมของท่านอาจารย์ทุกวัน รวมทั้งสถานที่จะไปเที่ยวชมด้วย
เพราะดูโปรแกรมแล้ว มีเวลาว่างมาก แต่เอาเข้าจริง ไม่ใช่เวลาอย่างเดียวที่เป็นตัวกำหนด
เพราะพอเข้าพักที่โรงแรมวึ่งฮึ่ง (ออกเสียงภาษาเวียดนามตามที่จำได้ ฟังดูเหมือนเสียงผึ้ง
บิน) ริมแม่น้ำทูโบนที่สวยงามแล้ว วันรุ่งขึ้นตอนเช้า เจ้าภาพพาทุกคนไปนั่งรถซิคโล
(ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า รถสามล้อถีบ) ชมเมืองโบราณฮอยอันอายุกว่า 200 ปี เมืองท่า
สำคัญของเวียดนามกลาง ที่เก็บรักษาความโบราณเก่าแก่ไว้อย่างมีชีวิต จนได้ได้เป็น
มรดกโลก เป็นจุดขายแก่นักท่องเที่ยว จึงเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมายเดินเที่ยวเล่น
ในบริเวณเมืองโบราณ ที่เป็นถนนสำหรับรถสามล้อถีบและคนเดินเท่านั้น
ในบริเวณเมืองโบราณมีตึกแถวและบ้านไม้แบบโบราณที่มีคนอยู่อาศัยจริงๆ เป็นร้าน
ค้าขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ได้ชมสะพานไม้แบบญี่ปุ่น สัญลักษณ์ของฮอยอัน ที่ใครมา
ต้องถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก ที่ตีนสะพานเป็นบ้านไม้เก่าแก่เป็นที่แสดงและขายผ้าปัก และ
ของที่ระลึกอื่นๆ บ้านหลังนี้มีประวัติยาวนาน เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน มีเสาไม้ใหญ่ๆ
หลายต้น ชั้นล่างเป็นห้องโถงที่สูงมาก ไกด์เวียดนามพูดไทยได้ อธิบายว่า ต้องทำอย่างนี้
เพราะในหน้าฝน (ที่เวียดนามกลางมีเพียง ๒ ฤดู คือ ฤดูแล้งกับฤดูฝน) ฝนจะตกหนัก และ
น้ำจะท่วมอย่างรวดเร็ว ต้องขนเครื่องใช้ในบ้านขึ้นชั้นบน โดยชักรอกขึ้นจากห้องโถงนี้ไป
ไว้ข้างบน ประตูทำเป็นลิ่มถอดออกได้ เพื่อขนของขนาดใหญ่ ฝาบ้านก็ทำเป็นไม้ระแนง
โปร่ง เพื่อให้น้ำไหลเข้าออกได้อย่างสะดวก แต่น้ำท่วมที่ฮอยอัน ใช้เวลาไม่นาน เพียงวัน
สองวันเท่านั้น น้ำก็แห้ง เพราะเวียดนามได้ชื่อว่า เป็นดินแดนแห่งแม่น้ำ ๑๐๐ สาย และริม
ทะเลยาวเหยียด ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ๓๐๐๐ กว่ากิโลเมตร น้ำจึงไม่ขังอยู่นาน
ช่วงนี้เป็นหน้าแล้ง แดดร้อนมาก ประมาณ ๑๐ โมงเช้า แดดก็ร้อนจัด อุณหภูมิสูงเกือบ
๔๐ องศา ตอนกลางวันอาจถึง ๔๑ องศา ในโปรแกรมการท่องเที่ยว จึงมีแต่ตอนเช้า และ
ตอนเย็นหลัง ๔ โมง ตอนกลางวันให้พักผ่อนในโรงแรม หมวกหัวแหลมแบบเวียดนามเป็น
สิ่งที่เหมาะกับสภาพอากาศมาก เพราะเบา บังแดดได้มาก และสามารถใช้เป็นพัดได้ด้วย
เมื่ออากาศเริ่มร้อน ก็เริ่มระลึกได้ว่า เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น และ เห็นเพื่อลืมเท่า
นั้นเอง กลับไปพักผ่อนในห้องเย็นๆ ที่โรงแรมน่าจะดีกว่า (คงไม่ใช่สติแต่อย่างใด คงเป็น
โทสะจากความร้อน ทำให้เกิดโลภะที่อยากอยู่ในที่สบายกว่า และสัญญาที่เกิดจากการฟัง
ทำให้เหมือนมีปัญญาระลึกได้ว่า เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น แต่ถ้าอากาศ
กำลังสบาย ไม่ร้อนเกินไป ก็คงจะเดินชมเมืองโบราณจนทั่วแน่ๆ แต่เมื่อกระนั้นเมื่อนั่งรถ
สามล้อผ่านสะพานสวยๆ หลายแห่งที่ประดับโคมไฟงดงาม ก็หมายมั่นปั้นมือว่า คืนนี้จะ
เดินมาเที่ยวชมอีกครั้ง)
หลังรับประทานอาหารกลางวันที่เจ้าภาพจัดเลี้ยงที่โรงแรมวึ่งฮึ่งแล้ว ทางเจ้าภาพ
เตรียมห้องประชุมสำหรับสนทนาธรรมในเวลา ๔ โมงเย็น ที่ชั้นสองของภัตตาคาร ใน
โรงแรม ซึ่งสะดวกมาก เพราะเดินไปมาเองได้ ไม่ต้องใช้รถ และบรรยากาศก็สวยงาม แต่
พอใกล้เวลาสนทนาธรรม เจ้าภาพก็มาเคาะประตู ด้วยสีหน้าวิตกกังวลว่า ต้องย้ายสถานที่
สนทนาธรรมแล้ว เพราะโรงแรมไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ
มาสอบถามรายละเอียดเรื่องการประชุมกันของภิกษุ แม่ชี และชาวต่างชาติ ทางโรงแรม
กลัวจะถูกปิด เพราะกฎหมายที่นี่แรงมาก พวกเราอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ คิดว่า เวียดนามเป็น
ประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วยังเป็นสังคมนิยมที่มีรัฐบาลพรรคเดียว แม้ทางเศรษฐกิจ จะ
ปล่อยเสรีบ้างก็ตาม ภายหลังไกด์พูดไทยได้อธิบายให้ฟังว่า มีการชุมนุมที่อ้างว่าเป็นการ
ประชุมทางศาสนา แต่แอบแฝงด้วยการต่อต้านรัฐบาล จึงต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวด
เหตุการณ์นี้ทำให้เราตื่นเต้นมาก เพราะหลังจากนั้นเจ้าภาพพานั่งแท๊กซีไปตามทุ่งนา เข้า
ไปในป่าไผ่ ริมแม่น้ำสายเล็กๆ ดูห่างไกลความเป็นเมืองมาก ทั้งๆ ที่ใช้เวลาเดินทาง
ประมาณ ๑๕ นาที ติดป้ายไว้ข้างหน้าว่า Red Bridges Hotel แต่เป็นคล้ายๆ ร้านอาหาร
บรรยากาศก็ดี ลมพัดเย็นสบาย เมื่อไปถึงมีสหายธรรมเวียดนามนั่งรออยู่แล้วหลายคน
มีพระภิกษุที่เคยฟังจากไซ่ง่อนมาด้วย มีแม่ชี และคนใหม่ๆ อีกหลายคนที่ไม่เคยรู้จัก
รวมทั้งคนเก่าที่เคยรู้จักแล้ว
ภายหลังได้ทราบว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบ เข้าไปนั่งฟังด้วย เพื่อดูว่า การประชุมนี้ไม่
เกี่ยวกับการต่อต้านรัฐบาล คิดเล่นๆ ว่า ตำรวจคนนั้นอาจจะฟังแล้วเข้าใจธรรมะ แล้วหันมา
ศึกษาอย่างจริงจังก็ได้ แต่คงเป็นไปได้ยาก อาจจะคิดว่า พูดเป็นรหัสลับว่า เห็นเป็นธรรมะ
ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ป่านนี้คงยังนั่งถอดรหัสลับไม่ได้ จึงไม่ได้ติดตามไปที่
เว้ หรือที่อื่นๆ อีก
และตอนเย็นวันนั้น ซ่าร่าห์ก็มาบอกว่า ถ้าจะส่งรายงานการสนทนาธรรมมาที่มูลนิธิฯ
ทางเวียดนามขอให้อย่ามีคำว่า เวียดนาม ฮอยอัน รายชื่อหรือภาพของชาวเวียดนามที่ร่วม
สนทนาธรรม
เมื่อท่านอาจารย์ทราบเรื่อง ก็บอกให้ลบออกให้หมด แต่ก็ส่งมาให้ ๑ ตอนแล้ว
ซึ่งคุณวันชัย ภู่งาม ก็ได้กรุณาลงภาพประกอบเรื่อง และอาจารย์คำปั่นก็ลงเรื่องในกระดาน
สนทนาไปแล้ว เลยไม่ได้เขียนตอนต่อไปด้วยประการฉะนี้ แม้อีกหลายวันต่อมา ซ่าร่าห์จะ
บอกว่าสามารถเขียนลงได้แล้ว ก็หมดอารมณ์เขียนเสียแล้ว (เป็นสำนวน ไม่ได้หมายความ
ว่า ไม่มีอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เพราะเมื่อมีจิต ต้องมีสิ่งที่จิตรู้หรืออารมณ์ตลอดเวลา)
เมื่อจะเริ่มเดินทางมาเวียดนาม ตั้งใจจะเขียนเรื่องเล่า ก็คิดถึงชื่อเรื่อง ตอนแรกคิดตั้ง
ชื่อว่า วันสว่างที่เวียดนาม แต่ก็คิดว่า ที่จริงยังไม่สว่าง เพราะยังไม่รู้ว่า เข้าใจแค่ไหน และ
มั่นคงแค่ไหน เอาแค่สลัวๆ ก็พอ จึงตั้งชื่อว่า วันฟ้าสางที่เวียดนาม แต่เมื่อประสบกับ
เหตุการณ์จริงๆ ก็พบว่า วันฟ้าสางอาจจะสว่างเกินจริงไป เพราะมีชาวเวียดนาม เพียงไม่กี่
คน ที่สนใจจะศึกษาคำสอนที่แท้จริง เวียดนามยังไม่ใช่ปฏิรูปประเทศสำหรับการศึกษา
พระธรรม ยังไม่ใช่ประเทศที่ควรเกิด เพราะยังมีราชภัย คือ ภัยจากรัฐที่ขัดขวางการศึกษา
คนไทยโชคดีมากที่จะศึกษาอย่างไรก็ได้ ข้อสำคัญคือ เมื่อเกิดมาในประเทศที่สมควร
ได้พบสัตบุรุษแล้ว ฟังธรรมจากท่านหรือยัง ทั้งๆ ที่จะฟังเมื่อไรก็ได้ ฟังมากเท่าไรก็ได้ ไม่มี
ใครห้าม บางคนสงสารคนเวียดนามที่มีโอกาสน้อยจะได้ฟังธรรมที่แท้จริง บางคนสงสาร
คนไทยที่เกิดมามีโอกาสได้ฟังแล้ว แต่ไม่ฟัง จริงๆ แล้วใครน่าสงสารกว่ากัน
จบเสียแล้ว ลืมเล่าเรื่องสนทนาธรรมอีกแล้ว เห็นเพื่อลืม ฟังเพื่อลืมเหมือนเคย เพราะ
ปัญญายังไม่เกิดขึ้นทำกิจคือรู้ แต่โลภะเกิดทำกิจติดข้องกับสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน จึงได้จำ
มาเล่าได้ยืดยาวเกินจำเป็นเช่นนี้ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ควรจำคือพระธรรมที่นำมาสนทนา ก็ไม่จำ
ความจริง จำทุกขณะ แต่ความจำนั้นสั้นมาก เหมือนรอยขีดในน้ำ หายไปทันทีที่ฟังจบ
ขออภัยด้วย คราวหน้าจะจดไว้มาเล่าให้ฟัง เพื่อให้คุ้มค่ากับการเสียเวลาอ่านค่ะ
.........
(ขอเชิญคลิกชมตอนแรกได้ที่นี่....วันฟ้าสาง ที่เวียดนามกลาง)
"...คนไทยโชคดีมากที่จะศึกษาอย่างไรก็ได้
ข้อสำคัญคือ เมื่อเกิดมาในประเทศที่สมควร ได้พบสัตบุรุษแล้ว
ฟังธรรมจากท่านหรือยัง?
ทั้งๆ ที่จะฟังเมื่อไรก็ได้ ฟังมากเท่าไรก็ได้ ไม่มีใครห้าม
บางคนสงสารคนเวียดนาม ที่มีโอกาสน้อยจะได้ฟังธรรมที่แท้จริง
บางคนสงสารคนไทย ที่เกิดมามีโอกาสได้ฟังแล้ว แต่ไม่ฟัง
จริงๆ แล้ว ใครน่าสงสารกว่ากัน?...
.........
กำลังอ่านและเพลินไปกับเรื่องเล่า ที่ประกอบไปด้วยสาระ
และความศรัทธาของสหายธรรมชาวเวียดนามในแดนไกล
เป็นบทความที่แสดงให้เห็นแง่มุมของความเป็นจริงของเหตุการณ์ในชีวิตของบุคคล
อันหลากหลาย เป็นไปตามเหตุและปัจจัย
ที่บุคคลควรพิจารณาอย่างยิ่ง ถึงสาระและประโยชน์อันแท้จริง
ของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้
.........
กราบท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่แดง (พลอากาศตรีหญิง กาญจนา เชื้อทอง) อย่างยิ่งครับ
และขออนุโมทนาสำหรับภาพประกอบจากเวียดนามโดยคุณนภา จันทรางศุ และ
พี่ฟองจันทร์ นันตา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นกราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่งขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของอาจารย์กาญจนาเป็นอย่างยิ่ง ครับ
บทความของอาจารย์กาญจนา อ่านดี มาก ครับ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพย่ิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาพี่แดงและทุกๆ ท่านด้วยครับ
เห็นภาพที่คุณวันชัย ภู่งามนำมาประกอบเรื่องตอนที่ 2 (ถ่ายภาพโดยคุณนภา จันทรางศุ)
ก็งงๆ ว่า ภาพผู้หญิงศีรษะล้านที่คร่ำเคร่งพิมพ์งานอยู่นั้นเป็นใคร นึกไม่ออก เพราะ
จินตนาการตัวเองไว้ดีกว่าภาพมาก และเมื่อเห็นอีกภาพหนึ่งในความคิดเห็นที่ 1 เป็นภาพ
ผู้หญิงโบกมือยิ้มสดใส ก็จำได้ว่าเป็นตัวเอง เพราะเหมือนอย่างที่คิดไว้ ทำให้ระลึกขึ้นมา
ได้ว่า เป็นรูปที่เกิดจากจิตที่ต่างกัน รูปแรกเกิดจากจิตที่คร่ำเคร่ง เอาจริงเอาจัง ส่วนภาพ
หลังเกิดจากจิตที่เพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์แม่น้ำที่สวยงาม ลมพัดเย็นสบาย แต่เป็นเพียง
รูปที่ปรากฏแต่ละขณะ ไม่ใช่เราหรือใครเลยจริงๆ เกิดดับสืบต่อตามเหตุปัจจัยต่างกัน เกิด
แล้วก็ดับไป ไม่สามารถกลับมาอีกได้เลย
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณแม่และทุกๆ ท่านด้วยคะ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพย่ิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาพี่แดงและทุกๆ ท่านด้วยค่ะ