ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๙

 
khampan.a
วันที่  9 ก.พ. 2557
หมายเลข  24443
อ่าน  1,616

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

(ภาพ ณ สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี บันทึกภาพโดย พี่วันชัย ภู่งาม)

[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๙]

* ชีวิตปกติตามความเป็นจริง ที่จะใกล้หรือไกลต่อการเป็นพระอริยเจ้า ถ้ายังมีเจตนาที่จะฆ่า ก็ยังไกลมากทีเดียว บางครั้งก็งดเว้นได้ชั่วคราว แต่แล้วก็ถอยกลับไปสู่การฆ่าอีก ไม่แน่นอน เพราะเหตุว่ายังเป็นผู้ที่หนาแน่น ด้วยกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเพียงความตั้งใจ หรือเจตนาที่จะละเว้น ก็ยังเป็นการดีกว่าที่จะไม่ตั้งใจเสียเลย เพราะเหตุว่าถ้าตั้งใจแล้ว ก็ยังมีกำลัง นิดหน่อยที่จะพยายามทำตามที่ตั้งใจ ถ้ามีเจตนาที่จะละเว้นการฆ่า ก็อาจจะ ทำให้ระลึกขึ้นได้เวลาคิดใคร่จะฆ่า ก็อาจจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดการระลึกได้ ที่จะทำให้เว้นในขณะนั้น

* ถ้าเป็นผู้ที่มุ่งจะขัดเกลากิเลส ก็ย่อมจะมีความระมัดระวังยิ่งขึ้น แม้แต่เรื่อง เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจจะเคยขาดความระวัง แต่การที่จะเป็นผู้ที่มุ่งที่จะขัดเกลา ละคลายกิเลสให้เบาบาง ถึงความดับเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) จะเป็นผู้ที่ประมาทไม่ได้เลย เรื่องใหญ่ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับอทินนาทาน (การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้) แต่เรื่องเล็กเรื่องน้อย ก็เป็นภัยด้วย ที่ควรที่จะเห็นโทษและเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น

* แม้ในเรื่องเล็กน้อย ก็เป็นผู้ที่มั่นคงขึ้นที่จะไม่กล่าวคำไม่จริง แม้ว่าก่อนหน้า นี้อาจจะเห็นว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องกล่าว แต่ว่าเมื่อมีเจตนาที่จะงดเว้น มากขึ้น ก็จะมีสติที่เกิดขึ้น รู้ว่าแม้ว่าเป็นความจำเป็น ก็ไม่จำเป็นที่จะใช้ คำที่ไม่จริง อาจจะมีคำพูดอื่น ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่าการที่จะให้กิเลสมีกำลัง แรงถึงกับพูดคำที่ไม่จริง

* คำว่า “กรรมกิเลส ได้แก่ กิเลสอันเป็นตัวกรรม เพราะเหตุว่าผู้ที่มีกิเลส เท่านั้นที่ฆ่า ซึ่งเป็นปาณาติบาต ที่ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ ซึ่งเป็นอทินนาทาน ที่ประพฤติผิดในกาม ซึ่งเป็นกาเมสุมิจฉาจาร และ ที่กล่าวคำไม่จริง คือ มุสาวาท ถ้าผู้ที่เบาบางจากกิเลสแล้ว ถึงแม้ว่ากิเลสยังมีอยู่ ยังดับไม่หมด เพราะยัง ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่กิเลสนั้นก็ไม่มีกำลังที่จะให้กระทำกรรมซึ่งเกิดจากกิเลส นั้นได้

* อกุศลธรรมนั้นมีโทษ แม้จะเป็นอกุศลธรรมเพียงเล็กน้อยก็มีโทษ เพราะเหตุว่า ถ้ายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็จะสะสมเพิ่มพูนขึ้น จนกระทั่งมีกำลังกล้า สามารถ ที่จะกระทำอกุศลกรรม ได้ ควรจะกลัวกิเลสของตนเองซึ่งมีกำลัง ซึ่งเป็นเหตุ ให้กระทำอกุศลกรรมนั้นๆ

* ที่ให้ผลในปัจจุบันชาติก็มี ที่ไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันชาติแต่ให้ผลในชาติ ต่อไปก็มี ที่ไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันชาติและชาติต่อไป แต่ให้ผลในชาติต่อๆ จาก ชาตินั้นไปก็มี ไม่มีที่สิ้นสุด

* กรรมใดให้ผลในชาตินี้ หรือว่าผลที่ได้รับในชาตินี้เป็นผลของกรรม ในชาตินี้หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติก่อน หรือว่าเป็นผลของกรรม ในชาติโน้นๆ ไม่มีผู้ใดสามารถจะบอกได้เลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

* ตราบใดที่ท่านเป็นผู้ไม่ตรง คือ เอียงๆ อยู่เรื่อยๆ จะตรงได้อย่างไร ต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าแม้อกุศลธรรมเกิดขึ้นก็ไม่เห็น ก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งกระทำกรรม สะสมอกุศลธรรมคือความเอียงนั้นมากขึ้น

* ธรรมไม่ใช่อยู่ที่อื่น เพราะเหตุว่าบางท่านเข้าใจว่า ชีวิตประจำวันไม่ควร จะเป็นสภาพธรรม นั่นหมายความว่า ท่านไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่า แท้ที่จริงแล้วทุกขณะที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงเป็นสภาพธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมอื่นเลย ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ

* ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องอะไร ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ฟังไปเรื่อยๆ เพื่อวันหนึ่งจะได้เข้าใจว่า เป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่เรา

* พระไตรปิฎก แต่ละคำ ก็เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้

* ขณะนี้ มีเห็น แต่เป็นเราที่เห็น จึงมีการฟังพระธรรมเพื่อจะได้เข้าใจว่า เห็น เป็น ธรรม ไม่ใช่เรา

* ล่วงศีล เพราะจิตเป็นอกุศล แม้ยังไม่ล่วงศีล อกุศลจิตก็เกิดมากมายอยู่แล้ว ทำให้เห็นว่า อกุศลจิตเกิดมากจริงๆ ในชีวิตประจำวัน

* พระธรรมทั้งหมดที่ได้ฟัง เพื่อเข้าใจความเป็นจริงของธรรม

* ฟังพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อความไม่ประมาท ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

* พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จากการที่พระองค์ทรงตรัสรู้ สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ควรอย่างยิ่งที่ใครๆ จะได้ฟังความจริง นั้น เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง

* ชนชาวมคธ ไม่ได้พูดว่า "สิ่งที่มีจริงๆ " แต่พูดคำว่า "ธรรม" ไม่ได้พูดคำว่า "เห็น" แต่พูดคำว่า "จักขุวิญญาณ" ซึ่งก็คือกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ แม้จะใช้คำ พูดที่แตกต่างกัน แต่ความเป็นจริงของธรรม ไม่แตกต่างกัน กำลังเห็น แล้วไม่พูดเรื่องเห็น แล้วจะพูดเรื่องอะไร จึงจะเข้าใจได้ว่า เห็น เป็น ธรรม ไม่ใช่เรา

* อยู่ในโลกของความไม่รู้มานานแสนนาน จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น

* ปกติ สภาพธรรมเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แต่เป็นปกติที่ไม่รู้ความจริง ยิ่งถ้ามีความอยากมีความต้องการ จดจ้องต้องการที่จะรู้ นั่น ผิดปกติ ทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังในเรื่องของอกุศลทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่หวั่นไหว เพราะได้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

* ควรมีอะไร ระหว่างปัญญา กับ กิเลส?

* กุศล สามารถเกิดได้ โอกาสของกุศลในชีวิตประจำวัน มีมากทีเดียว ถ้าไม่ประมาท และ ถ้าไม่ลืมที่จะกระทำ

* กำลังฟังพระธรรมเข้าใจ นี้แหละ คือ การเจริญปัญญา

* ผู้ใดกล่าวว่า จะละกิเลสโดยไม่ต้องอาศัยปัญญา ผู้นั้น เข้าใจผิด

* อกุศล ไม่มีอะไรดีเลย อกุศล เป็นสิ่งที่ควรละ ควรอย่างยิ่งที่จะได้สะสม ความเข้าใจถูกเห็นถูก และเห็นโทษของอกุศล ถ้าไม่เห็นโทษของอกุศล ก็เป็นผู้ประมาทแล้ว

* ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ กำลังชำระจิตให้ผ่องใสจากความไม่รู้

* อดทนไปทำไม อดทนไปเพื่ออะไร? เพื่อเผาผลาญกิเลส เผาให้หมดสิ้นไป ด้วยปัญญา อดทนที่จะอบรมเจริญปัญญา จนบรรลุถึงการดับกิเลสไม่เกิดอีกเลย

ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๘

(ภาพ ณ สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี บันทึกภาพโดย พี่วันชัย ภู่งาม)

... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

@ ต้นไม้แข็งใหญ่โต ภูเขาแข็งๆ โอนเอียงได้ยากฉันใด อวิชชาความไม่รู้ก็อย่างนั้น ต้องอาศัยปัญญา จึงสามารถค่อยๆ คล้อยตามความจริงถูกต้องยิ่งขึ้น ที่จะเข้าใจ ถูกต้องในลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ขณะอื่น

@ สัจจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งหมดเพื่อที่จะให้รู้ว่าธรรมมีจริง ถ้าฟังแล้ว เข้าใจว่า เป็นอัตตา เป็นตัวเรา เป็นตัวตน สัตว์บุคคล เราอยากรู้สภาพธรรมที่ เกิดดับ ก็คือการฟังนั้นเป็นโมฆะไปแล้ว จึงต้องเป็นผู้ละเอียด เพราะพระธรรมเป็น เรื่องละเอียดลึกซึ้ง ตรง ซึ่งต้องมั่นคงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา พระไตรปิฎกมีเท่าไร ทั้งหมดก็เพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่าธรรม เป็นอนัตตา

@ ทุกคนลืมคิดถึงความตาย ต้องจากทรัพย์ทั้งหมดทุกประการ ไม่เหลืออะไรตาม ไปด้วยเลย แม้แต่ร่างกายที่เคยยึดว่าเป็นเรา ฉะนั้นการได้เห็นความจริงของ สภาพธรรมเป็นประโยชน์ เพื่อที่จะสามารถละคลายความติดข้องซึ่งนำมาซึ่งทุกข์ เพราะอยากได้ในสิ่งที่ปรากฏแล้วหมดไป

@ ผู้ที่เห็นคุณของพระธรรม ผู้มีโอกาสได้ฟังธรรม ต้องเป็นผู้สะสมบุญมาใน ปางก่อน ศรัทธามากน้อยก็ตามที่ได้สะสมมา ซึ่งจะสะสมเพิ่มมากขึ้นในแต่ละภพ แต่ละชาติได้ ก็ด้วยการเข้าใจยิ่งๆ ขึ้น

@ เวลานี้ใครชื่ออะไรพบกันหลายครั้ง ไปมาหาสู่กัน เที่ยวด้วยกัน รู้จักกันไม่นาน พอหมดก็ไม่รู้จักกันอีกเลย เหมือนบุคคลชาติก่อนๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตรงถูกต้องคือ ปัญญา ซึ่งต้องอาศัยศรัทธา ฟังจนเห็นถูกต้อง คลายความไม่รู้ ติดข้องทรัพย์ รู้ว่า ทั้งหมดก็ตามมีตามได้ ตามปัจจัยบังคับบัญชาไม่ได้

@ ทรัพย์ ก็คือ ผลของกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลก็ไม่ต้องห่วง ส่วนทรัพย์ คือ ศรัทธาที่จะเจริญขึ้น ได้ต้องเป็นเรื่องของการฟัง มิฉะนั้นจะเป็นเพียงขั้นทาน ความสงบของจิต แต่ไม่ใช่การเข้าใจธรรม ฉะนั้นการเข้าใจถูกต้องประเสริฐกว่าทรัพย์ใดๆ เพราะบางคนมีทรัพย์เพื่อติดข้อง แต่ความละเอียดคือ สามารถสละความติดข้องได้

@ ให้อะไรใครในบ้านบ้างหรือไม่ ไม่ใช่ด้วยหน้าที่แต่ด้วยจิตผ่องใส ถ้าเข้าใจ ธรรม ก็เข้าใจลักษณะของธรรมที่เกิดขณะนั้นด้วย หากยังไม่เกิดก็เป็นแต่ เพียงชื่อของธรรม

@ ประโยชน์ของสุตะ คือ แสวงหาความจริงจากคำจริงที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง จะเข้าใจความจริงได้ว่าแต่ละคำ พยัญชนะตื้น อรรถลึกซึ้ง แม้คำว่า สภาพธรรม สภาวะ คือมีลักษณะเฉพาะตน ไม่สับสนปะปนกัน โดยที่ ทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นสภาวะ คือธรรมทั้งสิ้น ซึ่งไม่มีโอกาสเข้าใจ ได้เลย หากไม่มีสุตะ ซึ่งก็คือ การฟังธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ

@ การฟังธรรมทั้งหมดก็เพื่อความเข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อเราพยายาม นั้นคือ ลืมว่าเป็นธรรม ที่ฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็เป็นโมฆะทั้งหมด เพราะถูกลบล้างด้วย อวิชชาที่ถือมั่นโดยความเป็นเรา แต่ที่ถูกคือ เข้าใจยิ่งขึ้น จนกระทั่งคล้อยตาม ความจริง น้อมไปสู่ความจริงว่า ทุกอย่างที่ปรากฏ แม้เดี๋ยวนี้ก็เป็นธรรม

@ น้อมไปสู่ธรรม หมายถึง จิตและเจตสิก ที่กำลังรู้สภาพธรรม เข้าใจทีละเล็ก ทีละน้อย เมื่อมีความเข้าใจขึ้น ก็น้อมไปสู่การรู้ยิ่งขึ้น ออกจากความไม่รู้ทีละเล็ก ทีละน้อย เข้าไปสู่ความเข้าใจมากขึ้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 10 ก.พ. 2557

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น และ อ.เผดิม ค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
j.jim
วันที่ 10 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
napachant
วันที่ 10 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 10 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 10 ก.พ. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kinder
วันที่ 10 ก.พ. 2557
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 11 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jans
วันที่ 12 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
มังกรทอง
วันที่ 15 ม.ค. 2565

ธรรมไม่ใช่อยู่ที่อื่น เพราะเหตุว่าบางท่านเข้าใจว่า ชีวิตประจำวันไม่ควร จะเป็นสภาพธรรม นั่นหมายความว่า ท่านไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่า แท้ที่จริงแล้วทุกขณะที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงเป็นสภาพธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมอื่นเลย ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ