การกล่าวยกข้อธรรมะ

 
Biggy
วันที่  4 ก.พ. 2557
หมายเลข  24410
อ่าน  1,338

การกล่าวยกข้อธรรมะขึ้นมาด้วยเจตนาดูหมิ่นความชอบส่วนตัวของผู้อื่น จัดเป็นกุศลหรืออกุศลคะ แล้วเราจะทราบเจตนาของผู้อื่นได้อย่างไรว่าเป็นการดูหมิ่นหรือเป็นการปรารถนาดีด้วยความเมตตา และหากทำให้ผู้อื่นไม่พอใจด้วยการเผลอกล่าวธรรมะไม่ถูกบุคคลหรือไม่ถูกกาลหรือไปกระทบต่อรสนิยมส่วนตัวความชอบส่วนตัว ด้วยความที่เราก็ไม่ได้รู้จริงในรสนิยมและความชอบเหล่านั้น เราจะทราบได้อย่างไรว่าธรรมใดควรกล่าวเตือนกับใครและเวลาไหน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การกล่าวธรรม จุดประสงค์ ก็เพื่อประโยชน์กับผู้ได้รับฟัง เกิดความเข้าใจ เห็นถูก เกิด กุศลธรรม เพราะฉะนั้น การกล่าวธรรม ที่ถูกต้อง จึงต้องมาจากจิตที่ดีงามเพื่อประโยชน์กับผู้อื่นเป็นสำคัญ

หากกล่าวธรรม เพื่อ ติเตียน ว่าคนอื่น ไม่ชื่อว่ากล่าวธรรม แต่เป็นการกล่าววาจาหยาบ เพราะ จิตหยาบ ด้วยโทสะในขณะนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ส่วนการจะทราบว่า ผู้กล่าวธรรม มีเจตนาอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ยากที่จะหยั่งรู้ เพราะเป็นสภาพจิตที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะ แม้การกล่าวธรรม เพื่อ ว่ากล่าวตักเตือนด้วยเจตนาดี ก็ชื่อว่า เป็นกุศล มีความหวังดีได้เช่นกัน ครับ แต่ แม้กล่าวธรรม เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ แม้จะกล่าวคำที่เป็นธรรม แต่ ก็ด้วยอกุศลจิตในขณะนั้น ครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 313

ข้อความบางตอนจาก..

เวนาคสูตร

พระธรรมกถึกรูปใดแสดงธรรมด้วยหวังว่า เราจักได้ลาภหรือสักการะเพราะอาลัยธรรมเทศนานี้ เทศนาของพระธรรมกถึกรูปนั้น ชื่อว่า ไม่บริสุทธิ์

แต่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงมุ่งหวังโลกามิส ทรงมีพระทัยอ่อนโยนด้วยการแผ่ประโยชน์เกื้อกูลด้วยการเจริญเมตตา ทรงแสดงธรรมด้วยพระทัยที่ดำรงอยู่ในการยกย่อง เพราะเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่าทรงแสดงธรรมบริสุทธิ์


ส่วนประเด็นว่าควรกล่าวธรรมกับใคร เวลาใดนั้น ก็ต้องพิจารณา ถึง บุคคลที่ฟังว่ามีศรัทธาสนใจที่จะฟังหรือไม่ ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่สนใจธรรมเลย ก็ไม่ควรกล่าวกับบุคคลนั้น เพราะ คำพูดที่เป็นธรรม กับกลายเป็นคำพูดที่ไม่ดีของผู้ที่ไม่สนใจ ไม่มีศรัทธาที่จะฟัง และ ทำให้เกิด อกุศลกับผู้ฟังได้ แต่ถ้ามีศรัทธา สนใจฟังธรรมอยู่แล้ว ก็สามารถค่อยๆ อธิบาย โดยอธิบายไปตามลำดับ และ มีเหตุผล ด้วยจิตที่ดี อนุเคราะห์ให้เข้าใจ ด้วยเมตตา ครับ ส่วน บุคคลนั้นจะเข้าใจ หรือ ไม่เข้าใจ ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของการคาดหวัง เพราะ แล้วแต่ว่าเขาสะสมมาที่จะสนใจ เข้าใจในความเห็นถูกในเรื่องนั้นหรือไม่ ครับ

และ ควรพิจารณาว่า ถ้าบุคคลนั้น เป็นผู้มักโกรธ ไม่มีเหตุผล ไม่รับฟังเลย ก็ไม่ควรกล่าวคำที่เป็นธรรมและ จะต้องดูกาลเวลาที่เหมาะสม แม้จะเป็นผู้ที่สนใจธรรมแล้ว แต่ ไม่ดูกาลเวลาที่เหมาะสมที่สะดวก เมื่อกล่าวผิดกาล ในขณะที่เขาหมกมุ่นในการทำงาน เป็นต้น ตัวเขาเองก็จะไม่ได้รับประโยชน์จาการฟังเท่าที่ควร ครับ เพราะฉะนั้น ก็ต้องพิจารณาหลายเหตุปัจจัย ตามที่กล่าวมา ครับ

ถ้าหากไม่มีการแสดงธรรม การกล่าวธรรมแล้ว การฟังในสิ่งที่มีจริง ก็เกิดขึ้นไม่ได้ และกุศลธรรมที่จะเจริญขึ้นคล้อยตามปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น สืบเนื่องมาจากการฟังพระธรรม ก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น การแสดงธรรม จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ตามกำลังปัญญาของแต่ละคนอย่างแท้จริง เพราะการแสดงธรรมเป็นการแสดงซึ่งสิ่งที่มีจริง เพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ไม่ใช่กล่าวเรื่องอื่นที่ไม่มีประโยชน์

ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็มีเป็นลำดับขั้น สูงสุด คือรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น รองลงมาตามลำดับ คือ เป็นพระอนาคามี เป็นพระสกทาคามี เป็นพระโสดาบัน ถ้ายังไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ก็สะสมปัญญาเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า โดยเป็นกัลยาณปุถุชน ที่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว แล้วก็น้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงามเว้นในสิ่งที่เป็นบาปธรรมทั้งหลาย มีชีวิตที่เป็นไปคล้อยตามปัญญาที่เจริญขึ้น จากการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม นั่นเอง

พระโอรสของเจ้าลิจฉวีพระองค์หนึ่ง เป็นคนดุร้าย หยาบคาย ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย ใครๆ ก็ไม่สามารถจะอบรมพร่ำสอนได้ พระราชบิดาพระราชมารดาเห็นว่าเว้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีใครจะสามารถพร่ำสอนกุมารนี้ได้ จึงนำพระกุมารเข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูล แสดงถึงความโกรธ และโทษของความโกรธให้เห็นตามความเป็นจริง โดยสรุปได้ว่าไม่ควรจะเป็นคนดุร้ายหยาบคาย ร้ายกาจ ชอบข่มเหงรังแกในหมู่สัตว์ทั้งหลาย เพราะขึ้นชื่อว่าคนมีวาจาหยาบ ดุร้าย ย่อมไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ แม้ของมารดาบิดาบังเกิดเกล้า เป็นที่หวาดหวั่นของคนทั่วไป เหมือนงูที่เลื้อยออกมากัด เหมือนโจรที่ส้องสุมดักปล้น ย่อมเป็นที่หวาดกลัวของคนทั่วไป และ เพราะเป็นคนมักโกรธ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิได้ ในที่สุดพระกุมารพระองค์นี้จากที่เคยเป็นคนมักโกรธ ขาดเมตตา ดุร้าย ก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ เป็นคนมีเมตตา ไม่ดุร้าย ด้วยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นี้เป็นเพียง ๑ ตัวอย่างเท่านั้น (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเอกปัณณชาดก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้า ๔๖๕)

สำหรับผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีมากมายนับไม่ถ้วนจริงๆ การแสดงธรรม ซึ่งเป็นการแสดงในสิ่งที่มีจริง จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลโดยส่วนเดียว

ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการอุบัติขึ้นของพระองค์ จากการทรงแสดงธรรมของพระองค์ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ก็จะต้องเป็นผู้มีศรัทธา สะสมการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมมาแล้วในอดีต เป็นผู้เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง เท่านั้นที่จะได้ฟัง ได้ศึกษาได้สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป ไม่ใช่ว่าจะทุกคนจะได้ฟังและจะได้ประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง พระธรรมไม่ได้สาธารณะกับทุกคน ยุคนี้สมัยนี้ เป็นช่วงเวลาที่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ และผู้ที่เข้าใจธรรมแสดงธรรมเพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจถูกเห็นถูก ก็ยังมีอยู่ จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ตั้งแต่ในขณะนี้จริงๆ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จุดประสงค์ของการกล่าวธรรม กล่าวสิ่งที่มีจริง ก็เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ฟังได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่น ถ้ามุ่งอย่างอื่น มุ่งลาภสักการะ คำชมคำยกย่อง หรือ มีเจตนาที่จะกระทบผู้อื่นด้วยจิตที่ไม่ดี ก็ย่อมไม่เป็นการสมควร ไม่ใช่จุดประสงค์ของการกล่าวธรรม สิ่งที่ควรจะได้พิจารณาคือ ควรกล่าวธรรม สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะฟัง เท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 4 ก.พ. 2557

กล่าวธรรม เป็นคำจริง มีเมตตา เพื่อประโยชน์กับผู้อื่น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ