ความเพลิดเพลินยินดีหมกมุ่นใน สัญญาและวิญญาณ (จิต)

 
ผู้มาใหม่
วันที่  17 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24190
อ่าน  1,475

1. เมื่อได้สิ่งที่น่าพอใจ (รูป) เกิดความเพลิดเพลินยินดีหมกมุ่น อย่างนี้เรียกว่าเกิดตัณหาในรูปหรือในวิญญาณ (โลภะมูลจิต) หรือทั้งสองอย่าง

2. ความเพลิดเพลินยินดีหมกมุ่นในสัญญาเป็นอย่างไรครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เมื่อได้สิ่งที่น่าพอใจ (รูป) เกิดความเพลิดเพลินยินดีหมกมุ่น อย่างนี้ เรียกว่า เกิดตัณหาในรูปหรือในวิญญาณ (โลภะมูลจิต) หรือทั้งสองอย่างขณะนั้นเป็นความยินดีพอใจในรูปคือ ในสิ่งที่เห็น ไม่ใช่ในจิต ที่เป็นโลภะมูลจิต ครับ แต่ขณะใดที่เกิดติดข้องในโลภะที่เกิดแล้ว จึงชื่อว่า ติดข้องในจิตนั้น ครับ

๒. ความเพลิดเพลินยินดีหมกมุ่นในสัญญา เป็นอย่างไรครับ โลภะ ติดข้องในสัญญาคือ ติดข้องในการที่อยากจะจำเรื่องราวต่างๆ ได้ ซึ่งถ้ากล่าวในชีวิตประจำวัน อยากจะเป็นผู้ที่จำได้ หรือหลงลืมนี่ก็แสดงถึงความติดข้องที่ติดทั่วไปหมด ครับ

โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เพราะติดข้องเกินประมาณ นั่นเอง เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดจริงๆ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แล้วก็ควรที่จะขัดเกลา เพราะถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในโลภะในความต้องการ ก็ไม่มีวันที่จะหมดโลภะได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ทอดทิ้งฉันทะในกุศลธรรม เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ วันหนึ่งก็สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น ครับ

ประโยชน์สูงสุดของการศึกษาพระธรรมในเรื่องของกิเลส ซึ่งเป็นอกุศลธรรมนั้นไม่ใช่ให้ไปติดที่จำนวน แต่เพื่อให้เข้าใจว่า กิเลสไม่ได้อยู่ในตำรา แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงจึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้พิจารณาขัดเกลากิเลสของตนเองได้อย่างละเอียด เพราะเหตุว่า ทรงชี้ให้เห็นกิเลสและโทษของกิเลสตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะเห็นได้ ถ้าไม่มีการฟัง การศึกษาเลย ความรู้ความเข้าใจก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น การฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ และปัญญานี้เอง ที่ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับเมื่อเจริญสมบูรณ์พร้อมก็จะสามารถดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

ผู้ถาม โลภะเขาก็รู้ปรมัตถธรรมได้ อยากให้อธิบายว่า แตกต่างกับกุศลอย่างไร ที่รู้ปรมัตถธรรม

สุ. โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง เพราะว่ามีความไม่รู้ในความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นจะเป็นกุศลไม่ได้เลย

ผู้ถาม โลภะที่เป็นปรมัตถธรรม หรือเป็นสติปัฏฐาน

สุ. โลภะเป็นนามธรรมมีจริงๆ ไม่ใช่รูป และก็เป็นลักษณะที่ติดข้อง อันนี้ลืมไม่ได้เลย โลภะเป็นนามธรรมที่มีลักษณะที่ติดข้องและก็ต้องเกิดกับจิตด้วย เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกจะเกิดที่อื่นนอกจากจิตไม่ได้ ต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตกำลังรู้อารมณ์ใดก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเจตสิกของแต่ละประเภทก็ทำกิจของเจตสิกแต่ละประเภทนั้น แม้โลภเจตสิกซึ่งก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งก็ทำกิจของโลภะซึ่งจะไปทำกิจของเจตสิกอื่นไม่ได้เลย ขอถามคุณเริงชัยว่าชอบสีอะไร

ร. ชอบหลายสี

สุ. ยกตัวอย่างได้ไหม หลายสีนี่ไม่ผิด คงจะไม่มีใครชอบสีเดียว เช่นสีอะไร

ร. สีชมพู

สุ. ชอบสีชมพู ขณะนั้นมีจิตเห็นเกิด และก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่โลภเจตสิกไม่ได้เกิดกับจิตเห็นเลย จิตเห็นต้องดับไปเสียก่อนแล้วก็จิตอื่นเกิดสืบต่อจนกระทั่งถึงกาลที่โลภมูลจิตจะเกิดขึ้นก็ยังคงมีสีที่ยังไม่ได้ดับนั่นเองเป็นอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ก็จึงกล่าวว่าโลภะเป็นสภาพที่ติดข้องไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สีสันวัณณะต่างๆ เสียงปรากฏทางหู อะไรก็ตามที่เกิดปรากฏ โลภะติดข้องหมด ไม่เว้น นอกจากสิ่งที่ไม่เกิด เช่น นิพพานและโลกุตตรจิต ซึ่งโลภะไม่สามารถที่จะไปติดข้องในสภาพธรรมนั้นได้ นอกจากนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โลภะชอบหมด ติดข้องหมด จริงหรือเปล่า ลักษณะที่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏคือลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งสภาพธรรมอย่างอื่นจะทำกิจนี้ไม่ได้เลยคือติดข้อง เวลาที่ผ่านหมดสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายดับแล้ว ยังจำได้ถึงสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอะไรต่างๆ ก็ตาม โลภะก็สนุกสนานเพลิดเพลินติดข้องไปกับเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าเป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏเวลาที่คิดนึก ขณะนั้นก็ คือโลภะติดข้อง เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าโลภะสามารถที่จะติดข้องในปรมัตถธรรมก็คือว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม โลภะก็ติดข้องในสีสันวัณณะที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นก็จะมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่จะมีเฉพาะปัญญาเจตสิกเกิดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และสติเจตสิกที่เกิดร่วมกับปัญญาที่สามารถจะเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ใช่สติขั้นฟังหรือว่าขั้นคิด เพราะเหตุว่าขั้นฟังขั้นคิดก็รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ ส่วนใหญ่เวลาที่กุศลจิตไม่เกิด จิตก็เป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดคือจะเป็นโลภมูลจิต หรือว่าจะเป็นโทสมูลจิต หรือว่าจะเป็นโมหมูลจิต ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม โลภะจะติดข้องอะไรได้ไหมถ้าไม่มีเลย เพื่อให้เข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้เลยว่าขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องให้คนอื่นวัด ไม่ต้องให้คนอื่นบอก แต่ว่าเริ่มที่จะเข้าใจถูกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริง ธรรมจริงๆ กำลังปรากฏสิ่งที่มีจริง ถ้าเริ่มเข้าใจอย่างนี้ ทีละเล็กทีละน้อยก็จะคล้อยตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมซึ่งไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ในสิ่งที่ปรากฏเลย นอกจากความทรงจำในสีสันวัณณะแล้วก็คิดยึดถือว่าสิ่งที่ปรากฏนั้น เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอด แล้วเมื่อไหร่ที่จะคลายความไม่รู้ เริ่มเข้าใจถูกในลักษณะสิ่งที่ปรากฏจนกว่าที่จะสามารถประจักษ์แจ้งจริงๆ ในความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกุศลต่างกับขณะที่ไม่รู้ซึ่งเป็นอกุศล

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ตัณหาหรือโลภะเป็นความติดข้องต้องการ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน ขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ยังไม่รู้เลยว่าเป็นอะไรนี้คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว ของกิลสที่เป็นตัณหาหรือโลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ

เมื่อได้เริ่มฟังเริ่มศึกษาก็พอจะเข้าใจแล้วว่า ตัณหา ติดข้องต้องการในรูป ไม่เคยขาดเลย แสวงหามาก็เพื่อเวทนาที่เป็นสุขโสมนัส เพราะชอบเวทนาที่เป็นสุขสบายเมื่อได้เวทนาที่เป็นโสมนัส ไม่ลืม จำไว้ ชอบจำในสิ่งที่ดีๆ ชอบเจตสิกธรรมประการอื่นๆ ที่เป็นสังขารขันธ์ ก็ปรุงแต่งไปตามสัญญาที่จำไว้เป็นไปตามการสะสมทำให้มีการแสวงหา โดยมีจิตในขณะนั้นเป็นใหญ่เป็นประธาน ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

ความติดข้อง เกิดในรูปได้ เห็นรูปสวยก็ติดข้อง อย่างบางที ติดจนทำบาป ทำอกุศล เช่น เขามีครอบครัวแล้ว เป็นต้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ