คนชราต่างกับนิพพานอย่างไรครับ

 
starter123
วันที่  25 พ.ย. 2556
หมายเลข  24074
อ่าน  901

คนเราเมื่อแก่ตัวลงไปขันธ์5 ร่างกายจะเริ่มเสื่อมไป (รูปเสื่อม) จำอะไรไม่ค่อยได้ (สัญญาเสื่อม) ร่ากายก็ชาลงไป (เวทนาเสื่อม) เหล้า และกามารมณ์ ก็ไม่ต้องการเหมือนตอนเป็นหนุ่ม (สังขารเสื่อม) ลักษณะอย่างนี้ กับสภาพที่เรียกว่าดับขันธุ์นิพพานแตกต่างกันอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า ปรินิพพาน แปลว่า การดับโดยรอบ ดับอย่างหมดสิ้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการตายของพระอรหันต์เพียงอย่างเดียว มีรายละเอียดถึง ๓ อย่างด้วยกัน คือ

๑. กิเลสปรินิพพาน แปลว่า การดับโดยรอบซึ่งกิเลส การดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ซึ่งหมายถึงความเป็นพระอรหันต์ที่สามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีเหลือ

๒. ขันธปรินิพพาน แปลว่า การดับโดยรอบซึ่งขันธ์ ไม่มีเหตุที่จะทำให้ขันธ์ใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ซึ่งหมายถึงการตายของพระอรหันต์ทั้งหมด

๓. ธาตุปรินิพพาน แปลว่า การดับไปโดยรอบแห่งพระธาตุ ซึ่งหมายถึง การอันตรธานไปแห่งพระธาตุ อันเป็นกาลที่สิ้นสุดแห่งพระพุทธศาสนา (ซึ่งจักมีในอนาคต)

ดังนั้น ดับขันธปรินิพพาน คือ ไม่มีการเกิดขึ้น ของ รูปและนาม คือ ไม่มีการเกิดอีกเลย ของสภาพธรรมใด ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด เพราะ ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว แตกต่างจากการเสื่อมไปของร่างกาย ที่จำอะไรไม่ได้ เมื่อแก่ชรา แต่ก็ยังมีกิเลส ยังสุข ทุกข์ ทางกาย และ ใจ ซึ่ง ดับขันธปรินิพพาน ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมใด จึงไม่มีการแก่ การเจ็บ การตาย ไม่มีการสุข ทุกข์อีกเลย และ ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นแล้ว ส่วน ผู้ที่ยังแก่ ก็ต้องตาย และ เมื่อมีกิเลสก็ต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้น แม้แก่จำอะไรไม่ได้ แต่ยังมีกิเลสเกิดขึ้น ก็ไม่พ้นไปจากทุกข์ได้ ครับ และ การดับขันธปรินิพพาน ไม่มีความแก่ ไม่มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ ผู้ที่ยังแก่มีความชรา ยังมีการเกิดขึ้นของขันธ์ 5 อยู่ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 พ.ย. 2556
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระอริยบุคคลเป็นผู้ประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสตามลำดับขั้น และจะถึงการดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้นก็ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ดับกิเลสได้โดยรอบโดยประการทั้งปวง ไม่มีเหลือ (กิเลสปรินิพพาน) แต่ชีวิตของพระอรหันต์ หลังจากที่ได้บรรลุแล้ว ก็จะต้องดำเนินต่อไป เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มีจิต เจตสิก และรูป เกิดขึ้นเป็นไป กล่าวคือ มีขันธ์ เกิดขึ้นเป็นไป แต่ไม่เป็นไปกับด้วยกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าจะถึงเวลาดับขันธปรินิพพาน (ดับโดยรอบซึ่งขันธ์) เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีจิต เจตสิก และรูป เกิดขึ้นอีกเลย เพราะดับเหตุที่จะทำให้มีการเกิด คือ กิเลสได้อย่างหมดสิ้นแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ยัวมีกิเลสอยู่ ก็ยังต้องเกิดมีขันธ์๕ เกิดขึ้นเป็นไป ยังไม่พ้นจากทุกข์ ยังไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์ครับ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 พ.ย. 2556

ความชรา คือ ความเสื่อมของรูปที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น วัยเด็ก วัยหนุ่ม สาว วัยชรา ส่วนขันธปรินิพพาน คือ การไม่เกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
BudCoP
วันที่ 25 พ.ย. 2556

นมตฺถุ นิพฺพานสฺส

สวัสดี ครับ, คุณ starter123, คุณ paderm, คุณ khampan.a
ขอร่วมสนทนาด้วยคนนะครับ ^.^

ตอบสรุปง่ายๆ ว่า คนธรรมดากรรมประจำชาติหมด, แต่พระอรหันต์ ตัณหาประจำวัฏฏะหมดด้วย ครับ

อธิบาย:

ขันธ์เสื่อม ชราลง เพราะกรรมที่ให้วิบากรักษาภพในชาตินั้นอยู่เสื่อมลง อย่างไรก็ตามกรรมอื่นยังมีอยู่ และทำกรรมใหม่อยู่ตลอด ฉะนั้น เมื่อตัณหาอยากเกิดใหม่ยังไม่หมด ก็จะเกิดใหม่อยู่ต่อไปเรื่อยๆ

ส่วนพระอรหันต์ดับขันธปรินิพพาน เพราะตัณหาที่ติดใจ อยากเกิดใหม่ไม่มีแล้ว ดังนั้น แม้กรรมจะเหลืออยู่นับจนนับไม่ได้ แต่ผลของกรรมก็เกิดอีกไม่ได้ เพราะไม่มีตัณหาเชื่อมภพไว้ ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
starter123
วันที่ 26 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
mon-pat
วันที่ 27 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ