การรับรู้อารมณ์ทางมโนทวาร

 
ผู้มาใหม่
วันที่  27 ต.ค. 2556
หมายเลข  23924
อ่าน  1,666

หนังสือของท่านอาจารย์ สุจินตฺ์ หน้า 281 เมื่อวิถีจิตต่างๆ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งทางทวารหนึ่งทวารใดในห้าทวารดับไปแล้ว และภวังคจิตเกิด คั่นหลายขณะแล้ว จิตก็เกิดรู้อารมณ์ทางนั้นต่อทางมโนทวารทุกครั้ง ขอเรียนถามดังนี้ครับ "เมื่อวิถีจิตต่างๆ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งทางทวารหนึ่ง ทวารใดในห้าทวารดับไปแล้ว" ดับไปในที่นี้หมายความว่า จนจบ 17 ขณะจิต ถึงสิ้นตลาลัมพนะจิตใช่ไหมครับ แล้วจึงเกิดรู้อารมณ์ทางนั้นต่อทางมโนทวาร (ที่มี 12 ขณะจิตใช่ไหมครับ) กราบขอบพระคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาพระธรรม ก็ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย และประการที่สำคัญ จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมก็เพื่อ เข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจ แม้ จะกล่าวถึง ภวังคจิต ก็ดี วิถีจิตก็ดี ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้ ศึกษาจะไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย

ทุกขณะของชีวิต ก็คือ การเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ เป็นไปอย่างไม่ ขาดสาย จิต เมื่อจำแนก เป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็น วิถีจิต กับ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งก็ต้องกล่าวถึงความหมายของจิต ๒ ประเภทนี้ เป็นเบื้องต้นก่อนว่าวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ในการรู้แจ้งอารมณ์

สำหรับทางปัญจทวาร เมื่อภวังคจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้วิถีจิตทางตาเกิดขึ้น

วิถีจิตที่ ๑ คือ อาวัชชนวิถี ได้แก่ จักขุทวารวัชชนจิต เกิดขึ้นทำกิจรำพึงคือรู้ว่า มีอารมณ์กระทบกับจักขุปสาทะ

วิถีจิตที่ ๒ คือ จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นทำกิจเห็นซึ่งอารมณ์คือสี

วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นทำกิจรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ

วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์

วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนจิต ทำกิจตัดสินอารมณ์ หมายความว่าเป็นจิตที่กระทำ ทางให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตหรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์) เกิดต่อ

วิถีจิตที่ ๖ คือ ชวนวิถีจิต โดยศัพท์ “ชวนะ” แปลว่า แล่นไป คือ ไปอย่างเร็วใน อารมณ์ด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์)

วิถีจิตที่ ๗ คือ ตทาลัมพนวิถี หรือตทารัมมณวิถี ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดขึ้นกระทำ กิจรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนวิถีจิต เมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับไป และเมื่อ ตทาลัมพณจิตดับไป ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ภวังคจิต ที่เป็นภวังคจรนะ และ ภวังคุปเฉทะ และ เกิดวิภีจิตทางมโนทวาร คือ ทั้งหมด ๑๐ ขณะ ตั้งแต่มโนทวา ราวัชชนจิต ๑ ชวนจิต ๗ ตทาลัมพณจิต ๒ (ถ้าเป็นอัปปนาวิถี จะมีวิถีจิตไม่ ถึง ๑๐ ขณะ และถ้าเป็นขณะที่เข้าสมาบัติ จะมีวิถีจิตมากจนนับไม่ได้) ครับ

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 27 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ทุกขณะ ไม่เคยขาดจิตเลย แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้เริ่มฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จิตเกิดดับสืบต่อกันเป็นลำดับด้วยดี ไม่สับ ลำดับกัน ตามความเป็นจริงของจิต ซึ่งจะไม่เกิดพร้อมกัน ๒ - ๓ ขณะ เมื่อวิถีจิต ทาง ๕ ทวาร ทวารหนึ่งทวารใดๆ เกิดขึ้นแล้วดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น แล้ววิถีจิต ทางใจก็เกิดสืบต่อ ตามความเป็นไปของจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีรูปร่างเลย ยากที่จะเข้าใจ แต่เริ่มสะสม ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ในขณะนี้ได้ เป็นการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ว่ามีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ไม่มีเราเลย

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาใน ชีวิตประจำวันเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความ เห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนและ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็น สำคัญ บุคคลผู้ที่ตั้งใจศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมจะได้ประโยชน์จาก พระธรรม ธรรมเป็นเรื่องยาก จึงต้องตั้งใจฟังตั้งใจศึกษา ความรู้ความเข้าใจจึง จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้มาใหม่
วันที่ 27 ต.ค. 2556

กราบขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 27 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 28 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ