ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง

 
papon
วันที่  25 ส.ค. 2556
หมายเลข  23438
อ่าน  15,401

ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง มีรายละเอียดอย่างไรบ้างครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขันติ คือ ความอดทน อดกลั้น ซึ่ง เจตสิก คือ อโทสเจตสิก ซึ่ง ขณะที่มีขันติ ความอดทน ไม่โกรธ ขณะนั้นเป็นจิตที่ดีงาม คือ เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ หรือกุศลจิตก็ได้ ที่เกิดกับอโทสเจตสิก และ เจตสิกที่ดี ประการอื่นๆ มีศรัทธา เป็นต้น

ขันติธรรม คือ สภาพธรรมที่อดทน อดกลั้น ด้วยกุศล ด้วยสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ไม่ใช่ความอดทน ด้วยอกุศลจิตครับ

ขันติธรรม เป็นสภาพธรรม คือ อโทสเจตสิก ขันติธรรม มีหลายระดับ ทั้งความอดทน อดกลั้นด้วยกุศลจิต อดทนต่อ ความหนาว ความร้อน อดทนต่อความประทุษร้ายของผู้อื่น หรืออดทนต่อสิ่งต่างๆ ด้วยกุศลจิต และขันติโดยนัยสูงสุด ยังหมายถึง ปัญญา ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ที่เป็นขันติญาณ อันเป็นการเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม ที่เป็นแต่ละกลุ่มกลาปของสภาพธรรม ดังนั้น ทั้งความอดทน อดกลั้นด้วยกุศลจิต รวมทั้งปัญญา ย่อมเป็น ขันติธรรมทั้งสิ้น ขันติธรรมจึงมีหลายระดับตามที่กล่าวมาครับ

ดังนั้น ขณะใดที่จิตกระสับกระส่าย ดิ้นรนต่อสู้ ขณะนั้น ไม่ชื่อว่าอดทน เพราะเป็นอกุศล จึงชื่อว่า กระสับกระส่าย มีโทสะ เป็นต้น แต่เมื่อขันติเกิด มีโสภณเจตสิก เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นต้องเบา เพราะ เบาด้วยเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย และ เป็นกุศลจิต ขณะนั้นจะไม่กระสับกระส่ายเลย ครับ

ขันติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา เพราะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ขันติ ความอดทนด้วยกุศลจิต ก็เพิ่มขึ้น และเมื่อปัญญาเจริญถึงระดับวิปัสสนาญาณ ก็ทำให้ถึงขันติธรรมที่เป็นปัญญาระดับสูงที่เป็น ขันติญาณได้ครับ ดังนั้น เพราะปัญญา ความเห็นถูกเจริญ เกิดขึ้น ก็ทำให้กุศลธรรมประการต่างๆ มีขันติ เป็นต้น เจริญ เกิดขึ้นตามไปด้วย ครับ เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ขันติก็เจริญ เกิดขึ้นครับ เพราะปัญญา วิชชา เป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งหลายครับ

ขันติ เป็น ตบะอย่างยิ่ง ตบะ หมายถึง สภาพธรรมที่เผากิเลส ดังนั้น ขันติ จึงเป็นสภาพธรรมที่เผากิเลส ซึ่งมีหลายระดับ ซึ่งขณะที่เผา ไม่มีเราที่จะต้องสู้ ดั่งเช่นความหมายที่จะต้องสู้กัน แต่หมายถึง ขณะที่กิเลสเกิดขึ้น และเกิดกุศลจิต เกิดแทนที่จะไม่เกิดกิเลส กุศลนั้นเองที่ไม่ใช่เรา เผากิเลสที่เกิดแล้วให้หมดไป ครับ ซึ่งความอดทน ก็มีทั้งอดทนในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ และน่าพอใจด้วย คืออดทนด้วยกุศลจิตก็ได้ เกิดอโลภเจตสิกในขณะนั้นก็ได้ ที่อดทนที่จะไม่ติดข้องเผากิเลสที่เป็นความติดข้องที่เกิดขึ้นแล้ว และ อดทนที่ต่อสิ่งที่ไม่น่าพอใจ มีขันติที่เป็นอโทสเจตสิกที่จะไม่โกรธ และ อดทนที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เผากิเลส คือ ความไม่รู้ด้วย ขันติ ที่เป็นปัญญา ครับ ซึ่ง ขณะที่เป็นอกุศลก็ชื่อไม่มีขันติ แต่ขณะที่เป็นกุศลมีขันติ ก็ตามแต่ระดับของขันติ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขันติ (ความอดทน ความอดกลั้น) เป็นธรรมเผาบาป คือ อกุศลธรรม ขณะที่อดทนไม่โกรธ ไม่โต้ตอบ ขณะนั้นเผาอกุศล คือความโกรธ เป็นต้น แต่ถ้าโกรธตอบ โดยเป็นผู้ขาดความอดทน ตนเองเท่านั้นที่ทำร้ายตนเอง ไม่ใช่ผู้อื่นเลย เพราะเป็นอกุศลของตนเองเท่านั้นจริงๆ จึงเห็นได้ว่า ขันติ เป็นธรรมฝ่ายกุศลที่ควรอบรม ด้วยการเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะมีปัญญาเข้าใจความจริง จึงเป็นผู้ไม่มักโกรธ อดทนต่ออารมณ์ที่มากระทบ อดทนต่ออกุศลของผู้อื่น (เพราะคนเราสะสมมาต่างกันย่อมจะมีบ้างที่การกระทำ พฤติกรรม อาจจะไม่เป็นที่พอใจของผู้อื่นได้ หน้าที่ ที่สำคัญของตนเอง ก็คือ อดทนต่ออกุศลของผู้อื่นด้วย) อดทนทั้งต่อผลของกุศล คือ เมื่อได้สิ่งที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ก็อดทนได้ ไม่เพลิดเพลินมัวเมาด้วยอำนาจของโลภะ และอดทนต่อผลของอกุศล คือเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าพอใจ ก็อดทนได้ ไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของโทสะ บุคคลผู้ที่อดทนอดกลั้นได้อย่างแท้จริง ก็เพราะมีปัญญานั่นเอง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 26 ส.ค. 2556

ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง เพราะ อดกลั้น ไม่ให้อกุศลเกิด และ เมื่อได้รับวิบากที่ดีก็ไม่หวั่นไหว เกิด อกุศล ต้องเป็นปัญญาที่เกิดกับขันติ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Rodngoen
วันที่ 27 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Nataya
วันที่ 19 ธ.ค. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ