การปฏิบัติสมาธิ

 
เด่น
วันที่  15 ก.ค. 2556
หมายเลข  23187
อ่าน  1,376

เวลาทำงานจะดูลมหายใจไปด้วย ขยับร่างกายกับลมหายใจสลับกันไปมา ทำมาสักระยะหนึ่ง มีภาวะหนึ่งเกิดขึ้นครับ ความรู้สึกเหมือนลอยๆ เบาๆ ไม่หน่วงหนักเหมือนเมื่อก่อน มีความรู้สึกไม่ยึด โล่งๆ ผมไม่รู้จะถามใครดี ผมกลัวว่าตัวเองจะหลุดจากความเป็นจริงหรือเปล่า ผมเลยไปทำวัดเย็น ได้นั่งสมาธิ แต่มันนิ่งสงบมากกว่าเดิมครับ

ผมอยากถามว่าสิ่งที่ผมเป็นเรียกว่าภาวะใดครับ ผมจะบ้าหรือเปล่าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ไม่มีคำสอนที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ เพราะถ้าไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความเป็นตัวตน จดจ้องต้องการ นั่นไม่ใช่เห็นทางแห่งปัญญา ไม่ใช่หนทางที่จะเป็นไปเพื่อละ เลย มีแต่จะเพิ่มอกุศล มีความไม่รู้ ความติดข้อง ความเห็นผิด เป็นต้น ให้หนาแน่นมากยิ่งขึ้นจนยากที่จะแก้ไขได้

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ก็จะเข้าใจผิดว่าการปฏิบัติธรรมจะต้องไปทำอะไรขึ้นมา ต้องจดจ้องที่ลมหายใจ ต้องนั่งสมาธิ เป็นต้น

แต่แท้ที่จริงแล้ว ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำ เพราะเหตุว่าปฏิบัติธรรมไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมา ด้วยความเป็นตัวตนหรือความติดข้องต้องการ แต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม นั่นก็คือ สติ และ สัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้องย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นความเข้าใจถูก เห็นถูก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ จะขาดการฟังพระธรรม ไม่ได้เลยทีเดียว ก็ขอให้ตั้งต้นที่เริ่มฟังพระธรรมให้เข้าใจตั้งแต่ในขณะนี้ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

อานาปานสติ คืออะไร ทำอย่างไร ได้ประโยชน์อย่างไร

ความเข้าใจเรื่องสมาธิ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 16 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญา หากจะพิจารณาว่าสิ่งที่ทำถูกต้องหรือไม่นั้นก็คือ ทำแล้วเกิดความเข้าใจถูกมากขึ้น มีปัญญาเข้าใจความจรงมากขึ้น ไม่ได้อยู่ที่การสงบนิ่งมากขึ้นแต่ไม่รู้อะไร ดังนั้น ขณะที่ทำอะไรก็ตาม แล้วเกิดความสงสัย ขณะที่สงสัย ไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นอกุศล ดังนั้น จึงไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง

ผู้ที่เป็นผู้ตรง และ เคารพในพระธรรมของพระพุทธเจ้า ย่อมที่จะอาจหาญ ร่าเริง ที่จะรู้ตนเองที่จะไม่ดำเนินในทางที่ไม่ถูกต้อง และ กล้าเปลี่ยนไปสู่ความที่ถูกต้อง เพราะ คงไม่มีอะไร สำคัญเท่ากับประโยชน์ตน คือ ปัญญาความเห็นถูก และ คงไม่มีอะไรเลวร้ายเท่า ความเห็นผิด และ ความไม่รู้ อันเป็นการทำลายประโยชน์ตนทั้งในโลกนี้ และ ในโลกหน้า

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การนั่งสมาธิ แต่ เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ที่ปรากฎในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงไม่ได้แยกจากชีวิตประจำวัน เพราะ ปฏิบัติ คือ การถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม และธรรมก็ไม่ได้อยู่ในขณะที่นั่ง ในห้องปฏิบัติ ขณะนี้มีธรรมให้รู้ เห็น ได้ยิน คิดนึก โกรธ โลภ ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมที่ควรู้ ควรรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา การปฏิบัติธรรมจึงเป็นการเจริญสติปัฏฐานที่ไม่ใช่การนั่งสมาธิแต่อย่างใดเลย เพราะฉะนั้น แม้แต่ขณะที่มีความคิดนึกในเรื่องอดีต ขณะนั้นอะไรมีจริง คิดมีจริง ปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง จึงไม่ทำให้ใจเดือดร้อนว่า ยังคิดเรื่องอดีตอยู่ เพราะอยากให้ใจเป็นสมาธิ แต่ การปฏิบัติที่ถูกต้องที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน คือ การรู้สภาพธรรมที่กำลังเกิด แม้แต่การคิดเรื่องอดีต คิดมีจริง ขณะที่คิด ไม่ใช่เราที่คิด แต่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งคือ จิตที่คิดนึก การรู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียง จิตไม่ใช่เราที่คิด ขณะนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแล้ว เพราะมีปัญญาเกิดรู้ความจริง

ดังนั้น กล่าวได้ว่า ที่ใด เมื่อไหร่ที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นเป็นการปฏฺบัติธรรม เพราะหากไม่มีปัญญา มีแต่ความสงบนิ่ง โดยที่ไม่รู้อะไร ก็ไม่ใช่ พุทธ ผู้รู้ ที่เป็น เรื่องของปัญญาเป็นสำคัญ เพราะ ปัญญานั่นเองที่จะเป็นธรรมที่สามารถดับกิเลสได้ ความไม่รู้ ความนิ่ง ความสงสัย ไม่สามารถดับกิเลสได้ ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ ไม่ใช่ด้วยการนั่งสมาธิ แต่ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเมื่อใดปัญญาเจริญขึ้นมากจากการฟังพระธรรม สติและปัญญาก็จะเกิดรู้ความจริงในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องไปนั่ง หรือ อยู่ในห้อง เพราะ ธรรมมีอยู่ในชีวิตประจำวัน ขณะที่รู้ความจริงในชีวิตประจำวัน ด้วยสติและปัญญาที่เกิดขึ้น อันเกิดจากากรฟังพระธรรม ขณะนั้นปฏิบัติธรรมแล้ว แม้จะไม่เรียก ไม่กล่าวว่า ปฏิบัติธรรม เพราะ สติและปัญญา ปฏิบัติหน้าที่รู้ธรรมตามความเป็นจริง ครับ ดังนั้นแทนที่จะพัฒนาการนั่งสมาธิ ก็มาพัฒนาความเข้าใจพระธรรมในขั้นการฟัง จะเป็นหนทางที่ถูกต้อง

ควรเริ่มจากความเข้าใจขั้นการฟัง เป็นสำคัญก่อน ไม่ใช่การไปนั่งปฏิบัติโดยยังไม่รู้เลยว่า ปฏิบัติธรรม คือ อะไร ธรรม คือ อะไร เพราะ การแสวงหาธรรม แสวงหาทางสงบ หากไม่รู้จัก แม้คำว่า สงบ ในทางธรรม ก็ไปแสวงหา สิ่งที่ไม่สงบ สำคัญว่า สงบ อันจะทำให้เกิด อกุศล คือ ความสงสัย และ ความฟุ้งซ่าน ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้คิดด้วยอกุศลเป็นส่วนมาก จนเกิด อาการทางจิตได้ในอนาคต ครับ

ชาตินี้ได้มีโอกาสพบพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และ ทรงประกาศไว้ อย่าปล่อยทิ้งมรดกอันล้ำค้า คือ พระธรรม ด้วยการเป็นทายาท คือ การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมเป็นสำคัญ ความเข้าใจจะเกิดขึ้นเอง โดยไม่ต้องไปนั่งปฏิบัติสมาธิ เพราะ ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง มรดกอันล้ำค่า จึงมีค่า และ จะได้รับมรดก ต่อเมื่อผู้นั้นมีปัญญา อันเกิดจากการฟังพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

จะนั่งสมาธิอีกแล้วครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nopwong
วันที่ 16 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เด่น
วันที่ 16 ก.ค. 2556

อนุโมทาบุญครับ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 16 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 4 พ.ย. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 8 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ