ความเห็นถูก ความเห็นผิด

 
natural
วันที่  13 พ.ค. 2556
หมายเลข  22897
อ่าน  1,962

เรียนถามเกี่ยวกับความเห็นถูก และเห็นผิด

1. การเห็นถูกเกิดเมื่อสติเกิดพร้อมปัญญาเท่านั้นใช่หรือไม่ ถ้าผู้ที่ยังไม่เข้าถึงสภาพธรรม ที่เรียกว่า สติและปัญญา ยังคงเป็นผู้เห็นผิดใช่หรือไม่

2.การเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน จัดว่าเป็นความเห็นผิดหรือไม่

3. เป็นไปได้หรือไม่ว่าการฟังธรรมจะทำให้เกิดความเห็นผิดคือคลายจากความเห็นผิด ได้ยาก เพราะสะสมความเห็นผิดไว้มาก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. การเห็นถูกเกิดเมื่อสติเกิดพร้อมปัญญาเท่านั้นใช่หรือไม่ ถ้าผู้ที่ยังไม่ เข้าถึงสภาพธรรมที่เรียกว่า สติและปัญญา ยังคงเป็นผู้เห็นผิดใช่หรือไม่ พระธรรมจะต้องพิจารณาละเอียด แยกเป็นทีละขณะจิต ไม่สามารถพิจารณารวมๆ ได้ ซึ่งขณะใดที่ความเห็นถูก คือ สัมมาทิฏฐิ เกิดขึ้น ขณะนั้น คือ ปัญญาเกิดขึ้น ในขณะนั้น ซึ่ง ปัญญา หรือ อโมหเจตสิก ไม่ใช่เกิดเพียงเจตสิกเดียว ก็จะต้องมี เจตสิกอย่างอื่นๆ ที่เป็นเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย เช่น สติ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เกิดร่วมด้วยเสมอ แต่ปัญญา ไม่จำเป็นจะต้องเกิด กับ กุศลทุกประเภท กุศลบางประเภท ก็ไม่มีปัญญาก็ได้ เช่น คิดจะให้ทาน ขณะนั้น เป็นกุศลจิต มี สติเจตสิก ที่คิดระลึกจะให้ แต่ไม่มีปัญญาก็ได้ คือ ไม่มีความเห็นถูกในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าว ถึงความเห็นถูก หรือ ปัญญา จะต้องเห็นถูกในเรื่องใดเรื่อง หนึ่ง เช่น เห็นถูกตามความเป็นจริง ในเรื่องกรรม และผลของกรรม ว่ากรรมมี ผล ของกรรมมี หรือ เห็นถูก ปัญญาที่เห็นตามความเป็นจริงว่าขณะนี้เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา เป็นต้น ปัญญา ความเห็นถูก จึงมีหลายระดับ แต่ไม่จำเป็นจะต้องเกิดกับ กุศลทุกๆ ประเภท จึงมีสติแต่ไม่มีปัญญา ความเห็นถูกก็ได้ แต่ ขณะที่ปัญญาเกิด มีสติด้วย และ เจตสิกที่ดีๆ อื่นเกิดร่วมด้วย ครับ

ความเห็นถูก จึงเกิดพร้อมกับ สติ และ เจตสิกที่ดีอื่นๆ และ พร้อมปัญญา ตัว ปัญญานั่นแหละ ครับ คือ ความเห็นถูก

ส่วนคำถามที่ว่า ถ้าผู้ที่ยังไม่เข้าถึงสภาพธรรมที่เรียกว่า สติและปัญญา ยังคงเป็นผู้เห็นผิดใช่หรือไม่

- เมื่อกล่าวถึงขณะจิต ขณะที่ไม่ได้มีความใจว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม แต่ไม่ได้ จำเป็นจะต้อมีความเห็นผิด เพราะ เมื่อพูดถึงความเห็นผิด เป็นทิฏฐิเจตสิก ที่เป็น เจตสิกที่ไมดี เกิดกับจิตที่เป็นโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น แม้ขณะที่ทำกุศล หรือ เกิด กุศลที่ไม่ใช่มีปัญญา เช่น ให้ทาน รักษาศีล แม้ขณะนั้น ไม่ได้รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม แต่ขณะนั้น ไม่มีทิฏฐิเจตสิก ที่เป็นอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงไม่ได้มีความเห็นผิด เพียงแต่ว่า แม้ไม่เห็นผิด แต่ก็ไม่ได้เห็นถูก เป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ครับ

และ แม้เกิดอกุศลประเภทอื่นๆ เช่น ขณะที่โกรธอยู่ ขณะนั้น ก็ไม่ได้เห็นผิด เพราะ กำลังโกรธเท่านั้น เพราะ เมื่อพูดถึงความเห็นผิด ทิฏฐิเจตสิก จะต้องมีความเห็น อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือ เกิดความคิดเห็นขึ้นในจิตใจที่ผิด เช่น คิดว่ามีสัตว์ บุคคลแน่นอน เป็นต้น แต่ขณะที่โกรธไม่ได้มีความคิดอย่างนั้นเกิดขึ้นมา จึงไม่ได้ เห็นผิด แม้จะเป็นอกุศล ครับ แต่ ขณะใดที่เกิดความคิดเห็นอย่างนั้น ที่ผิดตามความ เป็นจริง มี ทิฏฐิเจตสิก มีความเห็นผิด ครับ


2. การเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน จัดว่าเป็นความเห็นผิดหรือไม่

- การเห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่พระอริยเจ้า และ พระพุทธเจ้า ผู้ที่ดับความ เห็นผิดจนหมดสิ้นก็ยังจะต้องเห็นเป็นสิ่งนั้น เห็นเป็นดอกไม้ เป็นพระอานนท์ เพราะ เหตุใด เพราะตามธรรมชาติของวิถีจิตที่จะต้องเป็นอย่างนั้น คือ เกิดทางปัญจทวาร แล้ว ก็เกิดทางมโนทวารต่อ ที่คิดในรูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้น จึงเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่ง ใด ซึ่งเห็นแล้ว คิดนึกเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ ด้วยกุศลจิตก็ได้ เช่น เห็นขอทานแล้ว เกิดชวนจิตที่เป็นกุศลที่มีเจตนาจะให้ โดยมีบัญญัติ เรื่องราว สัตว์ บุคคล หรือ ขอทานเป็นอารมณ์ แม้จะเห็นเป็นสัตว์บุคคล แต่ไม่ได้มีความเห็นผิด แต่เกิดกุศล จิตแทน ครับ

ดังนั้น การเห็นเป็นสัตว์ บุคคลไม่จำเป็นจะต้องมีความเห็นผิด เพราะเห็นแล้ว เกิดกุศลจิต ขณะนั้นก็ไม่ได้เห็นผิด เห็นแล้ว โกรธ ขณะที่โกรธ ไม่ได้มีความเห็นผิด เกิดขึ้นมาว่า มีคน มีสัตว์จริงๆ คือ ไม่ได้เกิดความเห็นผิดขึ้นในจิตใจ ก็ไม่ได้เห็นผิด


3. เป็นไปได้หรือไม่ว่าการฟังธรรมจะทำให้เกิดความเห็นผิดคือคลายจากความเห็น ผิดได้ยาก เพราะสะสมความเห็นผิดไว้มาก

- การฟังพระธรรมที่ถูกต้อง เป็น เหตุภายนอก ส่วน เหตุภายในอีกประการ คือ การ สะสมมาของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมที่ถูกต้องในบางช่วงเวลา แต่หากว่า ผู้นั้น สะสมความเห็นผิดมามาก ก็ทำให้เกิดความเห็นผิดได้ ที่จะไม่เชื่อ และ ก็เห็นผิดมากขึ้น แต่ความเห็นผิดที่มากขึ้น ไม่ได้เกิดจากตัวพระธรรมที่แสดงไว้ดีแล้ว แต่โทษอยู่ที่กิเลสของบุคคลนั้นที่สะสมมาไม่ดีเอง ครับ

หากแต่ว่าการฟัง พระธรรมที่ถูกต้อง และพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมจะเป็นปัจจัยให้ละคลายความไม่รู้ และความเห็นผิดได้ แต่ต้องทีละน้อย ค่อยๆ สะสมไป ครับ ซึ่งผู้ที่จะไม่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นเลย คือ พระโสดาบัน แต่ก่อนหน้านั้นท่านก็ยัง มีความเห็นผิดบ้างเมื่อเป็นปุถุชน แต่ก็ค่อยๆ สะสมปัญญา จากการฟังพระธรรม ก็สามารถถึงการละ ความเห็นผิดได้ในที่สุด ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
natural
วันที่ 13 พ.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 13 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยครับ

- ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม ความเป็นจริงของปัญญาจะไม่เปลี่ยน เกิดขึ้นเมื่อใดก็ทำกิจรู้ถูกเห็นถูก, สติเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลธรรม ว่าโดยลักษณะแล้วเป็นสภาพธรรมที่ระลึก เป็นเจตสิกฝ่ายดีที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท ถ้าจิตที่ดีงามเกิดขึ้น จะไม่ปราศจากสติเลย ส่วนปัญญาไม่เสมอไป บางครั้งก็เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามด้วย บางครั้งก็ไม่เกิด เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ตัวอย่างขณะที่ปัญญาเกิด คือ ในขณะที่ฟังเข้าใจ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงเป็นต้น ขณะนั้น มีพร้อมทั้งสติ ทั้งปัญญา สรุปได้ว่า สติเกิดโดยไม่มีปัญญาเกิด ร่วมด้วยก็ได้ แต่ถ้าปัญญาเกิด ก็ต้องเกิดร่วมกับสติ และโสภณเจตสิกอื่นๆ เสมอ

แต่ถ้าขณะใดก็ตามที่กุศลไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นความเห็นผิด เสมอไป เพราะเหตุว่าบางครั้งก็เป็นไปกับด้วยอกุศลประเภทอื่นๆ เช่น ความโกรธความขุ่นเคืองใจ ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นต้น บางขณะก็เป็นวิบากเป็นการได้รับผลของกรรม ซึ่งแน่นอนว่าขณะที่เป็นวิบาก นั้น อกุศลใดๆ ก็เกิดร่วมด้วยไม่ได้ ตามความเป็นจริงของธรรม แต่ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน-บุคคล โอกาสที่ความเห็นผิดจะเกิด ก็ย่อมมีได้ เพราะผู้ที่จะดับความเห็นผิดได้อย่างหมดสิ้น ก็ต้องเป็นพระโสดาบัน

- การเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นความเห็นผิดเสมอไปเพราะจะเป็นความเห็นผิดก็ต่อเมื่อเห็นว่ามีสัตว์จริงๆ มีบุคคลจริงๆ มีตัวตนจริงๆ เป็นสิ่งนั้นจริงๆ ที่เที่ยงแท้ยั่งยืน เป็นต้น เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อเห็นแล้ว ก็คิดนึกจำเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ หมายรู้ว่า เป็นใคร เป็นอะไรเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อไม่ได้มีความเห็นว่าเป็นสิ่งนั้นจริงๆ ที่เที่ยงแท้ยั่งยืน ก็ไม่ใช่ความเห็นผิด แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความเห็นว่าเป็นสิ่งนั้นจริงๆ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ ที่เที่ยงแท้ ยั่งยืน ก็เป็นความเห็นผิด

- ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสอะไรๆ ได้เลย ก็ย่อมเป็นผู้มากไปด้วยกิเลสด้วยกันทั้งนั้น จะบอกว่ากิเลสน้อยไม่ได้ เพราะเหตุว่า แม้แต่ในวันนี้วันเดียวอกุศลเกิดมากเพียงใด แล้ววันก่อนๆ ก็มากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้ว เรื่องของอกุศล เป็นสิ่งที่จะประมาทไม่ได้เลย แม้จะได้ฟังพระธรรม แต่ถ้าตั้งจิตไว้ผิด ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ หรือ คิดธรรมเอาเอง ฟังนิดหน่อย แล้วก็คิดเองเยอะก็ทำให้เข้าใจผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้

จากประเด็นนี้ก็ทำให้เกิดข้อคิดเตือนใจที่ดีว่า จะเป็นผู้ประมาทในการศึกษาพระธรรม ไม่ได้เลย เพราะพระธรรมละเอียด ลึกซึ้ง จะต้องตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาด้วยความเคารพละเอียด รอบคอบจริงๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ เป็นไปเพื่อขัดเกลา ความไม่รู้และความเห็นผิดรวมไปถึงกิเลสประการอื่นๆ ด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 13 พ.ค. 2556

เห็นเป็นสัตว์ บุคคลเป็นปกติ แม้แต่พระอริยบุคคลก็ยังเห็น เป็นคนโน้น คนนี้ แต่ ท่านไม่มีความเห็นผิด ปุถุชนเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ประกอบด้วความเห็นผิด หรือ ไม่เห็นผิดก็ได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 14 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
bsomsuda
วันที่ 14 พ.ค. 2556

"ผู้ที่จะไม่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นเลย คือ พระโสดาบัน แต่ก่อนหน้านั้นท่านก็ยังมีความเห็นผิดบ้างเมื่อเป็นปุถุชน แต่ก็ ค่อยๆ สะสมปัญญา จากการฟังพระธรรม ก็สามารถถึงการละ ความเห็นผิดได้ในที่สุด"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
natural
วันที่ 15 พ.ค. 2556

เรียนถามเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติม

จากความคิดเห็น อ.คำปั่น ที่ว่า ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม ความเป็นจริงของปัญญาจะไม่เปลี่ยน เกิดขึ้นเมื่อใดก็ทำกิจรู้ถูกเห็นถูก

จากที่ได้ฟัง เข้าใจว่าปัญญามีหลายระดับ และที่ได้ยินบ่อยๆ คือปัญญาในระดับการฟัง จะทำกิจรู้ถูกเห็นถูกคือรู้ถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริงหรือรู้ถูกเห็นถูก อย่างไร เพราะฟังพระธรรมแล้วบางครั้งคิดว่าเข้าใจแต่ก็ไ่ม่แน่ใจความเข้าใจนั้นถูก หรือไม่ถูก เพราะเป็นเหมือนคิดเรื่องไปตามเหตุผลมากกว่าเข้าใจจริงๆ

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 15 พ.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ปัญญา มีหลายระดับแต่ปัญญา จะทำหน้าที่ รู้ถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่ง ปัญญาขั้นการฟัง ก็เป็นสภาพธรรมที่เห็นถูก แต่ เป็นการเห็นถูก ตามเรื่องราวที่ ได้ยินมา เช่น ฟังแล้ว เข้าใจ แม้เพียงเล็กน้อย แต่ ขณะนั้นเข้าใจและเห็นถูก ขณะ นั้นก็เป็นปัญญา แต่ ปัญญาขั้นการฟัง ไม่ได้เห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ยังไม่ได้รู้ตัวลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ต้องเป็นปัญญาระดับสติปัฏฐาน ส่วนการฟัง บางครั้งเข้าใจ บางครั้งก็ไม่เข้าใจ ก็ต้องแยกพิจารณาทีละขณะจิต ว่าขณะที่เข้าใจ ก็เป็นปัญญา แต่ ไม่ได้เข้าใจโดยตลอด เพราะ บางครั้งก็ไม่เข้าใจ ก็ไม่ใช่ปัญญาในขณะนั้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 16 พ.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 16 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 26 ม.ค. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สิริพรรณ
วันที่ 28 พ.ค. 2564

เกิดมาชาตินี้ไม่เสียประโยชน์เลย คือได้ศึกษาพระธรรม ได้รู้ว่า ความเห็นผิดต่างกับความเห็นถูกอย่างไร และหนทางที่จะออกจากความเห็นผิดที่คุ้นเคยสะสมอย่างยาวนานจนไม่รู้ตัวเลยนั้น หนทางเดียวคือการศึกษาพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเคารพในทุกคำที่ได้ฟังและอดทนที่จะฟังต่อไปๆๆ ทุกภพชาติ ที่มีโอกาสได้ฟัง

กราบอนุโมทนายินดีในกุศลผู้เผยแพร่พระธรรมด้วยความเคารพและขอบพระคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
พล.ต.อินทวัชร ลี้จินดา
วันที่ 7 ธ.ค. 2565

สาธุครับ ฯ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ