อุปปัตติ และ นิพพัตติ

 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่  13 มี.ค. 2556
หมายเลข  22617
อ่าน  3,829

ข้อความจาก คัมภีร์ วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 149

แก้อรรถบาลีอาทีนวญาณ

ในปาฐะเหล่านั้น ปาฐะว่า "อุปปาทะ" ได้แก่ ความอุบัติขึ้นใน ภพนี้ เพราะปัจจัย คือ กรรมในภพก่อน ปาฐะว่า "ปวัตตะ" ได้แก่ ความหมุนไป (ในปวัติกาล) แห่งสังขารธรรม ที่เกิดขึ้นแล้วอย่างนั้น ปาฐะว่า "นิมิตตะ" ได้แก่ นิมิตคือสังขารทั้งปวง ปาฐะว่า "อายูหนา" ได้แก่กรรม (ในภพนี้) อันเป็นเหตุแห่งปฏิสนธิ (ในภพ) ต่อไป ปาฐะว่า "ปฏิสนธิ" ได้แก่ ความอุบัติขึ้น (ในภพ) ต่อไป ปาฐะว่า "คติ" ได้แก่ คติที่ปฏิสนธิมีขึ้น ปาฐะว่า "นิพพัตติ" ได้แก่ความกำเนิดแห่งขันธ์ทั้งหลาย ปาฐะว่า "อุปปัตติ" ได้แก่ความเป็นไปแห่งวิบาก ที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่า "วิบากย่อมมีแก่ผู้ถึงพร้อมบ้าง แก่ผู้เข้าถึงบ้าง" ปาฐะว่า "ชาติ" ได้แก่ ชาติที่มีเพราะปัจจัยคือภพ เป็นปัจจัย แห่งทุกข์ทั้งหลายมีชรา เป็นต้น

ธรรมทั้งหลายมีชราและมรณะเป็นอาทิ (มีความ) ปรากฏ (ชัด) แล้วทั้งนั้น ก็แลในธรรมเหล่านี้ ธรรม ๕ มีอุปปาทะ เป็นต้นเท่านั้น ท่านกล่าวโดยเป็นวัตถุ (ที่ตั้ง) แห่งอาทีนวญาณ ธรรมที่เหลือท่านกล่าวโดยเป็นไวพจน์ของธรรม ๕ นั้น แท้จริงคำ ๒ คำคือ นิพพัตติ ชาติ ที่เป็นไวพจน์ของอุปปาทะและของปฏิสนธิ นั่นเอง ๒ คำคือ คติ อุปปัตติ นี่เป็นไวพจน์ของปวัตตะ ชรา เป็นต้น เป็นไวพจน์ของนิมิตตะแล เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า "ภิกษุย่อมเห็นอุปปาทะ ปวัตตะ นิมิตตะ อายูหนะ และปฏิสนธิ ว่าเป็นทุกข์ ความเห็น (มี วัตถุ ๕) นี้ เป็นอาทีนวญาณ" และว่า "อาทีนวญาณนี้ ย่อมเกิดในสถาน ๕" ดังนี้

ขออนุญาตเรียนสอบถามเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจ ๒ คำ ครับ คำว่า อุปปัตติ และ นิพพัตติ ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์เคยยกขึ้นสนทนาขณะที่เดินทางไปพม่า ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 13 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาเป็นปัญญาของตนเอง ทั้งหมดนั้นไม่ว่าพระองค์จะทรงใช้พยัญชนะใดๆ ก็ไม่พ้นไปจากแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร

สำหรับคำ ๒ คำนี้ คือ อุปปัตติ และนิพพัตติ ความหมายจากพยัญชนะแทบจะไม่ต่างกันเลย เพราะอุปปัตติ แปลว่าเกิดขึ้น นิพพัตติ แปลว่า บังเกิดขึ้น ก็เข้าใจคร่าวๆ จากที่ได้ฟังจากการสนทนาธรรมโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร ว่า อุปปัตติมุ่งหมายถึงการอุบัติขึ้นของวิบากจิต ๑๐ ดวง มีเห็น ได้ยิน เป็นต้น ซึ่งเป็นการอุบัติขึ้นเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เป็นการเห็นจริงๆ ได้ยินจริงๆ ได้กลิ่นจริงๆ ได้ลิ้มรสจริงๆ ได้ถูกต้อง กระทบสัมผัสจริงๆ ทั้งที่เป็นผลของกุศลกรรม และ อกุศลกรรม. ซึ่งจะแตกต่างไปจากสภาพธรรมอื่นๆ โดยใช้พยัญชนะว่า นิพพัตติ กล่าวถึงความเกิดขึ้นของขันธ์อื่นๆ

จึงเป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ทั้ง ๒ คำ ต่างก็เป็นคำที่นำไปสู่การเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ว่าเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนในสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 13 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งเราจะต้องพิจารณาว่า คำสองคำนี้ มาจากหมวดส่วนไหน คำสองคำ คือ อุปปัตติและนิพพัตติ ที่หมายถึงการเกิดขึ้น ซึ่งสองคำนี้ อยู่ในส่วนของ อาทีนวญาณ คือ วิปัสสนาญาณ ที่เป็นปัญญาที่ถึงพร้อมสมบูรณ์ที่ประจักษ์ความจริงในการเห็นโทษของการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น อุปปัตติ และ นิพพัตติ จึงเป็นการแสดงลักษณะถึงการเกิดของสภาพธรรมโดยนัยต่างๆ ซึ่ง ปัญญาจะต้องรู้ทั่วในสภาพธรรมในการเกิดโดยนัยต่างๆ แม้จะมีความหมายเหมือนกัน แต่ ก็มีความละเอียดต่างๆ เพราะจะต้องรู้ทั่วในสภาพธรรมที่มีการเกิดในสภาพธรรมที่แตกต่างกันไป แต่ไม่พ้นจากการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรม ครับ

ดังนั้นเมื่อเป็นเรื่องของการเกิดขึ้นของสภาพธรรม แต่ในความละเอียด สภาพธรรมไม่ได้มีเพียงอย่างเดียว สภาพธรรมมีหลากหลาย ทั้งนามธรรมและรูปธรรม และนามธรรมก็ยังมีหลากหลายตามแต่ละประเภทของจิตเจตสิกที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น อาทีนวญาณ การเห็นความเป็นภัย จะต้องเป็นปัญญาที่รู้ทั่ว ในลักษณะของการเกิดโดยนัยต่างๆ ของสภาพธรรมที่แตกต่างกัน

ซึ่ง สำหรับ นิพพัตติ เป็นการแสดงลักษณะของการเกิดของสภาพธรรมที่หลากหลาย กว้างขวางกว่าอุปปัตติ คือ รวมถึง สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมด้วย ที่แสดงลักษณะของการเกิดของรูปในแต่ละกลาป ก็จัดเป็นลักษณะการเกิดที่เป็นนิพพัตติ ลักษณะและนามธรรมอื่นๆ ที่เป็นจิตอื่นๆ ยกเว้น จิตชาติวิบาก ก็เป็นการแสดงลักษณะของการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นนิพพัตติลักษณะ ครับ

ส่วน อุปปัตติ ก็เป็นการแสดงลักษณะของการเกิดของสภาพธรรมเช่นกัน แต่โดยนัยที่เป็นวิบาก อันเป็นการแสดงลักษณะการเกิดขึ้นที่มาจากการถึงพร้อมด้วยเหตุที่ทำให้เกิดผล ถึงการอุบัติขึ้นเพราะความสุกงอมของกรรม ทำให้เกิดผลที่กำลังมีกำลังปรากฏ ดังที่ท่านอาจารย์ สุจินต์ใช้คำว่า อุปปัตติ ว่า คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ว่า กำลังเห็นกันจะจะ ได้ยินจะจะ คือกำลังปรากฏมีขณะนี้ที่เดียว ให้รู้ได้จริงๆ เพราะ อุปปัตติ หรือ อุบัติเกิดขึ้นแล้ว เพราะผลของกรรมสุกงอมจึงเกิดขึ้น

ซึ่งท่านอาจารย์ก็ยังอธิบายไปต่อครับว่า อุปปัตติ ต่างจาก นิพพัตติ เพราะ ลักษณะการเกิดของอุปัตตินั้น ชัดเจนที่กำลังมีในขณะนี้ เพราะความถึงพร้อมของกรรม ส่วนลักษณะการเกิดของนิพพัตติ เป็นการเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมต่างๆ เช่น ขณะที่ฝัน ก็คิดนึก แม้ไม่ได้เห็นก็คิดนึกในใจ ไม่ได้ปรากฏลักษณะการเกิดปรากฏชัดเหมือนขณะที่เห็น ได้ยินจะจะ ที่เป็นอุปปัตติ ครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้ยินคำใด ก็จะต้องพิจารณาว่า คำนั้นกำลังมุ่งอธิบายในส่วนใด หมวดใดของพระไตรปิฎก ซึ่งสองคำนี้เป็นส่วนที่อยู่ในวิปัสสนาญานที่เห็นโทษของการเกิดดับของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นการแสดงลักษณะของการเกิดโดยนัยต่างๆ นั่นเอง ที่จะต้องเป็นปัญญาที่คมกล้าอย่างยิ่งที่จะรู้ลักษณะของการเกิดโดยนัยต่างๆ ที่ไม่ใช่เป็นการคิดนึกเป็นเรื่องราว ว่าลักษณะของการเกิดทั้ง อุปปัตติ และ นิพพัตติ เป็นอย่างไร แต่ ปัญญาจะคมกล้าถึงขนาดรู้ตัวลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดในขณะนั้น และรู้ทั่วในสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละนัยที่แตกต่างกัน โดยไมได้ใส่ชื่อเลยในขณะนั้น ว่าเป็นอุปปัติ หรือ นิพพัตติ แต่กำลังรู้ตัวจริงในขณะที่สภาพธรรมกำลังเกิด

นี่แสดงถึงความละเอียดของปัญญา และ ความละเอียดของกิเลสที่จะต้องละ ว่ายากแสนยาก แต่ไม่เหลือวิสัย พระธรรมจึงควรค่าแก่การศึกษา และ แสดงถึงความยาก และ ละเอียดลึกซึ้งของพระธรรม ตามที่กล่าวมา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 14 มี.ค. 2556

พระธรรมละเอียด ลึกซึ้ง ยากแสนยากแต่ก็ไม่เหลือวิสัย จึงควรค่าแก่การศึกษา

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 14 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อาจารย์คำปั่น อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 14 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาท่านผู้ร่วมเดินทาง รวมทั้ง อ.คำปั่น อ.ผเดิม อย่างยิ่งค่ะ ได้รับความเข้าใจเพิ่มขึ้นมากจาก ๒ คำนี้ อุปปัตติและนิพพัตติ ขอเรียนถามว่า อุปปัตติ หมายถึง วิบากจิต ๑๐ คือ ทวิปัญจวิญญาณซึ่งเป็นชาติวิบาก และสำหรับปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต ซึ่งเป็นชาติวิบาก มุ่งหมายว่าเป็นอุปปัตติ หรือ นิพพัตติ คะ

ขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 14 มี.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 5 ครับ

จากที่ได้ฟังท่านอาจารย์อธิบาย อธิบายถึงว่า อุปปัตติ เป็นสภาพธรรมที่เป็นวิบากที่ถึงพร้อมแล้วอย่างชัดเจนในขณะนี้ ที่เป็นวิบากจิต ๑๐ ดวง อันเป็นการแสดงว่าวิบากย่อมมีแก่ผู้ถึงพร้อมแล้วแก่ผู้เข้าถึง ซึ่งก็คือในขณะนี้เอง ที่สามารถรู้ได้ ส่วนปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต แม้เกิดก็ไม่ปรากฏให้รู้ เพราะความละเอียดของสภาพธรรมนั้น ซึ่งควรจะเป็นนิพพัตติ อันเป็นการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ทั้งหลาย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paew_int
วันที่ 14 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 14 มี.ค. 2556

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เมตตา
วันที่ 14 มี.ค. 2556

เข้าใจชัดเจนมากค่ะ

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม อย่างยิ่งค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
j.jim
วันที่ 15 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
orawan.c
วันที่ 18 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
peem
วันที่ 5 มี.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ