กรรมอันเป็นได้ทั้งกุศล หรืออกุศล

 
นิรมิต
วันที่  20 ก.พ. 2556
หมายเลข  22522
อ่าน  1,223

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน ในกรณีที่กระทำกุศลด้วยไทย ธรรมที่ไม่ประณีต อย่างเช่นมีผ้าไม่ประณีต ผ้าเศร้าหมอง แต่มีกุศลจิตจะถวายผ้านั้นแก่พระภิกษุ จึงได้มีการน้อมเข้าไปถวายด้วยกุศลจิต ภายหลังขณะที่กำลังถวายเองนั่นแหละ ก็เกิดอกุศลจิตแทรกคั่น แต่เป็นอกุศลจิตที่มีเจตนาประทุศร้าย เช่น เกิดความดำริว่า "ท่านจงเอาผ้าเก่าๆ ไม่ประณีตผืนนี้ไป จงห่มผ้าอันเศร้าหมองนี่" คือประมาณว่า เป็นการกระทำเดียวกัน แต่เพียงเจตนาต่างกัน กรรมนั้นก็สำเร็จเป็นกุศลก็ได้ หรือ อกุศลก็ได้ โดยนัยยะว่า ถ้าถวายผ้านั้นด้วยกุศลจิต ก็คือ ด้วยปรารถนากระทำทาน สละสมบัติตนเพื่อผู้อื่น คือเพื่อประภิกษุได้ใช้สอย ซึ่งย่อมเป็นกุศลกรรม อีกนัยนึง ถ้าถวายด้วยอกุศลจิตก็คือ ให้ผ้านี้ โดยมีเจตนาประทุษร้าย เพื่อให้พระภิกษุรูปนั้นจักห่มไม่สบาย จักห่มแล้วเกิดความไม่สบายกาย จักประพฤติพรหมจรรย์ได้โดยลำบาก ซึ่งย่อมเป็นอกุศลกรรม ซึ่งเจตนาทั้งสองนั้น สลับกันระหว่างการถวายผ้านั้น กรรมนั้น จักชื่อว่าสำเร็จเป็นกุศล หรืออกุศล หรือเป็นทั้งคู่ ข้อนี้พิจารณาอย่างไรครับ พิจารณาที่บุพพเจตนาได้หรือไม่ หรืออย่างไร

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

การกระทำเหมือนกัน แต่สภาพจิตอาจจะแตกต่างกันได้ แต่ความเป็นจริงของสภาพธรรมไม่เคยเปลี่ยน ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ความเป็นจริงของสภาพธรรมไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล และที่สำคัญ กุศลจะไม่เกิดพร้อมกันกับอกุศล อกุศ ลจะไม่เกิดพร้อมกันกับกุศล นี้คือความเป็นจริง แต่หลังจากนั้นแล้ว กุศลอาจจะเกิดก็ได้ อกุศลอาจจะเกิดก็ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ

การที่จะได้มาซึ่งของปราณีตหรือไม่ปราณีตของผู้ถวาย ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ สิ่งของจะปราณีตหรือไม่ปราณีต แต่ถ้ามีเจตนาที่จะถวายเพื่อประโยช น์แก่ผู้อื่นแล้วแล้ว ขณะนั้นจะเป็นอกุศลไม่ได้ เพราะสภาพจิตเป็นจิตที่ดีงาม ก็ต้องเป็นกุศล จิตดีงามเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น ชื่อว่าไม่เศร้าหมองเลย สภาพจิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

สำหรับในประเด็นที่ให้เพื่อต้องการประทุษร้ายเบียดเบียน เจตนาก็บ่งบอกอยู่แล้ว จะเป็นกุศลไม่ได้เลย แต่ถ้าไม่มีเจตนาประทุษร้ายอย่างนั้น เมื่อมีไทยธรรมแล้วถวายด้วยเจตนาที่ดี ถวายในสิ่งที่เหมาะสมแก่เพศบรรพชิต ถ้าบรรพชิตผู้รับเป็นผู้สันโดษ เมื่อท่านได้มาซึ่งสิ่งไม่เหมาะควรแก่ท่าน ท่านอาจจะแลกเปลี่ยนกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกันก็ได้ สภาพจิตก็แตกต่างกันแล้ว

เมื่อกล่าวตามสภาพความเป็นจริงแล้ว กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล โดยไม่ปะปนกัน และกรรมทั้ง ๒ ประเภทนี้ไม่เสมอกัน ให้ผลต่างกันอย่างสิ้นเชิง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ที่เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว และเรื่องกรรมและผลของกรรมที่เป็นเรื่องละเอียด เป็นอจินไตย ซึ่งสำหรับการให้ทานก็มีทั้งเจตนาก่อนให้ ขณะให้ และหลังจากให้ คือ เจตนาที่เป็นกุศลทั้ง ๓ กาล

ซึ่งจากปัญหาที่ถามว่า เจตนาต่างกันในเจตนาก่อนให้ ทั้งสองอย่างจะสำเร็จเป็นกุศลกรรม และ อกุศลกรรมหรือไม่ หรือ สำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง

จากตัวอย่างที่ยกมานั้น ในขณะที่มีเจตนาที่จะให้ผ้าเพื่อประโยชน์กับพระภิกษุ มีเจตนาก่อนให้ที่เป็นเจตนาที่ดี ขณะนั้นเป็นกุศลจิต และเมื่อกำลังจะให้ผ้า ก็มีเจตนาที่คิดเบียดเบียน เจตนาไม่ดี ที่ให้เพื่อประสงค์ร้าย ให้ท่านได้นุ่งผ้าไม่ดี และ ให้ห่มไม่สบาย ให้คัน เป็นต้น ก็เป็นปุพพเจตนาอีกเช่นกัน คือ เจตนาก่อนให้นั่นแหละ แต่ก็เป็นอีกเจตนาหนึ่ง ที่เป็นเจตนาก่อนให้ ที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ในการให้ครั้งนี้ ก็มีเจตนาก่อนให้ที่เกิดขึ้นและดับไปหลายอย่าง คือ มีชวนจิตที่เกิดขึ้นและดับไประหว่างกุศลและอกุศล ดังนั้น เมื่อให้ผ้านั้น คือเจตนาที่เป็นมุญจนเจตนา (เจตนาขณะให้) กรรมสำเร็จ สำเร็จทั้งกรรมที่มีเจตนาดี ที่มี ปุพพเจตนา เจตนาก่อนให้ ที่ตั้งใจให้ด้วยเจตนา ให้ท่านได้ผ่านุ่งห่ม ด้วยเจตนาดี เป็นกุศลกรรม และกรรมสำเร็จเป็นอกุศลกรรมที่ให้ผ้าเพื่อเบียดเบียนท่าน ให้ท่านได้ผ้าที่ไม่ดีเพื่อนุ่งห่มแล้วคัน ประทุษร้ายท่าน ครับ จึงเป็นความละเอียดของพระธรรม ที่ การกระทำอย่างเดียวกัน แต่ก็มีเจตนาต่างๆ กัน เกิดสลับก็ทำให้เกิดกุศลกรรม และ อกุศลกรรมได้ ในการกระทำอย่างเดียวกัน ครับ

ดังเช่น ขอยกตัวอย่าง เศรษฐีผู้หนึ่งที่ขี้เหนียวมาก เดินทางไปหาพระราชา ระหว่างทางพบพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เกิดจิตเลื่อมใส ได้บอกกับคนใช้ให้เอาอาหารไปถวายท่าน ภรรยาทราบจากคนใช้ แปลกใจ เพราะเศรษฐีขี้เหนียวมาก จึงได้จัดถวายอาหารอย่างเลิศ ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า เศรษฐีกลับมาเห็นเขาถวายอาหารอย่างดีมาก เกิดจิตคิดเสียดายขึ้นภายหลังว่า สมณะนี้ ได้อาหารอย่างเลิศ ไม่เหมาะเลย เพราะไม่ได้ทำงานให้เรา ควรจะให้กับคนงานที่ทำงานให้เรามากกว่า เกิดจิตคิดเสียดายขึ้นมาภายหลัง เพราะผลของบุญที่ท่านเศรษฐีถวายทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ทำให้ท่านมีทรัพย์มาก หลายๆ ชาติ แต่เพราะเกิดจิตคิดเสียดาย คือ เจตนาภายหลัง ที่เป็น อปรเจตนา (เจตนาหลังให้) เป็นอกุศลจิตเกิดขึ้นเสียดาย ไม่อยากให้ท่านได้ของที่ดี ทำให้ แม้ได้ทรัพย์มาก แต่ผลของกุศลนั้น ทำให้เศรษฐีไม่น้อมใจไปที่จะบริโภคทรัพย์ของตน คือ ไม่ยอมบริโภคของประณีต แม้ชาติอื่นๆ ท่านมีทรัพย์มาก ทรัพย์ประณีต ก็ทานของไม่ประณีต ใช้ร่มและรถเก่าๆ เพราะผลของอกุศลที่เกิดอกุศลจิต ครับ

จากตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า แม้เจตนาดีตั้งแต่ต้น จนถึงให้ผู้อื่นให้ ก็ทำให้ได้ทรัพย์มาก แต่เพราะเกิดอีกเจตนาหนึ่ง ที่เป็นเจตนาหลังให้ เป็นอกุศลจิต ก็ทำให้ไม่ยอมบริโภคของที่ดี แต่บริโภคของที่ไม่ดี กรรมที่เป็นอกุศลนั้นก็ให้ผล นี่แสดงถึง เจตนาทั้งสองอย่าง เจตนาก่อนให้ดี และ มีการให้ ก็สำเร็จเป็นกุศลกรรม และ มีเจตนาหลังให้ที่เป็นอกุศลจิต กรรมนั้นก็ให้ผล ทำให้ ไม่ได้รับสิ่งที่ไม่ดี จึงเป็นคำตอบที่ว่าเจตนาสองครั้ง แม้การกระทำเดียวกัน แต่ก็สำเร็จทั้งสองเจตนา แต่ผลต่างกัน ที่เป็นกุศลจิต กับ อกุศลจิต ครับ

เพราะฉะนั้น ตัวอย่างที่ผู้ถามยกมา ให้มีเจตนาที่ดี เป็นกุศลกรรม สำเร็จเมื่อมีการให้ ย่อมเป็นกุศลวิบาก ส่วนเจตนาก่อนให้ ที่คิดว่าให้เพื่อเบียดเบียนท่าน ก็สำเร็จเมื่อให้ เป็นอกุศลกรรมเช่นกัน

นี่คือ ความละเอียดของพระธรรม เพราะเป็นความละเอียดในแต่ละขณะจิต ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 21 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยครับ บางครั้ง กระทำกุศล ก็มีอกุศลจำพวกอย่างนั้น ซึ่งเป็นความประทุษร้ายแทรกขั้นขึ้นมาบ้าง บ่อยบ้างในบางกาล ไม่บ่อยในบางกาล บางกาลก็ไม่มีอกุศลจำพวกนี้แทรก แต่ ไม่ได้เจตนาอย่างนั้นจริงๆ คือ ไม่ได้มีอาการปลงใจ ปักใจ ที่จะมีเจตนาอย่างนั้น เพียงแต่มันก็แว่บขึ้นมา เหมือนลักษณะที่ชาวบ้านเรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน คือ เพียงมีการคิดเป็นคำพูดทีละคำๆ ขึ้นมาที่เป็นประโยคประทุษร้าย แต่ขณะที่อกุศลเหล่านั้นเกิดแว่บแทรกขึ้นมานั้น ตัวอกุศลเอง เพียงมีกำลังเพียงแค่มีลักษณะในการพูดคำๆ แต่ไม่ได้มีเจตนาประสงค์อย่างนั้นจริงๆ หรือมีก็อ่อนมาก ไม่ได้มีความประสงค์อย่างนั้นเลย เพียงแต่ฟุ้งขึ้นมาเป็นคำพูดทีละคำๆ ที่มีความหมายในเชิงประทุษร้าย อย่างนี้จะชื่อว่าสำเร็จเป็นอกุศลกรรมไหมครับ? เพราะที่เคยเข้าใจมาว่า เวลาทำกุศลแล้วมีอกุศลเกิดแทรก เช่น อากาศร้อนในขณะถวายทาน ก็บ่นร้อนๆ แค่นั้น ซึ่งเป็นอกุศลที่ไม่ใช่ความประสงค์ประทุษร้าย เป็นเพียงอกุศลพื้นๆ ทั่วๆ ไป ซึ่งอกุศลเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นในขณะทำกุศล ก็แค่ลดทอนกำลังของกุศลวิบากลง แต่ไม่ได้ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก เพราะไม่ได้สำเร็จเป็นอกุศลกรรม แต่ในกรณีข้างต้นนั้น อกุศลที่เกิดแทรกนั้น แม้จะมีคำพูดนึกเป็นคำๆ ที่มีความหมายในการประทุษร้าย แต่เจตนา ไม่ได้ประสงค์ร้ายเลย จะชื่อว่าสำเร็จเป็นอกุศลกรรมไหม หรือ ก็เป็นแค่อกุศลพื้นๆ ที่เกิดแทรกขณะทำกุศล ดั่งประเด็นด้านบนที่ยกมา

กราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 21 ก.พ. 2556

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ถ้าเป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ทำกาย วาจา ที่เป็นไปในการเบียดเบียนผู้อื่น ต่อจากอกุศลจิตที่เกิด เช่น เกิดอกุศลจิตที่คิดจะเบียดเบียนและก็ทำกระทางทางกาย วาจา ออกไป อย่างนี้ เป็นอกุศลกรรมบถ แต่เพียงอกุศลจิตที่เกิดขึ้น ไม่ได้ล่วงออกมา ทางกาย วาจา หรือล่วงออกมา แต่ไม่ครบกรรมบถ ก็ไม่ถึงกรรมบถ ไม่ต้องไปอบายภูมิ ครับ และ แม้อกุศลจิตที่เกิดขึ้น ที่เสียดายในทาน เป็นต้น ในขณะที่จะทำ หรือ หลังทำ ก็เป็นอกุศลจิตที่ไม่ได้คิดเบียดเบียนประ ทุษร้าย แต่ เป็นโทสะที่เกิดขึ้นในจิตใจ ก็ไม่เป็นกรรมบถ เพราะไม่ได้มีเจตนาทุจริต ที่คิดฆ่า เบียดเบียน เป็นต้น จึงจะต้องพิจารณาอกุศลจิตที่เิกิดขึ้นว่า มีเจตนาเช่นไร อย่างไร และ ครบตามกรรมบถตามองค์หรือไม่ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิรมิต
วันที่ 21 ก.พ. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 22 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Pure.
วันที่ 22 ก.พ. 2556

เจตนาใดที่คิดและทำไปนั่นและคือกรรมที่จะต้องได้รับก่อนหรือหลังอยู่ที่กำลังของกรรมครับ.

อนุโมทนาขอบคุณครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 24 ก.พ. 2556
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ