คนดีมีศีลธรรมควรจะได้ปกครองบ้านเมือง

 
ผู้แสวงหา
วันที่  1 ก.พ. 2556
หมายเลข  22428
อ่าน  5,007

เราจะช่วยกันอย่างไรให้คนดี อยู่ในศีลในธรรมมาปกครองบ้านเมือง คนดีที่ศึกษาธรรมและประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม ควรจะมีส่วนร่วมในการเมืองหรือไม่ครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรเข้าใจความจริงครับว่า ในยุคที่มนุษย์มีอายุขัยน้อยกว่าหนึ่งร้อยปี พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัตว์โลกจะมีกิเลสมาก และ คุณธรรมจะน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้น การเมืองคือการรวมกันของสังคมส่วนมาก โดยมีกลุ่มคนที่เข้ามาดูแลกลุ่มคนส่วนใหญ่ ซึ่งในยุคที่มากไปด้วยกิเลส และสัตว์โลกเสื่อมด้วยคุณธรรม ยินดีในลาภสักการะมากกว่าคุณความดี ก็เป็นธรรมดาที่สัตว์โลกจะแสวงหาอามิส ลาภ สักการะ เป็นธรรมดา

ดังนั้น คนดีมีคุณธรรม ก็ย่อมแสวงหาคุณความดีและมีความมักน้อย สันโดษ เพราะเข้าใจความจริงว่า ในสมัยปัจจุบันที่มากไปด้วยกิเลสนั้น ย่อมเป็นการยากที่จะอยู่ได้ เพราะในเมื่อเต็มไปด้วยอกุศลจิตที่เกิดมาก ในขันธ์แต่ละขันธ์ ที่สมมติเป็นคนแต่ละคน ที่สมมติว่าเป็นกลุ่มการเมือง เมื่ออกุศลมีมาก ความดีย่อมอยู่ยาก คือ ย่อมไม่มีใครเชื่อฟัง เพราะอาศัยเสียงส่วนใหญ่ในหมู่ชนที่มากไปด้วยกิเลส สมดังที่พระพุทธพยากรณ์ไว้ในอนาคตกาลว่า ต่อไปในอนาคต พวกชนพาลจะมีกำลัง ผู้มีคุณธรรมความดีจะถอยกำลัง ผู้ที่มีคุณความดีจะต้องหนีไปเข้าป่าไป เพราะไม่สามารถที่จะสู้คนพาลที่มีจำนวนมากได้ และ ผู้มีอำนาจก็จะเชื่อถือถ้อยคำของคนพาล ไม่เชื่อถือถ้อยคำของผู้มีคุณธรรม ครับ

จากพุทธพยากรณ์แสดงให้เห็นว่า คนพาลมีกำลัง เพราะ มีจำนวนมากกว่า และ ผู้มีอำนาจ ย่อมเชื่อถือถ้อยคำของคนพาลด้วย คนดีที่มีน้อยจึงไม่สามารถอยู่ได้ ครับ

ดังนั้น คนดี มีคุณธรรม จึงเป็นการยาก ที่จะอยู่ในกลุ่มที่มากไปด้วยการแสวงหาลาภสักการะ ผลประโยชน์ และการที่คนดีมีคุณธรรม ไม่ทำตามในสิ่งที่ผิด และไม่ยอมตามน้ำ ตามภาษาชาวบ้านที่กล่าวกัน เป็นการยากที่จะอยู่ได้เพราะการปกครองอยู่ด้วยชนหมู่มากมารวมกันบริหาร ดังนั้นก็ไม่สามารถอยู่ได้ เพราะอาศัยอกุศลคนพาลที่มีกำลัง ครับ จึงเป็นธรรมดาที่เสื่อมไปตามกาลเวลาและยุคสมัย และ ไม่มีใครจะไปจัดการได้เพราะเป็นแต่เพียงธรรมและเป็นอนัตตา ดังนั้น หากมองเพียงประเทศ ส่วนใหญ่ของประเทศที่เรียกกว่าการเมือง สังคมย่อยๆ ในที่ทำงาน ในครอบครัว เมื่อพูดกันตามสัจจะ ก็อยู่ร่วมกันด้วยอกุศลเป็นส่วนมาก เพราะเสื่อมไปตามกิเลสที่สะสมมามาก ดังนั้น ถ้าจะแก้การเมืองให้คนดีเข้าไปบริหารประเทศ ก็ควรแก้ที่ตนเอง ที่จะเป็นคนดี ประพฤติดี แม้แต่คนใกล้ตัว เป็นผู้ตรง ไม่อคติ ไม่เห็นแก่ส่วนตน นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม ไม่มุ่งลาภสักการะ แต่มุ่งที่คุณความดี และเพื่อประโยชน์คนอื่น การทำเช่นนี้ ก็เป็นการแก้การเมืองที่เป็นส่วนย่อยแล้ว ในครอบครัว การดำเนินการในที่ทำงาน เป็นคนดีของสังคม โดยเริ่มจากตน ส่วนคนอื่นจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ไม่สามารถบังคับใครได้เลย ครับ

เริ่มจากตนเอง อบรมความดี สะสมปัญญา ปัญญาของตนจะเป็นเครื่องนำทางและมองเห็นปัญหาปัจจุบันว่าเป็นธรรมดาที่เป็นไปตามกิเลสและสะสมอบรมแก้ไขกิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 2 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 2 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว อกุศลธรรมกับกุศลธรรม เป็นธรรมคนละประเภทกัน ไม่ปะปนกัน แต่ละคนก็มีทั้งดี ทั้งไม่ดี เป็นธรรมดา ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลส ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตได้เลย จึงมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล

ควรที่จะได้พิจารณาว่า ความดีทุกอย่างทุกประการเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ควรอบรมเจริญให้มีขึ้น ทั้งนั้น โดยไม่ได้มีการบังคับว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ความดี เป็นความดี เป็นกุศลธรรม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเพื่อให้พุทธบริษัทได้เข้าใจตามความเป็นจริง ได้เห็นคุณของกุศลธรรม ว่าเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นธรรมที่ให้ผลเป็นสุข ไม่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยใดๆ และ อกุศลธรรมทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงแสดงไว้อย่างมากมายเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละคนก็มีมากๆ ด้วยกันทั้งนั้น เพื่อให้พุทธบริษัทได้เข้า ใจตามความเป็นจริง ได้เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลโดยประการทั้งปวง แล้วถอยกลับจากอกุศล ขัด เกลาด้วยกุศลธรรม ทั้งหมดนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไปตามความเป็นจริง ขึ้นอยู่กับว่าจะเห็นคุณของกุศล และ เห็นโทษของอกุศล มากน้อยแค่ไหน ตามการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ

เราไม่สามารถจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หน้าที่ที่สำคัญของตนคือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม เป็นคนดี ตนเองมีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด มีชีวิตดำเนินไปตามปกติ ควบคู่ไปกับการอบรมเจริญปัญญา จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ต่อไป ถ้าคนอื่นเห็นว่าดี ก็คงจะคล้อยตามความประพฤติที่ดีได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 2 ก.พ. 2556

ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยและเป็นไปตามกรรม เหมือนจะเลือกได้ แต่จริงๆ แล้วเลือกไม่ได้ เพราะ กรรมกำหนดมา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 2 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Khun
วันที่ 3 ก.พ. 2556

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 4 ก.พ. 2556

คนดีมีศีลธรรมควรจะได้ปกครองบ้านเมือง..เป็นความคิดที่หลายๆ คนที่อยากให้เป็นเช่นนั้น แต่จากข้อความ จากพุทธพยากรณ์แสดงให้เห็นว่า คนพาลมีกำลังเพราะ มีจำนวนมากกว่า และผู้มีอำนาจ ย่อมเชื่อถือถ้อยคำของคนพาลด้วย คนดี ที่มีน้อย จึงไม่สามารถอยู่ได้ ครับ หากคนคนหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถึงไม่ใช่เป็นระดับผู้ปกครองบ้านเมือง..เป็นคนดี แต่เป็นคนดีที่ไม่มั่นคง อาจเห็นว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี หรือเห็นการทุจริตแล้วร่ำรวยเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่อง สักวันหนึ่งก็อาจทำทุจริตเพื่อความร่ำรวยได้ ก็เท่ากับเพิ่มคนทุจริต กิเลสของผู้อื่นแก้ไขไม่ได้ แม้ตนเองหากยังมีพืชเชื้อของกิเลสก็อาจทำทุจริตได้เช่นกัน เราไม่สามารถจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หน้าที่ที่สำคัญของตน คือ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม เป็นคนดี ตนเองมีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด มีชีวิตดำเนินไปตามปกติ ควบคู่ไปกับการอบรมเจริญปัญ ญาจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ต่อไป ถ้าคนอื่นเห็นว่าดี ก็คงจะคล้อยตามความประพฤติที่ดีได้

ขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"เริ่มจากตนเองคือ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม เป็นคนดี"

"อบรมความดี สะสมปัญญา ปัญญาของตนจะเป็นเครื่องนำทาง และ มองเห็นปัญหาปัจจุบันว่าเป็นธรรมดาที่เป็นไปตามกิเลส และ สะสมอบรมแก้ไขกิเลส ของตนเองเป็นสำคัญ ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้แสวงหา
วันที่ 5 ก.พ. 2556

ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น ผมสรุปได้จากความคิดเห็นของ

ทุกท่านว่า

1. คนชั่วที่มีกิเลส มีมากกว่าคนดีในสังคม

2. ในเมื่อคนชั่วมีมากกว่าก็อย่าไปยุ่งดีกว่าปล่อยไปตามกระแสกรรม

3. ให้คนที่มีความศรัทราในความดีศึกษาธรรมะของตนเองอย่าไปยุ่งเรื่องคนอื่น

4. คนดีจะท้อแท้ ทำดีไม่ค่อยได้ดี ทำชั่วได้ดีมีถมไป คนดีก็เลยมี แนวโน้มจะเป็นคนชั่วต่อไป

5. จาก 4 ข้อข้างต้นไม่ต้องไปคาดหวังเลยว่าสังคมจะดีขึ้นมาได้ยังไง ก็เสื่อมลงทุกวัน

ต่อไปนี้คือความรู้สึก ความสงสัย ส่วนตัวของผม

1. ที่มีผู้กล่าวว่า ไม่มีใครทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่จงสนับสนุนคนดีขึ้น มาปกครองบ้านเมืองอย่าให้คนเลวขึ้นมามีอำนาจนั้น จะมีความหวังอยู่อีกหรือ???

2. คำกล่าวที่ว่า ธรรมะย่อมชนะ อธรรมนั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า (ในแง่ สังคมนะ ไม่ใช่ส่วนตัว)

3. การบำเพ็ญสร้างความดีเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน ต้องไขว่คว้าด้วยตนเอง ปฏิบัติด้วยตัวเอง

4. ผู้ปกครองบ้านเมืองจะเลวอย่างไรก็ไม่ต้องไปต่อสู้ ทำตัวเราให้ดีก็พอ

5. ตามพุทธพยากรณ์นั้น ก็เชื่อได้เลยว่าสังคมจะดิ่งลง ต่ำลงอย่างแน่นอน

6. ความหวังที่จะให้สังคมดีขึ้นนั้น ไม่ต้องคาดหวังจริงหรือ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 5 ก.พ. 2556

เรียน ความเห็นที่ 9 ครับ

1. ที่มีผู้กล่าวว่า ไม่มีใครทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่จงสนับสนุนคนดีขึ้นมาปกครอง บ้านเมืองอย่าให้คนเลวขึ้นมามีอำนาจนั้น จะมีความหวังอยู่อีกหรือ

- ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แม้แต่พระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่สามารถ เปลี่ยนบางบุคคลที่เห็นผิด เป็นเห็นถูกได้ เพราะ ตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล ซึ่ง ความหวัง ความต้องการ ความอยากที่จะให้คนดีปกครองบ้านเมือง ก็ต้องจำกัด ความ คนดีให้ถูกต้องที่จะต้องมีคุณธรรมในการปกครองบ้านเมือง

คนดี คือ บุคคลที่มีคุณธรรม มีเมตตา ขันติ ศีล ศรัทธา ปัญญาที่เป็นความเห็นถูก และ เป็นผู้ตรง ไม่อคติ ไม่เอนเอียง ไม่เห็นแก่ลาภ สักการะ และ เห็นประโยชน์ส่วน รวม ไม่เห็นกับประโยชน์ส่วนตน ไม่อคติ เลือกที่รัก มักที่ชัง ตัดสินปัญหาด้วยความ ตรงถูกต้อง ไม่แบ่งพรรคพวก นึกถึงปัญหา และ ส่วนรวมเป็นใหญ่

จากที่กล่าวมา ก็ล้วนแล้วแต่มาจากกุศลจิต เป็นผู้มีคุณความดีในจิตใจอยู่มาก ซึ่ง คุณสมบัติเหล่านี้ จะมีได้ ก็เพราะ เป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะ การ เข้าใจพระธรรม จะเป็นเหตุให้ปัญญาเจริญ ปัญญาที่เจริญจะทำหน้าที่เห็นถูก คิดถูก และ ประพฤติถูก ตรง ไม่อคติ ครับ

คนดี จึงไม่ได้อยู่ที่ คนนั้นเราถูกใจ เราชอบ เราจึงกล่าวว่าคนนั้นเป็นคนดี เพราะ คนดี ก็คือ ความดี กุศลจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเกิดกับใคร เมื่อไหร่ ก็ต้องเป็นความดี ไม่ว่าคนอื่นจะชอบ หรือ ไม่ชอบ ความดีก็ต้องเป็นความดี ครับ

ดังนั้น หากแต่ละคน ยังเข้าใจแม้คำว่าคนดีผิด สำคัญที่ถูกใจ คนที่เราชอบ ก็ไม่ สามารถแยกแยะออกได้ เพราะ มีอคติ มีกิเลสที่ตัดสินว่าคนนี้คนดี หรือ ไม่ดี แต่ผู้ที่ มีความเข้าใจถูก ย่อมสนับสนุนความดีอยู่แล้ว เพราะผู้นั้นเป็นคนดี ก็ต้องนิยมความดี ก็ย่อมสนับสนุนคนดีให้ปกครองบ้านเมือง แต่ สิ่งเหล่านี้ จะเป็นไปตามใจปรารถนา หรือไม่ เพราะ ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย สนับสนุนด้วยใจได้ไหม แม้ไม่ได้มีอำนาจที่จะผลักดัน คนดีปกครองบ้านเมือง และ กล้าหรือไม่ ที่จะปฏิเสธ ความไม่ดี โดยการไม่สนับสนุน ไม่เลือก โดยไม่เอาความชอบส่วนตัวมาตัดสิน

ดังนั้น การสนับสนุนคนดีมาปกครองบ้านเมือง ก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยว่า คนนั้น คนนี้จะได้ปกครองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน แต่สำคัญที่ตนเอง นิยามคนดี ว่าอย่างไร และ เข้าใจถูกหรือไม่ว่า เป็นคนดีจริงๆ เพราะ ไม่ได้อยู่ที่ถูกใจ แต่อยู่ที่ ความดี ก็ต้องเป็นความดี หวังได้ ครับ แต่ ธรรมไม่เป็นไปตามความหวัง แต่เป็นไปตามกรรมของแต่ละคน

พระพุทธเจ้า สนับสนุนความดี แต่ พระองค์สามารถเปลี่ยนได้ไหม ที่จะไม่ให้ พระเจ้าวิฑูทภะ ที่ใจร้ายขึ้นครองราช และฆ่าพระญาติ ชาวศากยะของพระองค์ ก็ไม่ ได้เลย พระเจ้าวิฑูทภะ ก็ครองราช และ ฆ่าพระญาติ แม้พระองค์สนับสนุนยินดีใน ความดี แต่จะเปลี่ยนกรรมของแต่ละคนไม่ได้เลย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน แม้สมัยพุทธกาล ที่เจริญคุณธรรม ยังเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงสมัยนี้ ที่ใครจะ เปลี่ยนใครได้ จึงให้กลับมาที่ตนเอง ที่ว่า หากไม่ชอบคนในการเมือง ตัวเราเอง ก็ไม่ ต้องทำนิสัยอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นลำเอียง ความไม่ตรงในการตัดสินปัญหาในการงาน ในองค์กรการแบ่งพรรคแบ่งพวก เลือกที่รักมักที่ชัง ความไม่มีเมตตา นึกถึงประโยชน์ ส่วนตน มากกว่าส่วนรวม หากตัวเรายังเป็นอย่างนี้อยู่ ตัวเราเองก็ชื่อว่า ไม่ชื่นชมใน ความดี ก็มองคนดีผิดก็ไม่ชื่อว่าสนับสนุนความดีเพราะเมื่อตนเองมีอำนาจอย่างนั้นก็จะ เป็นอย่างนั้นเช่นกัน เพราะแม้สังคมส่วนย่อย ในครอบครัว ที่ทำงานก็เป็นอย่างนั้นครับ การแก้กิเลสของตนเองจึงสำคัญ ทุกยุค ทุกสมัย ก็ผ่านมาแล้ว แสนโกฎ์กัป ก็อยู่ กันได้ วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ แก้ที่เรา ก็แก้การเมือง สังคมส่วนย่อยที่จะเป็นคนดี ก่อนคนอื่น และ นิยามคนดีที่ถูกต้อง ครับ

2. คำกล่าวที่ว่าธรรมะย่อมชนะ อธรรมนั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า (ในแง่สังคมนะ ไม่ใช่ส่วนตัว)

ก็ต้องตีความ คำว่า ชนะ ให้ถูกต้อง เพราะ ต่างใช้นิยามต่างกัน ในแง่ของสังคม เพราะ ในแง่ของสังคม ก็จะเข้าใจคำว่า ชนะ คือ การได้มาซึ่งลาภ สักการะ ชื่อเสียง ได้ตำแหน่ง แต่คนอื่นไม่ได้ คนที่ได้ ก็ชื่อว่า ชนะ ดังนั้น ธรรมชนะอธรรม ธรรมไม่ใช่ ชนะ มาเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้ การนิยาม คำว่า ชนะ เช่นนั้นจึงไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะการได้ตำแหน่ง ชนะการเลือกตั้ง ต่างๆ นั้น เกิดจากกุศลกรรมของบุคคลนั้นเอง ที่ได้ ไม่ได้อยู่ที่กุศลจิต ที่เป็นธรรม และ อกุศลจิตที่เป็นอธรรม แต่ธรรมชนะ อธรรม คือ ขณะที่เกิดกุศลจิต ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด ดีกว่า แย่กว่า ตามที่โลกสมมติ ขณะ นั้นก็ชนะอธรรมชั่วขณะที่อกุศลไม่เกิด กุศลเกิด ครับ

ดังนั้น ธรรมชนะอธรรม จึงไม่ได้หมายถึง การชนะได้ตำแหน่ง ชนะคนชั่ว ไม่ให้ คนชั่วได้ตำแหน่ง ลาภ สักการะ แต่ความดีต่างหากที่เกิดขึ้นในจิตใจแต่ละคน ชนะ ความไม่ดีในขณะนั้น ครับ

3. การบำเพ็ญสร้างความดีเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน ต้องไขว่คว้าด้วยตนเอง ปฏิบัติด้วยตัวเอง

ตนเป็นที่พึ่งของตน หากตนไม่เป็นที่พึ่งแล้ว จะให้ใครเป็นที่พึ่ง ความดีเป็นของ เฉพาะตน กุศลจิตก็เกิดเฉพาะตน การอบรมปัญญา ก็ต้องเป็นของเฉพาะตน ใครผู้อื่น จะมาทำให้ปัญญของเรา เกิดโดยที่ตัวเราไม่ได้อบรมเอง ศึกษาเอง ก็ไม่มีทาง ครับ

4. ผู้ปกครองบ้านเมืองจะเลวอย่างไรก็ไม่ต้องไปต่อสู้ ทำตัวเราให้ดีก็พอ?

- จะสู้อย่างไรให้ชนะ จะไม่ทำให้อกุศลเขาเกิดได้ไหม หากอกุศลของผู้นั้นจะต้อง เกิด และการไปสู้ จิตของตนเอง ก็เกิดอกุศลเพิ่มขึ้น ขณะนั้น ก็แพ้ทั้งคู่ แพ้ต่อกิเลส ดังนั้น การนิยามคนไม่ดี ก็อาจเป็นเพราะ เราไม่ชอบอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ชอบอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งคนที่เราชอบ จะเป็นคนดีหรือเปล่า ก็ต้องด้วยปัญญา ไม่ใช่เพราะความชื่นชอบ แต่ ในความเป็นจริง เมื่อต่างก็มาแสวงหาผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น ควรหรือที่จะชื่นชม หรือ ชอบในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะ คนดี ย่อมไม่ชื่นชมฝ่ายใดและไม่สนับสนุนฝ่ายใด เลย และ ไม่เลือกใครทั้งนั้น ดังนั้น ควรสู้ เอาชนะกิเลสของตนเป็นสำคัญ ครับ

5. ตามพุทธพยากรณ์นั้น ก็เชื่อได้เลยว่าสังคมจะดิ่งลง ต่ำลงอย่างแน่นอน

- น้ำย่อมไหลไปในที่ต่ำ เมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อม คือ สัตว์โลกมีความเข้าใจพระ ธรรมน้อยลง ไม่สนใจพระธรรม อกุศลก็เกิดมาก มีกำลังมาก แทนที่กุศล ครับ

6. ความหวังที่จะให้สังคมดีขึ้นนั้น ไม่ต้องคาดหวังจริงหรือ

- ไม่มีใครบังคับให้ใครไม่คาดหวัง หรือ คาดหวัง ก็แล้วแต่ครับว่า ใครจะเกิดความ คาดหวัง ไม่คาดหวัง แต่ เมื่อจิตขณะนั้นแล้ว สิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ รู้ความจริงใน ขณะนั้นไหม ว่าคืออะไร ที่จะจัดการโลกอื่น หรือ ขณะนั้นก็ไม่รู้ความจริงว่าเป็นแต่ เพียงธรรม ควรจัดการโลกตนเองที่จะค่อยๆ เห็นถูก โลกก็เป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา อยู่แล้ว ชีวิตก็เหลือน้อย แม้จะเป็นดั่งใจ ต่อไปก็ไม่เป็นดั่งใจ ก็ทุกข์ร่ำไปเพราะคาด หวัง และ เพราะ ไม่รู้ความจริงว่า ขณะนี้คืออะไร ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
khampan.a
วันที่ 5 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลที่ได้สะสมความคิดดีมา บุคคลนั้นจะคิดไม่ดี ไม่เป็น คิดร้ายคนอื่นไม่เป็น คิดประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็น แต่จะคิดในทางทีดี ที่ถูกที่ควร เป็น คิดที่จะมีเมตตา เป็น คิดที่จะเห็นใจคนอื่น เป็น

มีชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นไป มีกาย วาจา และ ใจ แล้ว ก็ไม่ควรที่จะมีไว้เพื่อ พอกพูนอกุศลให้มากขึ้น แต่ควรที่จะเป็นไปในทางที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญ.

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๙

ถ้าสะสมความดีมามาก ก็ย่อมจะกระทำความชั่วได้ยากเหลือเกิน ไม่สามารถจะ กระทำได้อย่างง่ายๆ เพราะสะสมมาที่จะละอาย รังเกียจในสิ่งที่ไม่ดี

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๖

ภัยทุกอย่าง อันตรายทุกอย่าง อุปสรรคทุกอย่าง สิ่งชั่วร้ายทุกอย่าง ไม่ได้เกิด จากบัณฑิตเลย เพราะบัณฑิต เป็นคนดี เป็นคนที่คิดดี ทำพูด และพูดดี ย่อมจะ ไม่ทำอะไรที่เป็นโทษเป็นภัยแก่ชนหมู่มากอย่างแน่นอน มีแต่จะทำในสิ่งที่เป็น ประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นโดยแท้

เพราะฉะนั้น การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาสะสมความ เข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ไปตามลำดับ พร้อมกับการเจริญกุศลทุก ประการ ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสที่สะสมอยู่ในจิตอย่างมากมาย ย่อมจะเป็นไปเพื่อการ ขจัดความเป็นพาลออกไปจากจิตใจของแต่ละคนได้ จึงควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณา ตัวเอง แก้ไขที่ตัวเอง ขจัดความเป็นพาลออกไปจากจิตใจของตัวเราเอง ซึ่งจะเป็น สาระและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wannee.s
วันที่ 5 ก.พ. 2556

ไม่ว่าจะยุคไหน สมัยไหนธรรมก็ชนะอธรรมตลอดกาล แม้ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ยังชนะมาร ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Boonyavee
วันที่ 6 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
jaturong
วันที่ 1 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
lovedhamma
วันที่ 2 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ