จิตตสัมภูตชาดก.. ผลของกรรม

 
pirmsombat
วันที่  27 ม.ค. 2556
หมายเลข  22402
อ่าน  1,829

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้าที่ 31

๒. จิตตสัมภูตชาดก

ว่าด้วยผลของกรรม

[๒๐๕๔] กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว

ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรม แม้จะเล็กน้อย

ที่จะไม่ให้ผลเป็นไม่มี เราได้เห็นตัวของเรา

ผู้ชื่อว่าสัมภูตะ มีอานุภาพมาก อันบังเกิดขึ้นด้วยผลบุญ

เพราะกรรมของตนเอง กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสม

ไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรมแม้จะเล็กน้อย

ที่จะไม่ให้ผลเป็นไม่มี มโนรถของเราสำเร็จแม้ฉันใด

มโนรถแม้ของจิตตบัณฑิต พระเชษฐาของเรา

ก็คงสำเร็จแล้วฉันนั้น กระมังหนอ.

[๒๐๕๕] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ กรรมทุก

อย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อ

ว่ากรรมแม้จะเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเป็นอันไม่มี

มโนรถของพระองค์สำเร็จแล้ว แม้ฉันใด ขอพระองค์

โปรดทราบเถิดว่า มโนรถของจิตตบัณฑิต ก็สำเร็จ

แล้ว ฉันนั้น เหมือนกัน.

[๒๐๕๖] เจ้าหรือคือจิตตะ เจ้าได้ฟังคำนี้มา

จากคนอื่น หรือว่าใครบอกเนื้อความนี้แก่เจ้า คาถานี้

เจ้าขับดีแล้ว เราไม่มีความสงสัย เราจะให้บ้านส่วย

ร้อยตำบลแก่เจ้า.

[๒๐๕๗] ข้าพระพุทธเจ้า หาใช่จิตตะไม่ ข้า-

พระพุทธเจ้าฟังคำนี้มาจากคนอื่น และฤาษีได้บอกเนื้อ

ความนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า แล้วสั่งว่า เจ้าจงไปขับคาถา

นี้ถวายตอบพระราชา พระราชาทรงพอพระทัยแล้ว

จะพึงพระราชทานบ้านส่วยให้แก่เจ้าบ้างกระมัง.

[๒๐๕๘] ราชบุรุษทั้งหลายจงเทียมรถของเรา

จัดแจงให้ดี ผูกรัดจัดสรรให้งดงามวิจิตร จงผูกรัด

สายประคนมงคลหัตถี นายหัตถาจารย์ขึ้นประจำคอ

จงนำเอาเภรีตะโพนสังข์มาตระเตรียม เจ้าหน้าที่ทั้ง

หลายจงเทียมยานพาหนะโดยเร็ว วันนี้แล เราจักไป

เยี่ยมเยียนพระฤาษี ซึ่งนั่งอยู่ ณ อาศรมสถานให้ถึงที่

ทีเดียว.

[๒๐๕๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ลาภดีแล้วหนอ คาถา

อันข้าพเจ้าขับดีแล้วในท่ามกลางบริษัท ข้าพเจ้าได้พบ

พระฤาษีผู้สมบูรณ์ด้วยศีลพรต เป็นผู้มีความชื่นชม

ยินดีปีติโสมนัสยิ่งนัก.

[๒๐๖๐] ขอเชิญท่านผู้เจริญ โปรดรับอาสนะ

น้ำ และรองเท้าของข้าพเจ้าทั้งหมดเถิด ข้าพเจ้ายินดี

ต้อนรับท่านผู้เจริญ ในสิ่งของอันมีราคาคู่ควรแก่การ

ต้อนรับ ขอท่านผู้เจริญเชิญรับสักการะ อันมีค่าของ

ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด.

[๒๐๖๑] ขอเชิญพระเชษฐาทรงสร้างปรางค์-

ปราสาท อันเป็นที่อยู่น่ารื่นรมย์ สำหรับพระองค์เถิด

จงทรงบำรุงบำเรอด้วยหมู่นารีทั้งหลาย โปรดให้

โอกาสเพื่ออนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด แม้เราทั้ง

สองก็จะครอบครองอิสริยสมบัตินี้ร่วมกัน.

[๒๐๖๒] ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์ทรงเห็น

ผลแห่งสุจริตอย่างเดียว ส่วนอาตมาภาพเห็นผลแห่ง

สุจริตที่สั่งสมไว้แล้ว เป็นวิบากใหญ่ จึงสำรวมตน

เท่านั้น มิได้ปรารถนาบุตรปศุสัตว์ หรือทรัพย์ ชีวิต

ของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ มีกำหนดร้อยปีเป็นอย่าง

มาก ไม่เกินกำหนดนั้น ย่อมจะเหือดแห้งไป เหมือน

ไม้อ้อที่ถูกตัดแล้ว มีแต่จะเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น

จะมัวเพลิดเพลินไปไย จะมัวเล่นคึกคะนองไปทำไม

ความยินดีจะเป็นประโยชน์อะไร ประโยชน์อะไรด้วย

การแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรด้วย บุตรและ

ภรรยาสำหรับอาตมา ดูก่อนมหาบพิตร อาตมาพ้น

แล้วจากเครื่องผูก อาตมารู้ชัดอย่างนี้ว่า มัจจุราช

จะไม่รังควานเราเป็นไม่มี เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบ

งำแล้ว ความยินดีจะเป็นประโยชน์อะไร จะมีประ-

โยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ ดูก่อนมหาบพิตร

ผู้เป็นจอมนระ ชาติกำเนิดของคนเราไม่สม่ำเสมอกัน

กำเนิดแห่งคนจัณฑาลจัดว่าเลวทรามในระหว่างมนุษย์

เมื่อชาติก่อน เราทั้งสองได้อยู่ร่วมกันในครรภ์แห่ง

นางจัณฑาลี เพราะกรรมอันชั่วช้าของตน เราทั้งสอง

ได้เกิดเป็นคนจัณฑาล ในกรุงอุชเชนี อวันตีชนบท

ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นเนื้อสองตัวพี่

น้อง อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ครั้นจุติจากอัตภาพนั้น

แล้ว ไปเกิดเป็นนกเขาสองตัวพี่น้อง อยู่ฝั่งน้ำรัมมทา-

นที ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว คราวนี้ อาตมาภาพ

เกิดเป็นพราหมณ์ มหาบพิตรทรงสมภพเป็นกษัตริย์.

[ ๒๐๖๓] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถูกชรานำเข้า

ไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย

เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อมไม่มีผู้ต้าน

ทาน ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำ

ตามคำของอาตมา อย่าทรงทำกรรมทั้งหลายอันมีทุกข์

เป็นกำไรเลย ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถูกชรานำเข้า

ไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย

เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อมไม่มีผู้

ต้านทาน ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจง

ทรงทำตามคำของอาตมาภาพ อย่าทรงทำกรรมทั้ง

หลาย อันมีทุกข์เป็นผลเลย ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย

ถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็น

ของน้อย เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อม

ไม่มีผู้ต้านทาน ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตร

จงทรงทำตามคำของอาตมาภาพ อย่าทรงทำกรรมทั้ง

หลาย อันมีศีรษะเกลือกกลั้วไปด้วยธุลี ชีวิตของสัตว์

ทั้งหลายอันชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้ง

หลายเป็นของน้อย ชราย่อมกำจัดวรรณะของนรชนผู้

แก่เฒ่า ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทำ

ตามคำของอาตมาภาพ อย่าทรงทำกรรมที่ให้เข้าถึง

นรกเลย.

[๒๐๖๔] ข้าแต่ภิกษุ ถ้อยคำของพระคุณเจ้านี้

เป็นคำจริงแท้ทีเดียว พระฤาษีกล่าวไว้ฉันใด คำนี้ก็

เป็นฉันนั้น แต่ว่า กามทั้งหลายของข้าพเจ้ายังมีอยู่มาก

กามเหล่านั้น คนเช่นข้าพเจ้าสละได้ยาก. ช้างจมอยู่

ท่ามกลางหล่มแล้ว ย่อมไม่อาจถอนตนไปสู่ที่ดอนได้

ด้วยตนเอง ฉันใด ข้าพเจ้าจมอยู่ในหล่มคือกามกิเลส

ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติตนตามทางของภิกษุได้ ฉันนั้น.

ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ อนึ่ง บุตรจะมีความสุขได้

ด้วยวิธีใด มารดาบิดาก็พร่ำสอนบุตรด้วยวิธีนั้น ฉันใด

ข้าพเจ้าละจากโลกนี้ไปแล้ว จะพึงเป็นผู้มีความสุขยืน

นานด้วยวิธีใด ขอพระคุณเจ้าโปรดพร่ำสอนข้าพเจ้า

ด้วยวิธีนั้น ฉันนั้นเถิด.

[๒๐๖๕] ดูก่อนมหาบพิตรผู้จอมนรชน ถ้า

มหาบพิตรไม่สามารถจะละกามของมนุษย์เหล่านี้ได้

ไซร้ มหาบพิตรจงทรงเริ่มตั้งพลีกรรมอันชอบธรรม

เถิด แต่การกระทำอันไม่เป็นธรรม ขออย่าได้มีใน

รัฐสีมาของมหาบพิตรเลย. ทูตทั้งหลายจงไปยังทิศทั้ง

๔ นิมนต์สมณพราหมณ์ทั้งหลายมา มหาบพิตร จง

ทรงทะนุบำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ด้วยข้าว น้ำ

ผ้า เสนาสนะ และคิลานปัจจัย มหาบพิตรจงเป็นผู้

มีกมลจิตอันผ่องใส ทรงอังคาสสมณพราหมณ์ ให้

อิ่มหนำสำราญ ด้วยข้าวน้ำ ได้บริจาคทานตามสติ

กำลัง และทรงเสวยแล้ว เป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์

ทั้งหลาย ไม่ติเตียน จงเสด็จเข้าถึงสวรรคสถานเถิด.

ดูก่อนมหาบพิตร ก็ถ้าความเมาจะพึงครอบงำ ซึ่งมหา-

บพิตร ผู้อันหมู่นารีทั้งหลายแวดล้อมอยู่ มหาบพิตร

จงทรงมนสิการคาถานี้ไว้ แล้วพึงตรัสคาถานี้ในท่าม

กลางบริษัทว่า เมื่อชาติก่อนเราเป็นคนนอนอยู่กลาง

แจ้ง อันมารดาจัณฑาล เมื่อจะไปป่า ให้ดื่มน้ำนม

มาแล้ว นอนคลุกคลีอยู่กับสุนัขทั้งหลายจนเติบโต

มาบัดนี้ คนนั้นใครๆ เขาเรียกกันว่า " พระราชา."

จบ จิตตสัมภูตชาดกที่ ๒

.......................

ข้อความบางตอนจาก

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 257

............................................

ดูก่อนมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม

ย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล

อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ

อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ

ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน. เขาตายไป

จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้

อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ

ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญามาก. ดูก่อนมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมี

ปัญญามากนี้ คือ เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไร

เป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ

อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน

หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน.

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก

ดูก่อนมาณภพ สัตว์ทั้งหลาย

มีกรรมเป็นของตน

เป็นทายาทแห่งกรรม

มีกรรมเป็นกำเนิด

มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์

มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต.

...........................

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

กมฺมสฺสโกมหิ มีกรรมเป็นของตน ใครจะทำกรรมแทนใคร

หรือจะมอบกรรมที่ตนทำไว้ให้คนอื่นไม่่ได้

กมฺมทายาโท เป็นทายาทของกรรม ผู้ใดทำกรรมไว้ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น

ผู้ที่จะรับผลกรรมนั้น แทนผู้ทำกรรมไม่ได้

กมฺมโยนิ มีกรรมเป็นกำเนิด กรรมย่อมจำแนกสัตว์โลกให้เกิดในที่ต่างๆ เช่น

ต่างด้วยที่เกิด ด้วยคติ ด้วยกำเนิด ด้วยรูปร่าง ด้วยตระกูล ด้วยทรัพบ์ เป็นต้น

กมฺมพนฺธุ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ผู้ใดทำกรรมใดไว้ กรรมนั้นย่อมติดตาม

เหมือนเผ่าพันธ์วงศ์ญาติ ที่คอยอุปถัมภ์หรือเบียดเบียน กรรมดีก็เหมือนวงศ์ญาติที่ดี

กรรมชั่วก็เหมือนวงศ์ญาติชั่ว ความจริงนั้น กรรมเท่านั้นที่เป็เผ่าพันธ์วงศ์ญาติ

ที่แท้จริงของผู้ทำกรรม เพราะเมื่อกรรมใดมีโอกาสให้ผล แม้แต่พ่อแม่พี่น้อง

หรือผู้ที่รักก็ช่วยเหลือแก้ไข หรือเบียดเบียนผลของกรรมนั้นไม่ได้ การได้รับสุข ทุกข์

อันเป็นผลของกรรมของแต่ละคนนั้น ย่อมเป็นไปตามกรรมของผู้นั้นเอง

ทุกคนจึงมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์วงศ์ญาติที่แท้จริง

กมฺมปฏิสรโณ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศํย

กรรมดีและกรรมชั่วที่ผู้ใดได้กระทำไว้ย่อมเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของผู้นั้น

ญาติ พี่น้อง มิตรสหาหรือผู้ศักด์สิทธิ์ ก็เป็นที่พึ่งให้ไม่ได้เลย

เพราะเมื่อถึงโอกาสกรรมให้ผล ไม่มีใครขัดขวางการให้ผลของกรรมได้เลย

......................

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นอริยเจ้าทั้งหลาย ก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจจธรรม

ท่านตั้งความปรารถนาที่เป็นกุศล แต่ผุ้ที่ยังมีกิเลสอยู่มาก

แล้วก็มีปัญญาน้อย ก็ย่อมเป็นของธรรมดา ที่ยังติดในรูป....พะ

แม้จะรู้ว่าปัญญาเป็นสี่งที่ดี แต่ก็ยังอดปราถนารูป....พะ แถมนิดหน่อยบ้างไม่ได้

หรือว่า อาจจะมากก็ได้ นั่นเป็นเรื่องซึ่งเฉพาะแต่ละท่านจริงๆ

ที่จะทราบได้ว่าในปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้ ท่านปราถนาอะไร

ย่อมเป็นไปตามการสะสมทั้งนั้น

....................

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมในปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร

ปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย

สมาทานสิกขาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ 4 ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา

เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

เมื่อฟังพระธรรมแล้ว สงบกายและสงบจิต แล้วมีการสำรวมระวังเพี่มขึ้น

เพราะว่าเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษ แม้มีประมาณน้อย

นี่สำหรับผู้ที่ละเอียดมากทีเดียวนะคะ

ที่จะเป็นผู้เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย

คิดถึงคนอื่นด้วยอกุศลจิตนิดเดียว

สติระลึกได้หรือยัง เห็นหรือยัง ภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย

คือแม้เพียงชั่วความคิด ก็ยังเห็นว่าเป็นโทษ

แต่ถ้ายังไม่เห็นนะคะ ปัญญาก็ยากที่จะเจริญได้

......................

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 283

การเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง

[๑๔๕] ดูก่อนราหุล

เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด

เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้

เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด

เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสาได้

เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด

เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติได้

ธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด

เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะได้

เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด

เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้

เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด

เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้.

…………….......

ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ.

แม้จะให้ทรัพย์สมบัติ ข้าวสาลี ข้าวเหนียว

โค ม้า ข้าทาสหญิงชายหมดทั้งแผ่นดิน

ก็ยังไม่พอแก่คนๆ เดียว รู้อย่างนี้แล้ว

พึงประพฤติธรรมสม่ำเสมอ.

....................


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
rrebs10576
วันที่ 27 ม.ค. 2556

กรรมดีและกรรมชั่วที่ผู้ใดได้กระทำไว้ย่อมเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของผู้นั้น

ญาติ พี่น้อง มิตรสหาหรือผู้ศักด์สิทธิ์ ก็เป็นที่พึ่งให้ไม่ได้เลย

เพราะเมื่อถึงโอกาสกรรมให้ผล ไม่มีใครขัดขวางการให้ผลของกรรมได้เลย

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 28 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Boonyavee
วันที่ 28 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ประสาน
วันที่ 29 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 1 ก.พ. 2556

ที่จะทราบได้ว่าในปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้ ท่านปราถนาอะไร

ย่อมเป็นไปตามการสะสมทั้งนั้น

อนุโมทนาในความดี่ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 2 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ