กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร คือสังขารขันธ์หรือไม่ครับ?

 
ผู้ยังไม่พ้น
วันที่  24 ม.ค. 2556
หมายเลข  22381
อ่าน  20,190

วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เหตุไร ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าจึงเป็นกายสังขาร วิตกและวิจารจึงเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนาจึงเป็นจิตตสังขาร?

ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเหล่านี้ เป็นธรรมมีในกายเนื่องด้วยกาย ฉะนั้น ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าจึงเป็นกายสังขาร บุคคลย่อมตรึก ย่อมตรองก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจา ฉะนั้น วิตกและวิจารจึงเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนาเป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต ฉะนั้นสัญญาและเวทนาจึงเป็นจิตตสังขาร.

ลำดับนั้น วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณีแล้ว ลุกจากอาสนะ อภิวาทธรรมทินนาภิกษุณี ทำประทักษิณแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมกถากับธรรมทินนาภิกษุณีให้ทรงทราบทุกประการ.

เมื่อวิสาขาอุบาสกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรวิสาขะ ธรรมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้หากท่านพึงสอบถามเนื้อความนั้นกะเรา แม้เราก็พึงพยากรณ์เนื้อความนั้นเหมือนที่ธรรมทินนาภิกษุณีพยากรณ์แล้ว เนื้อความแห่งพยากรณ์นั้นเป็นดังนั้นนั่นแล ท่านพึงจำทรงไว้อย่างนั้นเถิด.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพจน์นี้แล้ว วิสาขอุบาสก ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฉะนั้นแล.

จบ จูฬเวทัลลสูตร ที่ ๔

จากข้อความด้านบน สัญญาและเวทนาเป็นจิตตสังขาร วิตกและวิจารเป็นวจีสังขาร ลมหายใจเป็นกายสังขาร

1. มีความสับสนว่าสังขารขันธ์ ก็คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารนั่นคือมีคนเข้าใจว่าสังขารขันธ์ ประกอบด้วย ลมหายใจ วิตก วิจาร สัญญา เวทนาอย่างนี้จริงหรือไม่ ประการใดครับ

2. คำว่า กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร สังขารในที่นี้ไม่ได้ทรงหมายถึง "สังขารขันธ์" ในเหล่าขันธ์ ๕ ใช่หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สังขาร มีหลายความหมาย และ หลากหลายนัย ครับ

สังขาร หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริงที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นและดับไป ชื่อว่าสังขาร และ สังขาร ยังหมายถึงนัยอื่นอีก คือ สภาพธรรมที่ปรุงแต่งก็ชื่อสังขาร แต่จะปรุงแต่งอะไรนั้นก็แล้วแต่ว่าจะใช้กับในส่วนใด ก็มุ่งหมายถึงในส่วนนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึง คำว่า สังขาร หรือ สังขารธรรม จะกินความหมายกว้าง หมายถึง สภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นและดับไป มีการปรุงแต่ง สังขารธรรม จึงรวมทั้ง จิต เจตสิก และรูป

ส่วน สังขารขันธ์ มุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่เป็นเจตสิก 50 ดวง เว้น เวทนาเจตสิก และ สัญญาเจตสิก

ดังนั้น สังขารขันธ์ทั้งหมดเป็นสังขารธรรม แต่สังขารธรรมไม่ได้เป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด เพราะ สังขารธรรม หมายถึง จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด และรูปทั้งหมด แต่ สังขารขันธ์ หมายถึง เจตสิก ๕๐ ดวง เท่านั้น

คราวนี้ก็มาถึงความหมายของ สังขาร ที่ละเอียดลงไปอีกครับ

สังขาร ความหมายเดิม คือ สภาพธรรมที่ปรุงแต่ง ก็จะมีคำว่า กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร และกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารจึงมีอีก 2 ความหมาย ที่แคบลงไปกว่า สังขารขันธ์ และ สังขารธรรม

กายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร มีความหมาย 2 นัย ดังนี้ คือ สังขาร 3 (สภาพที่ปรุงแต่ง) นัยที่ 1

กายสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกาย ได้แก่ อัสสาสะ ปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้าออก)

วจีสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งวาจา ได้แก่ วิตกและวิจาร)

จิตตสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งจิต ได้แก่ สัญญา และเวทนา)

จากพระสูตรที่ผู้ถามยกมา จะตรงกับความหมายนัยแรกนี้ อย่างกายสังขาร สภาพธรรมที่ปรุงแต่งกายให้เป็นไป ถ้าไม่มีลมหายใจแล้ว กายก็ดำรงอยู่ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ลมหายใจจึงเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้กายเป็นไปได้ จึงเรียกว่ากายสังขาร ส่วนการพูด วาจา ที่เป็นวจี ก็ต้องอาศัยการตรึก ตรอง ที่เป็นวิตกวิจารเจตสิก เกิดขึ้นเป็นไป ปรุงแต่งให้มีการพูด วิตก วิจาร จึงเป็นวจีสังขาร และ อาศัยสภาพธรรมที่เป็นความจำ ความรู้สึก ที่เกิดภายใน ปรุงแต่งจิต เป็นจิตตสังขาร

สรุปได้ว่า กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ในความหมายแรกหมายถึง ลมหายใจ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก และ สัญญา เวทนาเจตสิก

นัยที่ 2 หมายถึง "เจตนาเจตสิก" ที่เกิดกับโลกียจิต

กายสังขาร คือ กายสัญเจตนา ๒๐ ดวง ได้แก่ กามาวจรกุศล ๘ ดวง และอกุศล ๑๒ ดวง ที่เป็นไปในกายทวาร

วจีสังขาร คือ วจีสัญเจตนา ๒๐ ดวง ได้แก่ กามาวจรกุศล ๘ ดวง และอกุศล ๑๒ ดวง ที่เป็นไปในวจีทวาร

จิตตสังขาร คือ มโนสัญเจตนา ๒๙ ดวง ได้แก่ โลกียกุศลเจตนา ๑๗ ดวง และโลกียอกุศลเจตนา ๑๒ ดวงที่เป็นไปแล้ว (เกิดขึ้น) แก่ผู้นั่งคิดอยู่ในที่ลับ โดยไม่ได้ทำการไหวกายและวาจา

ดังนั้นจากคำถามที่ว่า

1. มีความสับสนว่า สังขารขันธ์ ก็คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร นั่นคือมีคนเข้าใจว่า สังขารขันธ์ ประกอบด้วย ลมหายใจ วิตก วิจาร สัญญา เวทนา อย่างนี้จริงหรือไม่ ประการใดครับ

สังขารขันธ์ คือ เจตสิก ๕๐ ดวง เว้น เวทนาเจตสิก และ สัญญาเจตสิก แต่กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารในพระสูตรที่ผู้ถามยกมานั้น เป็นโดยนัยที่หมายถึง ลมหายใจ (กายสังขาร) วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก (วจีสังขาร) และสัญญาเจตสิก เวทนาเจตสิก (จิตตสังขาร) ดังนั้น สังขารขันธ์ ไม่ใช่กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ทั้งหมด เพราะสังขารขันธ์กว้างกว่า ลมหายใจที่เป็นกายสังขารก็ไม่ใช่สังขารขันธ์ในส่วนนามขันธ์ แต่เป็นรูปขันธ์ ส่วนวิตกวิจารเจตสิก ที่เป็นวจีสังขาร เป็นสังขารขันธ์ แต่เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก ที่เป็นจิตตสังขาร ไม่ใช่สังขารขันธ์ เพราะต่างก็เป็นเวทนาขันธ์ และ สัญญาขันธ์ ครับ

2. คำว่า กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร สังขารในที่นี้ ไม่ได้ทรงหมายถึง "สังขารขันธ์" ในเหล่าขันธ์ 5 ใช่หรือไม่ครับ?

- ถูกต้องครับ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ในพระสูตรนี้ มุ่งเฉพาะเจาะจงในความหมายแคบลงไปกว่าสังขารขันธ์ ที่หมายถึง ลมหายใจ วิตก วิจาร และ สัญญา เวทนาเจตสิก แต่ สังขารขันธ์ มีความหมายกว้างกว่า และกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ซึ่งจิตตสังขารที่เป็นเวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก ก็ไม่ใช่สังขารขันธ์แล้ว ครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อเราอ่านพระสูตรใด ก็ต้องเข้าใจความมุ่งหมายของพระสูตรนั้นว่า มุ่งหมายให้เข้าใจเรื่องอะไรก็จะไม่เข้าใจผิด และ ไม่เอามาปน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 24 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 24 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 24 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้ากล่าวสังขารแล้ว กว้างขวางมาก ครอบคลุมสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด ซึ่งก็ต้องศึกษาในแต่ละแห่งของพระธรรมคำสอนว่า มุ่งหมายถึงสภาพธรรมใด ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดดับเลย ไม่ว่าจะกล่าวถึงสภาพธรรมใดที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ย่อมไม่พ้นไปจากความเป็นขันธ์ เพราะเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป ทั้งที่เป็นรูปขันธ์ และนามขันธ์ ๔ (สัญญา เวทนา สังขารขันธ์ และจิต) ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ที่สำคัญ ธรรมเป็นจริงอย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไปตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ตามควรแก่ธรรมประเภทนั้นๆ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง สัญญาเป็นสัญญาขันธ์ เวทนาเป็นเวทนาขันธ์ วิตักกะเป็นสังขารขันธ์ วิจาระเป็นสังขารขันธ์ เจตนาเป็นสังขารขันธ์ ลมหายใจเป็นรูปขันธ์ ประโยชน์จริงๆ คือเข้าใจถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 24 ม.ค. 2556

กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร หมายถึงกรรมที่เป็นไปในทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นสังขารขันธ์ถูกต้อง เพราะเป็นเจตนาเจตสิก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ยังไม่พ้น
วันที่ 25 ม.ค. 2556

สาธุขอบพระคุณอาจารย์ทุกๆ ท่านมากๆ ครับอุตส่าห์อธิบายยาวจนกระจ่าง __/][\__เป็นพระคุณยิ่งแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 25 ม.ค. 2556

การได้อ่าน ได้ฟัง ได้พิจารณาพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ทำให้ได้เข้าใจสิ่งที่ยังไม่เข้าใจให้เข้าใจขึ้น และสิ่งที่เข้าใจแล้วได้เข้าใจยิ่งขึ้นอีกค่ะ

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 25 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 23 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สิริพรรณ
วันที่ 31 ก.ค. 2564

เห็นด้วยกับพี่เมตตา ค่ะ สุตมยปัญญาจำเป็นมากค่ะที่จะเริ่มต้นของความเข้าใจถูกเห็นถูกว่ามีแต่สภาพธรรม ไม่มีเรา

กราบขอบพระคุณอาจารย์วิทยากร และผู้ตั้งประเด็นสนทนา ค่ะ


 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ