การตั้งความปราถนา

 
นิรมิต
วันที่  4 ม.ค. 2556
หมายเลข  22282
อ่าน  3,593

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน เวลากระทำกุศลใดๆ เนื่องจากได้ยินได้ฟังตัวอย่างของท่านทั้งหลายในครั้งอดีตว่า เวลาที่กระทำกุศล ท่านเหล่านั้นก็ตั้งความปราถนาในสวรรค์บ้าง ตั้งความปราถนาให้ผลกุศลต่างๆ บ้าง และก็เหล่าอริยสาวกทั้งหลาย ก็ล้วนตั้งความปราถนาเพื่อความหลุดพ้น เพื่อพระนิพพานมาแล้ว ในอดีตกาลก่อนๆ ก่อนที่พระพุทธสมณโคดมจะทรงอุบัติขึ้น ก็ทำให้เวลาผมกระทำกุศลใดๆ เล็กบ้างมากบ้างถามกำลัง ก็จะกล่าวปราถนาขอให้ผลบุญนำพาให้ถึงซึ่งสวรรค์บ้าง พระนิพพานบ้าง แต่จะน้อมจิตระลึกอย่างไร ให้เป็นการปราถนาที่เป็นด้วยกุศลจิต เพราะทุกครั้งที่กล่าวปราถนา (หรือที่ใช้เรียกกันผิดๆ ว่าการอธิษฐาน) ก็รู้สึกถึงโลภะ เป็นการกระทำเพื่อหวังจะถึงซึ่งพระนิพพาน หวังให้ผลบุญที่กระทำนั้นส่งผลให้ถึงพระนิพพาน แม้จะรู้ว่ากุศลนั้นทำแล้วต้องมีผล และการไม่หวังในผลบุญ ย่อมเป็นกุศลที่ประณีตกว่า แต่เพราะไม่ทราบว่าผลกุศลนี้จะส่งผลเมื่อไหร่ ประการใด อย่างไร ก็กลัวว่ากุศลนั้นจะไม่ให้ผลดั่งที่ต้องการ คือ การถึงสวรรค์บ้าง พระนิพพานบ้าง ไม่คลาดแคล้วจากพระพุทธศาสนาบ้าง และเพราะด้วยคิดว่า การตั้งจิตปรารถนาไว้ทุกๆ ครั้งที่กระทำกุศล บ่อยๆ เนืองๆ จะได้มีกำลัง และเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ให้ผลของกุศลอย่างนั้นๆ ดั่งที่ตั้งใจไว้ ให้ผลได้เร็วขึ้น ไวขึ้น และไม่คลาดแคล้วไปให้ผลอย่างอื่น ดั่งเช่นที่ พุทธบริษัทในอดีตได้ตั้งความปราถนากัน

ผมควรจะปฏิบัติ พิจารณาตรงนี้อย่างไรครับ ให้ถูก ให้ควร ให้ไม่มีโทษ ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดเพื่อขัดเกลากิเลส และเพื่อความเข้าใจถูกในการตั้งจิตปราถนาพระนิพพาน

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม นำมาซึ่งความสุข แม้จะตั้งใจ ปรารถนา หรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมนำมาซึ่งความสุข เมื่อกุศล ผลของบุญให้ผล ซึ่งก็จะต้องเข้าใจ การอธิษฐานให้ถูกต้องว่า คือ อย่างไร คำว่าอธิษฐานในภาษาไทยที่เข้าใจกันนั้น หมายถึง การขอ แต่ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว หมายถึง ความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหวในการที่จะสะสมคุณความดีประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลธรรม ด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของกุศลทั้งหมด และเป็นไปในการสละกิเลสทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลทั้งนั้น ถูกอกุศลกลุ้มรุมจิตใจอยู่เกือบจะตลอดเวลา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความตั้งใจมั่น ก็เป็นผู้ที่รู้ตัวว่า มีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นแล้วก็พลาดให้กับอกุศลทุกที อธิษฐาน ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล จึงเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นและสำเร็จได้ เป็นบารมี (ความดี) ที่ควรอบรมเจริญ ให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นขออยากได้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดนั้น เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ความติดข้องต้องการ ไม่ใช่อธิษฐานในพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น การตั้งความปรารถนา ด้วยกุศลจิตจะต้องมีปัญญา ความเห็นถูกเป็นสำคัญที่จะเป็น อธิษฐานบารมี อันเป็นความตั้งใจมั่นที่เมื่อทำกุศลแล้ว น้อมบุญนั้นเพื่อถึงการดับกิเลสในอนาคต การตั้งใจมั่นเมื่อทำกุศลแล้ว ผู้ที่เห็นโทษของการเกิด และเห็นคุณของการไม่เกิด เห็นโทษของการดับกิเลส จึงเจริญกุศล แล้วตั้งความปรารถนาที่ให้บุญนี้เป็นเสบียงปัจจัยให้ถึงการดับกิเลสในอนาคต นี่คือ อาศัยคววามเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง และพอทราบหนทางการดับกิเลส จึงมีจิตที่มุ่งตรงต่อการทำกุศล เพื่อถึงการดับกิเลสเท่านั้น จิตขณะนั้นเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่ไม่ มีความเข้าใจธรรม เมื่อได้ยินคำว่านิพพาน แต่เข้าใจผิด สำคัญว่าเป็นสถานที่เสวยสุข ก็ปรารถนาด้วยโลภะที่อยากจะไปพระนิพพาน ก็เป็นอกุศลจิต เพราะอาศัยความเห็นผิด ความไม่รู้ และ ไม่มีความเข้าใจพระธมรรมเป็นสำคัญ ครับ

ดังนั้น เมื่อถามว่าจะทำอย่างไร อธิษฐาอย่างไร ให้ถูกต้อง ก็ควรกลับมาที่ที่การอบรมเหตุ คือ ปัญญา นั่นคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้ถูกต้อง ปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ก็จะทำให้ค่อยๆ คิดถูก และเห็นโทษองกิเลสทีละน้อย และก็จะค่อยๆ น้อมบุญไปในทางที่ถูกต้อง โดยเข้าใจความจริงว่าแม้แต่การคิดให้ถูกก็เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัย ก็คิดที่จะหวังให้บุญไปเกิดในภพที่ดีได้ด้วยโลภะ เป็นธรรมดาของกิเลสที่ยังเป็นปุถุชน เมื่อเข้าใจดังนี้ ก็จะไม่ถูกกิเลสซ้อนกิเลสที่จะทำ อยากด้วยโลภะ ที่จะพยายาม คิดให้ถูก เพราะความคิดถูก มีได้ด้วยปัญญาที่เจริญขึ้น หน้าที่คืออบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรมต่อไป ส่วนจิตอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปก็ไม่สามารถจะรู้ๆ ได้ จะกล่าวไปใย ถึงขณะที่กุศลจิตเกิดแล้ว และจะคิดไปในทางปรารถนาที่ถูก หรือ ผิด ก็รู้ไม่ได้ เป็นอนัตตา การเข้าใจเช่นนี้ ทำให้เบา เพราะเข้าใจ และให้ธรรมปฏิบัติหน้าที่ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 4 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ถูก คือ ถูก ผิด คือ ผิด สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชีวิตประจำวันก็มีทั้งอกุศลและกุศล และอกุศลก็เกิดมากด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสเต็มไปด้วยกิเลสนานาประการ เป็นการยากมากที่จะฟันฝ่าคลื่นของอกุศลไปได้ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายอกุศล มีทางเดียวเท่านั้น คือ ฟังพระธรรมที่พระสัม มาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

ธรรมฝ่ายดี ที่เป็นกุศลธรรมในชีิวิตประจำนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส เพราะถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทางที่เป็นกุศลแล้ว วันหนึ่งๆ ก็มีแต่จะเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนอกุศลให้มีมากขึ้น ดังนั้น ทั้งสัจจะ ความจริงใจ ในการที่จะฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของความไม่จริงใจ ทั้งการกระทำและคำพูด และ ทั้งอธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของความไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรม ไม่มีความมั่นคงในการเจริญกุศลประการต่างๆ ทั้งหมดจึงไม่พ้นไปจากสภาพจิตที่ดีงามในขณะนั้นที่เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณประโยชน์ของกุศล พร้อมทั้งถอยกลับจากอกุศลและเพิ่มพูนกุศลให้ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปเพื่อการขัด เกลา ละคลายกิเลส จนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด

ข้อสำคัญควรค่าแก่การพิจารณา คือ การเจริญกุศลทุกประการตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อละอกุศล ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีของตนเองเท่านั้น ไม่ควรปรารถนาสิ่งอื่นใดที่เป็นวิบากในวัฏฏะ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 4 ม.ค. 2556

ทุกครั้งที่ทำกุศล เช่น ให้ทาน ให้เพื่อขัดเกลากิเลส ให้เพื่อขัดเกลาความตระหนี่ ตั้งเป้าหมายอย่างเดียวว่าการให้ทานนี้ ไม่ได้เป็นเพื่อสวรรค์สมบัติ หรือ รูปสมบัติ หรือ ทรัพย์สินใดๆ แต่เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะกิเลสในอนาคต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิรมิต
วันที่ 5 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณท่านวิทยากร และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เข้าใจ
วันที่ 5 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daris
วันที่ 5 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 5 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"เหตุดี ถึงแม้ไม่ขอผลก็ต้องดี"

กราบขอบพระคุณท่านวิทยากร และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
bsomsuda
วันที่ 5 ม.ค. 2556

"การเจริญกุศลทุกประการตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อละอกุศล ขัดเกลาิสิ่งที่ไม่ดีของตนเอง เท่านั้น ไม่ควรปรารถนาสิ่งอื่นใดที่เป็นวิบากในวัฏฏะ"

ขอบพระคุณ อ.ผเดิม อ.คำปั่น

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kinder
วันที่ 6 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
nong
วันที่ 6 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Boonyavee
วันที่ 11 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 24 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ