สมถะ 40 สามารถเกิดได้พร้อมกันไหมครับ

 
Graabphra
วันที่  2 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22115
อ่าน  1,967

๑. สมถะ ๔๐ สามารถเกิดได้พร้อมกันไหมครับ

๒. หรือมีสมถะอื่นๆ เพิ่มมาได้ไหมครับ ถ้ามี ยกตัวอย่างด้วยครับ

๓. ถ้ายกเว้นสมถะที่ต้องมีอารมณ์ปรากฏเฉพาะหน้า ที่เหลือสามารถเจริญได้พร้อมกันไหม ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 3 ธ.ค. 2555

๑. เกิดพร้อมกันไม่ได้ แต่สลับกันได้ เพราะจิตแต่ละขณะมีอารมณ์อย่างเดียว

๒. อารมณ์ของสมถภาวนาทรงแสดงไว้ ๔๐ ไม่ได้เกินกว่านี้ครับ

๓. ตามข้อ ๑ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. สมถะ ๔๐ สามารถเกิดได้พร้อมกันไหมครับ

การเจริญสมถภาวนา มีอารมณ์ ๔๐ คือ เป็นอารมณ์ของกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาขั้นสมถภาวนา ซึ่งพื้นฐานพระอภิธรรมเบื้องต้นนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องมีสิ่งที่จิตรู้เรียกว่า อารมณ์ ซึ่งจิตที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องมีอารมณ์เดียวคือมีสิ่งที่ถูกจิตรู้เพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่าง เช่น ขณะนี้กำลังเห็น มีจิตเห็นเกิดขึ้น ขณะที่จิตเห็นเกิด จะต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ คือสี เป็นอารมณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ขณะที่เห็นจะต้องไม่ได้กลิ่น คือไม่มีอารมณ์อื่นในขณะนั้นเลย เห็นเพียงสีเท่านั้น ฉันใด การเจริญสมถภาวนา ก็คือ ขณะที่กุศลจิตเกิดประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้น กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา จะต้องมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเพียงอารมณ์เดียว ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ระลึกในพระพุทธคุณเป็นพุทธานุสติ ขณะนั้น ไม่ได้ระลึกถึงคุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ ไม่ได้ระลึกถึงผู้อื่นด้วยเมตตา ไม่ได้ระลึกถึงความตายที่เป็นมรณานุสติ เพราะฉะนั้น ขณะจิตหนึ่ง ที่เป็นการเจริญสมถภาวนา จะต้องมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ในสมถภาวนา ๔๐ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถเกิดพร้อมๆ กันทั้ง ๔๐ อย่าง ๔๐ อารมณ์ได้ ครับ


๒. หรือมีสมถะอื่นๆ เพิ่มมาได้ไหมครับ ถ้ามียกตัวอย่างด้วยครับ

- สมถภาวนา มีทั้งหมด ๔๐ ไม่มีเพิ่มมากกว่านี้ ครับ


๓. ถ้ายกเว้น สมถะที่ต้องมีอารมณ์ปรากฏเฉพาะหน้า ที่เหลือสามารถเจริญได้พร้อมกันไหมครับ

- สมถภาวนา สามารถเจริญอบรมได้ทั้ง ๔๐ ประการ แต่เป็นเพียงคนละขณะจิต และที่สำคัญ แล้วแต่ระดับปัญญาและอัธยาศัยการสะสมมาว่าจะเจริญได้ไหม และอารมณ์ใด เหมาะกับใคร ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Graabphra
วันที่ 3 ธ.ค. 2555

เมื่อระลึกในพระพุทธคุณแล้ว ระลึกถึงคุณของพระธรรม แล้วระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ แล้วระลึกถึงศีล แล้วระลึกถึงกาย แล้วระลึกถึงอากาศว่างๆ แล้วระลึกถึงลมหายใจ แล้วระลึกถึงพระคุณของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วหากอกุศลเกิด ก็ขออภัย แล้วระลึกถึงสรรพสัตว์ในอบายภูมิผู้มีทุกข์ ขอให้พ้นจากความทุกข์ บางครั้งก็ต่อเนื่องกัน บางครั้งไม่ต่อเนื่อง และไม่เรียงลำดับกันทุกครั้ง การระลึกอย่างนี้จะถูกต้องไหมครับ โปรดช่วยแนะนำหรือแก้ไขด้วยครับ

ขอเชิญร่วมสนทนาครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 3 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า สมถะ คือ อะไร และสมถภาวนา คืออะไร ไม่ว่าจะฟัง จะศึกษาเรื่องอะไร ก็เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

สมถะ หมายถึง ความสงบ เป็นความสงบจากกิเลสอกุศล ขณะที่ กุศลเกิดขึ้น เป็นไป ย่อมสงบจากกิเลสอกุศล ส่วนสมถภาวนา คือการอบรมเจริญความสงบจากกิเลส (อกุศล) ให้มาก มั่นคงขึ้น จนตั้งมั่นเป็นสมาธิแนบแน่น ซึ่งจะขาดปัญญาไม่ได้ และจุดประสงค์ก็ต้องตรงด้วยว่าอบรมเจริญสมถภาวนาเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลส และที่ควรจะได้พิจารณา คือ สมถภาวนาดับกิเลสไม่ได้ เพียงแค่ข่มกิเลสไว้ได้ด้วยกำลังแห่งความสงบของจิต เท่านั้น แต่ที่จะดับกิเลสได้ ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่เป็นวิปัสสนาภาวนา เท่านั้น

การอบรมเจริญสมถภาวนา เป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละบุคคลที่สะสมมา ไม่ได้มีการบังคับว่า จะต้องเจริญ เป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง แม้จะไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนา ก็ไม่ได้เป็นเครื่องกั้นการเจริญขึ้นของการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก จนกระทั่งสามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระอริยบุคคลผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยที่ไม่ได้ฌาน มีมากกว่าผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่ได้ฌาน ครับ

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ประเชิญและ อ.ผเดิม ด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 3 ธ.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ซึ่งก็แล้วแต่ว่า จะระลึกเป็นไปในสิ่งใด และจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ก็ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ จึงไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว เพราะธรรมเป็นอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับใคร หรือกฎเกณฑ์ของใคร ครับ เพราะฉะนั้น การระลึกใดที่ระลึกเป็นไปในทางกุศล คือเกิดกุศลจิตขณะนั้น ก็ถูกต้อง แต่ขณะใด ที่นึกเป็นไป ในทางที่ไม่ถูกต้อง คืออกุศลจิต ขณะนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น การอบรมปัญญา สำคัญที่ปัจจุบันขณะ คือเข้าใจหรือไม่ ว่าขณะนั้น เป็นธรรม ไม่กังวลกับอดีตที่ผ่านไปแล้ว และอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ก็จะเบาสบายในการอบรมปัญญา โดยไม่ห่วงว่าถูกหรือไม่ถูก เพราะ ทุกอย่างเป็นไปตาม เหตุ ปัจจัย เป็นไปตามธรรม ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 3 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Graabphra
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

ผู้ที่เจริญสมถภาวนา เพราะเห็นโทษของอกุศล ก็เจริญกุศลเพื่อให้จิตสงบ เช่น ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ขณะนั้นจิตผ่องใส สงบจากอกุศลชั่วขณะ หรือระลึกถึงคุณของพระธรรม ที่ผู้ปฏิบัติตาม พ้นทุกข์ได้ ก็ทำให้จิตเป็นกุศล สงบ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ