ซาปา หลังคาของอินโดจีน

 
kanchana.c
วันที่  16 พ.ย. 2555
หมายเลข  22058
อ่าน  3,084

ซาปา หลังคาของอินโดจีน

ออกจากโรงแรมถังเล้ย ตอนทุ่มครึ่ง วันอาทิตย์ที่ 12 พ.ย. 55 เพื่อทานอาหาร เย็นก่อนขึ้นรถไฟไปเมืองลาวคาย ทางตอนเหนือของเวียดนาม เป็นพรมแดนติดกับ เมืองคุนหมิงของจีน หลังอาหารเย็น มร.ถาย (Tran van Thai) เจ้าของบริษัททัวร์ที่ เป็นเจ้าภาพเชิญท่านอาจารย์มาฮานอย มาส่งที่สถานีรถไฟซึ่งเป็นสถานีเล็กๆ ไม่บอกก็ ไม่รู้ว่า เป็นสถานีรถไฟ เพราะเป็นอาคารเล็กๆ 2 หลัง เป็นที่ขายตั๋ว 1 อาคาร มีที่นั่งให้ ผู้โดยสารนั่งคอยไม่กี่ที่ มร. ถาย จึงต้องยืนสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์อย่างนอบน้อม เหมือนกับที่คุณลูคัสมาส่งท่านอาจารย์ที่สนามบินโชแปง ของโปแลนด์ และยืนสนทนา ธรรมจนถึงนาทีสุดท้าย ผู้ที่เห็นคุณค่าของพระธรรม ย่อมไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดย ไม่ฟัง เมื่อมีผู้เข้าใจพระธรรมมาแสดงถึงที่อย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่โอกาสที่หาได้ง่ายๆ เลย ถ้าไม่ใช่เพราะบุญที่ได้สะสมมาแล้ว

นั่งรถไฟตู้นอน ปรับอากาศ ห้องละ 4 คน มีชั้นบน ชั้นล่าง จึงต้องมีการเจริญ กุศลสละที่ชั้นล่างไปนอนชั้นบน ท่านอาจารย์บอกว่า ถึงโอกาสที่กุศลมาถึงเฉพาะหน้า เราเมื่อไร ก็เจริญกุศลนั้นทันที ไม่ต้องไปคอยแย่งสิ่งที่คนอื่นเขาทำแล้ว หรือกำลังจะ ทำ (ข้อความตอนหลังนี้ต่อเติมเอง) ตู้นอนของรถไฟเวียดนามต่างกับรถไฟไทย เพราะ ตั้งฉากกับตัวรถ ไม่ได้ขนานเหมือนของไทย การโยกเยกจึงไม่เหมือนกัน นอนไม่หลับ เกือบทั้งคืน ไกด์บอกว่าจะถึงตีห้าจึงลุกขึ้นมานั่งคอยตั้งแต่ตีสี่ แต่รถถึงประมาณ 6 โมง เช้า ถึงสถานีลาวคาย (Lao Cai) ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ มีตึกรามบ้านช่องใหญ่โต ดูคึกคัก อาจจะเป็นเมืองชายแดนเวียดนามจีนก็ได้ การค้าขายจึงเจริญ

สถานีรถไฟลาวคาย

เมื่อพร้อมแล้ว ก็ขึ้นรถบัสเล็กต่อไปเมืองซาปา ที่อยู่ติดกับเมืองพงสาลี ประเทศ ลาว ใช้เวลาเดินทางจากสถานีรถไฟไปซาปา ประมาณ 1 ชั่วโมง วันนี้หมอกจัด มอง เกือบไม่เห็นทางข้างหน้า ไม่ต้องพูดถึงวิวทิศทัศน์ข้างทาง ไกด์บอกว่า ถ้าหมอกหนา อย่างนี้ ก็ไปเที่ยวไหนไม่ได้ เพราะไม่เห็นอะไร คงต้องนอนพักที่โรงแรมอย่างเดียว ก็ไม่ เป็นไร ดีเหมือนกันจะได้พักผ่อนให้เต็มที่ รถแล่นขึ้นเขาไปเรื่อยๆ แต่แล่นช้าๆ จึงไม่ วิงเวียนแต่อย่างใด จนถึงโรงแรม Sunny mountain Hotel ระดับ 3 ดาว ได้ห้องพัก 2 ห้องให้แบ่งกันใช้ก่อน เพราะต้องรอเวลาเช็คอินตอนเที่ยง มองไปข้างนอกห้องก็เห็นแต่ หมอก อากาศหนาวเย็น ได้ใช้เสื้อขนกระต่ายที่ซื้อมาแล้ว หลังจากที่ไม่ได้ใช้ที่โปแลนด์

โรงแรมซันนีเมาเทน

รับประทานอาหารกลางวัน ที่ภัตตาคารบนชั้น 9 ของโรงแรม มีผัดผัก เป็น อาหารหลักตามเคย แต่ก็มีหมู เป็ด ไก่ ปลาครบทุกอย่าง แต่รสชาติในวันท้ายๆ ช่างจืด ชืดจริงๆ ต้องทำน้ำปลาพริกตำรับไทยทุกมื้อ จึงจะอร่อย เห็นความติดข้องในรสหรือไม่ ที่ว่ากินง่ายนั้น ไม่ใช่เลย ต้องอร่อยถึงจะง่าย (แต่หยุดยาก กลับมาถึงบ้าน สามีจึงทักว่า ล่ำขึ้น ฟังดูเหมือนเป็นนักมวยไปเข้าค่ายกลับมาอย่างนั้นแหละ)

หลังมื้อเที่ยง หมอกก็ยังหนา แต่จะลงไปเที่ยวเทือกเขาที่ต่ำกว่า ซึ่งไกด์บอกว่า หมอกจะน้อยลง จึงขึ้นรถไปเที่ยวน้ำตกซิลเวอร์ ห่างไปสิบกว่ากิโล ถึงน้ำตกบางท่านก็ ปีน บางคนขอดูที่รถ มีคุณอซิตะ ปีนไปถึงยอด

น้ำตกซิลเวอร์

คุณอชิตะพิชิตน้ำตก

และมีอีกหลายคนไปแค่ครึ่งทาง

ครึ่งทางขึ้นน้ำตก

ทุกคนชอบบรรยากาศ ของซาปา ขออนุโมทนา คุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์ ที่เป็นต้นคิด ในการพาท่านอาจารย์ไปพักผ่อนที่ ซาปา สถานที่พักผ่อนขึ้นชื่อของ เวียดนาม ตั้งแต่ครั้งฝรั่งเศสปกครองเวียดนาม จึงเห็นวิลลา สไตล์ฝรั่งเศส อยู่ทั่วไป ที่นี่มีโรงแรมและภัตตาคารถึง120 แห่ง มีนักท่องเที่ยวฝรั่งมากมาย มีพวกผมดำไม่กี่คน ระหว่างทางกลับโรงแรม ได้ถ่ายภาพนาขั้นบันไดริมทาง ที่เต็มไปด้วยหมอกหนา (อันนี้ไม่ใช่ฝีมือถ่ายไม่ดีนะคะ มัวเพราะหมอกจริงๆ )

นาขั้นบันได

วันรุ่งขึ้นไปเที่ยวหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง ชื่อ cat cat ห่างจากโรงแรม 3 กม. ลง จากรถแล้ว ต้องเดินลงบันไดหลายสิบขั้น ข้างทางมีร้านขายของที่ระลึกฝีมือชาวบ้าน มากมาย ท่านอาจารย์ และพี่จี๊ดค่อยๆ เดินลงจนถึงน้ำตกที่แสดงการเต้นรำของชาว แคทแคท

เดินลงเขาไปหมู่บ้านแคทแคท

การแสดงของชาวเขา

ขากลับมาอีกทางหนึ่ง ไม่ต้องขึ้นบันไดเดิม แต่ค่อยๆ เดินสูงขึ้นเขาไป มีมอเตอร์ ไซด์เชิญชวนให้นั่งซ้อนท้ายเพื่อไปส่งที่รถตู้ที่จอดรออยู่ คนละ 35 บาท ท่านอาจารย์ กับพี่จี๊ดจึงขึ้นมอเตอร์ไซด์ (เป็นครั้งแรกในชีวิตของทั้ง ๒ ท่าน) เราบอกท่านว่า ถ้าใคร เห็น คงต้องต่อว่า ว่าพาท่านอาจารย์และพี่จี๊ดมาลำบาก ท่านบอกว่า ขอให้ทุกคนอย่า คิดอย่างนั้น ไม่มีอะไรลำบากเกินไปสำหรับท่าน

น้ำตกในหมู่บ้านและชาวบ้าน

ส่วนพวกเราที่เหลือเดินกลับ ซึ่งต้องข้ามสะพานแขวน ที่สร้างโดยชาวฝรั่งเศส เมื่อครั้งปกครองเวียดนาม

สะพานแขวน

พวกเราเห็นภัตตาคารฝรั่งเศส เลยติดต่อไกด์ว่า ขอเปลี่ยนอาหารกลางวัน จาก อาหารเวียดนาม เป็นอาหารฝรั่งเศส ถ้ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มจะออกกันเอง รายการอาหาร แรกคือขนมปังฝรั่งเศสทากระเทียม และซุปฟักทอง อร่อยใช้ได้ ต่อมาก็เป็นผัดผักแบบ เวียดนาม 3 จาน ไกด์บอกว่า นี่เป็นของแถม อาหารฝรั่งเศสยังไม่มา นั่งชะเง้อคอคอย อาหารฝรั่งเศสกันนาน ปรากฏว่า มีผัดกุ้งใส่ครีม รสชาติแบบเวียดนามอีก สรุปว่า ภัตตาคารนี้ ทำอาหารเวียดนามให้คนฝรั่งเศสทาน ไม่ใช่อาหารฝรั่งเศส อย่างที่เราคิด ไปเอง ไกด์คนไทยก็บอกว่า มันหลอกหนู ยังดีที่ไม่คิดเงินเพิ่ม

ตอนบ่ายไปหมู่บ้านเย้าแดง ซึ่งห่างไป 12 กม. เป็นหมู่บ้านที่เจริญแล้ว มีบ้าน หลังใหญ่ๆ มีจานดาวเทียมทุกบ้าน (เพราะรัฐบาลแจก เพื่อให้ทราบข่าวจากรัฐบาล พรรคเดียว กลัวการแบ่งแยกดินแดน ชาวเขาที่นี่ เดินคุยด้วยโทรศัพท์มือถือกันทั้งนั้น อยู่ที่ไหนก็มี wifi ให้ใช้ แม้แต่ในภัตตาคารเล็กๆ ) เราเดินใกล้ๆ ที่รถจอด เพราะทางเดิน เฉอะแฉะ แต่คุณอชิตะ และน้องหญิง ผู้ชอบผจญภัย เดินลึกเข้าไปในหมู่บ้าน ออกมา บอกว่า สวยงาม ชอบมาก คุณอชิตะไม่อยากกลับเมืองไทยเลย เพราะอากาศร้อน แต่ อากาศที่ซาปาดีมากกำลังเย็นสบาย แต่อย่างไรก็ต้องกลับ เพราะถึงอากาศจะดีอย่างไร แต่ก็ไม่มีกัลยาณมิตรช่วยให้เข้าใจพระธรรมในซาปา

เช้าวันสุดท้ายในซาปา อากาศอุ่นขึ้นมาก จนไม่ต้องใส่เสื้อหนาว น้องหญิงมา เคาะประตูห้อง ให้ไปดูวิวภูเขาที่สวยงามที่ระเบียงห้อง (ห้องเราไม่มีระเบียง) จึงได้เห็น ฟ้าเปิด เห็นทิวเขาฟานซิปัง หลังคาของอินโดจีน ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 4,242 เมตร จึงมีหิมะตกในบางปี เมื่อมีการชุมนุมชาวม้ง 5 ประเทศ คือ ไทย ลาว พม่า เวียดนาม จีน เมื่อ 2 ปีก่อน ม้งสาวไทยจากเชียงรายได้พิชิตยอดเขามาแล้ว (ตามคำบอกเล่าของไกด์ ซึ่งตอบคำถามได้ทุกอย่าง เช่น ถามว่า สะพานนี้ข้ามไปไหน เธอก็ตอบทันทีว่า ไปฝั่ง โน้น อ้าว ไหงเป็นงั้น)



ทิวทัศน์ของภูเขาและหมอก

หลังอาหารเช้า ที่ชั้น 9 ของโรงแรม จึงพากันชื่นชมทิวทัศน์สวยงามของทะเล หมอกที่พัดผ่านเทือกเขาในซาปา กลุ่มหมอกถูกลมพัดไปทางนั้นบ้าง ทางนี้บ้าง เป็น ภาพที่น่าดูจริงๆ

ท่านอาจารย์ชมทะเลหมอก

หลังจากนั้น ก็ไปชมภูเขามังกร แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของซาปา เพราะ มีสวน ดอกไม้ และต้นซากุระ ต้องเสียค่าเข้าชมคนละ 140 บาท เสียดายที่ตอนนี้เป็นฤดูใบไม้ ร่วง จึงได้ชมแต่กิ่งซากุระที่ไม่มีใบ และดอกไม้ก็จะสวยงามหลังตรุษจีน (ประมาณเดือน กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นไฮซีซัน) ต้องเดินขึ้นบันไดหลายขั้น ผ่านร้านขายของที่ระลึกอีก มากมาย ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสวนดอกไม้ที่มีรูปปั้นสัตว์ต่างๆ เช่น มังกรกำลังพ่นน้ำ งู เสือ รูปการ์ตูน มีสวนที่เพิ่งจะลงไม้ดอกต่างๆ แต่อย่างไรก็ยังสวยอยู่ดี มีกล้วยไม้ดินสี ต่างๆ ปลูกไว้โดยรอบ

สวนสวยบนเขามังกร

กล้วยไม้บนเขามังกร

หลังอาหารเที่ยง ที่เป็นอาหารเวียดนาม (คราวนี้ไม่เลือกแล้ว เพราะไม่ว่าอาหาร ชาติอะไร ก็ออกมาเป็นรสชาติเวียดนามหมด เหมือนอาหารเวียดนามที่มาทำในไทย ก็มี รสชาติแบบไทย อร่อยกว่าต้นตำรับด้วย) แล้วก็เดินชมโบสถ์ สวนสาธารณะ ทะเลสาบ เมื่อเดินดูที่ต่างๆ ก็จะเห็นว่า เมืองซาปาเป็นเมืองใหญ่ที่วางผังเมืองสวยงาม มีตึกราม บ้านช่องใหญ่โต โชคดีที่วันนี้ฟ้าเปิด จึงได้เห็นชัดๆ ไม่อย่างนั้นนั่งรถผ่านมา ก็ไม่เห็น อะไร เลยคิดว่า มีแต่โรงแรม และร้านขายของที่ระลึกหน้าโรงแรมเท่านั้น คงจะเหมือน อวิชชา กับปัญญา ถ้ามี อวิชชาปิดบังมาก ก็ไม่เห็นความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง เห็นแต่ตัวเรา ของเรา ตลอดเวลา แต่เมื่อใด เริ่มเข้าใจบ้าง ก็เหมือนแสงอาทิตย์ที่ค่อยๆ ทำลายหมอกหนาทึบ ส่องให้เห็นความจริงมากขึ้น แต่ ทีละ เล็ก ทีละน้อย ตามการเจริญเติบโตของความเข้าใจ ซึ่งเติบโตช้ามาก ว่าที่จริงแล้ว ไม่ มีเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา เป็นสภาพธรรมที่เกิดปรากฏ ตามเหตุปัจจัย เท่านั้นเอง

ออกเดินทางจากซาปาบ่ายสาม เห็นทิวทัศน์สวยงามข้างทาง รถใช้เวลาเดิน ทาง 1 ชม. ก็ถึงเมืองลาวคาย รถบัสเล็กที่มาส่ง จอดให้ลงที่ภัตตาคารใหญ่ หน้าสถานี รถไฟเดิม รถไฟจะออกตอนสามทุ่ม มีเวลาเหลือมากมาย ไกด์จึงพาไปชมชายแดน เวียดนาม – จีน ที่สะพานข้ามแม่น้ำแดง ซึ่งกั้นระหว่าง 2 ประเทศ เห็นความเจริญที่ ต่างกันของ 2 ประเทศ ที่ฝั่งคุนหมิง ประเทศจีนนั้น มีตึกสูงใหญ่มากมาย ไกด์บอกว่า ถ้าออกเดินทางจากซาปาแต่เช้า ก็สามารถทำบัตรข้ามแดน เข้าไปในเขตคุนหมิงได้ ไกล 20 กม. โดยเสียค่าผ่านแดนคนละ 200 บาท แต่มาบอกเอาเมื่อบ่ายกว่าแล้ว ทำ บัตรไม่ทัน

ชายแดนเวียดนาม ฝั่งตรงข้ามคือคุนหมิง และแม่น้ำที่เห็นคือแม่น้ำแดง

ได้ถ่ายภาพกับสะพาน และด่าน พี่จี๊ดบ่นอยากกินเต้าฮวย ก็มีหาบเต้าฮวยตั้งรอ อยู่พอดี คนอะไรจะมีบุญขนาดนี้ จึงได้ชิมเต้าฮวยเวียดนามคนละแก้ว (แก้วละ 15 บาท) อร่อยพอใช้ได้ เวลาเหลือจึงเสียเงินอีก 750 บาท สำหรับนั่งรถกอล์ฟ ชมเขตในเมือง เป็นเวลา 1 ชม. (ห้ามรถบัสจากนอกเมืองวิ่งเข้าเขตเมือง) รถแล่นผ่านบ่อนคาสิโน ร้านอาหารที่ปิดม่าน จัดงานแต่งงานหลายร้าน (เดือนนี้เป็นเดือนมงคล) ผ่านสะพาน และหลายแห่ง แต่อยู่ในความมืดสลัว เห็นแต่แสงไฟที่ประดับตามที่ต่างๆ แต่ก็ยังดีกว่า นั่งรอเวลาเฉยๆ เวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง ก็กลับมาที่เดิม เมื่อถามก็ตอบว่า 1 ชม.นั้นรวม เวลาจอดให้ลงไปถ่ายภาพสถานที่สำคัญต่างๆ แต่เมื่อมืดแล้ว จึงได้แต่วิ่งวนให้ดูเมือง เฉยๆ

รับประทานเต้าฮวยที่ด่านชายแดน

ทานอาหาร ที่ภัตตาคารที่มีฝรั่งมานั่งทานข้าว รอเวลารถไฟออกเต็มร้าน มี wifi ให้ ด้วย จึงได้เปิด ipad ให้ท่านอาจารย์ดูข่าวจากทีวีเมืองไทย แม้จะไม่ต่อเนื่อง แต่ก็ดูได้ ดีทีเดียว ขอบคุณผู้สนับสนุนให้ซื้อค่ะ ใช้ประโยชน์ได้เกือบตลอดเวลา ทั้งส่งข่าวด่วน และเรื่องเล่าถึงมูลนิธิ ส่ง mail ส่งภาพทาง facebook ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ โทรศัพท์ฟรี กลับมาเมืองไทยทาง facetime และดูทีวีจากเมืองไทยด้วย ช่างสารพัดประโยชน์จริงๆ นั่งรถไฟกลับฮานอยตอนสามทุ่ม คราวนี้ขึ้นไปนอน รู้สึกว่า การโยกเยกของรถไฟ เวียดนาม เหมือนนอนเปลตอนเป็นเด็ก จึงหลับทันที ตื่นอีกครั้งก็ตีสอง รถไฟถึงสถานี ฮานอยตีห้า ใกล้ๆ เวลา ไกด์มาเคาะประตูเรียก ให้รีบขนกระเป๋าและรีบลงจากรถ จนบาง ท่านลืมมือถือที่ตั้งปลุกเวลาไว้ (นึกขึ้นได้ว่าลืม เมื่อเครื่องบินจอดที่สนามบิน และจะใช้ โทรศัพท์ ก่อนนั้นก็คิดว่ามีอยู่ตลอดเวลา มีเพราะคิดจริงๆ ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ตลอด เวลา แม้จะยังไม่ใช่ขณะเดี๋ยวนี้ก็ตาม)

กลับมาถึงโรงแรมถังเล้ย ที่ มร. ถาย เปิดห้องให้อาบน้ำ และนอนพักผ่อน 4 ห้อง พร้อมอาหารเช้า พวกเราจึงได้พักผ่อน ถึงเวลา 10 โมงเช้า สหายธรรมชาวเวียดนามก็ มากราบลาท่านอาจารย์ พร้อมกับสนทนาธรรมต่อ บางคนก็ไปทานอาหารกลางวันด้วย กัน และบางคนก็ไปส่งที่สนามบิน

สำหรับการเผยแพร่พระธรรมในครั้งนี้ ที่มีขึ้นได้ เพราะมิสทาม ที่ได้อ่านกระทู้ที่คุณ โรเบิร์ต ลูกศิษย์ท่านอาจารย์ ส่งไปลงใน Dhammawheel.com เรื่องการนั่งสมาธิ ไม่ ทำให้เข้าใจธรรม ซึ่งคุณทามเห็นด้วย และติดตาม อ่านคำบรรยายภาษาอังกฤษของ ท่านอาจารย์จาก Dhamma Study Group และสอบถามคุณโรเบิร์ตถึงที่ตั้งของมูลนิธิฯ และได้มากราบเรียน ถามธรรมกับท่านอาจารย์ที่กรุงเทพคนเดียวเมื่อ 2 ปีก่อน กลับไป เธอก็แปลคำบรรยาย ของท่านอาจารย์เป็นภาษาเวียดนาม ให้เพื่อนๆ ธรรม ที่นั่งสมาธิ ด้วยกันฟัง หลายคนสนใจ จนมีวันนี้

มิสทาม ผู้จัดการสนทนาธรรม

และ ต้องขอบคุณ มร. ถาย เจ้าของบริษัททัวร์ ที่เป็นเจ้าภาพ ในการเชิญท่าน อาจารย์ครั้งนี้ คุณถายและภรรยา คุณทาม (ชื่อทาม มีถึง 3 คน) สนใจศึกษาธรรมด้วย กันทั้งคู่ และจัดรายการทัวร์ดีมาก อาหารเต็มโต๊ะทุกมื่้อ มีทั้งผักและเนื้อสัตว์หลายชนิด รวมทั้งทำให้ได้เดินทางด้วยพาหนะถึง 10 ชนิด คือ เครื่องบิน รถไฟ รถบัสใหญ่ รถบัส เล็ก รถตู้ รถกอล์ฟ มอเตอร์ไซค์ เรือพาย เรือเล็ก เรือใหญ่ นอกจากนั้นยังมีของชำร่วย แจกหลายครั้ง จนบางคนใส่กระเป๋าไม่หมด

มร.ถาย เจ้าของบริษัททัวร์ที่เป็นเจ้าภาพ


คุณทาม ภรรยาคุณถาย

และขอขอบคุณ คุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์ ผู้จัดทางเมืองไทย และเป็นเจ้า ภาพพาท่านอาจารย์และพี่จี๊ดไปพักผ่อนต่อที่ซาปา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านอาจารย์ชอบ มาก ทั้งอากาศกำลังเย็นสบายและทิวทัศน์สวยงาม คุณหมอผู้จัดยังทั้งหิ้ว ทั้งหอบ สัมภาระมากมาย เพื่อเจริญกุศล ตั้งแต่ที่คั้นน้ำผลไม้ อาหารแห้ง กระติกใส่น้ำผลไม้ หรือโกโก้ สำหรับเวลาเดินทาง ซึ่งบางครั้งมีเหลือ บางท่านได้มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ก้น กระติกด้วย (สำนวนน้องหญิง)

คุณหมอวิภากร ผู้จัดทางเมืองไทย

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ ที่แสดงธรรม ที่ท่านศึกษาและเข้าใจดีแล้วแก่ชาว เวียดนามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ตลอดเวลา 9 วัน ทั้งเช้า บ่าย แม้แต่เวลานั่งรถ นั่งเรือก็ มีการสนทนาธรรม ด้วยความปีติ (สังเกตจากสีหน้าผ่องใส เบิกบานของท่าน) ที่มีผู้ สนใจและเข้าใจหนทางที่ถูกต้อง เพื่อช่วยกันเผยแพร่ความเห็นถูกให้คงอยู่ในโลกนี้ต่อ ไป และขอบคุณผู้ร่วมเดินทางทุกท่านที่ได้เจริญกุศลประการต่างๆ ตามกำลังความเข้า ใจธรรมของตนเอง โดยเฉพาะน้องเบญจวรรณ รัศมีสุวรรณกุล ที่ช่วยดูแลเราเหมือนตัว เองเป็นลูกสาว และยังเป็นช่างภาพให้ด้วย ขออนุโมทนาท่าน พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่กรุณามาบริการให้ความสะดวกที่สนามบิน (ท่านบอกว่า เก็บเล็กผสม น้อย) รวมทั้ง พี่เดือนฉายและพี่เรวัต ค่ำอำนวย ที่มารับท่านอาจารย์ และพี่จี๊ดไปส่งที่ บ้าน ท่านอาจารย์บอกว่า ในพระไตรปิฎกมีแสดงไว้ว่า กตัญญู คือ การรู้คุณของความ ดี แล้วมีหรือ ที่จะไม่ทำความดี

ขอบคุณผู้ติดตามอ่าน โดยเฉพาะ ผู้ที่เขียนมาให้กำลังใจด้วยค่ะ แล้วพบกันที่ อินเดีย อาทิตย์หน้าค่ะ (ถ้ายังมีแรงเขียนนะคะ บอกล่วงหน้าไว้ก่อน ไม่ผูกมัดตัวเอง)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 17 พ.ย. 2555

"คงจะเหมือนอวิชชากับปัญญา ถ้ามีอวิชชาปิดบังมาก ก็ไม่เห็นความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง เห็นแต่ตัวเรา ของเรา ตลอดเวลา แต่เมื่อใดเริ่มเข้าใจบ้าง ก็เหมือนแสงอาทิตย์ที่ค่อยๆ ทำลายหมอกหนาทึบ ส่องให้เห็นความจริงมากขึ้น แต่ทีละเล็กทีละน้อย ตามการเจริญเติบโตของความเข้าใจซึ่งเติบโตช้ามากว่า ที่จริงแล้ว ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา เป็นสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง"

สาธุ.. สาธุ.. สาธุ (อนุโมทนาสไตล์เวียดนามครับพี่) ขออนุโมทนากับพี่แดงด้วยนะครับ ได้ความรู้ ความเข้าใจเรื่อง เมืองต่างๆ ในเวียดนาม พร้อมกับภาพวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม และธรรมะดีๆ ด้วยนะครับ จากภารกิจของพี่แดงครั้งนี้

และที่ลืมไม่ได้คือ ท่านสปอนเซอร์ ที่สนับสนุนพี่แดงทั้งการเดินทางและอุปกรณ์เสริมทันสมัย ทำให้ทุกๆ ท่านได้ติดตามครับ ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านที่ร่วมกุศลในการเดินทางไปในครั้งนี้ด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wirat.k
วันที่ 18 พ.ย. 2555

"กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ที่แสดงธรรมที่ท่านศึกษาและเข้าใจดีแล้ว แก่ชาวเวียดนามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ตลอดเวลา 9 วัน ทั้งเช้า บ่าย แม้แต่เวลานั่งรถ นั่งเรือก็มีการสนทนาธรรม ด้วยความปีติ (สังเกตจากสีหน้าผ่องใส เบิกบานของท่าน) ที่มีผู้สนใจและเข้าใจ หนทางที่ถูกต้อง เพื่อช่วยกันเผยแพร่ความเห็นถูก ให้คงอยู่ในโลกนี้ต่อไป"

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natre
วันที่ 18 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาในกุศลเมตตาจิตของทุกท่านและท่านอาจารย์ที่ได้เผยแพร่พระธรรมที่เป็น ทางสายเอก สายถูกและตรงแก่ชาวต่างชาติในครั้งนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Boonyavee
วันที่ 18 พ.ย. 2555

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาคุณแม่แดง ที่กรุณาเล่าเรื่องซาปาอย่างละเอียด ประหนึ่งไกด์กิตติมศักดิ์เลยทีเดียว อีกทั้งยังมีรูปภาพวิวทิวทัศน์ที่สวยงามสมคำร่ำ

ลือจริงๆ ค่ะ ที่สำคัญคือผู้ที่ร่วมเดินทางได้มีโอกาสได้ฟังธรรมจาก ท่านอาจารย์สุจินต์

พร้อมกับชาวเวียดนามที่ให้ความสนใจเดินทางมาร่วมสนทนาธรรมในครั้งนี้ ต้อง ขอกราบขอบพระคุณและขอกราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านอีกครั้งนะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 19 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

..........

รู้สึกประทับใจในคำกล่าวของพี่แดงครับ ที่ว่า...

"คงจะเหมือนอวิชชากับปัญญา

ถ้ามีอวิชชาปิดบังมาก ก็ไม่เห็นความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ

ตามปกติ ตามความเป็นจริง

เห็นแต่ตัวเรา ของเรา ตลอดเวลา

แต่เมื่อใดเริ่มเข้าใจบ้าง ก็เหมือนแสงอาทิตย์ที่ค่อยๆ ทำลายหมอกหนาทึบ

ส่องให้เห็นความจริงมากขึ้น แต่ทีละเล็กทีละน้อย

ตามการเจริญเติบโตของความเข้าใจซึ่งเติบโตช้ามากว่า

ที่จริงแล้ว ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา

เป็นสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง"

.........

และ ใคร่ขออนุญาต นำบทเพลงพื้นบ้าน ที่อาจารย์อรรณพ หอมจันทร์ ท่านได้แต่ง

และ ให้เกียรติร่วมแสดง ในงานแสดงกัลญาณจิตแด่คุณย่าสงวน สุจริตกุล ที่อัมพวา

เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ มาแสดงในที่นี้ อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้ครับ

.........

ที่ได้เกิดเป็นคน เพราะกุศลกรรม

ขอจงได้ศรัทธา สะสมปัญญา ศึกษาพระธรรม

ที่กำเนิดเกิดมา ในแหล่งหล้า โลกนี้ เพราะด้วยบุญ คุณความดี อดีตที่ ท่านได้ทำ

เกิดมาแต่ละชาติ ก็ยังเป็นทาสโลภะ เมื่อไม่รู้ ก็ไม่ละ โลภะยังติดตาม

อยู่ในสังสาระ เพราะยังไม่ละความไม่รู้ ชีวิตเช่น ที่เป็นอยู่ ก็ไม่รู้สภาพธรรม

สภาพธรรมเกิดปรากฏ แล้วก็หมด ในทันที มีแล้วกลับไม่มี เป็นอย่างนี้อยู่ประจำ

อวิชชามหาศาล เนิ่นนานที่สะสม ปัญญาถ้าไม่คม อย่าคิดข่มกิเลสกาม

ฟังพระธรรมตามกาล นั้นเป็นงานอันประเสริฐ เป็นมงคลชั้นเลิศ ที่ควรเกิดเป็นประจำ

พระธรรม นั้นล้ำค่า ประเสริฐกว่าสิ่งใดๆ เกื้อกูลและหนุนให้ ได้เข้าใจตรงตามธรรม

ปัญญาที่สะสม อบรมบ่มเจริญ บัณฑิตท่านสรรเสริญ เป็นทางเดินสู่สัทธรรม

กว่าปัญญาจะเจริญ ค่อยๆ เดินในทางถูก

กว่าจะเปลื้องเครื่องผูก ต้องรู้ถูกทั้งรูปนาม

ค่อยๆ รู้ค่อยๆ ละ ขัดเกลาอวิชชา สะสมอบรมปัญญา จนกว่าจะแจ้งธรรม

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของพี่แดงครับ

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 19 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pamali
วันที่ 19 พ.ย. 2555
กราบอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
patnaree
วันที่ 19 พ.ย. 2555

ถึงโอกาสที่กุศลมาถึงเฉพาะหน้าเราเมื่อไร ก็เจริญกุศลนั้นทันที

กราบอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 20 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนา และทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
rrebs10576
วันที่ 22 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
jaturong
วันที่ 28 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ปลากริม ไข่เต่า
วันที่ 22 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ