ขอถามผู้รู้ค่ะ ทำอาชีพนี้ ผิดศีลไหมคะ

 
Dayjung
วันที่  4 พ.ย. 2555
หมายเลข  22008
อ่าน  1,990

ขออนุญาตถามผู้รู้ทุกท่านนะคะ

ปัจจุบัน ดิฉันทำอาชีพ แคชเชียร์ ให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งค่ะ แต่ร้านที่ดิฉันทำนี้ ขายสุราด้วยค่ะ แล้วดิฉันก็ต้องเป็นคนคิดเงินให้ลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะซื้อสุราด้วย และบางทีดิฉันก็ต้องเป็นคนหยิบสุราขวดที่ลูกค้าต้องการมาให้ลูกค้า ตัวดิฉันเองไม่ได้มีความยินดีกับการที่ลูกค้าซื้อสุราไปดื่ม แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่าอาชีพที่ดิฉันทำอยู่นี้เข้าข่ายการสนับสนุนส่งเสริมให้คนดื่มสุราหรือเปล่าค่ะ

มีอีกอาชีพหนึ่งนะคะ เป็นอาชีพที่ดิฉันอาจจะทำในอนาคต คือญาติของดิฉันออกแบบและทำมีดพับขาย ซึ่งมีดเหล่านี้เน้นด้านดีไซน์ เพื่อเอาไว้สะสมหรือเอาไว้ใช้งานจิปาถะ พวกตัดเชือกหรือเดินป่า ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้เอาไปทำร้ายสิ่งมีชีวิตแต่อย่างใด แต่ดิฉันไม่มั่นใจว่า จะถือเป็นการค้าอาวุธหรือไม่

รบกวนผู้รู้ทั้งหลายช่วยไขความกระจ่างด้วยนะคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ปัจจุบัน ดิฉันทำอาชีพแคชเชียร์ให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งค่ะ แต่ร้านที่ดิฉันทำนี้ขายสุราด้วยค่ะ แล้วดิฉันก็ต้องเป็นคนคิดเงินให้ลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะซื้อสุราด้วยและบางทีดิฉันก็ต้องเป็นคนหยิบสุราขวดที่ลูกค้าต้องการมาให้ลูกค้า ตัวดิฉันเองไม่ได้มีความยินดี กับการที่ลูกค้าซื้อสุราไปดื่ม แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่าอาชีพที่ดิฉันทำอยู่นี้ เข้าข่ายการสนับสนุนส่งเสริมให้คนดื่มสุราหรือเปล่าค่ะ

- ต้องแยกระหว่างผู้ประกอบการกับลูกจ้างนะครับ และที่สำคัญอยู่ที่เจตนาของผู้เป็นลูกจ้างในการประกอบอาชีพด้วยครับ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ย่อมเป็นผู้เป็นเจ้าของบริษัท เป็นเจ้าของอาชีพ คือผลิตสุรา ส่วนลูกจ้างเป็นลูกมือ ลูกจ้างทำหน้าที่โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะเป็นผู้ค้าสุรา และทำหน้าที่หยิบสุรา ไม่ได้มีเจตนาต้องการขายสุราเลย รวมทั้งทำหน้าที่คิดเงิน ไม่ได้มีเจตนาค้าขายสุรา เท่ากับว่าไม่ได้ประกอบอาชีพที่ไม่สมควรที่เป็นผู้ค้าสุรา ครับ

ผมขออนุญาตยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกในเรื่องการประกอบอาชีพที่ไม่สมควรครับ

เรื่องนายพรานกุกกุฏมิตร นายพรานคนนี้ประกอบอาชีพคือล่าสัตว์และเอาเนื้อสัตว์ไปขาย ซึ่งก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ไม่สมควร คือการค้าเนื้อสัตว์ ส่วนภรรยาของนายพรานเป็นธิดาเศรษฐี แต่ภรรยาเป็นพระโสดาบันแล้ว แต่นายพรานยังเป็นปุถุชน ซึ่งมีอยู่คราวหนึ่งเมื่อนายพรานกำลังจะไปล่าสัตว์เอามาขายและทาน นายพรานก็ได้บอกกับภรรยาผู้เป็นพระโสดาบันว่า จงหยิบมีดหรืออาวุธล่าสัตว์มาให้หน่อย ซึ่งภรรยาผู้เป็นพระโสดาบันก็หยิบให้ คำถามจึงมีในพระภิกษุสงฆ์ว่า ภรรยาเป็นพระโสดาบันแล้ว ทำไมยังหยิบอาวุธให้อีก พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า ภรรยาผู้เป็นพระโสดาบันท่านไม่มีเจตนาฆ่าสัตว์เลย เพียงแต่ส่งอาวุธ ทำตามหน้าที่เท่านั้นและทรงตรัสพระคาถาว่า หากว่าบุคคลไม่มีแผลในฝ่ามือ แม้จะหยิบยาพิษ ยาพิษนั้นก็ไม่ซึมเข้าไปในมือ สรุปคือท่านไม่มีเจตนา คนที่ประกอบอาชีพไม่สมควรคือนายพราน เปรียบเหมือนบริษัทผู้ทำอาชีพไม่สมควร ส่วนภรรยาผู้เป็นพระโสดาบันทำตามหน้าที่ที่นายพรานสั่ง ไม่ได้มีเจตนาฆ่าสัตว์หรือทำอาชีพเหมือนนายพราน แม้จะเป็นผู้ส่งอาวุธก็ตามครับ แม้ผู้ที่ทำงานในบริษัทนั้น แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะผลิตเหมือนเจ้าของ ไม่ไช่ผู้ประกอบอาชีพที่เป็นเจ้าของบริษัท เพียงแต่ทำตามหน้าที่ที่บริษัทสั่งครับ ดังนั้นต้องพิจารณาให้ละเอียดครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ... ยาพิษไม่ซึมเข้าผู้ไม่มีแผล [นายพรานกุกกุฏมิตร]


๒. มีอีกอาชีพหนึ่งนะคะ เป็นอาชีพที่ดิฉันอาจจะทำในอนาคต คือญาติของดิฉันออกแบบ และทำมีดพับขาย ซึ่งมีดเหล่านี้เน้นด้านดีไซน์ เพื่อเอาไว้สะสมหรือเอาไว้ใช้งานจิปาถะ พวกตัดเชือกหรือเดินป่า ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้เอาไปทำร้ายสิ่งมีชีวิตแต่อย่างใด แต่ดิฉันไม่มั่นใจว่าจะถือเป็นการค้าอาวุธหรือไม่ฝ

- เช่นเดียวกันครับ สําคัญที่เจตนา ด้วยการค้าอาวุธที่ด้วยเจตนาให้ทำร้ายกัน ฆ่ากัน ในสงคราม เป็นต้น ก็ไม่สมควร ส่วนผู้ที่ป็นลูกจ้างไม่ได้มีเจตนาค้าอาวุธเอง เพราะไม่ใช่ผู้ผลิต และผู้ผลิตเองก็มุ่งให้เป็นของที่สะสม มีดสวยงามและเพื่อเอาไว้ใช้งานก็ไม่เป็นเจตนาที่จะค้าอาวุธเพื่อเอื้อต่อการทำปาณาติบาต ครับ ก็ไม่เป็นไร


ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม ไม่ใช่สำคัญที่ว่าตนเองจะผิดหรือไม่ผิดอย่างไร แต่สำคัญที่เห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวันบ้างไหม เพราะโดยมาก สัตว์โลกย่อมกลัวที่จะได้รับผลของกรรมที่ไม่ดี จึงกลัวว่าจะบาปหรือไม่บาป ผิดหรือไม่ผิด แต่ควรที่จะเห็นโทษของกิเลสคือความไม่รู้ และความยึดถือว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล ว่าเป็นเหตุที่จะทำให้ผิด และทำบาป และทำให้เกิดความเดือดร้อนกับการกระทำของตนเอง เพราะมีความสำคัญว่ามีเรา มีเราที่จะทำบาป มีเราที่จะได้รับผลของกรรม เพราะฉะนั้นสําคัญที่การรู้ความจริงในชีวิตประจำวันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้แต่การมีอาชีพอะไรก็ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แม้แต่ก่อนจะเป็นพระอริยเจ้าในชาตินั้น ก็เป็นคนฆ่าสัตว์ เป็นนายพราน แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้า แสดงถึงความเป็นไปที่ไม่สามารถบังคับได้ว่าจะมีอาชีพอะไร แต่ปัญญาที่สะสมมาไม่ได้หายไปไหน เพราะฉะนั้นไม่ว่าประกอบอาชีพอะไร ก็ไม่สามารถกั้นปัญญา ความเห็นถูกได้

สิ่งที่ประเสริฐ คือการอบรมปัญญา ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกๆ ประการตามอาชีพที่ตนประกอบ เพราะขณะที่ประกอบอาชีพ ก็ไม่พ้นจากการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงทุกประการ ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ถ้าจะว่าไปแล้วในชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน ก็ยากที่จะพ้นไปจากอกุศลจิต อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน และถ้าสะสมมีกำลังมากขึ้นๆ ก็อาจจะล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ประทุษร้ายเบียดเบียน ลักขโมยสิ่งของของผู้อื่น เป็นต้น ได้

ประเด็นเรื่องทำหน้าที่เป็นแคชเชียร์ให้กับซูเปอร์มาเก็ตนั้น ก็เป็นการกระทำไปตามหน้าที่ เจ้าของซูเปอร์มาเก็ตสั่งอะไรมาขาย มีผู้ซื้อ เราก็ทำหน้าที่บริการ คิดเงิน ทำการขายให้ ซึ่งสุราหรือของมึนเมาต่างๆ ก็รวมอยู่ในสินค้าเหล่านั้นด้วย

เราทำหน้าที่ให้บริการ คิดเงินให้ลูกค้า ไม่ได้มีเจตนาที่จะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นดื่มแต่อย่างใด

ถ้าพิจารณาข้อความจากอรรถกถาแล้ว มีข้อความว่า "บทว่า มชฺชวณิชฺชา ได้แก่ ให้เขาทำของเมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ขายของเมา" ต้องมุ่งหมายถึงเจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการเป็นสำคัญ อย่างเช่น ถ้าเราทำหน้าที่เป็นเจ้าของเอง แล้วสั่งสุรามาขายเอง อย่างนี้ผิด เข้าข่ายประกอบอาชีพที่ไม่ควรประกอบในข้อที่เป็นการค้าขายของมึนเมา

- ในประเด็นการค้าอาวุธ

ข้อความจากอรรถกถา วณิชชสูตร มีว่า

บทว่า สตฺถวณิชฺชา ได้แก่ ให้เขาทำอาวุธแล้วก็ขายอาวุธนั้น.

ตามความเป็นจริงแล้ว เครื่องใช้ประเภท มีด ขนาด ชนิด ต่างๆ นั้น ก็เป็นวัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้ในการทำครัว เป็นต้น ผู้ขายเองคงไม่มีเจตนาที่จะขายเพื่อให้คนอื่นเอาไปทำร้ายคนอื่น (ดังที่กล่าวไว้ในคำถาม) และยิ่งถ้าเป็นวัตถุสำหรับโชว์หรือประดับด้วยแล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดว่ามุ่งที่จะให้ผู้ซื้อนำไปโชว์ หรือเก็บไว้เป็นที่ระลึก ไม่ได้มีเจตนาร้ายเพื่อให้เอาไปทำร้ายสัตว์อื่น คนอื่นเลยแม้แต่น้อย จึงไม่ได้เป็นการประกอบอาชีพที่เป็นการค้าอาวุธ

ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ก็อาจะแนะนำให้ลูกค้าได้ทราบว่า มีดชนิดต่างๆ นี้ควรใช้ให้เหมาะกับงานชนิดใด ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ว่าด้วยการค้าขายที่อุบาสกไม่ควรประกอบ [วณิชชสูตร]

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 4 พ.ย. 2555

ขึ้นอยู่กับเจตนาว่าตนเองยินดีที่คนอื่นมาซื้อสุราไปดื่มหรือเปล่า หากถ้าไม่มีเจตนา ทำไปตามหน้าที่เก็บเงินเท่านั้น ก็ไม่เป็นไร ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Dayjung
วันที่ 5 พ.ย. 2555

ขอขอบพระคุณ ผู้รู้ทุกท่านที่ช่วยไขความกระจ่างให้ดิฉันได้อย่างละเอียดนะคะ

ตอนนี้เข้าใจแล้วค่ะ และโล่งใจด้วยที่ไม่ได้ทำผิดศีล

ดิฉันขออนุโมทนากับผลบุญที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายให้คำตอบกับดิฉันเป็นธรรมทานนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
maxnakub2
วันที่ 5 พ.ย. 2555

:) จริงครับ

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 5 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 6 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 8 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ