จักขุทิพย์-ทานด้วยปัญญา

 
นิรมิต
วันที่  30 ต.ค. 2555
หมายเลข  21982
อ่าน  1,399

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

ขอรบกวนสอบถามสองเรื่องครับ

๑. ผู้ที่ท่านได้จักขุทิพย์ แล้วต่อมาท่านตาบอด จักขุทิพย์ของท่านจะเสื่อมตามไปด้วยหรือไม่ครับ เช่นเดียวกับโสตทิพย์ ถ้าต่อมามีเหตุให้ท่านหูหนวก โสตทิพย์ของท่าน ก็เสื่อมด้วยหรือไม่ครับ เพราะเคยได้ยินท่าน อ.สุจินต์ บรรยายไว้ว่า ผู้ที่จะได้จักขุทิพย์ต้องมีจักขุปสาทะด้วย ไม่เช่นนั้นจักขุทิพย์เกิดไม่ได้ อันนี้ก็อยากทราบว่าเพราะเหตุใด ครับ เห็นมีข่าวหลายครั้งที่ว่า ผู้ตาบอดนั่งทางใน เห็นนู่น เห็นนี่ได้ อะไรทำนองนี้

๒. การทำทาน ที่เป็นทาน ที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นอย่างไรครับ ไม่ค่อยเข้าใจ เคยได้ยิน ได้ฟังว่า เป็นทาน ที่กระทำพร้อมกับความเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล แต่มันก็ดูขัดๆ กัน เพราะส่วนมากขณะทำทาน ก็ไม่ได้มีทิฏฐิเจตสิกเห็นว่าเป็นตัวตนเกิดร่วมด้วยอยู่แล้ว และขณะที่ให้ทาน ขณะนั้นก็เป็นกุศลญาณวิปปยุตต์ซะส่วนมาก เพราะต้องมีเจตนาให้เพื่อประโยชน์ของผู้รับก็เหมือนการมีตัวตนขึ้นมา แต่ไม่ใช่ด้วยทิฏฐิ หรือทานที่เป็นญาณสัมปยุตต์ คือการฉลาดทำทาน เช่นไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนว่า ทานนี้ควรแก่ผู้ใด ไม่ควรแก่ผู้ใด เป็นประโยชน์แก่ผู้ใด ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใด วัตถุทานเป็นอย่างไร ขณะทำควรกระทำอย่างไร ไม่ใช่สักว่า ให้ๆ ๆ ๆ โดยไม่คิดอะไรทำนองนี้หรือเปล่าครับ?

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ผู้ที่ท่านได้จักขุทิพย์ แล้วต่อมาท่านตาบอด จักขุทิพย์ของท่านจะเสื่อมตามไปด้วยหรือไม่ครับ เช่นเดียวกับโสตทิพย์ ถ้าต่อมามีเหตุให้ท่านหูหนวก โสตทิพย์ท่านก็เสื่อมด้วยหรือไม่ครับ เพราะเคยได้ยินท่าน อ.สุจินต์ บรรยายไว้ว่า ผู้ที่จะได้จักขุทิพย์ต้องมีจักขุปสาทะด้วย ไม่เช่นนั้น จักขุทิพย์เกิดไม่ได้ อันนี้ก็อยากทราบว่าเพราะเหตุใดครับ

เพราะมีข่าวหลายครั้งที่ว่าผู้ตาบอดนั่งทางในเห็นนู่นเห็นนี่ได้ อะไรทำนองนี้

- การจะเจริญจักขุทิพย์ได้ ต้องอาศัยการมีจักขุปสาทะ เช่นเดียวกับ ผู้ที่จะได้ หูทิพย์ ก็จะต้องมีโสตปสาทะ หากว่าผู้ที่เคยอบรมได้จักขุทิพย์แล้ว แต่ต่อมา ตาบอด ไม่มีจักขุปสาทะเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถอบรม เจริญเข้าถึง จักขุทิพย์ได้อีก เพราะ ขาดปัจจัยไปบางประการ คือ การมีจักขุปสาทะ ครับ ซึ่งจะต้องอาศัย จักขุปสาทะ ในการที่จะเพ่งกสิณ แสงสว่าง เป็นต้น

๒. การทำทาน ที่เป็นทานที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นอย่างไรครับ ไม่ค่อยเข้าใจ เคยได้ยินได้ฟังว่า เป็นทานที่กระทำพร้อมกับความเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล แต่มันก็ดูขัดๆ กัน เพราะส่วนมากขณะทำทาน ก็ไม่ได้มีทิฏฐิเจตสิก เห็นว่าเป็นตัวตนเกิดร่วมด้วยอยู่แล้ว และขณะที่ให้ทาน ขณะนั้น ก็เป็นกุศลญาณวิปปยุตต์ซะส่วนมาก เพราะต้องมีเจตนาให้ เพื่อประโยชน์ของผู้รับ ก็เหมือนการมีตัวตนขึ้นมา แต่ไม่ใช่ด้วยทิฏฐิ หรือทานที่เป็นญาณสัมปยุตต์ คือการฉลาดทำทาน เช่นไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนว่าทานนี้ ควรแก่ผู้ใด ไม่ควรแก่ผู้ใด เป็นประโยชน์แก่ผู้ใด ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใด วัตถุทาน เป็นอย่างไร ขณะทำ ควรกระทำอย่างไร ไม่ใช่สักว่า ให้ๆ ๆ ๆ โดยไม่คิด อะไรทำนองนี้หรือเปล่าครับ?

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจ คำว่า บารมี ก่อน ครับ

บารมี มีความหมายดังนี้ครับ

๑. บารมี หมายถึง คุณธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน บารมีย่อมผูก ย่อมประกอบสัตว์ทั้งหลายไว้ในพระนิพพานนั้น. หรือ บารมีย่อมไป ย่อมถึง ย่อมบรรลุถึงพระนิพพาน

๒. คุณธรรม ๑๐ ประการ ที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ ชื่อว่า บารมี นั่นคือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ๑๐ ประการนี้ ที่พระองค์ทรงกระทำ ชื่อว่า บารมี

๓. บารมี คือ ธรรมที่ขัดเกลาสัตว์อื่นให้หมดจด จากมลทินคือกิเลส


- จะเห็นได้ว่า บารมี เป็นคุณธรรมที่ทำให้ถึงการดับกิเลสและพระนิพพาน จึงเป็นเรื่องยากยิ่งในการเจริญบารมี เพราะเป็นเรื่องของการทวนกระแสของกิเลส ที่สะสมมามาก และ เป็นเรื่องการเจริญอบรมคุณธรรมอย่างยาวนาน นั่นเองครับ

การจะเป็นบารมีได้นั้น จะต้องเป็นเรื่องของปัญญา ที่มีความเห็นถูก ที่เห็นโทษของกิเลส เห็นโทษของสังสารวัฏฏ์ จึงมีปัญญา ความเห็นถูก ที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ อันเป็นไปเพื่อละกิเลส และถึงการไม่เกิดอีก กุศลที่เจริญนั้น จึงจะเป็นบารมี ถ้าไม่มีปัญญาความเห็นถูก กุศลที่เจริญ จะเป็นบารมีไม่ได้เลย เพราะไม่เป็นไปเพื่อถึงฝั่ง คือ การดับกิเลสครับ ดังนั้น ปัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่แสดงถึงความเป็นบารมี ครับ

ทานบารมี คือ เจตนา สละวัตถุ ด้วยการบริจาค เพราะเห็นโทษของกิเลส คือ ความตระหนี่ และ ให้เพื่อ ปรารภถึงการดับกิเลส คือ พระนิพพาน จึงจะเป็นทานบารมี เหตุใกล้ให้เกิดทานบารมี ในจริยาปิฎก แสดงไว้ว่า มีวัตถุอันควรแก่การบริจาค คือ มีวัตถุที่พิจารณาด้วยปัญญา ว่าจะต้องสละเพื่อขัดเกลากิเลส เช่น ความตระหนี่ เป็นต้น ดังนั้น เหตุใกล้ของทานบารมี คือ วัตถุที่ควรสละ ของที่ควรจะให้ ครับ

เหตุที่สำคัญ ที่ขาดไม่ได้ทุกบารมี ดังในจริยาปิฎกแสดงไว้ คือ

ความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย นั่นคือ ความเป็นผู้มีปัญญา

เพราะปัญญา จึงทำให้มีความเห็นถูก คิดที่จะสละ เพื่อขัดเกลากิเลส ดังนั้น ปัญญาจึงเป็นเหตุสำคัญเสมอ ในการที่จะสละวัตถุ อันเป็นไปเพื่อสละกิเลส ครับ

ดังนั้น ขณะที่มีปัญญา พิจารณาว่า ควรให้เพื่อสละ ขัดเกลากิเลส ก็ชื่อว่า เป็น ทานบารมี ในขณะนั้น ครับ

และ อีกนัยหนึ่ง ทานที่ประกอบด้วยปัญญา ก็ชื่อว่าเป็นบารมี เพราะ มีปัญญาเป็นสำคัญ ในขณะที่ให้ แต่เป็นปัญญา ที่เกิดระลึกรู้ลักษณะ ของสภาพธรรม ในขณะที่ให้ทาน ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ที่ให้ แต่เป็นธรรมฝ่ายดี ที่ให้ ขณะนั้น เป็นการรู้ความจริงในขณะที่ให้ทาน ก็เป็นทานบารมีได้เช่นกัน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nong
วันที่ 31 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nopwong
วันที่ 31 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 31 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีสภาพธรรมแม้แต่อย่างเดียว ที่จะเกิดลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัย นี่คือ ความเป็นจริง ของสภาพธรรม ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แม้แต่การเห็น กับการได้ยิน ก็เป็นธรรม ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย เห็นขณะหนึ่ง เกิดเพราะปัจจัยหลายอย่าง กล่าวคือ มีจักขุปสาทะ (ตา) มีสี มีเจตสิกธรรม ที่เกิดพร้อมกับจิตเห็น และมีกรรมเป็นปัจจัย ขณะที่ได้ยินก็โดยนัยเดียวกัน มีโสตปสาทะ (หู) มีเสียง มีเจตสิกธรรม เกิดร่วมกับจิตได้ยิน และมีกรรมเป็นปัจจัย เป็นต้น

- การให้ทานมีทั้งที่ประกอบด้วยปัญญา กับไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นการให้ที่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว เป็นการเห็นประโยชน์ของทานกุศล ว่าเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง จึงมีการให้ทาน ไม่ใช่ให้เพื่อเป็นที่รัก หรือเพื่อต้องการผลตอบแทน เป็นต้น แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง และสภาพธรรมที่มีจริงก็เป็นที่ตั้ง ให้ปัญญารู้ตามความเป็นจริงได้ สำหรับผู้ที่มีปกติ อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็สามารถมีปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะที่ให้ทานก็ได้ ว่า เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปไม่ใช่เรา ทั้งหมดนั้นต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงจะเป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ

เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะเป็นเหตุให้ กุศลประการต่างๆ เจริญขึ้นด้วย คล้อยตามปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น และกุศลที่ได้กระทำก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ด้วย ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิรมิต
วันที่ 1 พ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ