ความต่างกันของ อนุสัยกิเลส 7 กับสังโยชน์ 10

 
gavajidham
วันที่  20 ต.ค. 2555
หมายเลข  21934
อ่าน  22,323

ทั้ง ๒ อย่างที่กล่าวมาคืออนุสัย ๗ และสังโยชน์ ๑๐

๑. สังโยชน์ ๑๐ คืออะไร - ขอช่วยยกตัวอย่างให้เห็นชัด

๒. อนุสัย ๗ และสังโยชน์ ๑๐ นี้ - อะไร ครอบคลุมถึงอะไร

๓. พระอริยบุคคล ละอนุสัยก่อนหรือสังโยชน์ก่อน - เป็นลำดับอย่างไร

๔. อาสวกิเลสเป็นกิเลสอย่างกลางเกิดขึ้นกับใจ - โดยมีอนุสัยกิเลส ๗ เป็นเหตุ

ขอบคุณ คุณ paderm ช่วยตอบด้วย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. สังโยชน์ ๑๐ คืออะไร - ขอช่วยยกตัวอย่างให้เห็นชัด

สังโยชน์ คือ สภาพธรรมที่ผูก ผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ คือ ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะคือ การเกิด ไปได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็น สังโยชน์ จึงเป็นเครื่องกั้น ที่จะทำให้ไม่สามารถออกไปจากสังสารวัฏฏ์

สังโยชน์ มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. กามราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง เช่น ขณะที่ยินดีพอใจในอาหารที่ทาน ขณะนั้นก็เป็นกามราคะสังโยชน์ สรุปได้ว่า เป็นความยินดีพอใจ ใน รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ครับ

๒. รูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความยินดีพอใจ ในการเกิดในรูปพรหมภูมิ ครับ

๓. อรูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือความยินดีพอใจในการเกิดในอรูปพรหมภูมิ ครับ

๔. ปฏิฆสังโยชน์ ได้แก่ โทสเจตสิก ที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง คือ ความโกรธที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ครับ

๕. มานสังโยชน์ ได้แก่ มานเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ขณะที่เปรียบเทียบว่า เราเก่งกว่า ด้อยกว่า เป็นมานะในขณะนั้น ครับ เป็นมานะสังโยชน์

๖. ทิฎฐิสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวง คือ ขณะที่เห็นผิด เช่น เกิดควาเมห็นผิดว่า ตายแล้วไม่เกิด ตายแล้วไปอยู่ในสถานที่ ที่เที่ยง กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เป็น ความเห็นผิดในขณะนั้น เป็น ทิฏฐิสังโยชน์ ครับ

๗. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ได้แก่ ทิฎฐิเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความเห็นผิดเช่นกัน ครับ แต่ เป็นความเห็นผิด ในข้อวัตรปฏิบัติ เช่น เข้าใจว่าการทรมานตนเองจะทำให้หลุดพ้น เป็นต้น

๘. วิจิกิจฉาสังโยชน์ ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่เกิดกับโมหวิจิกิฉาสัมปยุตจิต ๑ ดวง คือ ความลังเลสงสัย เช่น ขณะที่คิดว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ สงสัยในพระรัตนตรัย นั่นเอง สงสัยว่า ข้อปฏิบัติที่จะถึงการดับทุกข์มีจริงหรือ เป็นต้น ครับ

๙. อุทธัจจสังโยชน์ ได้แก่ อุทธัจจเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง คือ ความฟุ้งซ่าน ขณะที่คิดด้วยอกุศล ขณะนั้นก็ฟุ้งซ่านไป มีการคิดเรื่องการงาน เป็นต้น ครับ

๑๐. อวิชชาสังโยชน์ ได้แก่ โมหเจตสิก ที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง คือ ความไม่รู้ เช่น ขณะที่คิดไม่ออก หลงลืมสติ ขณะนั้น ก็เป็นโมหะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 ต.ค. 2555

๒. อนุสัย ๗ และสังโยชน์ ๑๐ นี้ - อะไรครอบคลุมถึงอะไร

สังโยชน์ ๑๐ จะครอบคลุมมากกว่า ครับ

อนุสัย ๗ มีดังนี้

๑. กามราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในกาม

๒. ปฏิฆานุสัย หมายถึง โทสะ ความโกรธ

๓. ทิฏฐานุสัย หมายถึง ความเห็นผิด

๔. วิจิกิจฉานุสัย หมายถึง ความสงสัย

๕. มานานุสัย หมายถึง ความถือตัว ความสำคัญตัว

๖. ภวราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในภพ

๗. อวิชชานุสัย หมายถึง โมหะ ความไม่รู้


กามราคานุสัย เหมือน กามราคสังโยชน์

ปฏิฆานุสัย เหมือน ปฏิฆสังโยชน์

ภวราคานุสัย เหมือนกับ รูปราคสังโยชน์ และ อรูปราคสังโยชน์

ทิฏฐานุสัย เหมือน ทิฎฐิสังโยชน์

วิจิกิจฉานุสัย เหมือน วิจิกิจฉาสังโยชน์

มานานุสัย เหมือน มานะสังโยชน์

อวิชชานุสัย เหมือน อวิชชาสังโยชน์

แต่อนุสัยไม่มี สีลพตปรามาส ข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด

สังโยชน์ จึงมีมากกว่า อนุสัย ครับ

และ อนุสัย ไม่มีอุทธัจจะ แต่ สังโยชน์มีอุทธัจจะ ครับ

๓. พระอริยบุคคล ละอนุสัยก่อนหรือสังโยชน์ก่อน - เป็นลำดับอย่างไร

พระอริยบุคคล ละอนุสัยและสังโยชน์ด้วย เพราะ อกุศลธรรมแบ่งเป็น ๙ กอง อนุสัยก็เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง สังโยชน์ก็เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ดังนั้นการละของพระอริยบุคคล มีพระโสดาบัน เป็นต้น

พระโสดาบัน ละ วิจิกิจฉานุสัย และ ละ วิจิกิจฉาสังโยชน์ไปพร้อมๆ กัน และ ละ ทิฏฐานุสัย และ ละ ทิฏฐิสังโยชน์ และ ละ สีลพตปรามาสสังโยชน์ ครับ

พระสกทาคามี ทำให้ กามราคะสังโยชน์ และ กามราคานุสัยเบาบาง แต่ยังละไม่ได้ และทำให้ปฏิฆะสังโยชน์ และปฏิฆานุสัยเบาบาง แต่ยังละไม่ได้หมดสิ้น

พระอนาคามี ละ กามราคะสังโยชน์ และ ละ กามราคานุสัย ได้หมดสิ้น และ ละ ปฏิฆะสังโยชน์ และ ละ ปฏิฆานุสัยได้หมดสิ้น

พระอรหันต์ ละ อวิชชาสังโยชน์ และอวิชชานุสัยได้หมดสิ้น ละ มานะสังโยชน์ และมานานุสัยได้หมดสิ้น พระอรหันต์ ละ อุทัจจะสังโยชน์ได้ พระอรหันต์ ละ ภวราคานุสัย และ ละ รูปราคสังโยชน์ และ อรูปราคสังโยชน์ ได้หมดสิ้น ครับ

ดังนั้น ให้เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมหลากหลายนัย โดย แบ่งอกุศลธรรมเป็นประเภทต่างๆ แต่องค์ธรรม ก็คือ ประเภทเดียวกัน แต่ที่เรียกชื่อต่างกัน เพราะลักษณะของกิเลสนั้น มีความละเอียดหลากหลายแตกต่างกัน ทั้งที่เป็นสภาพธรรมเดียวกัน คือ เป็นเครื่องผูก ที่เป็นสังโยชน์ก็ได้ และ เป็นอนุสัย คือ เป็นกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน ก็ได้ ครับ

๔. อาสวะกิเลสเป็นกิเลสอย่างกลางเกิดขึ้นกับใจ - โดยมีอนุสัยกิเลส ๗ เป็นเหตุ

ถูกต้อง ครับ อาศัย อนุสัยกิเลส ที่นอนเนื่อง เป็นเหตุให้ กิเลส เกิดขึ้นในจิตใจเป็นอาสวะกิเลสที่ไหลไปนั่นเอง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 21 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 21 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น อนุสัยกิเลส ก็ยังมีอยู่ครบ เป็นเหตุให้มีกิเลสขั้นต่างๆ เกิดขึ้นเป็นไป แต่ถ้ามีการอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น อนุสัยกิเลสก็จะถูกดับตามลำดับมรรค และที่จะดับได้อย่างหมดสิ้นก็ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์

แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เพราะยังมีอนุสัยกิเลสจึงเป็นเหตุให้กิเลสประการต่างๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ทำให้ผู้นั้นยังไม่พ้นไปจากทุกข์ ยังไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ถูกกิเลสผูกไว้ ตรึงไว้ ประกอบไว้ในวัฏฏะ จนกว่าจะมีปัญญาสามารถที่จะดับได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ไม่เว้นธรรมใดๆ เลย รวมทั้งกิเลสอกุศลธรรมด้วย ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง มีจริงในชีวิตประจำวันและเกิดขึ้นเป็นไปมากด้วย พระองค์ทรงแสดงไว้โดยละเอียดและมีมากมายในพระธรรมคำสอนเพื่อให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา พร้อมทั้งเห็นโทษเห็นภัยของสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดีเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลาให้เบาบาง จนกว่าจะสามารถดับได้ จนหมดสิ้นในที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 21 ต.ค. 2555

อนุสัยเป็นกิเลสที่นอนเนื่อง เช่น โลภะ โทสะ ที่สะสมมา นอนเนื่องมานับกัปๆ ส่วนสังโยชน์ เป็นเครื่องผูก ที่ผูกสัตว์ให้อยู่ในวัฏฏะ เช่น ทรัพย์ บ้าน ที่ดิน บุตร ภรรยา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เรืองกิตติ์
วันที่ 13 ก.ย. 2557

สาธุ ธรรมทานครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Tommy9
วันที่ 7 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 14 ธ.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 20 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ