ถือโดยนิมิต ถือโดยอนุพยัญชนะ

 
pirmsombat
วันที่  10 ต.ค. 2555
หมายเลข  21873
อ่าน  2,564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอนจาก

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 13

เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ

เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศล

ธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่า

ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ เธอฟังเสียงด้วยโสตะ. . . ดมกลิ่นด้วยฆานะ. . .

ลิ้มรสด้วยชิวหา . . . ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย . . . รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ

แล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อ

ไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบ

งำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วย

อินทรีย์สังวร

ข้อความบางตอน เรื่อง อินทรีย์สังวร

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 394

ลำดับนั้น เพราะอินทรีย์สังวรเป็นการรักษาศีล

หรือเพราะเทศนานี้

ที่พระองค์ทรงแสดงตามลำดับนี้ เป็นที่สบายของเทวดาทั้งหลาย ฉะนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงปฏิปทาเริ่มตั้งแต่อินทรีย์สังวรไป

จึงทรงปรารภคำมีอาทิว่า จกฺขูหิ ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า จกฺขูหิ เนว โลลสฺส

ภิกษุไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุทั้งหลาย

คือไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุทั้งหลาย ด้วยอำนาจมีรูปที่

เราไม่เคยดู ควรดูเป็นต้น. บทว่า คามกถาย อาวรเย โสตํ

พึงป้องกันหูจากคามกถา (คำพูดของชาวบ้าน)

คือพึงป้องกันหูจากติรัจฉานกถา.

แต่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า

จักษุไม่เห็นรูป เพราะไม่มีจิต

จิตไม่เห็นรูป เพราะไม่มีจักษุ

ย่อมเห็นด้วยจิตอันมีปสาทจักษุ กระทบ อารมณ์ทางทวาร

ความในข้อนี้จึงมีว่า เห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ.

บทว่า นิมิตฺตคฺคาหี เป็นผู้ถือนิมิต

คือถือนิมิตหญิงและชาย หรือ นิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส

มีสุภนิมิตเป็นต้น

ด้วยอำนาจฉันทราคะ.-

เพียงเห็นเท่านั้นนิมิตไม่ปรากฏ.

ข้อความบางตอนจาก

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 46

ก็ภิกษุเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างไร

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้

เห็นรูปด้วยตาแล้ว ฟังเสียงด้วยหูแล้ว

ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว

รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว

เป็นผู้ไม่ถือเอาโดยนิมิต

ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ

อภิชฌา โทมนัส ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปเป็นอกุศล

จะพึงไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ คือ

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอยู่

เพราะเหตุความไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันใด

ปฏิบัติเพื่อปิดกั้นเสียซึ่งอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น

รักษาอินทรีย์ คือ

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถึงความสำรวมในอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย

หมายเหตุ ข้อปฏิบัติไม่ผิด คือ เป็นผู้ไม่ถือเอาโดยนิมิต

ถือโดยนิมิต ได้แก่รวบถือเอาทั้งหมดในรูปที่ได้เห็น ฯลฯ ว่างาม ท่านเปรียบด้วย

กิริยาที่จระเข้ฮุบเหยื่อ

ถือโดยอนุพยัญชนะ ได้แก่เลือกถือเอาเป็นอย่างๆ ในรูป ฯลฯ นั้น

ว่าคิ้วงาม นัยน์ตางาม จมูกงาม เป็นต้น ท่านเปรียบด้วย

กิริยาที่เป็ดไซ้หาเหยื่อ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่านิมิต นิมิตฺต (การกำหนด , เครื่องหมาย) เครื่องหมายให้เกิดกิเลส หมายถึง

ส่วนหยาบที่เป็นรูปร่าง สัณฐาน ความหมายที่จิตคิดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น เห็นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็น

โต๊ะเก้าอี้ ได้ยินเสียงผู้หญิงหรือผู้ชาย ได้กลิ่นดอกไม้ ลิ้มรสเป็ดไก่ ถูกต้องสัมผัส

สำลี คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นไปด้วยอกุศลจิต เป็นการยึดนิมิต แต่ขณะที่รู้

รูปร่างสัณฐาน ความหมายต่างๆ ด้วยกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการยึดนิมิต แต่เป็น

บัญญัติอารมณ์ของกุศลจิตเท่านั้นครับ

ส่วนคำว่าอนุพยัญชนะ มาจากคำว่า อนุ (น้อย , ภายหลัง , ตาม) + พฺยญฺชน (แจ้ง , ปรากฏ) แปลได้ว่า ส่วนละเอียดที่ทำให้กิเลสปรากฏ หมายถึง ส่วนละเอียดของรูปร่างสัณฐาน หรือความหมาย ที่จิตคิดถึงจากสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่นปาก คอ คิ้ว คาง ริ้วรอยของใบหน้า ที่เป็นส่วนละเอียดของร่างกาย หรือส่วนปลีกย่อยของวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้น ในขณะนั้นเป็นการยึดอนุพยัญชนะ แต่ในขณะที่พิจารณาส่วนละเอียดด้วยกุศลจิต ไม่เป็นการยึดอนุพยัญชนะ ยกตัวอย่างเช่น พิจารณาความเหี่ยวย่นของผิวพรรณ และรู้ถึงความไม่เที่ยงของร่างกายซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นต้น

ดังนั้นขณะใดที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ รวมทั้งเห็นส่วนละเอียด เช่น มือและเท้า

เป็นต้น แล้วเกิดกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะครับ แต่ขณะใดที่

เห็นเป็นสิ่งต่างๆ เป็นสัตว์ บุคคล หรือเห็นส่วนละเอียด แต่ไม่ติดข้องไม่เป็นอกุศลแต่

จิตเป็นกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะครับ แต่ถึงแม้ว่า ไม่ยึดถือใน

นิมิต อนุพยัญชนะในขณะนั้น แต่ก็ไม่ได้รู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น

การไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะที่ประเสริฐจริงๆ คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้

ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ไม่ยึดถือด้วยปัญญา

ไม่ยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล มีรูปร่างสัณฐานส่วนละเอียด ส่วนหยาบ เพราะรู้ลักษณะ

ของสภาพธรรม ครับ

ขออนุโมทนาคุณหมอและทุกท่าน มาณ ที่นี้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pirmsombat
วันที่ 11 ต.ค. 2555

ขอบคุณและอนุโมทนาคุณผเดิม และ ทุกท่านครับ

ความคิดเห็นของคุณผเดิมมีประโยชน์มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เข้าใจ
วันที่ 11 ต.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในพระธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 11 ต.ค. 2555

ถือโดยนิมิตได้แก่ รวบถือเอาทั้งหมดในรูปที่ได้เห็น ฯลฯ ว่างาม ท่านเปรียบด้วย

กิริยาที่จระเข้ฮุบเหยื่อ

ถือโดยพยัญชนะ ได้แก่ เลือกถือเอาเป็นอย่างๆ ในรูป ฯลฯ นั้นว่า คิ้วงาม นัยน์ตางาม

จมูกงาม เป็นต้น ท่านเปรียบด้วย กิริยาที่เป็ดไซ้หาเหยื่อ

เป็นอุปมาอุปมัยที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากครับ

การถือโดยพยัญชนะที่ไปติดข้องในความละเอียดต่างๆ เหมือนกับเป็ดไซ้หาเหยื่อ

ตัวเล็กๆ นั้น หากลดลงไปได้ในชีวิตจริงๆ ไม่จู้จี้ จุกจิก เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แล้ว

คงจะสบายใจมากขึ้นเลยนะครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pirmsombat
วันที่ 11 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณและอนุโมทนา ขอชื่นชม คุณผู้ร่วมเดินทางที่แสดงความคิดเห็นได้ดีมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 11 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ได้ฟังพระธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยายในส่วนนี้

ก็ขอยกข้อความดังกล่าวมาเพื่อสหายธรรมทุกท่านได้อ่าน

และ พิจารณา ร่วมกัน ครับ

ข้อความบางตอน จากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

"ขณะใดที่เห็นแล้ว สนใจ เพลินในนิมิตคือ รูปร่างสัณฐาน และอนุพยัญชนะคือส่วนละเอียดของสิ่งที่ปรากฏ ให้ทราบว่าขณะนั้น เพราะสีปรากฏ จึงทำให้คิดนึกเป็นรูปร่างสัณฐาน และส่วนละเอียดของสิ่งต่างๆ ขึ้น เมื่อใดที่สติเกิดระลึกรู้และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณา ก็จะเริ่มรู้ว่านิมิตและอนุพยัญชนะทั้งหลาย ซึ่งเป็นสีต่างๆ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือปัญญาที่เริ่มเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เมื่อสติเกิดระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ ก็จะเข้าใจอรรถที่พระผู้มี-พระภาคตรัสว่า ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ (ด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง) และเริ่มละคลายอัตตสัญญา ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามขั้นของปัญญาที่เจริญขึ้น" กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และ ทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pirmsombat
วันที่ 11 ต.ค. 2555

ขอบพระุคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณคำปั่นอย่างสูง มีประโยชน์มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kinder
วันที่ 12 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ