เรื่องของกุศล อกุศล อีกรอบครับ

 
นิรมิต
วันที่  30 ก.ย. 2555
หมายเลข  21807
อ่าน  1,812

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

ยังคงมีความสงสัยอีกเรื่อยๆ ในเรื่องของบาป-ไม่บาป

จึงขอรบกวนสอบถามเพิ่มเติมครับ ในกรณีที่เรา ดื่มน้ำ โดยสำคัญว่าเป็นน้ำเปล่า แต่ปรากฏว่าเป็นเหล้า อันนี้จะบาปหรือไม่ครับ หรืออย่าง จะให้ของเล่นหรือของที่ระลึกกับใครสักคน ก็เป็นกุศลที่จะให้ทาน ก็เลยให้ไป แต่ปรากฏว่าในกล่องนั้นเป็นระเบิด อาจจะถูกสับเปลี่ยนมา สุดท้ายเขาก็ตาย อย่างนี้ชื่อว่าบาปหรือไม่บาป

ในกรณีที่สองอย่างข้างต้นไม่บาป ทำไม การให้ธรรมที่ผิด จึงบาปครับ? เป็นไปไม่ได้เลยเหรอครับที่ในขณะที่กล่าวธรรมที่ผิดด้วยสัญญาวิปลาสก็ดี หรือเข้าใจผิดก็ดี จะเป็นกุศลไม่ได้เลย จะต้องเป็นอกุศลตลอด?

แล้วควรจะปฏิบัติอย่างไร ในการให้ธรรมเป็นทาน คือ ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าควรจะทำอย่างไร บางครั้งก็ต้องให้ธรรมที่ ไม่เรียกว่าผิด คือ ไม่ได้เป็นของพระพุทธศาสนา ไม่ได้มีเจตนาเบียดเบียน อย่างเช่น แนะนำในทางโลก อะไรแบบนั้น ก็คือไม่ได้บิดเบือนคำสอนพระศาสนา แต่ก็ไม่ได้เกื้อประโยชน์ในการดับทุกข์เป็นสมุจเฉท อย่างนี้จะเป็นบุญหรือบาป ส่วนการให้ธรรม ที่เป็นในพระศาสนา ก็ไม่ได้มีเจตนาให้เข้าใจผิด ก็ให้ด้วยคิดว่า ถ้าให้เป็นพื้นฐานไปก่อน ก็จะเป็นประโยชน์ คือใช้คำว่า บอกไม่หมด ก็ได้ ไม่ถึงกับบิดเบือน ประมาณว่า ไม่สอนเรื่องนรก-สวรรค์ แต่สอนธรรมะตรงๆ ไม่พูดถึงนรกสวรรค์ แต่ไม่ปฏิเสธ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในกรณีที่เรา ดื่มน้ำ โดยสำคัญว่าเป็นน้ำเปล่า แต่ปรากฏว่าเป็นเหล้า อันนี้จะบาปหรือไม่ครับ

- เจตนาดื่มน้ำเปล่า ไม่บาปที่เป็นการผิดศีล เพราะไม่ได้มีเจตนาดื่มน้ำเมา ครับ


หรืออย่าง จะให้ของเล่นหรือของที่ระลึกกับใครสักคน ก็เป็นกุศลที่จะให้ทาน ก็เลยให้ไป แต่ปรากฏว่าในกล่องนั้นเป็นระเบิด อาจจะถูกสับเปลี่ยนมา สุดท้ายเขาก็ตาย อย่างนี้ชื่อว่าบาปหรือไม่บาป

- เจตนาให้ของที่ดี มีประโยชน์กับผู้รับ เป็นกุศล ไม่บาป


ในกรณีที่สองอย่างข้างต้นไม่บาป ทำไม การให้ธรรมที่ผิด ยังจึงบาปครับ? เป็นไปไม่ได้เลยเหรอครับที่ในขณะที่กล่าวธรรมที่ผิดด้วยสัญญาวิปลาสก็ดี หรือเข้าใจผิดก็ดี จะเป็นกุศลไม่ได้เลย จะต้องเป็นอกุศลตลอด?

- ขณะใดที่วิปลาส จะด้วย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวปลาส เป็นอกุศลจิต ในขณะนั้น เป็นกุศลจิตไม่ได้เลย เพราะ ขณะนั้น คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ครับ ซึ่งจะต้องแยกให้ออกครับว่า ขณะที่หวังดี คิดจะให้ธรรมที่ถูก ขณะหนึ่ง แต่ ขณะที่ให้ธรรมที่ผิด ก็เป็นการคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นอกุศล ก็เป็นจิตอีกขณะหนึ่ง ต้องเข้าใจครับว่า ปนกันไม่ได้ ในแต่ละขณะจิต

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

ขอเรียนถามเรื่องวิปลาสในชีวิตประจำวันค่ะ


แล้วควรจะปฏิบัติอย่างไร ในการให้ธรรมเป็นทาน คือ ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าควรจะทำอย่างไร บางครั้งก็ต้องให้ธรรมที่ ไม่เรียกว่าผิด คือ ไม่ได้เป็นของพระพุทธศาสนา ไม่ได้มีเจตนาเบียดเบียน อย่างเช่น แนะนำในทางโลก อะไรแบบนั้น ก็คือไม่ได้บิดเบียนคำสอนพระศาสนา แต่ก็ไม่ได้เกื้อประโยชน์ในการดับทุกข์เป็นสมุจเฉท อย่างนี้จะเป็นบุญหรือบาป ส่วนการให้ธรรม ที่เป็นในพระศาสนา ก็ไม่ได้มีเจตนาให้เข้าใจผิด ก็ให้ด้วยคิดว่า ถ้าให้เป็นพื้นฐานไปก่อน ก็จะเป็นประโยชน์ คือใข้คำว่าบอกไม่หมด ก็ได้ ไม่ถึงกับบิดเบียน ประมาณว่า ไม่สอนเรื่องนรก-สวรรค์ แต่สอนธรรมะตรงๆ ไม่พูดถึงนรกสวรรค์ แต่ไม่ปฏิเสธ

- ถ้าสอนเรื่องใดที่ถูกต้อง ไม่เป็นความเห็นผิด ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะ พระธรรมของพระพุทธเจ้ามีหลายระดับ ก็สามารถแนะนำคำสอนเบื้องต้นได้ ก็ไม่ได้มีความเห็นผิดอะไร และ ไม่ใช่ให้สิ่งที่ผิด ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
นิรมิต
วันที่ 2 ต.ค. 2555

กราบอนุโมทนาสาธุครับ

ถ้าเช่นนั้น ในข้อที่เคยถามเกี่ยวกับว่า ให้หนังสือธรรมะที่เนื้อหาข้างในผิด แต่เข้าใจว่าเนื้อหาข้างในเป็นธรรมะที่ถูก (ในกรณีที่ผู้นั้นเป็นผู้มีความเข้าใจพระธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ) คือไม่ได้เป็นผู้มีความเห็นผิด ซึ่งหากได้เปิดอ่านหนังสือนั้น ก็จะทราบว่าผิด ก็จะไม่ได้ แต่ เพราะไม่ได้เปิดอ่าน และอาจจะมีบุคคลที่เป็นอาจารย์ ซึ่งก็สอนถูกสอนดี กล่าวว่าเล่มนี้ดี เล่มนี้เป็นประโยชน์ ก็เลยเชื่อด้วยกุศลที่เลื่อมใสในอาจารย์ ก็ไม่ได้ตรวจทาน

เหตุใดยังชื่อว่าเป็นอกุศลกรรมครับ เพราะโดยเรื่องราวและกุศลเจตนา ไม่ต่างกับ 2 เรื่องแรกข้างต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 2 ต.ค. 2555

อนึ่ง การให้ในสิ่งไม่ดีไม่ควร อย่างให้ธรรมที่ผิด หรืออย่างให้สุรา ของมึนเมา โดยที่ขณะที่จะให้ก็มี เจตนาดีที่เป็นกุศลคิดจะให้ ขณะหนึ่ง ไอ้ เจตนากุศลขณะหนึ่งขณะนั้น ชื่อว่า มีผลเป็นกุศลวิบากด้วยไหม หรือไม่ชื่อว่าเป็นกุศลกรรมใดๆ เลย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 2 ต.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 และ 3 ครับ

ถ้าเช่นนั้น ในข้อที่เคยถามเกี่ยวกับว่า ให้หนังสือธรรมะที่เนื้อหาข้างในผิด แต่เข้าใจว่าเนื้อหาข้างในเป็นธรรมะที่ถูก (ในกรณีที่ผู้นั้นเป็นผู้มีความเข้าใจพระธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ) คือไม่ได้เป็นผู้มีความเห็นผิด ซึ่งหากได้เปิดอ่านหนังสือนั้น ก็จะทราบว่าผิด ก็จะไม่ได้ แต่เพราะไม่ได้เปิดอ่าน และอาจจะมีบุคคลที่เป็นอาจารย์ ซึ่งก็สอนถูก สอนดี กล่าวว่าเล่มนี้ดี เล่มนี้เป็นประโยชน์ ก็เลยเชื่อด้วยกุศลที่เลื่อมใสในอาจารย์ ก็ไม่ได้ตรวจทาน เหตุใดยังชื่อว่าเป็นอกุศลกรรมครับ เพราะโดยเรื่องราวและกุศลเจตนา ไม่ต่างกับ ๒ เรื่องแรกข้างต้น

----------------------------------------------------------------

ขออนุญาตยกคำถามเก่าที่ได้เคยถาม ครับ

จากคำถามที่ว่า

คืออย่างเช่นเวลาเราให้ธรรมะเป็นธรรมทาน อย่างให้หนังสือธรรมะกับคนอื่น หรือถวายหนังสือธรรมะแด่พระสงฆ์เป็นต้น โดย ที่หนังสือที่ให้ยังไม่ทันได้เปิดอ่านตรวจทานดูก่อน หรือ อ่านตรวจทานแล้วก็เห็นว่ามีบางช่วงบางตอน ไม่ค่อยตรง แต่ที่เหลือก็ถือว่าโอเค ก็เลยถวายให้หรือให้ไปด้วยเจตนาคิดว่า จะเป็นพื้นฐานพระธรรมให้เขามีพื้นฐานเพื่อจะได้เข้าใจธรรมขั้นสูงต่อไป อย่างนี้จะถือว่าเป็นการให้มิจฉาทิฏฐิหรือเปล่าครับ?

----------------------------------------------------------

จากคำถามครั้งที่แล้ว ได้กล่าวไว้ครับว่า ได้มีการอ่านแล้วก็มีส่วนที่ผิดและถูก คือไม่ค่อยตรง คือ มีส่วนที่ผิด จึงให้ นั่นแสดงครับว่า ขณะให้มีเจตนาให้ในสิ่งที่ผิด แม้จะสำคัญว่าถูก บางส่วน แต่ก็รู้ว่า มีสิ่งผิดก็ให้ในสิ่งทีผิดด้วย ก็เป็นอกุศล ในการให้สิ่งที่ผิด

เพราะฉะนั้น ธรรมจึงไม่ใช่เรืองการโยงไปโยงมา เพื่อรับรองว่าถูกในสิ่งนั้น แต่ต้องพิจารณาไปในแต่ละเรือง โดยที่ต้องพิจารณาว่า ตรงตามพระพุทธพจน์ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหรือไม่ หาก ไม่พิจารณาตามพระพุทธพจน์เป็นสำคัญ ก็อาจคิดเองได้ และก็กลายเป็นว่า ผู้ที่พิมพ์หนังสือธรรมที่ผิด ด้วยเจตนาดีอยากผู้อื่นเข้าใจ ก็ทำให้ได้บุญ ได้กุศล เพราะในความเป็นจริง กลับเป็นผู้ทำลายพระศาสนาให้พระธรรมอันตรธาน เพราะ ทำให้พระธรรมของพระพุทธเจ้าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ต่อไปในอนาคตจะเกิด สัทธรรมปฏิรูป คือ ธรรมที่ไม่ถูกต้อง ทำให้พระธรรมของพระองค์อันตรธานไปในที่สุด

และอย่างกรณีของการพูดธรรมที่ผิด ไม่ถูกต้อง มี เจตนา ขณะที่หวังดี แต่ขณะที่พูด พูดคำที่ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จะกล่าวว่าเป็นกุศลไม่ได้ ครับ

สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า วาจาที่ไม่แท้ ไม่จริง ไม่ควรกล่าวโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น กุศล พระพุทธองค์ไม่ทรงห้าม ทรงสรรเสริญ แต่ อกุศล พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญ ครับ

เพราะฉะนั้น ขณะที่พูดคำไม่ถูกต้อง ไม่จริงจะเป็นกุศลไม่ได้เลย พูดเท็จ อยากให้คนอื่นสบายใจ เจตนาดีขณะหนึ่ง แต่ขณะที่พูดคำไม่จริง ไม่ถูกต้อง จะเป็นกุศลไม่ได้ ครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ชัดเจนครับว่า การให้สิ่งที่เป็นธรรมที่ชั่วผู้นั้นก็ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก คือ เป็นบาป และก็เป็น อสัตบุรุษ ยิ่งกว่า อสัตบุรุษ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 558

อสัตบุรุษยิ่งกว่าอัสตบุรุษ เป็นไฉน?

บุคคลบางคนเป็นผู้มีความ เห็นผิด ฯลฯ มีวิมุตติผิดด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นด้วย นี้เรียกว่า อสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ.

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 192

[๑๙๕]

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑

ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑

คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบกรรม มิใช่บุญ เป็นอันมาก

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.

จากพระพุทธพจน์ที่ยกมานั้น แสดงชัดเจนครับว่า ผู้ที่ชักชวนในธรรมที่กล่าวไว้ผิด ซึ่งการชักชวน ก็ด้วยการกล่าวธรรมที่ผิดก็ได้ หนังสือก็ได้ที่ผิด ไม่ถูกต้อง ย่อมประสบกรรมที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก ครับ

อย่างไรก็ดี คงรบกวนท่านผู้ถาม หากมีพระสูตร พระพุทธพจน์ที่อธิบายว่า การให้ธรรมที่ผิด เป็นกุศล ก็สามารถสนทนาเพิ่มเติมได้ ครับ ก็จะเป็นการสนทนาด้วยพระธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะ ถ้าเรายึดพระธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ไม่คิดเอง ก็จะตรงถูกต้องตามความเป็นจริง และปัญหาก็จบด้วยเพราะ มีพระธรรมเป็นเครื่องตัดสินครับ ซึ่ง กระผม ได้ยกข้อความในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อนึ่ง การให้ในสิ่งไม่ดีไม่ควร อย่างให้ธรรมที่ผิด หรืออย่างให้สุรา ของมึนเมา โดยที่ ขณะที่จะให้ก็มีเจตนาดีที่เป็นกุศลคิดจะให้ ขณะหนึ่ง เจตนากุศลขณะหนึ่ง ขณะนั้น ชื่อว่า มีผลเป็นกุศลวิบากด้วยไหม หรือไม่ชื่อว่าเป็นกุศลกรรมใดๆ เลย

---------------------------------------------------------

เจตนาดี คิดจะให้ เป็นกุศลจิต แต่กรรมนั้นไม่สำเร็จ เพราะ ยังไม่มีการให้ ต่อเมื่อให้แล้ว จึงเป็นกุศลกรรม ครับ ที่จะให้ผลเป็นวิบาก

ประโยชน์ที่ควรได้รับจากพระธรรม คือ การมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง โดยพิจารณาตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสำคัญ แล้วน้อมมาที่จะเห็นโทษของกิเลส ในเรื่องที่รับฟัง คือ ความเป็นผู้ละเอียดที่จะกล่าวธรรม หรือ ให้สื่อธรรมที่ถูกต้อง

โดยพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน นี่คือประโยชน์ที่ได้จากพระธรรม เป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 2 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมหรือกุศลธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังถูกผูกมัดไว้ด้วยกิเลสประการต่างๆ จึงมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา และเกิดมากกว่ากุศลด้วย

กุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี ควรอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ในขณะที่กุศลเกิด ย่อมขัดเกลาอกุศล อกุศลเกิดไม่ได้ในขณะที่จิตเป็นกุศล, ธรรมที่ตรงกันข้ามกับกุศลธรรม คือ อกุศลธรรมซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นบาปธรรม ให้ผลเป็นทุกข์ เป็นสภาพธรรมที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ซึ่งไม่ควรเลยที่จะสะสมอกุศลให้มีมากขึ้น

การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเป็นปกติบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของพระธรรมคำสอนก็ตาม ล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกทั้งสิ้น ถ้าเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบในการฟัง ในการศึกษา เมื่อมีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะทำให้เป็นผู้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล และเห็นคุณค่าของกุศลธรรม ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ประมาททั้งในกุศลและในอกุศลแม้จะเล็กน้อย เป็นผู้เจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลาอกุศลของตนเอง

เพราะเหตุว่าเมื่อกุศลไม่เกิดขึ้น ไม่เจริญขึ้น ก็เป็นโอกาสของอกุศลที่นับวันจะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นิรมิต
วันที่ 2 ต.ค. 2555

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนา อ.ผเดิม และ อ.คำปั่น เป็นอย่างสูงครับ

ที่ถามวกไปวนมา โยงโน่นโยงนี่เพราะยังไม่เข้าใจจริงๆ ครับ พิจารณาตามแล้วแต่ก็ยังสงสัย จึงได้เรียนถามเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ เพราะบางเรื่องราวที่คล้ายๆ และดูเหมือนอยู่ในลักษณะเดียวกัน จิตที่เป็นไปก็ใกล้เคียงกัน แต่ผลเป็นบุญกับบาปต่างกัน ก็เลยไม่เข้าใจ ก็กลัวว่าที่กระทำๆ อยู่ จะเป็นอกุศล แทนที่จะเป็นกุศล

งั้นสุดท้ายนี้ รู้สึกเหมือนคำถามผมจะวกไปวนมามากไปจนสับสนเอง ว่าได้ถามทำนองนี้ไปแล้ว ต้องขออภัยด้วยครับ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นตามตัวอย่างที่ผมได้ถามไปข้างต้นว่า ให้หนังสือธรรมะที่เนื้อหาข้างในผิด แต่เข้าใจว่าเนื้อหาข้างในเป็นธรรมะที่ถูก (ในกรณีที่ผู้นั้นเป็นผู้มีความเข้าใจพระธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ) คือไม่ได้เป็นผู้มีความเห็นผิด ซึ่งหากได้เปิดอ่านหนังสือนั้น ก็จะทราบว่าผิด ก็จะไม่ได้ แต่เพราะไม่ได้เปิดอ่าน และอาจจะมีบุคคลที่เป็นอาจารย์ ซึ่งก็สอนถูก สอนดี กล่าวว่าเล่มนี้ดี เล่มนี้เป็นประโยชน์ ก็เลยเชื่อด้วยกุศลที่เลื่อมใสในอาจารย์ ก็ไม่ได้ตรวจทาน อย่างนี้ จะถือเป็นการกระทำอกุศลไหมครับ

สุดท้ายนี้อยากขอความกรุณาท่านวิทยากร ช่วยโปรดอธิบายลักษณะโดยละเอียด ของ

1. โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์

2. มหากุศลญาณสัมปยุตต์

ว่าสองอย่างนี้ มีลักษณะต่างกันโดยละเอียดอย่างไรบ้างครับ เพราะถ้าเป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ก็พอเข้าใจว่านี่คือจะประกอบกับความเห็นผิดทุกอย่าง

แต่สองอย่างนี้ ซึ่ง บางครั้ง โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็เหมือน และ คล้าย กับ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ มากๆ แยกไม่ออกจริงๆ อย่างเช่น เชื่อเรื่องกรรม ขณะที่เชื่อก็เป็นได้ทั้งโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ที่ชื่นชอบ และเห็นดีเห็นงามด้วยกับ เรื่องกรรมและผลของกรรม อาจจะมีการคิดตริตรองสาวเหตุสาวผล อย่างว่า เพราะมีชาตินี้ ชาติก่อนก็มี ซึ่งคิดเรื่องนี้ ด้วยโลภทิฏฐิวิปปยุตต์ก็ได้ ไม่ใช่เป็นกุศลญาณสัมปยุตต์

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนากุศลของท่านวิทยากรจริงๆ ครับ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 2 ต.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

- การให้หนังสือธรรมโดยไม่รู้ว่าผิด ต่างกับกรณีการกล่าวธรรมที่ผิด เพราะ การกล่าวธรรมที่ผิด เป็นเจตนาที่พูดในคำที่ไม่จริงเนื่องด้วยตนเองออกมา แม้จะมีเจตนาดีตอนแรกก็ตาม ส่วนถ้าเป็นกรณี ที่ยังไม่ได้เปิดอ่าน ให้หนังสือไป ก็มีเจตนาให้หนังสือที่ดีที่คิดอย่างนั้นในขณะที่ให้ แต่เป็นหนังสือที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่เป็นอกุศลกรรมครับ ต่างจากกรณีที่กล่าวธรรมที่ผิด ครับ แต่ถ้าเป็นการพิมพ์หนังสือธรรมแจกด้วยเข้าใจในแนวทางอย่างนั้นว่าดี ตามแนวทางที่ผิดนั้น จึงสนับสนุนการแจก การพิมพ์ นี่เป็นอกุศลที่ให้ความเห็นผิด ครับ เพราะ มีความเข้าใจผิด เป็นปัจจัยในเจตนาให้นั้น

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สุดท้ายนี้อยากขอความกรุณาท่านวิทยากร ช่วยโปรดอธิบายลักษณะโดยละเอียด ของ

1. โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์

2. มหากุศลญาณสัมปยุตต์

---------------------------------------------

จิตเกิดดับสลับกันรวดเร็วครับ เพียงเรื่องราวที่คิดไม่กี่วินาที มีเรื่องมากมายที่คิดในขณะนั้น และจิตเกิดดับนับไม่ถ้วน เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งก็ต้องพิจารณาทีละขณะจิต ไม่ใช่พิจารณาเป็นเรื่องราวยาวๆ ครับ

จากที่ผู้ถามได้ถามว่า โลภะที่ประกอบด้วยควาเห็นผิดทุกอย่าง น่าจะใช้ศัพท์ว่าโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ ขณะที่เกิดความยินดีพอใจ พอใจในอะไรพอใจในความเห็นผิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ใช่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส คือ พอใจ ติดข้อง ในความเห็นผิด ซึ่งเป็นความเห็นอย่างใด อย่างหนึ่งที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง เช่น มีความเห็นว่า สัตว์ตายไม่เกิดอีก กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี ขณะนั้น ก็มีโลภะที่กำลังติดข้องพอใจ ในความเห็นผิดนั้น ครับ

ส่วน มหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งก็คือ ความเห็นแต่เป็นความเห็นที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เช่น เห็นถูกในขณะนั้นว่า กรรมมี ผลของกรรมมี ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้อง เกิดกับจิตที่ดีงาม มีกุศลจิต เป็นต้น จึงเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาความเห็นถูก ซึ่ง ความต่างก็คือ เมื่อกล่าวถึงอกุศลที่เป็นโลภะประกอบด้วยความเห็นผิด จะต้องเป็ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แต่ ถ้าเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้องตรงตามควาเมป็นจริง ต่างกันที่สภาพจิตที่เป็นกุศล อกุศล ต่างกันที่ความเห็นที่ต่างกัน คือ ตรงตามความเป็นจริง และไม่ตรงตามความเป็นจริง และที่ต่างกันอย่างละเอียดอีกประการหนึ่ง คือ โลภะ ไม่ใช่เพียงพอใจ แต่ติดข้อง ไม่ปล่อยไป

เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นความเห็นผิดที่เกิดกับโลภะ โลภะจึงยึดถือ ไม่ปล่อยไป ติดข้องในสิ่งนั้น ต่างจากกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา กุศลจิต ไม่ได้ติดข้อง ไม่ยอมสละปัญญา แต่ปล่อย คือ ทำให้เกิดความเห็นถูก ปล่อยความเห็นผิดไปในขณะนั้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 3 ต.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ อ.ผเดิม ครับ

ในข้อที่ถามเรื่อง โลภทิฏฐิวิปยุตต์ อันนี้หมายถึง ทิฏฐิวิปยุตต์จริงๆ ครับ ไม่ได้หมายถึงสัมปยุตต์

เพราะเหตุว่า ในกรณีที่ มีความเห็นถูก แต่เห็นถูกด้วย โลภะ ก็ได้ใช่ไหมครับ แบบว่า เชื่อว่าผลของกรรมมี โดยที่เป็นโลภะ ไม่ใช่เป็นกุศล คือ เชื่อว่ามีผลของกรรมด้วยโลภะ ซึ่งขณะนั้นจึงไม่ใช่โลภทิฏฐิสัมปยุตต์ แต่เป็นทิฏฐิวิปปยุตต์ เพราะตอนนั้นประกอบด้วยความเห็นถูก แต่ไม่ใช่กุศล

พูดง่ายๆ คือ ยึดในความเห็นถูกนั่นเอง ด้วยโลภะ พอใจในความเห็นถูก ซึ่งในลักษณะนี้ มันคล้ายกับกุศลญาณสัมปยุตต์มากๆ เพราะ เชื่อทางถูกเหมือนกัน แต่แตกต่างที่ อันนึงเชื่อด้วยโลภะ อีกอันเชื่อด้วยกุศลที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

อย่างเช่นคนเริ่มศึกษาธรรมใหม่ๆ ความเข้าใจกรรม ผลของกรรมก็ไม่ได้มี แต่เชื่อว่ามีกรรม มีผลของกรรม ด้วยโลภะ ที่อยากจะเชื่ออย่างนั้น ก็เป็นได้ใช่ไหมครับ

หรืออย่างเราเกิดความเห็นผิด เกิดวิจิกิจฉาแทรกขึ้นมา ก็กลัว กลัวว่าจะคลาดจากพระธรรม ก็ขอเชื่อไว้ก่อน เชื่ออะไรไม่รู้ ไม่ต้องไตร่ตรองเหตุไตร่ตรองผล ขอเชื่อพระธรรมไว้ก่อน ด้วยโลภะ ยึดในพระธรรม ไม่ปล่อยพระธรรม ก็ชื่อว่าโลภะยึดในความเห็นถูก ซึ่งไม่ได้เป็นกุศล

เลยสงสัยว่า จะแยกอย่างไร ว่าขณะในเป็นเชื่อทางถูก ด้วยโลภะ ขณะใดเป็นเชื่อทางถูกด้วยกุศลด้วยปัญญา

กราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 4 ต.ค. 2555

ละเอียดมากค่ะ เป็นสิ่งที่พึงนำไปพิจาณาอย่างถี่ถ้วน

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 4 ต.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

เราจะต้องแยกไปทีละขณะจิต และ แยกคำว่าเชื่อ กับ ความเข้าใจ

การเข้าใจถูกว่ากรรมมี ผลของกรรมมี ด้วยความเข้าใจ เป็นปัญญา แต่ ความเข้าใจถูกในเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่เป็นกัมมสกตาปัญญา มีหลายระดับ ดังเช่น ปัญญาก็มีหลายระดับ เหมือนอย่างว่า การฟังพระธรรม บางขณะก็ฟังเข้าใจ ขณะนั้นเป็นปัญญา แต่บางเบาน้อยมาก เพราะ เป็นเพียงปัญญาระดับต้นๆ เพียงขั้นการฟังที่เข้าใจ จากไม่รู้ก็รู้ขึ้น ครับ

ปัญญาในความเข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม ก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ฟังพระธรรมและก็เริ่มเข้าใจ เชื่อด้วยปัญญา และ แม้ปัญญาระดับสูง ก็มีการเชื่อกรรมและผลของกรรมที่เป็นการรู้ลักษณะของกรรมในขณะนี้และผลของกรรมในขณะนี้ ด้วยครับ

ดังนั้นขณะที่มีความเห็นถูก ขณะนั้นเป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล อกุศลจะเห็นถูกไม่ได้ แต่การเชื่อในสิ่งต่างๆ เชื่อด้วยอกุศลก็ได้ แต่ถ้าพูดถึงความเห็นถูกแล้ว ย่อมจะไม่ใช่โลภะ เชื่อด้วยอกุศลเลย ครับ เพียงแต่เราจะรู้หรือไม่เท่านั้นเอง เพราะ จะต้องเป็นปัญญาที่รู้ในขณะนั้น ไม่ใช่เราที่คิดพิจารณาเป็นเรื่องราว จึงจะสามารถแยกออกว่าขณะใดเห็นถูกด้วยปัญญา ขณะใดเชื่อด้วยโลภะ ครับ

ขออนุโมทนาทีร่วมสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ