วิปัสสนูปกิเลส

 
พะเยา
วันที่  6 ก.ย. 2555
หมายเลข  21690
อ่าน  12,136

วิปัสสนูปกิเลส เกิดจากทำสมาธิไม่พอ หรือเกิดจากทำวิปัสสนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิปัสสนูกิเลส คือ เครื่องเศร้าหมองของวิปัสสนา วิปัสสนูกิเลส มี ๑๐ ประการ ดังนี้

๐๑. โอภาส แสงสว่าง

๐๒. ญาณ ความรู้

๐๓. ปีติ ความอิ่มใจ

๐๔. ปัสสัทธิ ความสงบ

๐๕. สุข ความสบายแช่มชื่นใจ

๐๖. อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ

๐๗. ปัคคาหะ ความเพียร

๐๘. อุปัฏฐานะ ความมั่นคง

๐๙. อุเบกขา ความวางเฉย

๑๐. นิกันติ ความใคร่

๐๑. เมื่ออุทยัพพยญาณดับไปแล้ว โอภาสย่อมเกิดจากจิตที่สงบถึงขั้นที่เป็นปัจจัยให้แสงสว่างเกิดขึ้นได้ ขณะที่เกิดความยินดีในโอภาสนั้นเป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง ไม่ได้พิจารณาความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนั้น

๐๒. ขณะที่เกิดความยินดีในความคมกล้าของปัญญา ที่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็วดุจฟ้าแลบนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะไม่ได้พิจารณาความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนั้นต่อไป

๐๓. ขณะที่ยินดีในปิติ ความอิ่มเอิบ ที่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๐๔. ขณะที่ยินดีในความสงบ ซึ่งปราศจากความกระวนกระวายความแข็งกระด้าง ความคดงอ ไม่ควรแก่การงาน เป็นต้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๐๕. ขณะที่ยินดีในความสุข ซึ่งเป็นโสมนัสเวทนาอย่างยิ่งนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๐๖. ขณะที่ยินดีในความน้อมใจเชื่อที่มั่นคงยิ่งขึ้นนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๐๗. ขณะที่ยินดีในความเพียรที่ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนักที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๐๘. ขณะที่ยินดีในความมั่นคงของสติปัฏฐาน ๔ ที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๐๙. ขณะที่ยินดีในความวางเฉย คือ เป็นกลางเสมอกัน ในสังขารธรรมทั้งปวงที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ เมื่อประจักษ์การเกิดดับของอารมณ์ที่ปรากฏอย่างรวดเร็วดุจฟ้าแลบนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๑๐. ขณะที่ยินดีที่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมด้วยวิปัสสนาญาณนั้น ก็เป็น วิปัสสนูปกิเลส ซึ่ง วิปัสสนูกิเลส เกิดกับการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น ไม่ใช่เกิดจากการเจริญสมถภาวนา ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียด แม้จะเป็นผู้ได้วิปสสนาญาณแล้ว แต่กิเลสยังไม่ได้ดับจนหมดสิ้น ก็ทำให้ติดข้องในสิ่งที่เป็นนิมิตต่างๆ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาจนถึงระดับสัมมสนญาณและอุทยัพพยญาณ เมื่ออุทยัพพยญาณดับไปแล้ว กิเลสที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุทจเฉท ก็ทำให้เกิดความพอใจในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง

ซึ่งกิเลส คือ ความเศร้าหมอง มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เมื่อใดกิเลสเกิดขึ้น เป็นอุปกิเลส กิเลสคือความเศร้าหมองก็เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ที่สำคัญจะต้องไม่หลงเข้าใจผิดว่า กิเลสที่เกิดขึ้นในชีวิตระจำวัน ที่มีกำลังกว่า วิปัสสนูกิเลส จะเป็นการเกิดวิปัสสนูกิเลสที่เกิดขึ้น เพราะ แม้แต่ความจริงที่เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฎในชีวิตประจำวัน ยังไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา จะกล่าวไปไยถึงการจะเกิดวิปัสสนูกิเลส ที่จะเกิดกับผู้ที่ได้วิปัสสนาญาณขั้นสูง ครับ

เพราะฉะนั้น หากยังสงสัยว่าจะแก้วิปัสสนูกิเลสด้วยสมาธิ หรือ วิปัสสนา นั่นแสดงว่า ยังไม่ใช่การได้วิปัสสนาญาณ และ ไม่ใช่การเกิดวิปัสสนูกิเลส เพราะ ยังไม่มีความเข้าใจพื้นฐานว่า วิปัสสนูกิเลสเกิดเพราะอะไร สมาธิคืออะไร วิปัสสนาคืออะไร เพราะฉะนั้น สำคัญคือ เริ่มจากความเห็นถูกเบื้องต้น กลับมาสู่ความเข้าใจใหม่ ไม่ต้องไปไหนไกล เพราะ การก้าวเดินที่ถูกต้อง ทีละก้าว ด้วยการอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะทำให้ถึงจุดหมายที่ถูกต้องได้ โดยกลับมาสู่ความเข้าใจใหม่ว่า ธรรมคืออะไร ให้ถูกต้องก่อน ครับ ก็จะเข้าใจข้อปฏิบัติ คือ การเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง ว่าคืออะไร

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

วิปัสสนูปกิเลส หมายถึงอะไร

พระอริยบุคคลทุกท่านต้องเคยผ่านวิปัสสนูปกิเลสหรือไม่

วิปัสสนูปกิเลส

วิปัสสนูปกิเลส

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 7 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งในเรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา แม้กระทั่งวิปัสสนูปกิเลส ล้วนเป็นธรรมที่มีจริงด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งถ้าไม่มีความเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว การปฏิบัติก็ผิดไม่สามารถดำเนินไปในหนทางที่ถูกต้องได้เลย เพราะหนทางที่ถูกต้อง ต้องเป็นหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นจริงๆ และปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ก็ต้องเริ่มต้นที่การฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะลืมข้อนี้ไม่ได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 7 ก.ย. 2555

ถ้าเกิดความฟุ้งซ่าน เจริญสมถภาวนา เช่น ระลึกถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ทำให้สงบจากกิเลสชั่วขณะ และต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา จิตก็ไม่สงบ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 7 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"หากยังไม่เข้าใจหนทางที่ถูกต้องแม้ขั้นการฟัง"

ก็อาจสำคัญในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นวิปัสสนูปกิเลส ก็ถูกกิเลสหลอกอีก ไม่พ้นไปจากความไม่รู้ ดังนั้นปัญญาเริ่มต้น จึงควรเข้าใจก่อนว่าธรรมคืออะไร "กลับมาสู่ความเข้าใจใหม่ว่า ธรรมคืออะไร"

"ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ก็ต้องเริ่มต้นที่การฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะลืมข้อนี้ไม่ได้เลย ครับ"

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jirat wen
วันที่ 23 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ