ความเป็นผู้ไม่ทำติดต่อ อย่างไร?

 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่  23 ส.ค. 2555
หมายเลข  21605
อ่าน  1,168
[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 407 สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส อรรถกถาคุหัฏฐกสุตตนิทเทส สูตรที่ ๒ ว่าด้วยปริญญา ๓ ประการ บทว่า สกฺกจฺจการี ความว่า เป็นผู้ทำโดยเคารพ ด้วยสามารถทำโดยเคารพบุคคลหรือไทยธรรม ด้วยการเจริญกุศลธรรมมีทานเป็นต้น เป็นผู้ทำติดต่อ ด้วยการทำติดต่อกันไป ด้วยสภาวะติดต่อ เป็นผู้ทำไม่หยุด ด้วยการทำโดยไม่หยุดยั้ง. กิ้งก่าไปได้หน่อยหนึ่งแล้วหยุดอยู่หน่อยหนึ่งไม่ไปติดต่อกัน อุปมานี้ฉันใด บุคคลใดในวันหนึ่งให้ทานก็ดี ทำการบูชาก็ดี ฟังธรรมก็ดี แม้ทำสมณธรรมก็ดี ทำไม่นาน ไม่ยังการทำนั้นให้เป็นไปติดต่อ อุปมัยนี้ก็ฉันนั้นนั่นแล. บุคคลนั้น เรียกว่าเป็นผู้ทำไม่ติดต่อกันไป ไม่ทำให้ติดต่อกันไป. บุคคลนี้ไม่ทำอย่างนั้น เหตุนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำไม่หยุด. อรรถกถาบทนี้ ท่านยกข้อความอุปมาอุปมัยให้เห็นภาพได้ชัดเจนเลยนะครับ

สามารถยกขึ้นเตือนตนได้ว่า เจริญกุศลธรรม แบบกิ้งก่า คือว่า บทจะวิ่งก็วิ่งเร็วจี๋ บทจะหยุดก็หยุดนานมาก หรือเปล่า?

บทนี้ตรงใจและสอนใจผมมาก จึงขออนุญาตยกขึ้นสนทนาในกระทู้นี้ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
daris
วันที่ 23 ส.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 24 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาครับ

จากข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมา ที่แสดงให้เห็นครับว่า ปุถุชน ทั้งหลาย ที่แม้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็ยังเป็นดังเช่น กิ้งก่า คือ นิสัยกิ้งก่า บางครั้งก็ เดินไป เดินไป สักพัก ก็หยุดอยู่กับที่ และก็ เดินๆ หยุดๆ อย่างนี้

ปุถุชนผู้สะสมกิเลส อวิชชามามาก เป็นผู้มีปัญญาน้อย เมื่อกุศลจิตเกิด อกุศลจิตก็เกิดต่อยาวนาน

ขณะที่กุศลจิตเกิด ก็เดินไป และ ก็หยุดเดินต่อ ด้วยอกุศลจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นธรรมดาเหลือเกินของปุถุชน ที่จะหยุดๆ เดินๆ ด้วย กุศลและอกุศล ที่เกิดดับสลับกันไปในชีวิตประจำวัน แต่ที่สำคัญ ก็ควรพิจารณาว่า ไม่มีตัวตนที่จะพยายามเพียร พยายามทำให้ติดต่อ คือ ทำกุศลให้เกิดบ่อยๆ เพราะเป็นอนัตตา

แต่สิ่งที่ควรพิจารณา คือ แม้จะหยุดเดิน บ่อยๆ ด้วยอกุศล แต่ กุศลที่เกิดจาการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่ทำให้มีการก้าวเดิน เดินไป สู่การดับกิเลส ในแต่ละก้าวนั้น มีอุปการะมาก เพราะจะทำให้ถึงจุดหมายได้ แม้จะหยุดเดินบ้าง เพราะ ยังไม่ได้ละทิ้งหนทางที่ถูกทาง เพราะ กำลังค่อยๆ เดิน จึงสบายๆ ด้วยความเข้าใจ ก็ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป ค่อยๆ ก้าวไป ก็จะถึงจุดหมายในที่สุด ครับ

แม้จะเป็นกิ้งก่า แต่ก็ค่อยๆ เป็นกิ้งก่าที่เดินบ่อยขึ้น เพราะ ความเข้าใจพระธรรมที่เกิดขึ้น

ขออนุโมทนา คุณผู้ร่วมเดินทางและทุกท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 24 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพระธรรม ฟังเพียงครั้งเดียว แล้วพักไป ๑๐ ปี จึงมาฟังอีก กับ การที่ฟังบ่อยๆ เนืองไม่ขาดการฟังพระธรรม มีศรัทธา เห็นประโยชน์ของ การได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงอยู่เสมอ เพราะเห็นว่า สะสมความไม่รู้มานานแสนนาน ถ้าไม่ฟังพระธรรมจะขัดเกลาความไม่รู้ได้อย่างไร ทั้งสองกรณีนี้ ก็ย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ทั้งนั้น สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษา ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านผู้ร่วมเดินทาง และทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เข้าใจ
วันที่ 25 ส.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
sukito
วันที่ 28 ส.ค. 2555

ขอกราบขอบพระคุณด้วยอีกคนค่ะ ความรู้สึกธรรมะนี้เข้าถึงใจจริงๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 28 ส.ค. 2555

"... ในแต่ละก้าวนั้น มีอุปการะมาก เพราะจะทำให้ถึงจุดหมายได้

แม้จะหยุดเดินบ้าง เพราะ ยังไม่ได้ละทิ้งหนทางที่ถูกทาง เพราะ กำลังค่อยๆ เดิน

จึงสบายๆ ด้วยความเข้าใจว่า ก็ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป

ค่อยๆ ก้าวไป ก็จะถึงหนทางในที่สุด ครับ

แม้จะเป็นกิ้งก่า แต่ก็ค่อยๆ เป็นกิ้งก่าที่เดินบ่อยขึ้น

เพราะ ความเข้าใจพระธรรมที่เกิดขึ้น ..."

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา ท่านผู้ร่วมเดินทาง คุณ ผเดิม และ ทุกๆ ท่าน ครับ

เฉพาะอย่างยิ่ง ข้าพเจ้ามีความซาบซึ้ง ในกุศลศรัทธาและกุศลวิริยะ

กับทั้ง ฉันทะ ในการเจริญกุศลทุกประการของท่านผู้ร่วมเดินทาง

รวมถึงการมีตัวอย่างและข้อคิดที่เตือนใจได้ดียิ่ง มาฝากทุกๆ ท่านโดยสม่ำเสมอ

เป็นประโยชน์มากครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ