ข้อความเตือนสติเรื่องสุภากัมมารธิดาเถรีคาถา.

 
wittawat
วันที่  29 ก.ค. 2555
หมายเลข  21482
อ่าน  2,385

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร..

สุภากัมมารธิดาเถรีคาถา .. คาถาของพระสุภากัมมารธิดาเถรี

ข้อความเตือนสติจากชั่วโมง สนทนาพระสูตร

๑. กาม

ความหมายของกาม

กาม หมายถึง ความใคร่ มี ๒ ความหมาย ได้แก่ กิเลสกาม คือ สภาพธรรมที่ติดข้อง ยินดี พอใจ ได้แก่ ตัณหา หรือ โลภะ

วัตถุกาม คือ สภาพธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ซึ่งอรรถกถาแสดงไว้ว่าได้แก่สภาพธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด เว้นโลกุตตรธรรม ๙ ไม่เป็นวัตถุกาม ธรรมนอกนั้น เป็นวัตถุกามทั้งหมด

กาม เป็นชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นกระทั่งหลับ ไม่พ้นจากกาม แต่ไม่เห็นโทษในกามซึ่งมีปัจจัยจึงเกิด และดับ และไม่กลับมาอีก ซึ่งยากที่จะเห็นอย่างนี้ จึงเห็นในคุณอันน้อยของกาม

คุณของกาม

คำว่า “อัสสาทะ” แสดงคุณของกาม ซึ่งไม่ใช่คุณประโยชน์ แต่หมายถึง “นำมาซึ่งความยินดี พอใจ แช่มชื่นใจ” แท้จริง กามมีคุณน้อย มีทุกข์มาก เพราะเมื่อมีความติดข้องในกาม ขณะนั้นปิดกั้นกุศลธรรมไม่ให้เกิด

“เมื่อเกิดในโลกของรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ก็ติดอะไรไม่ได้ นอกจากติดในสิ่งที่ปรากฏด้วยความคิดที่ว่า ไม่ได้ดับไปบ้าง ด้วยความพอใจบ้าง”

โทษของกาม

ไม่สามารถที่จะเห็นโทษของกามเหมือนอย่างพระอรหันต์ได้ เพราะปัญญา และคุณธรรมก็ห่างกันไกลแสนไกล ขณะนี้ยังไม่รู้ความจริง และก็ไม่ใช่ปัญญาขั้นพระสกทาคามี ที่เห็นโทษของกามจริงๆ ที่อบรมปัญญาเพื่อดับความติดข้องในกาม เพราะฉะนั้นโทษของกาม ที่กำลังเผชิญอยู่ตรงนี้ “อยู่ที่การไม่รู้ความจริงของกาม และเข้าใจกามว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน” เพราะฉะนั้นต้องฟังธรรม เพื่อเข้าใจขึ้น

กามโดยความเป็นของลวง

เมื่อธรรม ไม่ได้ปรากฏด้วยดีกับปัญญา จึงเห็นแต่มายา หรือ ความลวงของสิ่งซึ่งเกิดดับ โดยไม่ปรากฏ ร่องรอยของการเกิดดับ จึงลุ่มหลง ติดข้องในนิมิตในสิ่งที่กำลังปรากฏ

๒. “ปั้นน้ำเป็นตัว”

“ขณะนี้กำลังปั้นน้ำเป็นตัวอยู่หรือไม่?

สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิด ปรากฏ แล้วดับ แต่เมื่อไม่ปรากฏร่องรอยของการเกิดดับอวิชชา ความไม่รู้ จึงทำให้เข้าใจว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ให้เห็นได้ เหมือนไม่ได้ดับไป (ว่าเที่ยง ว่ายั่งยืน) เป็นตัวนั้น ตัวนี้ทั้งวัน และก็มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏด้วยความไม่รู้ “ปั้นน้ำเป็นตัวเยอะ และยังปั้นอยู่เรื่อยๆ ตราบที่ยังมีความไม่รู้” ซึ่งจะหมดสิ้นไปได้ ด้วยการรู้ความจริงในสิ่งที่ปรากฏ

“เมื่อไร ที่จะไม่มีตัว ในสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น”

ต้องเริ่มเข้าใจจริงๆ โดยการฟัง ก็ต้องฟังซ้ำๆ เรื่องเดิม คือ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงชั่วคราว เป็นต้น จนกระทั่งเริ่มเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏ สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่ติดข้องในนิมิต อนุพยัญชนะ (ถ้าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน คือ เอาออกไป ก็จะเหลือแต่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ที่ปัญญาจะสามารถเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้) และเมื่อเวลาที่ปัญญาเกิดแล้ว ก็สามารถเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า เมื่อเห็นแล้วคิดถึงสิ่งที่มีสัณฐานต่างๆ จึงทำให้เข้าใจความหมายของสิ่งที่ปรากฏ แม้ผู้มีปัญญาเช่น พระอริยบุคคล รู้ความจริง เช่นนี้ ก็ไม่สามารถปิดกั้นการเกิดดับสืบต่อ กระทั่งปรากฏเป็นนิมิตให้เป็นอย่างอื่นได้ เมื่อเห็นแล้วก็จำ จำแล้วก็คิด คิดแล้วก็เป็นเรื่องราว เช่นเดิม เพราะฉะนั้นธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็ต้องเข้าใจตามความเป็นจริงอย่างนั้น

รวมข้อความเตือนสำหรับ ผู้ที่ประมาทในขณะที่ฟังธรรม

“ฟังธรรมชาตินี้ แล้วจะให้เป็นพระโสดาบันหรือยัง?”

“ประมาทหรือไม่ ที่คิดว่าฟังธรรมเพื่อจะละกิเลส เพื่อจะรู้แจ้งพระนิพพาน โดยที่ยังไม่เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ”

“ถ้ามุ่งหวังให้มีสติ โดยไม่เข้าใจสิ่งที่ปรากฏเพิ่มขึ้น ก็ไม่มีอะไรที่จะละความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้”

“ถ้าสะสมความเห็นถูก ก็สามารถเข้าใจถูกได้ สิ่งที่สำคัญคือ ไม่ข้ามด้วยความหวัง”

“ทุกวันนี้ จิตเกิดดับสะสมอะไรบ้าง? อกุศลประเภทต่างๆ แม้เห็นก็ไม่รู้ความจริงนั่นก็คือ การสะสมความไม่รู้ และความยึดถือว่าสิ่งนั้นไม่ได้ดับไปแล้ว และที่จะนำออกไปอย่างเร็ว ก็เป็นไปไม่ได้”

“บางคนหวังเป็นพระโสดาบัน แต่ไม่รู้ว่า ขณะที่เข้าใจถูก ขณะนั้นคืิอ การสะสมความเห็นถูก”

“ห่างไกลจากการดับกิเลส หรือว่าค่อยๆ ใกล้ หรือว่ายังต้องฟังอีกมาก เพื่อละความหวัง แม้ความต้องการที่จะรู้ความจริง”

รวมข้อความเกี่ยวกับ การเริ่มเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ

“ข้อสำคัญ คือ การเข้าใจถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะสิ่งที่ยังไม่เกิด ไม่ได้ปรากฏ สิ่งที่ดับไปแล้ว ให้ความจริงไม่ได้”

“ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ ฟังเพื่อรู้ และละความสงสัยความไม่รู้ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ”

“สิ่งที่ปรากฏ ปรากฏเพียงชั่วขณะ เพราะจิตรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏ”

“ความลึกซึ้งของธรรม คือ ถ้าจิตไม่เกิด (ถ้าไม่เห็น ไม่ได้ยิน เป็นต้น) สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ (สี เสียง เป็นต้น) ปรากฏไม่ได้”

“ความละเอียดลึกซึ้งของสิ่งที่ปรากฏ คือ ขณะนี้กำลังปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้น”

“ผิดหรือไม่ที่จะเข้าใจ ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เพียงปรากฏให้เห็นได้มีจริงๆ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ผิดหรือไม่ หรือความจริงเป็นอย่างนี้”

“ถ้าเอาสัตว์ บุคคล ตัวตนออก ไม่คำนึงถึง ก็จะมีแต่ลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้จริงๆ ”

“ธรรมไม่ใช่ใคร ไม่ใช่เรา เป็นธาตุ ที่มีลักษณะหลากหลาย และขณะนี้ก็กำลังเป็นธาตุ ที่เกิด ตามเหตุ ตามปัจจัย”

“ขณะนี้เป็นความจริง แต่ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นฟังเข้าใจขึ้นๆ เป็นหนทางเดียว”

๓. “นามรูป เป็น เท็จ”

“นามรูป เป็น เท็จ”

ข้อความในพระไตรปิฎก แสดงว่า “นามรูปเป็นเท็จ” นามรูป แม้ว่าเป็นความจริง แต่ว่าสั้น ชั่วคราว เกิดดับ สืบต่อ จึงเป็น “เท็จ” เพราะลวงให้เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่ไม่ดับ (เที่ยงแท้ ยั่งยืน ตัวตน)

รวมข้อความเกี่ยวกับ นามรูป

“ขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏ กำลังปรากฏ มีลักษณะ คือ เพียงปรากฏให้เห็นได้ชั่วคราวแล้วดับ”

“หลังจากเห็นแล้ว ก็คิดนึกโดยตลอด จนลืมว่าแท้จริง เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้”

“การเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น ปรากฏ และดับไป จึงสามารถเห็นได้ว่า เป็นทุกข์ แสนสั้นเมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว จึงเป็นการละความสงสัย ละสักกายทิฏฐิ ด้วยสามารถที่จะรู้เหตุ คือ อวิชชา ที่ทำให้ไม่รู้ และยึดถือธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด”

“อย่างไรก็ต้องเห็นอยู่ตลอด เห็นแล้วก็จำ แต่ถ้าเป็นปัญญา ก็เห็นชัดขึ้น มั่นคงขึ้นละความสงสัย ว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ใครทำ แต่เพราะจิตเกิดขึ้น”

“นิพพานเป็นจริง”

การอบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจความจริงยิ่งขึ้น คือ หนทางเดียวเท่านั้น ที่ทำให้รู้ในธาตุที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นธาตุที่ไม่มีการลวงให้เห็นว่าเป็นเรา สัตว์ บุคคล ตัวตน จะเห็นเป็นอย่างอื่น เหมือนที่เคยเห็นไม่ได้ “นิพพานจึงไม่เท็จ” ซึ่งเป็นข้อความในพระไตรปิฎก “ ซึ่งข้อความทั้งหมด ถ้ามีความเข้าใจ ก็สามารถค่อยๆ เข้าใจถึงสัจจะความจริงของธรรม ซึ่งสอดคล้องกันหมด”

๔. โทษของเงินทอง

“ถ้ามีเงินทองมากมาย อยู่คนเดียวบนเกาะ ใช้เงินทองซื้ออะไรไม่ได้ เงินทองมีประโยชน์อะไร?” เพราะที่ติดในเงินทอง แท้จริงคือ การติดในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ “เพราะปรากฏแล้วไม่รู้ จึงติด” หนทางเดียวที่จะทำให้ ไม่ติด คือ “แม้ปรากฏแล้ว ก็รู้”

ก็ต้องเป็นปัญญาที่เป็นไปตามลำดับขั้น ที่จะต้องเป็นพระโสดาบัน คือ ผู้รู้ความจริงของธรรม ก่อนเป็นพระสกทาคามี คลายความติดข้องยินดี พอใจ ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กระทั่งดับความติดข้องในกามได้ ทั้งหมดเป็นพระอนาคามี และที่สุดคือดับความติดข้องในภพ ถึงความเป็น พระอรหันต์ ที่ดับสิ้นหมดไม่เหลือเยื่อใยในสิ่งที่ปรากฏ จึงไม่สามารถเกิดได้อีกเลย

๕. ติดจนโงหัวไม่ขึ้น/ทาส/ภาระ

“ผู้นั้นจะโงหัวขึ้นได้อย่างไร?

ที่ว่าโงหัวไม่ขึ้น เพราะว่าตกเป็นทาสของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

รวมข้อความเกี่ยวกับ การตกเป็นทาส ของ ความไม่รู้

“ใครเป็นทาสของแมว ของสุนัขบ้าง?” (ใครกันที่ถูกปรนนิบัติ เช่น หลงลืมว่าคลุกข้าวให้แมวกินหรือยัง?)

“นายใหญ่ที่แท้จริง คือ ใคร? ก็คือ เรา” (บางคนที่คิดว่าต้องเลี้ยงแมว แมวเป็นนาย แต่ความจริงลึกๆ แล้ว เพราะกลัวตนเองจะมีโทษ ที่ไม่ได้ให้อาหาร หรือเพราะความพอใจด้วยความเป็นเรา)

“ที่ตกเป็นทาส ก็เพราะยังไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่เราติด ติดในสิ่งที่ปรากฏ เพียงชั่วคราว แล้วก็หายไป”

“เคยรู้จักใคร พบปะกันบ่อยๆ แล้ววันหนึ่ง เขาหายไป ไม่กลับมาอีกเลย ไม่เหลือแม้ให้เห็น ทุกสิ่งทุกอย่างในขณะนี้ ก็เป็นเช่นนี้ เพียงปรากฏให้รู้ว่ามี และไม่รู้จึงติดข้อง”

“สิ่งที่ปรากฏ แม้ยังไม่ทันตาย เพียงแค่หลับแล้ว เหลืออะไรบ้าง แต่เมื่อตื่น มีอะไรปรากฏ ก็ติดข้อง”

รวมข้อความเกี่ยวกับ “กิเลสดั่งลูกศร”

“กิเลสที่เห็นว่าเป็นดั่งลูกศร เพราะเป็นสิ่งที่มีโทษ เข้าไปถึงใจ”

“เวลาถูกยิงเข้าตาบ้าง แขนบ้าง ขาบ้าง เจ็บตรงนั้น ตรงนี้ แต่ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และสังสารวัฏฏ์ เสียบอยู่ในใจ ไปไหน ไปด้วย ทุกภพ ทุกชาติ ทุรนทุราย เร่าร้อน เป็นทุกข์โดยไม่รู้ตัว”

“ถูกแทงธรรมดา ดึงออกไม่ยาก แต่ปลายศร ลองคิดว่าเจ็บแค่ไหน แต่ดึงออกได้จริงๆ ด้วยปัญญา”

“เจ็บหรือไม่ ที่ไม่มีเรา ถ้าเป็นกิเลสก็เจ็บมาก เพราะไม่เหลือเรา แม้ญาติที่ดูเหมือนอุ่นใจ แต่ในความจริงเป็นเพียงธาตุแต่ละอย่าง มีปัจจัยเกิดแล้วดับ รู้เช่นนี้ด้วยปัญญา ก็เบาสบาย พ้นจากความเป็นทาส”

“อาจหาญ และ ร่าเริง เป็นความหมายของปัญญา ถ้าเป็นอิสระเมื่อไร เมื่อนั้นก็รู้โทษของการเป็นทาส (เช่น ทาสแมว ทาสสุนัข ทาสของตัวเรา รักตัวเองที่สุด) ”

ภาระที่ใหญ่ที่สุด

ภาระที่ใหญ่ที่สุด คือ ขันธ์ ๕ “ขันธ์ ๕ เป็นภาระอย่างยิ่ง” ทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะเกิดแล้วดับไป ห้ามยับยั้งให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้ เช่น รูปที่กาย ต้องคอยดูแล หาข้าวให้กิน แต่ก็ยังถูกโขก ถูกกัด ถูกทำลาย เป็นต้น

๖. ลืมสิ่งใด ไม่ลืมสิ่งใด

ไม่ได้ลืมในสิ่งที่กำลังคิด แต่ลืมว่าเป็นธรรม จนกว่าจะเข้าใจธรรมมั่นคงขึ้น

๗. นิมิต

ความจริงมีธรรม เช่น จิต แต่สิ่งนี้เกิดดับ รวดเร็ว กระทั่งขณะนี้ ก็ไม่ทราบการเกิดดับ ตามที่ทรงแสดงว่า จากภวังค์ที่ไม่มีอารมณ์ปรากฏ มาสู่จักขุทวารวัชชนจิต (ถ้าเป็นทางตา) เกิดขึ้นและก็ดับ ก็ไม่ได้ทราบ จักขุวิญญาณจิต เกิดและก็ดับอีก จิตอื่นๆ ต่อมา ก็ไม่ได้ทราบทั้งนั้นทั้งหมด ขณะนี้ที่ฟังเรื่องการเกิดดับของจิต แต่ก็ยังไม่ได้มีการเข้าใจการเกิดดับของจิต ๑ ขณะ เมื่อไม่รู้อย่างนี้จึงเป็นนิมิตแม้แต่จิต (วิญญาณนิมิต)

รูปนิมิต

ขณะนี้มีสีที่ปรากฏทางตา แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว จึงปรากฏเป็นรูปร่าง สัณฐาน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยไม่เห็นว่าดับไป นั้นคือนิมิตที่ปรากฏ เช่น คนซึ่งเป็นสิ่งที่ลวง (สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นจริง) เป็นรูปนิมิต

เวทนานิมิต

ความรู้สึก เช่น ทุกข์ ๑ ขณะ ที่เกิดพร้อมกับกายวิญญาณ จะปรากฏ เป็นทุกข์ หรือสุขทางกาย เป็นเจ็บปวด ก็คือ เวทนานิมิต

สัญญานิมิต

ความจำที่เกิดดับ พร้อมกับจิตทุกขณะ แต่พอรู้ว่าจำสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นอะไร สัญญาที่จำสืบต่อกระทั่งรู้ว่าเป็นอะไร ก็เป็นสัญญานิมิต สังขารนิมิต วิญญาณนิมิต ก็เป็นนัยเดียวกัน คือ “สิ่งนั้นมีจริง แต่เกิดดับ เมื่อไม่ปรากฏ ร่องรอยการเกิดดับ ก็ปรากฏการสืบต่อ เป็นนิมิต”

๘. นิมิต และ บัญญัติ

นิมิตเป็นบัญญัติหรือไม่?

ไม่ใช่ เมื่อมีนิมิต จึงมีการบัญญัติ ชื่อของนิมิต เพราะบัญญัติ เพื่อให้รู้ได้ว่าสิ่งนั้น คืออะไร ถ้าไม่มีนิมิต ก็ไม่มีบัญญัติ ที่จะให้รู้ได้ “ธรรมไม่ใช่อย่างเดียวกัน แต่ละหนึ่งๆ ควรต้องเข้าใจให้ถูกต้อง”

๙. นิมิต และ ความเห็นผิด

นิมิตเป็นความเห็นผิดหรือไม่?

นิมิตเป็นนิมิต เห็นผิดเป็นเห็นผิด ติดเป็นติด ไม่ติดเป็นไม่ติด ทั้งหมดไม่ใช่สิ่งเดียวกัน นิมิตมีจริง เพราะมีการเกิดดับของสภาพธรรม สืบต่อลวงให้เห็นว่าไม่ดับไป ไม่มีใครกั้นการเกิดดับของสภาพธรรมได้ แม้พระอริยบุคคลที่ดับความเห็นผิดแล้ว ก็กั้นไม่ให้นิมิตไม่มีไม่ได้ เพราะสภาพธรรมก็เกิดดับ สืบต่ออย่างนี้ เช่น การมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ และสัญญาทางมโนทวารก็จำว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร กระทั่งรู้ว่าเป็นสิ่งนั้น รู้นิมิตนั้นตามความเป็นจริง โดยไม่มีความเห็นผิดติดข้องก็ได้

๑๐. ปรมัตถ์ บัญญัติ นิมิต อนุพยัญชนะ

“อยู่ในโลกของนิมิต จนกระทั่งไม่ได้เข้าใจสภาพธรรม”

“เวลานี้ เป็นเราเป็นเขา เป็นตัวแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้”

“ถ้าไม่มีปัญญา อย่างไรก็เป็นคน” เพราะไม่สามารถเข้าใจความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นธาตุที่ปรากฏ ต่อเมื่อกระทบจักขุปสาทและจิตเห็นเกิดขึ้น

“เริ่มเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เมื่อเข้าใจความต่างของธาตุที่ปรากฏให้เห็น และรู้ตามความเป็นจริงว่า ธาตุที่ปรากฏให้เห็นก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง”

“ถ้ามีปัญญา รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะใดเป็นธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถ์ มีหรือที่จะไม่รู้บัญญัติซึ่งมีเมื่อคิด” ซึ่งต้องรู้ตามความเป็นจริง จึงสามารถเข้าใจถึงนิมิต อนุพยัญชนะ ปรมัตถ์ บัญญัติ

๑๑. สำหรับผู้สงสัย เรื่อง สติปัฏฐานรู้นิมิต?

แม้ปัญญาในระดับวิปัสสนา ก็ยังรู้ชัดในลักษณะของรูป เห็นนิมิตที่เป็นสังขารนิมิต (ได้แก่ นิมิตของสังขารธรรม คือ นามรูป) ของรูปนั้นๆ ของนามนั้นๆ ซึ่งพระไตรปิฎก ก็แสดงว่า ตั้งแต่โคตรภูญาณ จึงเป็นปัญญาที่สามารถสลัดออกจากนิมิต ด้วยสามารถที่ประจักษ์ธรรม คือ อนิมิต ได้แก่ พระนิพพานแท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่อย่างที่คิดว่า สติปัฏฐาน ก็ดี วิปัสสนาญาณก็ดี เห็นลักษณะของรูป แต่ละรูป ที่แยกเป็น หนึ่งๆ อย่างที่เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้อย่างนั้น แต่เห็นเป็นสังขารนิมิต ของรูปนั้น

สิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ให้คำนึงถึงว่าเป็นนิมิตหรือไม่ แต่เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นก็คือ “รู้ลักษณะที่เป็นลักษณะ (ลักษณะเฉพาะ ลักษณะทั่วไปของธรรม) ” ตราบใดที่เป็นลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ เช่น รูปธรรมเป็นรูปธรรมแต่ละอย่าง นามธรรมเป็นนามธรรมแต่ละอย่าง เป็นต้น

๑๒. ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ตื่น

พุทธะ คือ ปัญญา ตื่นจากกิเลส คือ ความไม่รู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ตื่น

๑๓. เห็นเป็นอย่างไร?

ธาตุเห็น ไม่ได้มีรูปร่างเช่นเดียวกับ สิ่งที่ปรากฏ จะไปค้นหาธาตุเห็น เหมือนสิ่งที่ปรากฏไม่ได้ เพราะ “เห็นเป็นขณะหนึ่ง ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏให้เห็นเพราะว่ากำลังมีธาตุที่กำลังเห็นในขณะนั้น”

๑๔. โลกของความคิด

วันทั้งวัน เป็นเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏสั้นๆ แล้วก็ดับไป แต่สืบต่อเป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น จึงอยู่ในโลกของความคิด โลกของการไม่รู้ความจริง ว่าแท้จริง คือ ธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

๑๕. สิ่งนั้นไม่ปรากฏด้วยดี

วันนี้มีแข็งจริง แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างที่เกิด และดับไป “เพราะเมื่อไร ที่สติไม่เกิดขึ้น ระลึกรู้ตรงลักษณะของสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ไม่ได้ปรากฏด้วยดี คือเพียงปรากฏแล้วหมดไป เพราะไม่ได้มีการรู้ว่าเป็นลักษณะของธรรม”

๑๖. อกุศล และกุศลที่รู้ความจริง

ขณะใดที่กำลังระลึกรู้ตรงเฉพาะลักษณะหนึ่งของธรรมที่ปรากฏ นั่นคืออาการของสติที่เกิดขึ้น ไม่ต้องเรียกก็ได้ แต่สิ่งนั้นปรากฏกับสติ (เช่น แข็ง เสียง เป็นต้น) ซึ่งต่างกับขณะที่ปรากฏกับกายวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ซึ่งสติ ไม่ได้รู้ในลักษณะนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ“รู้เพื่อละ” ซึ่งกว่าจะละก็นาน

๑๗. ฟังธรรมแล้วทำไมเป็นเหมือนเดิม?

บางคน คิดว่าฟังธรรมแล้ว เราจะดีขึ้น ถอยห่างจากอกุศลบ้าง แต่ความจริง เมื่อฟังแล้วก็เป็นเหมือนเดิม และก็เกลียดในความไม่รู้ ความโง่ของตน

“อวิชชา คือ ความโง่ และก็ยังโง่ที่เกลียดอวิชชาด้วย” เพราะไม่อยากโง่ แต่ก็เติมความเป็นเราเข้าไปทุกทีๆ ในขณะที่ฟังธรรม เพราะไม่ได้เข้าใจว่า “ฟังธรรมเพื่อรู้ว่าเป็นธรรม ฟังความจริง และเริ่มเข้าใจความจริงทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้แจ้ง ว่าเป็นไปตามที่ได้ฟังทุกประการ”


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เข้าใจ
วันที่ 29 ก.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
daris
วันที่ 29 ก.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ เป็นข้อความเตือนสติที่มีประโยชน์มากครับ

ขออนุญาตเรียนถามเกี่ยวกับ สติปัฏฐาน และ วิปัสสนาญาณรู้สังขารนิมิต หมายถึง สติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณระดับต้นๆ มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แต่ก็ยังเป็นนิมิตของปรมัตถธรรมนั้นๆ ใช่หรือไม่ครับ เช่น วิปัสสนาญาณที่ 3 และ 4 ประจักษ์การเกิดดับของรูปนาม ก็ยังประจักษ์โดยเป็นการเกิดดับของนิมิต (เช่น ประจักษ์การเกิดดับของจิตในวิถีจิตทางตาทั้งวิถี ไม่ได้ประจักษ์ทีละดวงว่านี้จักขุทวารวัชนะ นี้จักขุวิญญาณ นี้สัมปฏิจฉันนะ ฯลฯ) เป็นในทำนองนี้รึเปล่าครับ

กราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 29 ก.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

การเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วที่ไม่เที่ยง นั่นคือ สังขารนิมิต นิมิต การหมายให้รู้ว่าเป็นสังขาร สภาพธรรม ดังนั้น ขณะที่วิปัสสนาญาณเกิด มีการเห็นการเกิดดับ ไม่ใช่ประจักษ์ทั้งวิถี แต่ ประจักษ์สภาพธรรมที่ไม่เที่ยงแต่ละสภาพธรรม แล้วแต่ว่าจะประจักษ์สภาพธรรมอะไรที่ไม่เที่ยง อนิมิต คือ สภาพธรรมที่ไม่มีนิมิต คือ พระนิพพาน ก็ต้องประจักษ์ในวิปัสสนาญานขั้นสูงๆ เป็นการออกจากสังขารนิมิต มีการเกิดดับ เพราะพระนิพพาน ไม่เกิดดับ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 29 ก.ค. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมครับ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wittawat
วันที่ 30 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาในการสนทนา ขอแสดงความเห็นตามกำลังความเข้าใจครับ

สิ่งที่สำคัญที่ย้ำอีกครั้งหนึ่งคือ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็คือ ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งในการสนทนาธรรมครั้งนั้น ได้มีคำถาม หลายๆ ครั้ง เกี่ยวกับเรื่องของสติปัฏฐานรู้นิมิต หรือไม่ ซึ่งผู้ที่ถาม ก็ได้ถามด้วยความสงสัยว่า นิมิต ไม่ได้มีเฉพาะที่ มาเป็นคนแล้ว ก็ยังมีที่ (ท่านใช้คำว่า เกิดดับไม่กี่วาระ ที่ท่านผู้ที่ถามก็ใช้คำว่า มาเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน) เช่น แข็งเกิด ซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้ง กระทั่งรู้เป็นแข็งนั่นก็เป็นนิมิต เช่นกัน

และคำตอบ ก็คือ เป็นเรื่องของความคิด ความสงสัย ที่เกิดจากการศึกษาเรื่องราวของธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ได้สำคัญว่า จะรู้ลักษณะของรูป หลังจากที่รูปปรากฏซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้ง สืบต่อกระทั่งเป็นรูปนิมิต เป็นสังขารนิมิตของรูปแล้วหรือว่าอะไร แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ถ้าเป็นสติปัฏฐานก็ต้อง มีปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมครับ ขณะนี้ มีแข็ง มีสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่ก็เป็นความจริง และแข็งก็ไม่สามารถเห็นได้ ไม่สามารถได้ยินได้ สามารถกระทบสัมผัสได้เท่านั้น ซึ่งปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของธรรม คือ แข็งที่ไม่ใช่เสียงได้ อันนี้คือ การกล่าวถึง ลักษณะเฉพาะ ของสภาพธรรม ซึ่งวิปัสสนาญาน ขั้นต้นๆ ต้องประจักษ์ในลักษณะเฉพาะ ของสภาพธรรม ก่อนที่จะมีปัญญาที่รู้แจ้งการเกิดดับ หรือ ลักษณะที่เป็นสามัญญลักษณะ ซึ่งเป็นปัญญาที่ละเอียดยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น แล้ว ห่างไกลหรือไม่ ที่จะรู้ความจริงที่ละเอียดเช่นนั้น เพราะแม้ขณะนี้ มีปรกติอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือไม่ มีปรกติระลึกรู้ความจริงทุกทางหรือไม่ หรือว่าคิดเป็นเรื่อง เป็นชื่ออยู่ตลอด เพราะก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่อง วิปัสสนาญาน หรือว่าควรฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม เพราะความเข้าใจเท่านั้นที่ขัดเกลาความไม่รู้ ความหวัง และในชีวิตประจำวัน เป็นปรกติคิดเป็นเรื่องของคน ของชื่อ ของเรื่อง หรือเปล่า หรือว่า ควรที่จะรู้ความจริง มากกว่า เพราะฉะนั้น ปรกติก็อยู่ในโลกของนิมิต ของชื่อต่างๆ โดยที่ไม่ได้เข้าใจธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 30 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 31 ก.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 31 ก.ค. 2555

สังขารนิมิต

สุ. เวลาที่ศึกษาธรรมต้องทราบว่า ความจริงธรรมเป็นอย่างนั้น แต่แต่ละบุคคลสามารถจะรู้ความจริงนั้นได้แค่ไหน

ประภาส ต้องได้ยินได้ฟังเท่านั้น

สุ. และเดี๋ยวนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ

ประภาส รู้แค่ลักษณะธรรมที่มีจริง

สุ. ได้ยินคำว่า “สังขารนิมิต” ก็เข้าใจใช่ไหมคะว่า ทำไมมีคำว่า “นิมิต” ถ้าไม่มีสังขารธรรม คือ สภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับ สืบต่ออย่างเร็ว นิมิตจะมีได้ไหม เพราะฉะนั้นแต่ละคำก็ต้องเข้าใจ แม้แต่สังขาร แล้วยังมีนิมิตด้วย ก็เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับไป ปรากฏให้เห็นเป็นนิมิตของสิ่งที่มี ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย ต้องมีสิ่งที่เกิดดับ

เพราะฉะนั้น ปัญญาของใครจะเริ่มเข้าใจอะไร เข้าใจสิ่งที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ ให้เข้าใจ โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงว่า ดับไปแล้วกี่ทวาร และสลับกันอย่างไร ทวารนั้นทวารนี้ นั่นคือคิด แต่ว่าสภาพธรรมขณะนี้เป็นอย่างนี้ คือ มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ได้รู้เลย เป็นคนเสมอ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้อย่างรวดเร็ว จนกว่าจะฟังแล้วแยก แล้วค่อยๆ พิจารณาว่า จริงๆ รู้จักรูปารมณ์หรือยัง หรือเพียงแต่ได้ยินชื่อ แต่ว่ารูปารมณ์จริงๆ กำลังเผชิญหน้า และกำลังฟังเรื่องรูปารมณ์ด้วย

เพราะฉะนั้นมีความเข้าใจในรูปารมณ์แค่ไหน และจะเข้าใจได้มากขึ้นได้อย่างไร มีหนทางหรือไม่ แต่ไม่ใช่ไปนั่งคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เกิดดับสลับกันทางทวารไหน อะไรซึ่งปัญญาสามารถจะรู้อย่างนั้นได้หรือเปล่า แต่ว่าเมื่อฟังอะไร ก็สามารถจะเข้าใจความหมายของคำนั้น

ประภาส ถ้าเกิดในขณะนั้นคิดเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ ไม่มีทางรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ

สุ. ก็มีสิ่งที่ปรากฏเท่าไรๆ ก็ไม่รู้สักที

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่นี่ค่ะ...

นิมิต [ทุติยโพธิสูตร]

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวิทวัส และกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wittawat
วันที่ 31 ก.ค. 2555

ขอเพิ่มเติมอีกประการนะครับ

ซึี่งผมอยากจะเพิ่มเติม เพราะเมื่ออ่านละเอียดจากคำถามแล้ว ก็มีส่วนที่ต้องเพิ่มเติมว่านิมิต ไม่ได้เกิด ไม่ได้ดับนะครับ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นร่องรอยที่ปรากฏเพราะมีการสืบต่อของธรรมที่เกิดดับ เช่น มีสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปแล้ว มีธรรมใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิด ต่างขณะ ต่างวาระ ซ้ำๆ ไม่ทราบกี่ครั้ง ก็มีเครื่องหมายให้ทราบได้ว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เหมือนปลายธูปที่แกว่ง แล้วก็ปรากฏเป็นวงกลมสว่างเป็นรูปนิมิต เป็นต้น (มีเห็น แล้วก็แปลทันที แล้วก็คิดชื่อ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เสียงก็เช่นเดียวกัน)

นิมิตไม่ใช่สภาพธรรม แต่เพราะมีสภาพธรรมที่เกิดดับ จึงมีนิมิต และ เพราะมีนิมิต จึงมีการบัญญัติชื่อ ว่าเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือ แม้กระทั่งปรมัตถธรรม อกุศลธรรมทั้งหลาย เกิดขึ้นได้เพราะมีนิมิต ข้อนี้เป็นพื้นฐานที่ควรเข้าใจให้ถูกต้อง ที่อยากร่วมสนทนาเพิ่มเติมครับ

อีกประการหนึ่ง ก็คือ ขณะนี้ก็ไม่ได้มีสติปัญญาที่คมกล้า สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นธรรม เช่น เจตสิกใดเจตสิกหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมจิต ๑ ขณะ เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิตใช่หรือไม่ หรือว่าใครเข้าใจความจริงขณะนี้อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ก็จึงมีคำถาม ประเภทที่ว่า สติปัฏฐานเกิดรู้ นิมิตที่สั้นๆ จากปรมัตถธรรมนั้นใช่ไหม เพราะฉะนั้น คำตอบก็คือ สติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยที่ไม่ต้องสนใจว่า ท่านจะรู้ลักษณะของธรรมจากที่เป็นนิมิตแล้ว หรือว่าเป็นตัวปรมัตถธรรม อันนี้คือ ส่วนที่ผมเข้าใจจากการฟัง และขอเพิ่มเติม

ขออนุโมทนาสำหรับการสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
bsomsuda
วันที่ 15 ต.ค. 2555

กามโดยความเป็นของลวง "เมื่อธรรม ไม่ได้ปรากฏด้วยดีกับปัญญา จึงเห็นแต่มายา หรือ ความลวงของสิ่งซึ่งเกิดดับ โดยไม่ปรากฏ ร่องรอยของการเกิดดับ จึงลุ่มหลง ติดข้องในนิมิตในสิ่งที่กำลังปรากฏ"

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวิทวัส และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
gboy
วันที่ 15 ก.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
papon
วันที่ 16 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ