กรรมฐาน

 
อรรถวาที
วันที่  2 ก.ค. 2555
หมายเลข  21331
อ่าน  1,360

กรรมฐานความหมายทางพระไตรปิฎกว่าอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรมฐาน หมายถึง ที่ตั้งของการกระทำ มี ๒ อย่าง คือ

สมถกรรมฐาน ๑

วิปัสสนากรรมฐาน ๑

สมถกรรมฐาน คือ การอบรมความสงบของจิตเพื่อข่มนิวรณ์ จนจิตสงบเป็นฌานขั้นต่างๆ ึเมื่อฌานไม่เสื่อมย่อมเกิดในพรหมโลก

วิปัสสนากรรมฐาน คือ การอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตามความเป็นจริง ดับกิเลสตามลำดับ เพื่อดับกิเลสทั้งหมดไม่ต้องเกิดอีกเลย การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การเจริญสมถะ หรือการเจริญวิปัสสนา

ซึ่งหากพิจารณาโดยละเอียดให้สอดคล้องกัน ทั้ง ๓ ปิฎก ความจริงมีว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม ที่เป็น จิต เจตสิกและรูป เพราะฉะนั้น จึงไม่มี สัตว์ บุคคลที่จะกระทำกิจหน้าที่ แต่ในความเป็นจริง เป็นแต่เพียง จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่ของสภาพธรรม เช่น ขณะที่เห็น เป็นจิตทำหน้าที่เห็น ขณะที่ได้ยิน เป็นจิตที่ได้ยิน ทำกิจได้ยินเสียง ขณะที่คิดนึก ไม่ใช่เราที่คิดนึก แต่เป็นจิตที่ทำหน้าที่คิดนึก ขณะที่เกิดกุศล ไม่ใช่เราที่มีกุศล แต่เป็นกุศลจิต ที่เป็นจิตทำหน้าที่ เป็นกุศลจิตในขณะนั้น

จะเห็นนะครับว่า จิต เจตสิก เกิดขึ้นมีหน้าที่ ทำกิจหน้าที่การงานของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่เราทำกิจหน้าที่การงานเลย กรรมฐานก็เช่นกัน ไม่มีเราที่จะทำกรรมฐาน แต่ เป็นจิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ทำกิจ เป็น กรรม คือ การกระทำหน้าที่ของจิต เจตสิก อันมี อารมณ์ของสติและปัญญา เป็นฐาน ที่ตั้งให้สติและปัญญา รู้ ครับ

เมื่อเป็นกรรมฐาน ก็จะต้องเป็นการทำกิจหน้าที่ ของ สภาพธรรมฝ่ายดี มี สติ และ ปัญญาที่เกิดขึ้น ปัญญาเกิดทำกิจหน้าที่ เป็น กรรมฐาน คือ มีที่ตั้ง คือ มีอารมณ์ ให้ปัญญารู้ เช่น กรรมฐาน ๔๐ ที่เป็นอารมณ์ของ สมถภาวนา และ มีกรรม คือ ปัญญาทำกิจหน้าที่ รู้ความจริง สติเกิดขึ้น มี ฐาน คือ เป็นที่ตั้ง หรือ มีอารมณ์ให้สติรู้ มี กรรม คือ การกระทำหน้าที่ของกิจ คือ สติ ทำหน้าที่ระลึกสภาพธรรมในขณะนั้น

ดังนั้น กรรมฐาน จึงเป็นเรื่องของสภาพธรรมฝ่ายดี มี สติและปัญญา เป็นต้น ที่ทำหน้าที่ของสภาพธรรมที่เป็นกรรม และ มี ฐาน คือ มีอารมณ์ ให้สติและปัญญารู้ในขณะนั้น ครับ

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ เสียง กำลังเกิดปรากฏ สติเกิดระลึกรู้เสียง ขณะนั้น ฐาน คือที่ตั้ง ที่เป็นอารมณ์ ของสติ คือ เสียง และมีกรรม คือ การกรทะทำกิจหน้าที่ของสภาพธรรมฝ่ายดี คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ เสียงในขณะนั้น สติที่ทำหน้าที่ระลึก เป็นกรรม ที่ทำหน้าที่กิจการงานของสภาพธรรม ครับ และ ปัญญาเกิด รู้ความจริงของเสียง เสียง เป็นฐาน เป็นที่ตั้ง หรือ เป็นอารมณ์ ให้ปัญญารู้ ส่วน ปัญญาที่ทำหน้าที่รู้ความจริงว่าเสียงเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะที่ทำกิจรู้ความจริง การทำหน้าที่รู้ความจริง เป็น กรรม เป็นการกระทำกิจหน้าที่การงานของ ปัญญา ที่เป็นเจตสิกในขณะนั้น ครับ

จะเห็นนะครับว่า ธรรมมีความละเอียดลึกซึ้ง ทุกอย่าง ต้องย้อนกลับมาที่ ตัวจริงที่เป็นปรมัตถธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป ก็จะเข้าใจ การบัญญัติเรื่องราวต่างๆ แม้แต่ คำว่า กรรมฐาน ว่าเป็นการทำกิจหน้าที่ของสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เป็น สติและปัญญา และ รวมถึงอารมณ์ที่ให้สติและปัญญา รู้ เป็นกรรมฐานด้วย ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 3 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน ก็มีคำสองคำรวมกัน คือ คำว่า "กัมม" ซึ่งหมายถึง การกระทำ รวมกับ "ฐาน" คือ ที่ตั้ง เมื่อแปลแล้วก็คือ ที่ตั้งแห่งการกระทำ แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า มีที่ตั้ง ที่จะให้กุศลธรรมเจริญขึ้น ทั้งในเรื่องของความสงบของจิต ทั้งในเรื่องของความเห็นแจ้งสภาพธรรม ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น "กัมมัฏฐาน" จึงเป็นพระธรรมคำสอน ที่เป็นไปเพื่อความสงบระงับกิเลส และเป็นไป เพื่อการเห็นธรรมตามความเป็นจริง,

ในเรื่องของ สมถกรรมฐาน กับวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะต้องฟัง ต้องศึกษา ให้ละเอียด ทรงมุ่งหมายถึงอะไร เป็นสำคัญ ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เป็นเรื่องของความเข้าใจถูก เห็นถูก ทั้งหมดเลย ถ้าหากไม่มี ความเข้าใจ ก็จะไปทำอะไรด้วยความไม่เข้าใจ หรือว่า ด้วยความเป็นตัวตน

การอบรมเจริญสมถกัมมัฏฐาน แม้ในกาลสมัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ก็มีการอบรมเจริญ สำหรับผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลซึ่งทำให้จิตไม่สงบ แต่ เมื่อมีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็มีการอบรมเจริญปัญญา ที่เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือ "วิปัสสนาภาวนา" ที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง การอบรมเจริญปัญญาจากการที่ได้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจขึ้น ก็จะทำให้ มีการอบรมความเห็นถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเจริญสมถกัมมฐาน หรือว่า วิปัสสนากัมมัฏฐาน จะขาดปัญญาไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 4 ก.ค. 2555

กรรม คือการกระทำ ฐาน คือเหตุ ในที่นี้หมายถึงเหตุที่ทำให้ถึง มรรค ผล นิพพาน

คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเป็นกรรมฐาน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
หลานตาจอน
วันที่ 5 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 5 ก.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ