ศีลข้อปาณาติบาต

 
ampnop
วันที่  8 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21235
อ่าน  20,796

การทำชีวิตให้ตกล่วงเป็นบาป แต่ธรรมชาติก็กำหนดให้สัตว์บางจำพวกกินได้เฉพาะเนื้อเป็นอาหาร ตลอดชีวิตของสัตว์ชนิดนั้นต้องทำปาณาติบาตตลอด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ท่านผู้ทราบกรุณาอธิบาย จะเป็นพระคุณมาก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 8 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปาณาติบาต หมายถึง การยังชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการฆ่าสัตว์

การฆ่า คือ เจตนาที่จะฆ่า เกิดขึ้นเป็นไป ตามการสะสม เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้วก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่ก็กล่าวโดยคำพูดที่เข้าใจกันว่า คนนั้นคนนี้ฆ่า สัตว์ประเภทนั้น ประเภทนี้ ฆ่า สืบเนื่องมาจากมีความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมนั่นเอง ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครฆ่า กล่าวคือ มนุษย์ฆ่า สัตว์ดิรัจฉานฆ่า ก็เป็นบาป ทั้งนั้น ดังนั้น สัตว์ดิรัจฉาน ฆ่ากันเอง ก็เป็นบาป การฆ่า เป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นอกุศลกรรม เมื่ออกุศลกรรม มีแล้ว ผล คือ อกุศลวิบาก ก็ย่อมเกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ สำหรับสัตว์ดิรัจฉานโดยมาก แล้ว จากอบายภูมิ ก็ไปสู่อบายภูมิ ยากที่จะพ้นไปได้ สัตว์ดิรัจฉาน ฆ่ากันเอง เป็นอกุศลกรรม เมื่ออกุศลกรรมให้ผล ก็ย่อมเป็นเหตุทำให้เกิดในอบายภูมิอีก ไม่พ้นจากอบายภูมิเลย แต่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะได้กระทำกรรมมามาก ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนๆ ก็กระทำมามากแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่ากรรมใด ในชาติใดจะให้ผลนำเกิด ซึ่งเป็นอนัตตาเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สังสารวัฏฏ์น่ากลัวมากทีเดียว เต็มไปด้วยภัยสารพัด โดยสืบเนื่องมาจากมีภัยที่แท้จริง ที่เป็นศัตรูภายใน คือ กิเลส ที่เป็นเหตุนำมาซึ่งภัยทั้งปวง

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องของสัตว์ดิรัจฉานฆ่ากันเองกินเป็นอาหาร เป็นปาณาติบาต เป็นอกุศลกรรม และต่อไปควรที่จะได้พิจารณาว่า สัตว์โลกผู้ที่ได้เกิดมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดำเนินไปในแต่ละวันๆ นั้น คงไม่มีใครอยากจะถูกคนอื่นฆ่า (หรือแม้กระทั่งการถูกเบียดเบียน ไม่ถึงกับสิ้นชีวิต ก็ไม่ปรารถนา) แต่ว่า เวลาที่มีการฆ่าเกิดขึ้น ซึ่งต้องเป็นด้วยอำนาจของกิเลสที่มีกำลัง ทำให้ลืมคิดถึงสัตว์ที่จะถูกฆ่าว่า สัตว์นั้นย่อมไม่มีความปรารถนาที่จะถูกฆ่าเลย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ประเภทใดๆ ก็ตาม นี่เป็นความจริง ดังนั้น ตนเองรักสุข เกลียดทุกข์ ฉันใด สัตว์อื่น ก็รักสุข เกลียดทุกข์ ฉันนั้น จึงไม่ควรฆ่า ไม่ควรเบียดเบียนซึ่งกันและกันไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 8 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก แม้แต่คำว่า ธรรมชาติ ก็กำหนดให้สัตว์บางจำพวกกินได้เฉพาะเนื้อเป็นอาหาร ดังนั้น ก็ต้องเข้าใจคำว่า ธรรมขาติ คืออะไร และ สัตว์ คืออะไร ธรรมชาติของชีวิตที่บัญญัติว่า สัตว์เดรัจฉาน ก็คือ จิต เจตสิก และ รูป เพราะฉะนั้น ธรรมชาติ ก็ไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริง ที่เป็นสภาพธรรม ซึ่ง ที่กล่าวว่า สัตว์บางพวกธรรมชาติกินเนื้อ ดังนั้น ที่มีการทาน การบริโภค เพราะ อาศัยจิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น ที่เกิดความอยากที่จะกิน เมื่อยังเป็สัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นการแสดงว่า ยังมีกิเลสอยู่เต็ม

เพราะฉะนั้น อยากจะกิน อยากจะบริโภคอาหารของสัตว์เดรัจฉาน ก็ด้วยอำนาจของกิเลส คือ โลภะ เพราะฉะนั้น ธรรมชาติของสัตว์ที่รับประทานเนื้อ ก็คือ ธรรมชาติด้วยกิเลส เพราะมีกิเลส จึงอยากทานเนื้อ เพราะได้ทานเนื้อมาตั้งแต่เกิด ก็เกิดความชอบทานเนื้อ เช่น สิงโต ตัวเมีย ผู้ที่เป็นแม่ หาอาหารมาให้ลูกที่ยังเป็นเด็กอยู่ ก็ให้ทานเนื้อแล้ว เมื่อทานเนื้อก็ติดใจในรสเนื้อ และเห็นการกระทำที่แม่ล่าสัตว์ ก็ทำตาม ฆ่าสัตว์ตาม เพราะฉะนั้น ธรรมชาติของสัตว์ที่ต้องกินเนื้อ เพราะอาศัยความติดข้อง โลภะ เป็นปัจจัยที่ได้กินเนื้อมาก่อนตอนเด็กและเกิดความพอใจ และ ก็ทำตามตัวแม่ที่ได้ล่าเนื้อนั่นเองครับ จึงมีการทำบาป เพราะ มีกิเลสเป็นปัจจัย มีความไม่รู้และกิเลสประการต่างๆ ครับ เพราะฉะนั้น ธรรมชาติของสัตว์ล่าเนื้อ กินเนื้อก็เพราะ เป็นธรรมชาติของกิเลสนั่นเองเป็นสำคัญ

ดังเช่นในชาดกในเรื่อง มหาสุตตโสมชาดก มี พระมเหสี ได้ประสูติพระราชโอรส นางยักษิณี รีบไปขโมยราชโอรสที่ยังเด็กอยู่เพื่อจะเอามากิน ขณะที่ขโมยอุ้มหนีคนที่ติดตามอยู่นั้น พระราชโอรส สำคัญว่าแม่ จึงดูดนมของยักษิณี นางยักษิณี จึงเกิดความรัก สำคัญว่าเป็นบุตรของตน จึงไม่กิน แต่เอาไปเลี้ยงเป็นลูก นางยักษิณี เลี้ยงเด็กที่ยังเล็ก ด้วยเนื้อที่หามาได้ พระราชโอรส จึงติดใจในรสชาติเนื้อเท่านั้น ไม่ทานอาหารที่เป็นผักอื่นๆ แต่ชอบทานเนื้อมนุษย์ เป็นต้น เมื่อโตขึ้น ก็ทำการฆ่าสัตว์ ฆ่ามนุษย์เพราะการติดใจในรสเนื้อมนุษย์ รสเนื้อต่างๆ ครับ จากตัวอย่างนี้ แสดงชัดเจนครับว่า ธรรมชาติของสัตว์กินเนื้อ หรือ จะกินอะไรก็ตามเกิดจากความยินดีพอใจในรสอาหารนั้น แม้มนุษย์ ไม่จำเป็นจะต้องกินเนื้อ แต่ ตัวอย่างนี้ เพราะอาศัย ธรรมชาติของกิเลส คือ โลภะที่ติดข้องในเนื้อมนุษย์ ก็ทำให้เป็นสัตว์กินเนื้อ และทำปาณาติบาตด้วย เพราะอาศัยกิเลสเป็นปัจจัยสำคัญ ครับ

เพราะฉะนั้น การจะทำปาณาติบาตได้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือ ใครก็ตามเพราะ มีกิเลสเป็นปัจจัย ไม่ใช่เพราะ ธรรมชาติที่เป็นสัญชาตญาณนั้นเป็นปัจจัย เพราะถ้าไม่มีกิเลสแล้ว ก็จะไม่มีการทำปาณาติบาตเลย แต่เพราะมีอวิชชา ความไม่รู้ และกิเลส และไม่มีปัญญา จึงทำปาณาติบาต ครับ ไม่ว่าจะเป็นเกิดเป็นสัตว์ประเภทอะไรก็ตาม ครับ

มีสัตว์บางประภทที่ติดในเนื้อ อย่างเช่น ในตัวอย่างในพระไตรปิฎก ที่ นกกระยางต้องกินเนื้อปลา นกกระยางส่วนมาก เพราะมีกิเลสและไม่มีปัญญา จึงทำปาณาติบาตฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นอาหาร แต่ นกกระยางบางตัว มีปัญญา มีคุณธรรม ก็ย่อมไม่ฆ่าสัตว์เป็นๆ คือ ไม่กินปลาเป็น เมื่อกำลังจะกินปลา เมื่อปลาดิ้นอยู่ในปาก ก็คายปลานั้น และ หา สัตว์ที่ตาย คือ ปลาที่ตายแล้วเป็นอาหารแทน เพราะ เห็นคุณของการรักษาศีล เห็นโทษของการฆ่าสัตว์ เพราะ เป็นสัตว์ที่มีปัญญานั่นเองครับ เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นสัตว์กินเนื้อ เพราะ ด้วยอำนาจกิเลส แต่เพราะมีปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส ก็กินเนื้อที่ตายแล้วก็ได้ ครับ ไม่จำเป็นที่จะต้องทำปาณาติบาต คือ ฆ่าสัตว์นั้นก็ได้ แม้จะกินเนื้อเป็นอาหาร

จะเห็นนะครับว่า หากมีปัญญาแล้ว แม้จะเป็นการบัญญัติว่าสัตว์กินเนื้อ แต่ก็กินเนื้อที่โดยไม่ฆ่าสัตว์ก็ได้ เพราะมีปัญญาเป็นสำคัญ ครับ เพราะฉะนั้น ที่สัตว์เดรัจฉานโดยมากฆ่ากัน ไม่ใช่เพราะธรรมชาติตามที่สมมติกันว่าสัตว์กินเนื้อ แต่การฆ่ากันเองเพราะด้วยธรรมชาติ คือกิเลสที่ยังมีอยู่ตามที่ได้อธิบายมาและจะไม่ฆ่าสัตว์ก็เพราะมีปัญญาเห็นโทษอกุศลกรรม ตามตัวอย่างที่ได้ยกมาเช่นกัน ครับ

ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะห้ามให้ใครฆ่าสัตว์ หรือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ให้ใครทำบาป หรือไม่ทำบาป เพราะเป็นไปตามอำนาจของกิเลสที่สะสม และเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ และเราเองก็เคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานมาแล้ว เคยทำบาปมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ประโยชน์ที่สำคัญ คือ อบรมปัญญาของตนเอง เพราะ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ปัญญานั้นเองที่จะทำหน้าที่หลีกเลี่ยง สิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศล มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้นได้ จนถึง ความเป็นพระอริยบุคคล จึงจะไม่มีการทำบาปที่เป็นการล่วงศีลอีกเลย คือ ไม่มีการฆ่าสัตว์อีกเลย ครับ แต่ตราบใด ยังเป็นปุถุชน แม้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ยังมีเหตุปัจจัยให้ฆ่าสัตว์ได้ แม้ในชาดกเรื่องหนึ่งก็แสดงไว้ว่า สัตว์ที่กินพืช มี วัว เป็นต้น เมื่อมีลิงมาจับเขาหมุนเล่น ก็โกรธ ก็ ฆ่าสัตว์ คือ ลิงนั้นให้ตาย เพราะ ความโกรธ คือ กิเลสเป็นปัจจัยได้ แม้ตัวเองเป็นสัตว์กินพืช ไม่กินเนื้อ

สรุปได้ว่า ธรรมชาติที่ทำให้มีการฆ่าสัตว์ คือ กิเลส เป็นสำคัญครับ ไม่ใช่การสมมติว่าเป็นสัตว์กินเนื้อ เป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 9 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นและอาจารย์ผเดิมมากครับ

ได้ความเข้าใจมากขึ้นถึงความติดข้องที่มีกำลังมากขึ้นจนเป็นเหตุให้ทำปาณาติบาตได้ดีทีเดียวครับ

โดยเฉพาะความติดข้องทางรสมีมากกว่าความติดข้องทางอื่น เวลารับประทานอาหารคงต้องพิจารณาความติดข้องนี้ให้ดีๆ ด้วยปัญญานะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 9 มิ.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ใช่ครับ ตามที่กล่าวแล้วครับ ในมหาสุตตโสมชาดก ที่ ติดข้องในรสเนื้อมนุษย์ จึงทำปาณาติบาต และ สัตว์ติดข้องในรสอาหารที่เป็นเนื้อ จึงฆ่าสัตว์กันเอง ทำปาณาติบาต อันกิเลสเป็นต้นเหตุ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงคามติดข้องในรส ว่ามี โทษมาก มากกว่า ความสนิทสนมอย่างอื่น เพราะอาหารต้องเสพ บริโภคเป็นประจำ ทุกวัน แม้แต่ กวางที่จับได้ยาก ยังจับได้ เพราะ ถูกล่อด้วยรสชาติอาหาร พระโพธิสัตว์ ได้กล่าวคาถา โทษของกาติดในรสอาหาร ดังนี้ ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 254

ได้ยินว่า สิ่งอื่นที่จะเลวยิ่งไปกว่ารสทั้งหลายย่อมไม่มี รสเป็นสภาพเลวแม้กว่าถิ่นที่อยู่ แม้กว่าความสนิทสนม นายสัญชัยอุยยานบาล นำเนื้อสมันซึ่งอาศัยอยู่ในป่าชัฏมาสู่อำนาจของตนได้ ด้วยรสทั้งหลาย.

ศัพท์ว่า กิระ ได้ยินว่า ในคาถานั้น เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่า ได้ยินได้ฟัง. บทว่า รเสหิ กว่ารสทั้งหลาย ความว่า กว่ารสหวานและรสเปรี้ยวเป็นต้น ที่พึงรู้ด้วยลิ้น. บทว่า ปาปิโย แปลว่า เลวกว่า. บทว่า อาวาเส วา สนฺถเวท วา แม้กว่าถิ่นที่อยู่ แม้กว่าความสนิทสนม ความว่า ความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจในถิ่นที่อยู่ กล่าวคือสถานที่อยู่ประจำก็ดี ในความสนิทสนมด้วยอำนาจความเป็นมิตรก็ดี ลามกแท้ แต่รสในการบริโภคที่เป็นไปกับด้วยฉันทราคะนั่นแหละเป็นสภาพเลวกว่า แม้กว่าถิ่นที่อยู่ แม้กว่าความสนิทสนมด้วยความเป็นมิตร ซึ่งมีการบริโภคด้วยฉันทราคะเหล่านั้น โดยร้อยเท่าพันเท่า เพราะอรรถว่า ต้องเสพเฉพาะเป็นประจำ และเพราะเว้นอาหาร การรักษาชีวิตินทรีย์ก็ไม่มี

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ampnop
วันที่ 10 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ