คนสมัยปัจจุบัน ทำไมปฎิบัติในเมือง มากกว่าในป่า

 
อิ่ม
วันที่  25 เม.ย. 2555
หมายเลข  21019
อ่าน  1,745

สมัยพุทธกาล ปฏิบัติในป่า ความเจริญวัตถุน้อย กิจวัตรว่างกว่าสมัยปัจจุบัน แต่ก็เป็นพระอรหันต์ หนึ่งพันกว่าๆ

สมัยสาวกภูมิ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน จนถึงปัจจุบันนี้ ปี ๒๕๕๕ คนส่วนใหญ่ปฏิบัติธรรมในเมืองกันมาก อาศัยความสะดวก มากกว่า ความเพียรพยายามหาที่สงัด ตามป่าเขา แล้วจะสำเร็จมรรคผลอะไรได้เหรอครับ ...

เพราะขนาดปฏิบัติธรรมในป่า ในที่สงัด ยังยากเลย แล้วมาทำในเมือง ที่มีเสียง มีสิ่งล่อใจทวารทั้ง ๕ จะสำเร็จอะไรอะครับ

ทฤษฎีดี แต่ที่ปฏิบัติธรรม ไม่ถูกที่ จะไปไหวเหรอครับ พอออกจากบ้านก็เจอแว้นน ก็ผู้คนมากมาย น้ำหอม สิ่งอำนวยต่างๆ ส่งจิต ออกนอกตลอดเวลา มากกว่าในป่าเขา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรเข้าใจครับว่า การบรรลุธรรม คือ การบรรลุ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นสภาพธรรมที่ทำให้บรรลุธรรมได้ ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปัญญาสามารถเกิดได้ โดยไม่เลือกสถานที่ ว่าจะต้องเป็นในป่า หรือ ในเมือง เพราะในความเป็นจริง ทั้งในป่า และ ในเมือง ไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังมี เห็นก็มี ได้ยินก็มี ได้กลิ่นก็มี ลิ้มรสก็มี คิดนึกก็มี ไม่ว่าจะในป่า ในเมือง ล้วนแล้วแต่มีสภาพธรรม ที่ปัญญาจะต้องรู้ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

ปัญญาที่จะถึงการบรรลุธรรม คือ จะต้องมีการปฏิบัติธรรม อะไรไปฏิบัติ ปัญญานั่นเองที่ปฏิบัติหน้าที่รู้ความจริง ปัญญารู้อะไร ก็รู้สภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฎว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ในป่า หรือ ในเมือง ก็ไม่ต่างกัน ตรงที่ต่างก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ หากแต่ว่า หากอยู่ป่า แต่ไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะ การบรรลุธรรมไม่ใช่อยู่ที่สถานที่เงียบสงัด เพราะใจไม่สงัดจากอกุศลเลย แม้อยู่ในที่เงียบแต่ใจก็หวั่นไหวไปแล้วในอกุศลที่เกิดขึ้น คิดถึงเพื่อน คิดถึงญาติ คิดเรื่องอื่นๆ ได้ แม้อยู่ในป่า เพราะฉะนั้น อกุศล ก็เกิดได้แม้อยู่ในป่า ดังนั้น หากขาดปัญญาเสียแล้ว อยู่ที่ไหน อย่างไร ก็ไม่สามารถบรรลุธรรม เพราะเราไม่เข้าใจว่า ปัญญานั้นจะต้องรู้อะไร คือ จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ซึ่งก็มีอยู่ แม้อยู่ในป่าและในเมือง ครับ

แต่หากมีปัญญาแล้ว ไม่ว่าอยู่ในที่ใด ปัญญาก็สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ในชีวิตประจำวัน เพราะในเมือง ก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ... ใจ ในป่า ก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ... ใจ ขาดแต่เพียงปัญญาเท่านั้นที่จะไปรู้ และปัญญาจะเกิด เจริญได้อย่างไร หากไม่ใช่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมครับ เพราะหากไม่มีความเข้าใจ ไม่มีปัญญาแล้ว จะอยู่ที่ไหน ก็อยู่ด้วยความไม่รู้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 เม.ย. 2555

ดังนั้น ในสมัยพุทธกาล ที่มีการหลีกเร้นออกจากบ้าน ไปสู่ป่า ของพระภิกษุ เราจะต้องเข้าใจครับว่า ผู้ที่อัธยาศัย หลีกเร้นก็ส่วนหนึ่ง แต่การหลีกเร้นไม่ใช่ทางหลุดพ้นแต่ทางหลุดพ้น คือ การเจริญวิปัสสนา ซึ่งผู้ที่หลีกเร้น เพราะมีอัธยาศัย ในการเจริญสมถภาวนา เพราะเห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวัน ต้องการที่จะเจริญความสงบจากกิเลสอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง การเจริญสมถภาวนา ปฏิปักษ์ ข้าศึกศัตรู คือ ความไม่เงียบ มีเสียงดัง ดังนั้น การหลีกเร้นไปสู่ป่า จึงเป็นสิ่งที่สมควรในการที่จะเจริญสมถภาวนาเพื่อให้ได้ฌาน

จะเห็นนะครับว่า เมื่อเราอ่านพระสูตร ศึกษาพระธรรม จะต้องละเอียดว่า การหลีกเร้น ไปสู่ป่า เพื่ออะไร ไม่ใช่เพราะการจะเจริญวิปัสสนา จะต้องไปสู่ป่า แต่การเจริญสมถภาวนาต่างหากครับที่จะต้องไปสู่ป่า และการเจริญสมถภาวนา ไม่สามารถละ ดับกิเลสได้ แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดง สติปัฏฐาน หรือ การเจริญวิปัสสนา เป็นหนทางดับกิเลส บรรลุธรรม ครับ และหากได้อ่านในสมัยพุทธกาล ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่บรรลุธรรม โดยไม่ได้เจริญสมถภาวนา และไม่ได้หลีกเร้นไปสู่ป่า มีน้อยกว่าผู้ที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวและไม่ได้หลีกเร้นสู่ป่า ครับ

ในสมัยพุทธกาล ท่านพระอุบาลี ผู้เลิศ ในการแสดงพระวินัย ก่อนจะบรรลุ ท่านเข้าไปสู่ป่า ไม่สามารถบรรลุธรรมเพราะเกิดความกลัว ท่านกลับมาพระวิหาร ได้บรรลุธรรม ท่านพระอานนท์ บรรลุธรรมโดยไม่ได้ไปอยู่ป่า ท่านพระสารีบุตร ผู้มีปัญญาสูงสุดในสาวก ฟังธรรม โดยไม่ได้ไปอยู่ป่า แต่ได้บรรลุธรรม นางวิสาขา ฟังธรรมระหว่างถนน บรรลุธรรม ท่านอนาถะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระวิหาร ฟังธรรมได้บรรลุธรรม สันตติมหาอำมาตย์ กำลังโศกเศร้า ฟังธรรม บรรลุเป็นพระอรหันต์

นางคนหนึ่ง กำลังทำอาหาร ไม่ได้อยู่ป่า น้ำแห้งจากหม้อ พิจารณาความไม่เที่ยง บรรลุธรรม อำมาตย์คนหนึ่ง ติดคุก พิจารณาธรรมขณะที่อยู่ในคุก ที่ไม่ใช่อยู่ป่าบรรลุธรรม จะเห็นนะครับว่า สถานที่ไม่ได้สามารถจะจำกัดปัญญาได้เลย หากปัญญาถึงพร้อมแล้ว ก็สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะ สภาพธรรมี ปรากฏอยู่แล้ว ไม่ว่าที่ไหน ก็มีธรรม ที่สามารถให้รู้ความจริงได้ เช่น เห็น ได้ยิน สี เสียง คิดนึก เป็นต้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 27 เม.ย. 2555

ปฏิบัติธรรม จึงไม่ใช่เรื่องของสถานที่ แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ความจริงดังเช่นการเจริญวิปัสสนา ที่เป็นการรู้ความจริงว่า แม้อกุศลที่เกิดขึ้นก็ควรรู้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้เกิดอกุศล อยู่ในป่า หรือ อยู่ที่เมือง อกุศลก็เกิดขึ้นได้เป็นปกติธรรมดา คิดถึงคนนั้น คนนี้ แต่สำคัญที่ว่า อกุศลเกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่อยู่ในป่า หรือ ในเมือง จะรู้ความจริงหรือไม่ว่า อกุศลเป็นธรรมไม่ใช่เรา การเจริญวิปัสสนาจึงเป็นการอบรมปัญญา รู้ความจริงที่มีในชีวิตประจำวัน ครับ ไม่ได้แยกออกไป เพราะธรรมมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันและจากคำกล่าวที่ว่า ทฤษฎีดี แต่ที่ปฎิบัติธรรม ไม่ถูกที่ จะไปไหวเหรอครับ พอออกจากบ้านก็เจอแว้นน ก็ผู้คนมากมาย น้ำหอม สิ่งอำนวยต่างๆ ส่งจิต ออกนอกตลอดเวลา มากกว่าในป่าเขา


- หากทฤษฎีดี คือ เข้าใจปริยัติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงถูกต้อง ย่อมไม่เข้าใจผิดว่าการปฏิบัติธรรม คือ การไปอยู่ในป่า แต่ย่อมเข้าใจถูกต้องว่า ปฏิบัติธรรม คือ การรู้ความจริงด้วยปัญญาที่รู้สิ่งที่มีกำลังมี กำลังปรากฏในขณะนี้ ในชีวิตประจำวัน ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา และ หากมีความเข้าใจพระธรรมถูกต้องแล้ว ย่อมจะถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องได้ แม้หากทฤษฎีไม่ดี คือ ไม่เข้าใจพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเข้าใจ ปฏิบัติธรรมผิดและไม่ถึงการบรรลุธรรมได้เลย เพราะเริ่มจากความเข้าใจผิด ครับ

ซึ่ง ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า การเจริญวิปัสสนา ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้อกุศลเกิด อกุศลต้องเกิดอยู่แล้วเป็นปกติ สำหรับปุถุชน ไม่ว่าอยู่ในบ้าน หรือ ในป่าก็ตามที แต่ อกุศลเกิดแล้วก็รู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนั้น ปฏิบัติธรรมแล้วปัญญาปฏิบัติหน้าที่รู้ความจริง (เป็นสติปัฏฐาน ใน จิตตานุปัสสนา) และที่สำคัญ มีตัวอย่างมากมาย ในสมัยพุทธกาล ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ต่อหน้าผู้คนมากมาย หลายพันก็บรรลุธรรม แม้ในขณะที่แสดงการละเล่น ยังบรรลุธรรมได้ ต่อหน้าผู้คนมากมาย แม้จิตจะเป็นอกุศลในขณะที่แสดงการละเล่น แต่ก็สามารถรู้ความจริงในขณะที่เป็นอกุศลและบรรลุธรรมได้ ไม่ต้องกล่าวถึง เจออะไรภายนอกในสมัยนี้ แม้แสดงศิลปะต่อหน้าผู้คนนับแสนก็บรรลุธรรม ครับ ดังจะขอเล่าเรื่องดังต่อไปนี้ครับ

เรื่อง บุตรเศรษฐี ชื่ออุคคเสน

สมัยนั้น มีนักฟ้อน ต่างเที่ยวแสดงศิลปะ การฟ้อนรำและการแสดงกระโดดที่สูง ยืนอยู่ในปลายไม้แป้น คราวนั้น มีสาวนักฟ้อน แสดงอยู่ เมื่อแสดงจบ บุตรเศรษฐีเห็นสาวนักฟ้อนคนนั้น เกิดหลงรัก ปรารถนาจะได้เป็นภรรยา ยอมอดอาหาร เมื่อบิดามารดาถาม ได้ความ จึงขอบุตรสาวกับชาวนักฟ้อน บิดาของสาวนักฟ้อน กล่าวว่า เราไม่ต้องการเงินที่ท่านให้ หากอยากได้บุตรสาวเรา ลูกชายท่านจะต้องไปกับเราด้วย อุคคเสนได้ฟัง ยอมไปด้วยเพราะหลงรักนาง เมื่อเที่ยวไป ก็ไปตามเมืองต่างๆ อุคคเสนยังแสดงศิลปะ ไม่เป็น ถูกภรรยา พูดดูถูก อุคคเสนโกรธ จึงเรียนศิลปะ การกระโดดสูง ลงมาที่ไม้แป้นอันเดียวกับพ่อตา เมื่อเรียนเสร็จ สำเร็จแล้ว ก็กล่าวกับหมู่มหาชน นัดเพื่อจะแสดงศิลปะให้ดูกันที่เมืองราชคฤห์ ในวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูด้วยข่ายพระญาณ เห็นอุคคเสน บุตรเศรษฐีอยู่ในข่ายที่จะบรรลุธรรมและพระองค์พิจารณาต่อไปว่า และเมื่อเราแสดงธรรมให้อุคคเสนฟัง แล้ว หมู่มหาชน ๘๔๐๐๐ คนก็บรรลุธรรม ณ ที่นั้นด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 27 เม.ย. 2555

เมื่อถึงวันการแสดง หมู่มหาชน เรือนแสนคน มาประชุมกัน อุคคเสน ก็ยืนบนแป้นไม้เตรียมแสดงศิลปะ พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง พร้อมภิกษุสงฆ์ ทรงอธิษฐานให้หมู่มหาชนมองแต่พระองค์ไม่มองอุคคเสน อุคคเสนเห็นคนมองแต่พระพุทธเจ้า เกิดความเสียใจ พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เข้าไปหาอุคคเสนและสนทนา ท่านพระมหาโมคคัลลานะ จึงกล่าวกับอุคคเสนว่า เชิญเถิด อุคคเสน บุตรคนฟ้อน ผู้มีกำลังมาก เชิญท่านจงดู, เชิญท่านทำความยินดีแก่บริษัทเถิด, เชิญท่านทำให้มหาชนร่าเริงเถิด." อุคคเสนดีใจ ทราบว่า พระพุทธเจ้าจะดูศิลปะที่เราแสดง อุคคเสน จึงกระโดด หมุนตัว ตีลังกา ๑๔ รอบในอากาศ และกลับมายืนบนแป้นไม้ที่เดิม ขณะที่เขายืนนั่นแหละ พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้อุคคเสนได้ฟังว่า

" อุคคเสน ธรรมดาบัณฑิตต้องละความอาลัยรักใคร่ในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบันเสียแล้ว พ้นจากทุกข์ทั้งหลายมีชาติเป็นต้นจึงควร แสดงพระคาถา เมื่อจบพระธรรมแทศนา อุคคเสน ที่ยืนอยู่บนไม้แป้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที และ หมู่มหาชน ก็บรรลุธรรม ด้วยอีก ๘๔๐๐๐ คน


จากตัวอย่างนี้ อุคคเสนบุตรเศรษฐี ได้ไปป่าจึงบรรลุธรรมหรือไม่ หรือ อยู่ในเมืองก็บรรลุธรรม และอุคคเสนเกิดอกุศลก่อนบรรลุธรรมหรือไม่ เช่น กำลังแสดงศิลปะ จิตอะไรที่แสดง ขณะที่เสียใจ ที่มีคนอื่นมองแต่พระพุทธเจ้า ขณะที่เสียใจ ก็เป็นอกุศลจิต อบรมปัญญาได้ไหม ปฏิบัติธรรมได้ไหม ขณะที่อยู่ต่อหน้าคนเรือนแสนไม่ใช่อยู่ป่า เกิดอกุศลจิตก่อนบรรลุธรรมได้ไหม และที่สำคัญ ขณะที่แสดงศิลปะไม่ได้อยู่ป่า มีสภาพธรรมกำลังปรากฏให้รู้ได้ไหม เช่น เห็น ได้ยิน กุศล อกุศลจิต ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมที่ควรรู้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา หมู่มหาชน ๘๔๐๐๐ คน อยู่ป่าหรือไม่ หรือว่าก็กำลังดูการแสดง ถ้าเทียบกับสมัยนี้ ก็ไม่ต่างจากดูทีวี ดูหนังอยู่ บรรลุธรรมได้ไหมเมื่อได้ฟังพระธรรม เหตุปัจจัยพร้อมก็บรรลุ เพราะอะไร เพราะมีปัญญาที่สะสมมาแล้วในอดีตชาติ ซึ่งการเจริญวิปัสสนา ที่เป็นการบรรลุธรรม จึงเป็นการรู้ความจริงในชีวิตประจำวัน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 27 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้ว จะอยู่ที่ไหนก็ไม่ต่างกัน เพราะเป็นไปกับด้วยความไม่รู้ ทุกขณะของชีวิตเป็นธรรม มีสิ่งที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องเป็นการแสวงหาธรรมที่ไหน แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ไปทำอะไรด้วยความเห็นผิด ด้วยความไม่รู้ ด้วยความเป็นตัวตน ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาเลย ดูเหมือนว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เลย เพราะเรื่องของปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ใช่เรื่องไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมา

พระอริยสาวกทั้งหลายในอดีต ล้วนเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของความเข้าใจพระธรรมทั้งนั้น จึงมีการฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง เพราะฉะนั้น หนทางที่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาจะขาดการฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไม่ได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกตั้งแต่ตั้น ก็ไม่สามารถดำเนินไปถึงซึ่งการดับกิเลสได้เลย

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม คือ เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และสิ่งที่จะสามารถศึกษาและเข้าใจได้ ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ มีจริงอยู่ทุกขณะ ซึ่งจะต้องเริ่มสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ในขณะนี้จริงๆ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 27 เม.ย. 2555

ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเกิดที่ไหน เวลาไหนก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในป่าหรือในเมือง สติปัฏฐานเกิดได้ไม่จำกัดสถานที่ แต่ถ้าเจริญสมถภาวนา สถานที่เงียบสงัด ไม่มีคนเยอะ เป็นสิ่งสำคัญที่จะอบรมให้สมถภาวนามีกำลังจนได้ฌานขั้นต่างๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 27 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เริ่มด้วยการฟังพระธรรมจนกว่าจะเข้าใจว่า

"กุศลก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา อกุศลก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา"

"ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้"

"ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด (ในป่า,ในเมือง) "

"ปัญญานั่นเองจะทำหน้าที่รู้เอง (ไม่มีเรา) "

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่น, พี่วรรณีและทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 28 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
พิมพิชญา
วันที่ 28 เม.ย. 2555

ดิฉันเป็นผู้หนึ่งที่เคยคิดเห็นแบบเดียวกับผู้ตั้งกระทู้นะคะ

พอจะเข้าใจว่าเหตุการณ์มันช่างทำให้น่าคิดแบบนั้นจริงๆ เลยขออนุญาตตอบดังนี้นะคะ (ไม่แน่ใจว่าจะทำให้งงหรือเปล่า ผู้ตั้งกระทู้เผื่อใจไว้ก่อนเลยนะคะ)

ดิฉันคิดว่า

- ต้องแยก สมถะ กับ วิปัสสนา (สติปัฏฐาน)

- ต้องเข้าใจว่า สมถะมีหลายขั้น แยกเป็นขั้นสมถะในชีวิตประจำวัน กับ สมถภาวนา

- ต้องเข้าใจว่าฆราวาสที่ใช้ชีวิตตามปรกติ ก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้ ทำการงานและมีครอบครัวได้ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา ฯลฯ

- ต้องเข้าใจว่าการบรรลุธรรม มีการเจริญสมถะในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องถึงกับขั้นสมถภาวนาก็ได้

- ต้องเข้าใจว่า สมถภาวนา เป็นการข่มกิเลสไว้ แต่ไม่ได้ดับกิเลสใดๆ

- ต้องเข้าใจว่า การหลีกเร้นไปเข้าป่า คือการไปทำฌานจิต เป็นสมถภาวนา ไม่ใช่การปฏิบัติธรรมในความหมายของพระพุทธเจ้า (เพราะจริงๆ คำว่าปฏิบัติในภาษาพระพุทธเจ้าคือ ปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะ ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชีวิตประจำวันทุกๆ ขณะจิต จึงมีคำกล่าวว่า ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย)

- ต้องเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่ทรงตั้งพระธรรมวินัย ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์เป็นศาสดาแทนพระองค์ สมควรหรือไม่ที่จะศึกษาสิ่งที่พระศาสดาทรงฝากไว้ ก่อนที่จะเชื่อบุคคลในยุคหลัง

- ทฤษฎีทางโลกต้องลงมือทำ แต่พระธรรมจะเรียกว่าทฤษฎีไม่ได้ เพราะเป็นสัจจะ เป็นปรมัตถธรรม เป็นพระปัญญาตรัสรู้ คนธรรมดาหรืออริยสาวกก็ไม่สามารถตั้งขึ้นได้เอง เพราะผู้ตรัสรู้ได้เองคือพระพุทธเจ้า

พระธรรม เป็นความจริงอันยิ่ง ไม่เปลี่ยน ไม่สามารถลบล้างได้ และไม่ใช่ต้องไปทำเหมือนเรื่องทางโลก เพราะเป็นเรื่องของการปฏิบัติกิจของสภาพธรรมะ ไม่ใช่เรื่องของสถานที่หรือท่าทาง ไม่มีตัว ไม่มีตน บังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา) แต่อาศัยการฟัง การอบรม เพื่อให้เกิดการทำกิจของสภาพธรรมที่จะดับกิเลสได้

- สำหรับเสียงดัง เด็กแว้น แสง สี เสียง เป็นข้าศึกของฌาน ก็ไม่แปลกที่คนจะทำฌานต้องหลีกเร้น

- ต้องเข้าใจว่าฌานจิตไม่ได้ดับกิเลส

- ต้องเข้าใจว่า วิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน รับมือกับกิเลสในชีวิตประจำวัน

- ต้องเข้าใจว่า ขั้นสมถะในชีวิตประจำวัน เช่น ขันติ เมตตา อนุสสติ ๑๐ ช่วยส่งเสริมวิปัสสนาภาวนา โดยไม่จำเป็นต้องทำสมถภาวนา (ฌานจิต)

- ต้องเข้าใจว่า การจะบรรลุธรรม เป็นจิรกาลภาวนา มีการสะสมเนิ่นนาน ไม่สามารถเร่งรัดได้ แม้ผู้ที่บรรลุเพราะฟังธรรมประโยคเดียวในสมัยพุทธกาล ก็เคยผ่านการสะสมอบรบบารมีมาเป็นกัปๆ

- ต้องเข้าใจว่าการจะบรรลุธรรมต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ขั้นแรกคือฟังความจริงให้เข้าใจขั้นฟัง ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันก่อน ถ้าแค่ในชีวิตประจำวันไม่ได้ ก็ไม่ต้องนิพพาน

- ต้องเข้าใจว่า สติปัฏฐาน คือหนทางเดียวที่จะดับกิเลส (บรรลุธรรม) ได้ สติปัฏฐานมีอาหารคือการฟังธรรม การพิจารณาอย่างแยบคายในข้อธรรม และการกระทำสุจริต ๓ ในชีวิตประจำวัน ถ้าขาดอาหารเหล่านี้ ก็จะไม่เกิดสติปัฏฐาน

ต้องขอบพระคุณสำหรับคำถาม ที่ทำให้ดิฉันเห็นคุณค่าของพระธรรมมากขึ้น ไม่แน่ใจว่าขาดตกบกพร่องหรือกล่าวผิดอะไรไป เพราะด้วยยังมีวิสัยแบบปุถุชน และไม่ใช่ธรรมกถึกต้องกราบขออภัยทุกท่าน ยังไงก็ตามแต่ ขอให้ท่านผู้ตั้งกระทู้ลองตรองดู และลองศึกษากระทู้ต่างๆ ในเว็บนี้ดู เพราะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kinder
วันที่ 29 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
apichet
วันที่ 8 ก.ค. 2566

อนุโมทนาสาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ