การเพ่งจิต แก้ปวดหัวได้ไหมครับ

 
เดินดี
วันที่  20 มี.ค. 2555
หมายเลข  20832
อ่าน  1,696

มีอาการปวดหัวอยู่บ่อยๆ อยากทราบว่า การเพ่งจิต แก้ปวดหัวได้ไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 20 มี.ค. 2555

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)

----------

- ประเด็นที่ ๑

อ้างอิง : ใช้สมาธิ แล้วกำหนดจิตไว้ที่ศีรษะ แล้วเพ่งจิตลงไป บริกรรมภาวนา หายปวดหนอ ไปเรื่อยๆ จะแก้ปวดหัวได้ไหมครับ

ตอบ : ไม่ได้ครับ เพราะไม่ใช่การรักษาอาการปวดหัว ตามสาเหตุของโรค แต่ควรรับประทานยาแก้ปวดหัว หรือควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของโรค แล้วทำการรักษาครับ

- ประเด็นที่ ๒

อ้างอิง : มีใครเคยทำกับอาการป่วยอย่างอื่นบ้าง

ตอบ : มี ครับ แต่การกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำให้หายจากโรคใดๆ เพราะการหายจากโรค ย่อมมีได้ เพราะการรักษาถูกต้องตามอาการของโรคนั้นๆ หรือแม้ไม่ได้รักษา แต่เมื่อถึงเวลาที่โรคนั้นๆ หมดปัจจัยที่จะกำเริบอีกต่อไป ก็หายจากโรค ครับ

และที่สำคัญที่สุด คือ การหายจากโรค ย่อมมีได้ เพราะผลของอกุศลกรรม ที่เป็นปัจจัยให้เกิดโรคนั้นๆ สิ้นสุดลง ครับ

อนึ่ง ผู้ที่เข้าใจพระธรรมแล้ว เมื่อความปวดเกิดขึ้น สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของความปวดที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยปัญญาที่เข้าใจถูกต้องว่า ความปวด เป็นแต่เพียงธาตุ หรือสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน ก็รักษาโรคไปตามอาการของโรคนั้นๆ ครับ


.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจ การปวดก่อนครับว่า คืออะไร การปวด คือ สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นทุกขกายวิญญาณ คือ การรู้กระทบสัมผัสที่ไม่ดี อันมีความรู้สึกทุกข์กายเกิดร่วมด้วย อันเป็นผลมาจากอกุศลกรรมให้ผล ครับ

ดังนั้น การปวด จะมีได้ เพราะกรรมเป็นปัจจัย การจะหายปวดได้ ก็หลายอย่างซึ่งตามปกติก็หายปวดอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าหายปวด เพราะในความเป็นจริง ทุกขกายวิญญาณจิต ที่เป็นความปวด เมื่อเกิดขึ้นและก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา คือ ไม่เที่ยงเลย และจิตดวงอื่นก็เกิดต่อ ขณะนี้กำลังเห็น ขณะที่เห็นเกิด ขณะนั้นไม่เกิดความปวด เพราะกำลังเห็น นี่คือสัจจธรรม ว่าไม่ปวดตลอดเวลาเลย ครับ

ขณะที่คิดเรื่องอื่น ไม่ต้องคิดว่า ปวดหนอ เช่น คิดถึงอาหาร ขณะนั้นก็ไม่ปวดแล้ว เพราะขณะนั้นคิดเรื่องอื่นอยู่ ทุกขกายวิญญาณจิตไม่เกิดในขณะนั้น จึงไม่ปวด ดังนั้น การคิดเปลี่ยนอารมณ์ ก็ทำให้ไม่ปวดได้ เพียงชั่วขณะ แต่สิ่งที่สำคัญ คือไม่ปวด หรือ ปวด แล้ว ทำให้รู้ความจริงอะไรบ้าง ดังนั้น จึงไม่ใช่ ใช้พระธรรมเป็นยารักษาโรคกาย แต่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ประโยชน์เพื่อรักษาโรคใจ ที่เป็นกิเลส อันเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์กาย มีการปวด เพราะกิเลสเป็นปัจจัยให้มีการเกิดเมื่อมีการเกิด มีรูปร่างกาย จึงทำให้ต้องได้รับความปวด เพราะมีร่างกาย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ซึ่งจะขอกล่าว ถึงประเด็น ที่มักกำหนดว่า ก้าวหนอ ย่างหนอ ทุกข์หนอ ว่าเป็นการเจริญวิปัสสนา เป็นสติปัฏฐาน

ในความเป็นจริง แม้ไม่กล่าวว่าทุกข์หนอ ทุกข์ก็มีอยู่แล้ว ขณะที่กล่าวว่าทุกข์หนอ ขณะนั้นไม่ได้รู้ตัวทุกข์ที่เป็นสภาพธรรมจริงๆ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะกำลังคิดคำว่า ทุกข์หนอ ไม่ได้รู้ลักษณะของธรรมะที่กำลังปรากฏ ครับ

ซึ่งในพระไตรปิฎก แสดงไว้ชัดเจน ถึงความเห็นผิดที่สำคัญว่า การกล่าวคำว่า ทุกข์หนอ เป็นหนทางการอบรมปัญญา ดับกิเลส เป็นความเห็นผิด ครับ

ความเห็นผิดนี้ มาจาก ภิกษุชาววัชชีที่เข้าใจธรรมผิด

เชิญอ่าน ความเห็นผิด ๕ ประการ

[เล่มที่ 80] พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 9

ท่านได้เสนอความเห็น ๕ ข้อ คือทิฏฐิ ๕ ข้อ ต่อที่ประชุมสงฆ์ ดังนี้ :-

๑. พระอรหันต์อาจถูกมารยั่วยวนในความฝันได้.

๒. พระอรหันต์ยังมีอัญญาณ.

๓. พระอรหันต์ยังมีความสงสัย.

๔. พระอรหันต์จะต้องรู้ว่าตนได้มรรคผลต้องอาศัยผู้อื่นอีก.

๕. มรรคผลเกิดขึ้นอาศัยเปล่งคำว่า ทุกข์หนอๆ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความไม่รู้และความเห็นผิด เป็นสิ่งที่ทำให้มีการกระทำที่ผิดหลากหลายมากมาย คล้อยตามความเห็นที่ไม่ถูกต้อง จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ทุกขณะเป็นธรรมะ ไม่มีเว้นเลย แม้แต่ในขณะที่กล่าวว่าปวดศีรษะ ปวดย่อมมีจริง คือ เป็นทุกขเวทนาทางกาย อันเป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าไม่ได้กระทำอกุศลกรรมมาแล้ว ความปวดที่เกิดขึ้นก็จะมีไม่ได้ สิ่งที่ควรรู้ในขณะนั้น คือ เวทนา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา ขณะที่รู้สภาพธรรมที่จริง ไม่เจ็บ ไม่ปวด เพราะขณะนั้นจิตเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา เป็นคนละขณะกันกับขณะที่ปวดที่เป็นทุกขเวทนาทางกาย ทุกขณะของชีวิต มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ไม่มีจิตเกิดพร้อมกันทีเดียว ๒ หรือ ๓ ขณะ แต่เกิดทีละขณะ ส่วนใหญ่แล้ว ก็มักจะคิดถึงโรคทางกาย แต่ก็ยังมีโรคอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ยากและรักษาได้ยาก นั่นก็คือ โรคทางใจ คือ กิเลส ที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งเป็นเครื่องเสียดแทงจิตใจ ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่พ้นไปจากโรคทางใจ

การที่จะรักษาโรคทางใจ ย่อมยากกว่าโรคทางกาย ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการสะสมปัญญาและความดีประการต่างๆ ที่จะค่อยๆ รักษาโรคทางใจไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเป็นผู้ไม่มีโรคทางใจ คือ กิเลส อีกเลย เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่ต้องมีการเกิดอีก ไม่ต้องมีทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ อีกต่อไป ครับ.

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ในพระไตรปิฎกมีแสดงไว้ เพ่งมี ๒ อย่าง

๑. เพ่ง ในทางกุศล เช่น การเพ่งลักษณะของธรรมะ ที่ไม่ใชตัวตน ฯลฯ

๒. เพ่ง ในทางอกุศล เช่น เพ่ง จดจ้อง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้วยความไม่รู้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เดินดี
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณมากครับที่แนะนำในสิ่งที่ดีๆ สำหรับผม

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 22 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ