ใช้ชีวิตอย่างไรชื่อว่าไม่ประมาท

 
ผู้มีความประมาท
วันที่  18 มี.ค. 2555
หมายเลข  20812
อ่าน  9,052

ปัจจุบันฟังธรรมที่ท่านอาจารย์สุจินต์แสดงทุกวัน แต่ก็ยังดูหนังฟังเพลงด้วย

อย่างนี้ยังชื่อว่าเป็นผู้ประมาทหรือไม่ และใช้ชีวิตอย่างไรจึงจะเป็นผู้ไม่ประมาท


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่าประมาท และ ไม่ประมาทให้ถูกต้องว่าคืออะไรก่อนครับ

การประมาท คือ ขณะที่ไม่มีสติ ซึ่งสติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ขณะที่ไม่มีสติ ที่ชื่อว่า ความประมาท หมายถึง ขณะที่เป็นอกุศล ดังนั้น ขณะใดก็ตาม ที่เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะมาก หรือ น้อย ชื่อว่าประมาทแล้วในขณะนั้นครับ

ความไม่ประมาท หมายถึง ขณะที่มีสติ เป็นกุศลจิต ดังนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลจิตไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตขั้นใด ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นชื่อว่าไม่ประมาท เพราะมีสติ อยู่โดยไม่ปราศจากสติในขณะนั้น ดังนั้น ความประมาท จึงไม่ใช่ความหมายทางโลก ที่ทำอะไรด้วยความประมาท ข้ามถนน ไม่ดู ก็กล่าวว่าประมาท นั่นไม่ใช่ความหมายของความประมาทที่ถูกต้อง ครับ

ซึ่งเราก็ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่ายังเป็นปุถุชน ดังนั้น อกุศลจิตเกิดได้บ่อยๆ มากในชีวิตประจำวัน หากเทียบกับกุศล ดังนั้น ก็ชื่อว่า โดยมาก ใช้ชีวิตด้วยความประมาท เพราะโดยมากเป็นอกุศล ชื่อว่าประมาทโดยมาก แต่ ที่สำคัญ แม้จะมีการดูหนัง ฟังเพลง และแม้จะไม่ดูหนัง ฟังเพลง ก็เกิดอกุศลจิตได้บ่อยเป็นธรรมดาอีกเช่นกัน ก็ชื่อว่าประมาทเป็นประจำ แต่ผู้ที่เป็นปุถุชน ก็มี ๒ ประเภท คือ พาลปุถุชน ปุถุชนผู้มืดบอด ไม่สนใจอบรมปัญญาฟังพระธรรมเลย และ กัลยาณปุถุชน ปุถุชนที่ดีงาม คือ แม้จะเกิดอกุศลจิตบ่อย และเป้นผู้ประมาทโดยมาก แต่ก็ยังมีการฟังพระธรรม สนใจพระธรรม อบรมปัญญาและทำกุศลบ้าง ซึ่งขณะนั้นไม่ประมาท และนำไปสู่การละกิเลส ที่นำมาซึ่งความประมาทได้จนหมดสิ้นในอนาคต ครับ

ดังนั้น การใช้ชีวิตของกัลยาณปุถุชน ก็เป็นธรรมดาที่มากด้วยอกุศล แต่ก็ไม่ทิ้ง และไม่ลืมที่จะแบ่งเวลาที่จะให้กับสิ่งที่ประเสริฐ คือ การฟังพระธรรม ขณะนั้น ชื่อว่า ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทแล้ว ครับ สำคัญที่เข้าใจถูกครับว่า ยังประมาท แต่ก็สามารถดำเนินชีวิตด้วยรู้จักตัวธรรม ขณะที่ประมาท ที่เป็นอกุศลว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ หนทางที่เป็นความไม่ประมาท และละกิเลสที่เป็นความประมาททั้งปวง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 18 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังมีอกุศลอยู่ ย่อมอดไม่ได้ที่จะต้องสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วแต่โอกาส เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ติดข้องในสิ่งต่างๆ มากมาย ขณะที่ติดข้องเป็นอกุศล ชื่อว่า ประมาท หมายรวมถึงขณะที่จิตเป็นอกุศลทุกขณะ ไม่ใช่เฉพาะขณะที่โลภะเกิดเท่านั้น แต่ผู้ที่เห็นโทษของการปล่อยจิตให้คลุกคลีอยู่กับอกุศล ก็ย่อมจะเป็นผู้ไม่ละทิ้งการฟังพระธรรม ไม่ละทิ้งการอบรมเจริญปัญญา เมื่อยังมีกิเลส กิเลสก็พาไปยังที่ต่างๆ ไปสู่การสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ แต่เมื่อเป็นผู้ที่มั่นคงในการฟังพระธรรม ไม่ว่าจะไปสู่ที่ใด ไม่ว่ากำลังสนุกสนานอย่างใด สติก็มีปัจจัยเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนั้นในขณะนั้น ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้น จึงเป็นผู้ที่สามารถละคลายและดับอกุศลได้ตามกำลังของปัญญา เพราะปัญญาเห็นอกุศลตามความเป็นจริง ซึ่งถ้ายังไม่เห็นอกุศลตามความเป็นจริง ก็ยังคงคิดว่าไม่เป็นโทษและไม่รู้ด้วยว่า การสะสมอกุศลมากๆ การเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดกับกิเลส เป็นการเพิ่มความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น

ขณะที่ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา และสะสมกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ชื่อว่าเป็นขณะที่ไม่ประมาท กล่าวได้ว่า ขณะที่ไม่ประมาทนั้น มีน้อยมากเทียบส่วนกับขณะที่ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว แต่ถึงอย่างไร ก็ควรไม่ท้อถอย ไม่ละทิ้งในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาต่อไป เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้มีความประมาท
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขอขอบพระคุณ และอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้มีความประมาท
วันที่ 19 มี.ค. 2555

บางครั้ง ขณะดูหนังก็มีความรู้สึกผิดว่าควรไปฟังธรรมจะดีกว่า แต่ก็ไม่อยากละจากหน้าจอไป ทำให้ทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่าง เพราะจิตใจไม่มั่นคง มีข้อแนะนำไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 19 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

สำหรับเรื่องนี้ ขอยกคำบรรยายทางวิทยุ ที่บรรยายโดยท่านอาจารย์สุจินต์ เรื่องการ จะไปดูหนัง ดูการแสดง กับ การฟังธรรม ซึ่งท่านอาจารย์ บรรยายไว้ครับว่า เมื่อได้ไปที่สังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย ระหว่างนั้น ก็จะมีการแสดงการเต้นระบำ บางพวก ก็จะไปดู บางพวก็จะสนทนาธรรม ซึ่งท่านอาจารย์บรรยายว่า พระธรรมไม่ได้บังคับ แต่ ให้รู้ตามความเป็นจริง จะไปไหน อย่างไรก็ตาม เหตุปัจจัยที่สำคัญ ปัญญาที่ได้อบรมมา สามารถเข้าใจความจริง รู้ความจริงได้ทุกที่ แม้จะไปดูการเต้นระบำ ก็ไปได้ และ ไปแล้ว และไม่ได้หมายความว่า ปัญญาจะเกิดไม่ได้ มีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ไหม ก็มีจริง มีธรรมที่สามารถให้รู้ได้ โดยไม่ได้มีตัวตนที่จะทำ ที่อยากจะเลือกสิ่งใด เพราะเป็นอนัตตาทั้งสิ้น

จะเห็นนะครับว่า ธรรมเกิดแล้ว อยากจะไปไหน ทำอะไร ไม่มีใครบังคับบัญชาได้เลย อยากจะดูหนังมากกว่าฟังธรรม ก็เป็นธรรมดา แต่ก็เกิดแล้วเป็นอย่างนั้น จะเดือดร้อนใจ ไม่เดือดร้อนใจที่ทำไมไม่ไปฟังธรรม แต่สภาพธรรมนั้นก็ถึงเวลาที่จะไป หรือ ไม่ไปฟังธรรม ก็ได้ สำคัญคือ ไม่ใช่การที่จะเป็นตัวตนที่จะอยากไปฟังธรรม ธรรม จะปรุงแต่งเอง เมื่อถึงพร้อมก็ไปเอง ดังนั้น สำคัญที่สุด คือ อยู่กับปัจจุบัน ขณะนั้นว่า ความจริงคืออะไร ก็เป็นเราที่อยาก หรือไม่อยากไป หรือ ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงธรรม สำคัญคือ ปัจจุบัน ครับ เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น การเจริญสติปัฏฐาน อบรมปัญญา คือ ความเป็นผู้มีปกติ อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ความจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ไว่าอยู่ในเหตุการณ์ สถานการณ์ใด ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นผู้ประมาท เป็นปกติ แต่หนทาง คือ เข้าใจความประมาทที่เกิดขึ้นโดยความเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pat_jesty
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขณะที่เข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่ติดข้อง เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างไร ปรุงแต่งพร้อมให้เกิดในขณะใด ก็เกิด ไม่สามารถกะเกณฑ์ หรือบังคับบัญชาได้ ความเข้าใจย่อมไม่ได้หายไปไหน สะสมอยู่ในจิต สืบต่อกันทุกขณะ ดังนั้น เมื่อสะสมความรู้ความเข้าใจมา ก็ย่อมเป็นเหตุให้ระลึกสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ไม่ว่าจะทำอะไรขณะไหน หรืออยู่ที่ใด เพราะมีเหตุที่ดีสะสมมาแล้ว ผลย่อมเกิดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่รู้ที่สะสมมายังมีมากมายนัก ความเข้าใจถูกเห็นถูก และการเห็นประโยชน์ต่อการศึกษาพระธรรมย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้นั้นสะสมความรู้ความเข้าใจต่อไป มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งรู้ชัดทุกอย่างตามความเป็นจริง (ดับความไม่รู้หมดสิ้น) จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างแท้จริง ค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
รากไม้
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นนะครับ

ปมาทะ มีความปล่อยจิตไปในกามคุณ ๕ เป็นลักษณะ, มีการเพิ่มความปล่อยจิตเป็นรส, มีความขาดสติเป็นปัจจุปัฏฐาน. ... ผู้มัวเมาย่อมประมาทในวัตถุทั้งหลายต่างโดยกามคุณ เป็นต้น. นี้เป็นความมัวเมาและความประมาทของเขา

ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เมตตา
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ทุกขณะที่อกุศลจิตเกิดคือความประมาท เพราะฉนั้นไม่ควรประมาทอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เพราะเมื่ออกุศลสะสมจนมีกำลังย่อมเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมบถซึ่งมีทุคติเป็นที่ไป การไม่ประมาทก็คือ การเป็นคนดีและเข้าใจธรรม

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า ผู้ที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว สติปัฏฐานเกิด ประเสริฐกว่า ผู้มีชีวิตอยู่ร้อยปี สติปัฏฐานไม่เกิด

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เซจาน้อย
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อดีตผ่านไปแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ อนาคตยังมาไม่ถึงไม่ต้องไปห่วง

อยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติทุกๆ ขณะ ไม่ประมาทอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ผู้มีความประมาท
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ