ถามเรื่องปาราชิกครับ .

 
dets25226
วันที่  14 มี.ค. 2555
หมายเลข  20767
อ่าน  15,969

ด้วยความเคารพอย่างสูง

เนื่องด้วยมีการสนทนาเรื่องปาราชิกอยู่ในบางหัวข้อ ผมเลยอยากใคร่ขอความเห็นในเรื่องของปาราชิกหน่อยครับว่า

๑. เมื่อต้องปาราชิกแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าต้องแล้ว

๒. เมื่อต้องปาราชิกแล้ว ควรที่จะปฏิบัติศาสนกิจต่อไปหรือไม่อย่างไร

๓. คำกล่าวที่ว่า "ภิกษุไม่จำต้องโทษถึงปาราชิก ถึงจะเรียกว่า ต้องปาราชิก ก็ได้ เพราะว่า เมื่อสั่งสมอาบัติเล็กน้อยอื่นๆ มากเข้า ก็เหมือนต้องปาราชิก" ข้อนี้ เป็นจริงอย่างไร

๔. ได้ยินว่า พระธรรมกับพระวินัย ต่างก็เป็นเรื่องสำคัญ เหตุไฉน พุทธศาสนิกชนส่วนมาก รวมถึงพระสงฆ์ด้วย จึงค่อนข้างจะละเว้นในเรื่องของพระวินัยมาก

๕. พระวินัยกับพระธรรม อย่างไหน สำคัญยิ่งหย่อนกว่ากัน

ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เมื่อต้องปาราชิกแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าต้องแล้ว

ปาราชิก คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ครุกาบัติ อาบัติหนักที่สุด ที่เรียกว่า อาบัติปาราชิก พระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกสี่ข้อใดข้อหนึ่ง แม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบท ก็ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เมื่อความผิดสำเร็จ ปาราชิก มี ๔ ข้อ อยู่ใน ศีล ๒๒๗ ได้แก่

๑. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)

๒. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย)

๓. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) หรือแสวงหาศาสตราอันจะนำไปสู่ความตายแก่ร่างกายมนุษย์

๔. กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง) ซึ่งจะรู้ว่าต้องอาบัติปาราชิก หรือ ไม่ก็ด้วยตนเองเป็นสำคัญหนึ่ง หากสงสัย ไม่แน่ใจ ก็สอบถาม พระภิกษุผู้รู้ เป็นต้นว่า การกระทำอย่างนี้ ต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ หรือจากการอ่านพระธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ตรวจสอบด้วยพระธรรมว่า สิ่งที่ตนกระทำต้องอาบัติปาราชิก หรือ ไม่ครับ

๒. เมื่อต้องปาราชิกแล้ว ควรที่จะปฏิบัติศาสนกิจต่อไปหรือไม่อย่างไร

เมื่อต้องอาบัติปาราชิก ย่อมขาดจากความเป็นพระภิกษุ ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจในเพศพระภิกษุได้อีก นอกจาก เป็นฆราวาสแล้ว สามารถปฏิบัติศาสนกิจทั่วไปได้ เช่น ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เผยแพร่พระธรรม และ อุปฐากพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ได้ครับ ในเพศฆราวาส

๓. คำกล่าวที่ว่า "ภิกษุไม่จำต้องโทษถึงปาราชิก ถึงจะเรียกว่า ต้องปาราชิก ก็ได้ เพราะว่า เมื่อสั่งสมอาบัติเล็กน้อยอื่นๆ มากเข้า ก็เหมือนต้องปาราชิก" ข้อนี้ เป็นจริงอย่างไร

ไม่จริงครับ อาบัติตัวอื่นๆ ก็เป็นอาบัติอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับ อาบัติปาราชิก ที่ มี ๔ ข้อ ต้องอาบัติตัวไหน ก็อาบัติข้อนั้น ไม่นำมารวมกัน ครับ

๔. ได้ยินว่า พระธรรมกับพระวินัย ต่างก็เป็นเรื่องสำคัญ เหตุไฉน พุทธศาสนิกชนส่วนมาก รวมถึงพระสงฆ์ด้วย จึงค่อนข้างจะละเว้นในเรื่องของพระวินัยมาก

เวลาผ่านไป สองพันห้าร้อยกว่าปี จึงเป็นธรรมดาของโลก ที่พระธรรมจะเสื่อมไปจากใจของสัตว์โลก เพราะสัตว์โลกไม่เห็นประโยชน์ของการศึกษาพระรรม เพราะเป็นผู้หนาด้วยกิเลส ไม่เฉพาะพระวินัยเท่านั้น พระธรรมส่วนอื่นๆ ก็สนใจน้อยลง ตามกำลังของกิเลสของปุถุชน ครับ และพระวินัยที่ไม่ศึกษากันโดยมากของฆราวาส เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่ ส่วนของตนเอง ที่เป็นข้อวัตร บัญญัติของพระภิกษุ แต่ในความเป็นจริง ควรศึกษาให้เข้าใจ ส่วนพระภิกษุ ที่ไม่ศึกษาส่วนมาก ก็ตามที่กล่าวแล้วครับว่า เป็นยุคเสื่อม และที่บวชเข้ามาเป็นพระ ก็มีกิเลสครบเต็ม และเมื่อเป็นยุคเสื่อม ก็ทำให้ไม่สนใจ ในสิ่งที่ควรสนใจ ไปสนใจในเรื่องอื่นแทน ครับ

พระวินัย เป็นสิ่งที่ควรศึกษา พระภิกษุ จำเป็นจะต้องศึกษาเพื่อที่จะรู้ว่าสิ่งใดควรไม่ควร อันเป็นไปเพื่ออนุเคราะห์ที่จะประพฤติพรหมจรรย์ เป็นเพศพระภิกษุด้วยความไม่มีโทษและยืนยาว และรักษาพระธรรม พระศาสนา ที่สำคัญ รักษาตนเอง ไม่ให้ตกไปในที่ต่ำ มีอบายภูมิ และรักษาตนเอง ให้พ้นจากกิเลส ดับทุกข์ได้ครับ

ส่วน คฤหัสถ์ก็ควรศึกษาพระวินัย เพื่อประโยชน์ คือ รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำกับพระภิกษุ จะได้ปฏิบัติถูกต้องกับท่าน และรักษาพระศาสนาด้วย ที่สำคัญ พระวินัย ก็ยังเป็นวัตร ข้อปฏิบัติอันงาม อันคฤหัสถ์สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้บางข้อด้วยครับ ก็จะขัดเกลากิเลสของตนได้มากขึ้น ครับ

๕. พระวินัยกับพระธรรม อย่างไหน สำคัญยิ่งหย่อนกว่ากัน

พระธรรมมีความหมายกว้าง หมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดครับ ซึ่งครอบคลุม พระวินัยด้วย แต่เมื่อใช้คำว่า ธรรมและวินัย ธรรมในที่นี้จะหมายถึง พระสูตรและพระอภิธรรม ในความเป็นจริงแล้ว ทั้ง ๓ ปิฎก มีความสำคัญเสมอกันทั้งหมด เพราะคำทุกคำเป็นพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นครับ เพียงแต่ว่าสำคัญโดยนัยไหน กับผู้ใด และแสดงโดยนัยใด ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 14 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยบัญญัติแต่ละสิกขาบท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง เพื่อให้พระภิกษุได้สำรวมระวัง ไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทนั้นๆ อันจะเป็นไปเพื่อฝึกหัดกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว โอกาสที่จะล่วงละเมิดสิกขาบท ก็ย่อมจะมีได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่หนักที่สุด เมื่อต้องเข้าแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที ซึ่งต้องศึกษาพระวินัยแต่ละข้อๆ ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ถ้าหากว่าตนเองได้กระทำผิดในข้อใดก็หนึ่งใน ๔ ข้อ ก็คือ ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้คนอื่นจะไม่รู้ก็ตาม ถ้าหากว่าเกิดความสงสัย ไม่สบายใจในการกระทำดังกล่าวว่าจะผิดหรือไม่อย่างไร ควรเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ หรือ พระเถระที่มีความรู้ในทางพระวินัย ให้ท่านได้อธิบายให้ฟัง เพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องต่อไป

เมื่อต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ไม่สามารถเป็นบรรพชิตต่อไปได้อีก ต้องลาสิกขาออกมาเป็นคฤหัสถ์ หรือ บวชเป็นสามเณร ก็จะไม่เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรค ผล นิพพาน สามารถเป็นคนดีได้ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม

อาบัติแต่ละกองๆ มีโทษต่างกัน กล่าวคือ

อาบัติปาราชิก ต้องเข้าแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที

อาบัติสังฆาทิเสสต้องเข้าแล้ว ต้องประพฤติวัตรที่เรียกว่าอยู่กรรม (วุฏฐานวิธี) ตามพระวินัย จึงจะพ้นจากอาบัตินี้ได้

อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ต้องเข้าแล้ว ต้องสละวัตถุสิ่งของนั้นก่อนจึงจะแสดงอาบัติตก

อาบัติที่เหลือ เมื่อต้องเข้าแล้ว สามารถออกจากอาบัติดังกล่าวนี้ได้ ด้วยแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน แสดงถึงความจริงใจที่จะสำรวมระวังต่อไป

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอาบัติหนักหรือเบา ถ้าไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมีโทษแก่ภิกษุรูปนั้น เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรคผลนิพพาน และถ้ามรณภาพในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของการบวชว่า บวชเพื่ออะไร ก็จะทำให้ละเลยถึงกิจที่ตนเองควรทำให้สมกับเพศที่สูงยิ่งกว่าคฤหัสถ์ คือ ละเลยในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด การประพฤติปฏิบัติก็ย่อมจะผิดไปด้วย ทำให้มีความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ต้องอาบัติด้วยความไม่ละอาย โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นโทษเป็นภัยอย่างไร เป็นไปตามการสะสมของแต่ละคนแต่ละท่านจริงๆ ตามความเป็นจริงแล้ว

ความเป็นบรรพชิตเป็นเพศที่สูงยิ่ง ถ้ารักษาไม่ดี ก็ย่อมมีแต่จะทำให้เกิดโทษแก่ตนเองโดยส่วนเดียว คร่าไปสู่อบายภูมิได้เลยทีเดียว ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์สูงสุดของการบวช ก็จะเป็นผู้ศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยความจริงใจ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ

พระธรรมวินัย เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำทุกพยัญชนะ เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อละคลายกิเลส เพื่อกำจัด (วินัย แปลว่า กำจัด) กิเลส จนกว่าจะถึงกาละที่กิเลสจะดับหมดสิ้นไป ทั้งหมดนั้น ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม ทั้งพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม ศึกษาเมื่อใด เข้าใจเมื่อใดก็เป็นประโยชน์เมื่อนั้น เพราะความเข้าใจพระธรรมวินัย ไม่มีความเสียหายใดๆ เลย มีแต่ประโยชน์โดยส่วนเดียว เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ความดีประการต่างๆ เจริญขึ้น ทำให้ถอยห่างจากอกุศลไปตามลำดับ จนกว่าจะสามารถละได้จนหมดสิ้น

บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมเท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 14 มี.ค. 2555

เมื่อปาราชิกแล้ว ถ้าไม่สึกก็เป็นเครื่องกั้น มรรค ผล นิพพาน แต่ถ้าสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ หรือ บวชเป็นสามเณร ก็ไม่เป็นเครื่องกั้น ยังสามารถอบรมปัญญาได้ และบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
dets25226
วันที่ 14 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

ชัดเจนครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pat_jesty
วันที่ 14 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
camiya007
วันที่ 26 ก.พ. 2557

ถ้าดูหนังเกี่ยวกับเซ็กส์ จะเกิดผลอะไรบ้างสำหรับ พระภิกษุ ครับ บอกให้ละเอียดหน่อยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 13 พ.ค. 2557

ไม่สมควร ต้องอาบัติใหญ่ได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jirat wen
วันที่ 23 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
swanjariya
วันที่ 5 ม.ค. 2560

อนุโมทนาขอบคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ