ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

 
pirmsombat
วันที่  1 มี.ค. 2555
หมายเลข  20668
อ่าน  5,268

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 720

. เวนสาขชาดก

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

[๗๑๒] ดูก่อนพรหมทัตกุมาร

ความเกษมสำราญ ภิกษาหารหาได้ง่าย

และความเป็นผู้สำราญกายนี้

ไม่พึงมีตลอดกาลเป็นนิตย์

เมื่อประโยชน์ของตนสิ้นไป

ท่านอย่าเป็นผู้ล่มจมเสียเลย

เหมือนคนเรือแตก ไม่ได้ที่พึ่งอาศัย

ต้องจมอยู่ในท่ามกลางทะเล

ฉะนั้น.

[๗๑๓] บุคคลทำกรรมใด ย่อมมองเห็นกรรมนั้นในตน

ผู้ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว

บุคคลหว่านพืชเช่นใด ผลย่อมงอกขึ้นเช่นนั้น.

[๗๑๔] ปาจารย์ได้กล่าวคำใดไว้ว่า

ท่านอย่าได้ทำบาปกรรมที่ทำแล้ว

จะทำให้เดือดร้อนในภายหลังเลย

คำนั้นเป็นคำสอนของอาจารย์เรา.

[๗๑๕] ปิงคิยปุโรหิตนั้น ย่อมบ่นเพ้อแสดง

ต้นไทรนี้ว่ามีกิ่งแผ่ไพศาล สามารถให้ความ

ชนะได้ เราได้ให้ฆ่ากษัตริย์ผู้ประดับด้วย

ราชาลังการ ลูบไล้ด้วยแก่นจันทน์แดงทั้งพัน

พระองค์เสีย ที่ต้นไม้ใด ต้นไม้นั้น บัดนี้

ไม่อาจทำการป้องกันอะไรแก่เราได้ ความ

ทุกข์อันนั้นแหละกลับมาสนองเราแล้ว.

[๗๑๖] พระนางอุพพรีอัครมเหสีของเรา มี

พระฉวีวรรณงามดังทองคำ ลูบไล้ตัวด้วย

แก่นจันทน์แดง ย่อมงามเจริญตา เหมือน

กับกิ่งไม้สิงคุอันขึ้นตรงไป ไหวสะเทือนอยู่

ฉะนั้น เรามิได้เห็นพระนางอุพพรีแล้ว คง

จักต้องตายเป็นแน่ การที่เราไม่ได้เห็นพระ-

นางอุพพรีนั้น จักเป็นทุกข์ยิ่งกว่ามรณทุกข์นี้อีก

จบ เวนสาขชาดกที่ ๓

อรรถกถาเวนสาขชาดกที่ ๓

พระศาสดาเมื่อทรงอาศัยตำบลสุงสุมารคีรีในแขวงภัคคชนบท

ประทับอยู่ในเภสกฬาวัน ทรงปรารภโพธิราชกุมาร จึงตรัสพระ-

ธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า นยิทํ นิจฺจํ ภวิตพฺพํ ดังนี้

ครั้งนั้นพระโอรสของพระเจ้าอุเทนนามว่า โพธิราชกุมาร

ประทับอยู่ ณ สุงสุมารคีรี รับสั่งให้เรียกช่างไม้ผู้ชำนาญศิลปะ

คนหนึ่งมาให้สร้างปราสาทชื่อโกกนุท โดยสร้างไม่ให้เหมือนกับ

พระราชาอื่นๆ ก็แหละครั้นให้สร้างเสร็จแล้ว มีพระทัยตระหนี่ว่า

ช่างไม้คนนี้จะพึงสร้างปราสาทเห็นปานนี้ แก่พระราชาแม้องค์อื่น

จึงให้ควักนัยน์ตาทั้งสองข้างของช่างไม้นั้นเสีย. เพราะเหตุนั้น แม้

ความที่พระโพธิราชกุมารให้ควักนัยน์ตาของช่างไม้นั้น ก็เกิดปรากฏ

ในหมู่ภิกษุสงฆ์. เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย จึงนั่งสนทนากันใน

โรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย ได้ยินว่า โพธิราชกุมารรับสั่งให้

ควักนัยน์ตาทั้งสองข้างของนายช่างไม้เห็นปานนั้น โอ ! ช่างกักขฬะ

หยาบช้า สาหัสนัก. พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุ

ทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้น

กราบทูลว่า เรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน โพธิราชกุมารนี้ก็เป็นผู้กักขฬะ

หยาบช้า สาหัส เหมือนกันและในบัดนี้เท่านั้นยังไม่สิ้นเชิง แม้ใน

กาลก่อน โพริราชกุมารนี้ก็ให้ควักพระเนตรของกษัตริย์ ๑,๐๐๐ องค์

ให้ปลงพระชนม์ทำพลีกรรมด้วยเนื้อของกษัตริย์ ๑,๐๐๐ องค์นั้น

แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี

พระโพธิสัตว์ได้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์อยู่ในเมืองตักกศิลา

ขัตติยมาณพและพราหมณมาณพในพื้นชมพูทวีป พากันเรียน

ศิลปะในสำนักของพระโพธิสัตว์นั้นเอง พระโอรสแม้ของพระเจ้า

พาราณสี นามว่า พรหมทัตกุมาร ก็เรียนพระเวททั้ง ๓ ในสำนัก

ของพระโพธิสัตว์นั้น. แต่ตามปกติ พรหมทัตกุมารนั้นได้เป็นผู้

กักขฬะ หยาบช้า ทารุณ. พระโพธิสัตว์รู้ว่าพรหมทัตกุมารนั้นเป็น

ผู้กักขฬะ หยาบช้า ทารุณ ด้วยอำนาจวิชาดูอวัยวะ ได้กล่าวสอนว่า

ดูก่อนพ่อ เธอเป็นผู้กักขฬะ หยาบช้า ทารุณ ความเป็นใหญ่ที่ได้

ด้วยความหยาบช้า ย่อมไม่ดำรงอยู่นาน เมื่อความเป็นใหญ่พินาศไป

คนผู้หยาบช้านั้นย่อมไม่ได้ที่พึ่งเหมือนคนเรือแตกไม่ได้ที่พึ่งพำนักใน

สมุทรฉะนั้น เพราะฉะนั้น เธออย่าได้เป็นผู้เห็นปานนั้น ดังนี้ จึงได้

กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-

ดูก่อนพรหมทัตกุมาร ความเกษม

สำราญ ๑ ภิกษาหารที่หาได้ง่าย ๑ ความ

เป็นผู้สำราญกายนี้ ๑ ไม่พึงมีตลอดกาล

เป็นนิตย์ เมื่อประโยชน์ของตนสิ้นไป ท่าน

อย่าได้เป็นผู้ล่มจมเลย เหมือนคนเรือแตกไม่ได้ที่พึ่งอาศัย

จมอยู่ในท่ามกลางทะเล ฉะนั้น.

บุคคลทำกรรมใด ย่อมเห็นกรรมนั้น

ในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว

ย่อมได้ผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ผล

ย่อมงอกขึ้นเช่นนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขตา จ กาเย ความว่า

ดูก่อนพ่อพรหมทัต ความเกษมสำราญก็ตาม ความมีภิกษาที่หาได้ง่าย

ก็ตาม หรือความสบายกายก็ตาม ทั้งหมดนี้ ย่อมไม่มีเป็นนิตย์

คือตลอดกาลทั้งปวงแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ก็ความเกษมสำราญเป็น

ต้นนี้เป็นของไม่เที่ยงมีความไม่มีเป็นธรรมดา. บทว่า อตฺถจฺจเย

ความว่า ท่านนั้น ในเมื่อความเป็นใหญ่ปราศจากไปโดยความเป็นของ

ไม่เที่ยงคือ เพราะประโยชน์ของตนล่วงไป อย่าได้เป็นผู้ล่มจม

เหมือนคนเรือแตก เมื่อไม่ได้ที่พึ่งอาศัยในท่ามกลางสาคร ย่อมเป็น

ผู้จมลงฉะนั้น. บทว่า ตานิ อตฺตนิ ปสฺสติ ความว่า บุคคลผู้

ประสบผลของกรรมเหล่านั้น ชื่อว่าเห็นกรรมในตน.

พรหมทัตกุมารนั้นไหว้อาจารย์แล้วไปถึงนครพาราณสี แสดง

ศิลปะแก่พระบิดา แล้วดำรงอยู่ในตำแหน่งอุปราช เมื่อพระบิดา

สวรรคตแล้ว ก็ได้เสวยราชสมบัติ. ท้าวเธอมีปุโรหิตชื่อว่าปิงคิยะ

เป็นคนกระด้างหยาบช้า เพราะความโลภในยศ เขาจึงคิดว่า ถ้ากระไร

เรายุให้พระราชานี้จับพระราชาทุกองค์ในชมพูทวีปทั้งสิ้น เมื่อ

เป็นอย่างนี้ พระราชานี้จักเป็นพระราชาแต่พระองค์เดียว แม้เรา

ก็จะได้เป็นปุโรหิตแต่ผู้เดียว. ปุโรหิตนั้นทำให้พระราชานั้นเชื่อถือ

ถ้อยคำของตน. พระราชาจึงยกกองทัพใหญ่ออก ล้อมนครของ

พระราชาองค์หนึ่งแล้วจับพระราชาองค์นั้น. พระราชานั้นยึดราช-

สมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น ด้วยอุบายนี้นั่นแหละ ห้อมล้อมด้วย

พระราชา ๑,๐๐๐ องค์ ได้ไปด้วยหวังว่า จักยึดราชสมบัติในนคร-

ตักกศิลา. พระโพธิสัตว์ปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมพระนครกระทำให้เป็น

นครที่คนอื่นกำจัดไม่ได้. ฝ่ายพระเจ้าพาราณสีให้วงม่านที่โคนต้นไทร

ใหญ่ริมแม่น้ำคงคา แล้วให้ทำเพดานข้างบน ลาดที่บรรทมแล้ว

พักอยู่. ท้าวเธอแม้จะพาเอาพระราชา ๑,๐๐๐ องค์ ในพื้นชมพูทวีป

ออกรบอยู่ ก็ไม่อาจยึดเมืองตักกศิลาได้ จึงตรัสถามปุโรหิตว่า ท่าน

อาจารย์ พวกเรามาพร้อมกับพระราชาเหล่านี้ ไม่สามารถยึดเมือง

ตักกศิลาได้ควรจะทำอย่างไรดี. ปุโรหิตกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า

เราทั้งหลายจงควักนัยน์ตาของพระราชา ๑,๐๐๐ พระองค์แล้วปลง

พระชนม์เสีย ผ่าท้องถือเอาเนื้ออร่อย ๕ ชนิด กระทำพลีกรรมแก่

เทวดาผู้บังเกิดอยู่ที่ต้นไทรนี้ แล้ววงรอบต้นไทรด้วยเกลียวพระอันตะ

แล้วเจิมด้วยโลหิต ชัยชนะจักมีแก่พวกเราอย่างเร็วพลันทีเดียว ด้วย

อุบายอย่างนี้. พระราชาทรงรับว่า ดีละ แล้ววางคนปล้ำผู้มีกำลัง

มากไว้ภายในม่าน ให้เรียกพระราชามาทีละองค์ แล้วให้ทำให้สลบ

ด้วยการบีบรัดแล้วควักเอานัยน์ตาแล้วฆ่าให้ตาย เอาแต่เนื้อไว้

ลอยซากศพไปในแม่น้ำคงคา ให้ทำพลีกรรมมีประการดังกล่าวแล้ว

ให้ตีกลองบวงสรวงแล้วเสด็จไปรบ. ครั้งนั้น ยักษ์ตนหนึ่งชื่ออัชชิสกตะ

มาควักพระเนตรเบื้องขวาของพระเจ้าพาราณสีนั้นแล้วก็ไป. เวทนา

ใหญ่หลวงเกิดขึ้นแล้ว ท้าวเธอได้รับเวทนา จึงเสด็จไปบรรทม

หงายบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ณ โคนต้นไทร. ขณะนั้น แร้งตัวหนึ่ง

คาบเอากระดูกชิ้นหนึ่งซึ่งมีปลายคมกริบ มาจับอยู่บนยอดไม้ กินเนื้อ

หมดแล้วทิ้งกระดูกลงมา ปลายกระดูกลอยมาตกลงที่พระเนตรซ้าย

ของพระราชา ทำพระเนตรทั้งสองแตกไปเหมือนหลาวเหล็กแทง

ฉะนั้น. ขณะนั้น ท้าวเธอจึงกำหนดได้ถึงถ้อยคำของพระโพธิสัตว์.

พระองค์จึงทรงบ่นเพ้อว่า อาจารย์ของเรากล่าวไว้ว่า สัตว์เหล่านี้

ย่อมเสวยวิบากอันสมควรแก่กรรม เหมือนบุคคลเสวยผลอันสมควร

แก่พืช ดังนี้ เห็นจะเป็นเหตุนี้จึงกล่าวไว้ แล้วได้กล่าวคาถา

๒ คาถาว่า :-

ปาจารย์ได้กล่าวคำรดไว้ว่า ท่านอย่า

ได้ทำบาปกรรมที่ทำแล้วจะทำให้เดือดร้อน

ในภายหลัง คำนั้นเป็นคำสอนของอาจารย์เรา.

ปิงคิยปุโรหิตนั้น มาบ่นเพ้อแสดงต้น

ไทรนี้ว่า มีกิ่งแผ่ไพศาล มีเดชานุภาพ

สามารถให้ความชนะได้ เราได้ให้ฆ่ากษัตริย์

ผู้ประกอบด้วยราชอลังการ ลูบไล้ด้วยแก่น

จันทน์แดง ถึงพันพระองค์ ที่ต้นไม้ใด

บัดนี้ ต้นไม้นั้นไม่อาจทำการป้องกันอะไร

แก่เราได้ ความทุกข์อันนั้นแหละกลับมาสนองเวรแล้ว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ ตทาจริยวโจ ความว่า

คำนี้นั้น เป็นคำของอาจารย์. พระเจ้าพาราณสีตรัสเรียกอาจารย์นั้น

โดยโคตรว่า ปาจารย์. บทว่า ปจฺฉา กตํ ความว่า อาจารย์ได้

ให้ โอวาทว่า บาปใดที่เธอกระทำไว้ บาปนั้นจะทำเจ้าให้เดือดร้อน

ลำบาก ในภายหลัง เธออย่าทำบาปนั้นเลย ดังนี้ แต่เราไม่ได้กระทำ

ตามคำของอาจารย์นั้น. ปิงคิยปุโรหิตบ่นเพ้อแสดงต้นไทรว่า อยเมว

แปลว่า ต้นนี้แหละ. บทว่า เวนสาโข ได้_______แก่ มีกิ่งแผ่กว้างไป.

บทว่า ยมฺหิ จ ฆาตฺยึ ความว่า ให้ปลงพระชนม์กษัตริย์ ๑,๐๐๐

องค์ ที่ต้นไม้ใด. บทว่า อลงฺกเต จนฺทนสารลิตฺเต นี้ ท่าน

แสดงว่า เราให้ฆ่ากษัตริย์เหล่านั้น ผู้ประดับด้วยราชอลังการลูบไล้

ด้วยแก่นจันทน์แดง ที่ต้นไม้ใด ต้นไม้นั้น คือต้นนี้ บัดนี้ ไม่

สามารถกระทำการต้านทานอะไรแก่เรา. บทว่า ตเมว ทุกฺขํ ความว่า

พระเจ้าพาราณสีทรงร่ำไรว่า ทุกข์อันเกิดจากควักนัยน์ตาของคนอื่น

อันใด ที่เรากระทำแล้วทุกข์นี้กลับมาถึงเราเหมือนอย่างนั้นแหละ

บัดนี้ คำของอาจารย์เราถึงที่สุดแล้ว.

ท้าวเธอเมื่อทรงคร่ำครวญอยู่อย่างนี้แล ทรงหวนระลึกถึง

พระอัครมเหสี จึงกล่าว่าคาถาว่า :-

พระนางอุพพรีอัครมเหสีของเรา

มีพระฉวีวรรณดังทองคำ ลูบไล้ทาตัวด้วย

แก่นจันทน์แดง งดงามเจริญตา ยามเมื่อ

เยื้องกราย เหมือนกิ่งไม้สิงคุ ยามเมื่อต้อง

ลมอ่อนๆ ไหวสะเทือนอยู่ฉะนั้น เรามิได้

เห็นพระนางอุพพรีแล้ว เพราะตาบอด

จักตายแน่ การที่เราไม่ได้เห็นพระนางอุพพรีนั้น

จักเป็นทุกข์ยิ่งกว่ามรณทุกข์นี้เสียอีก

คำที่เป็นคาถานั้นมีความว่า พระนางอุพพรีอัครมเหสีเรา

มีพระฉวีวรรณงามดังทองคำ ยามเมื่อกระทำอิตถีวิลาศกิริยาเยื้อง

กรายของหญิงย่อมงดงาม เหมือนกิ่งไม้สิงคุที่ชี้ไปตรงๆ ยามถูกลม

อ่อนรำเพยพัดไหวโอนงามอยู่ฉะนั้น. บัดนี้ เราไม่ได้เห็นพระนาง-

อุพพรีนั้น เพราะนัยน์ตาทั้งสองข้างแตกไปแล้ว จักต้องตาย การที่

เรามองไม่เห็นพระนางอุพพรีนั้น จักเป็นทุกข์ยิ่งกว่ามรณทุกข์นี้.

พระเจ้าพาราณสีนั้นทรงบ่นเพ้ออยู่อย่างนี้ ตายแล้วบังเกิดใน

นรก. ปุโรหิตผู้อยากได้ความเป็นใหญ่ไม่อาจทำการต้านทานพระเจ้า

พาราณสีนั้น ไม่อาจทำความเป็นใหญ่แก่ตน. เมื่อพระเจ้าพาราณสี

นั้นพอสวรรคตเท่านั้น พลนิกายต่างพากันแตกสานซ่านเซ็นไป.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประ-ชุมชาดกว่า.

พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นโพธิราชกุมาร ปิงคิยปุโรหิต ได้เป็นพระเทวทัต

อาจารย์ทิศาปาโมกข์ในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาเวนสาขชาดกที่ ๓

__


  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kinder
วันที่ 1 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ พี่วิีระยุทธ์ และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pirmsombat
วันที่ 2 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณผู้ร่วมเดินทาง และ ทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Yongyod
วันที่ 3 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ