เจอคนไม่ถูกใจ ไม่ชอบ ทำอย่างไรดี?

 
dets25226
วันที่  30 ม.ค. 2555
หมายเลข  20469
อ่าน  3,082

อยู่ในสังคมเดียวกัน ต้องทำงานร่วมกัน และมีเหตุจะพบเจอมากมาย

เราควรทำอย่างไรดีในข้อนี้ ... เป็นทุกข์มากครับ?

ด้วยความเคารพอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นธรรมดาของปุถุชน เมื่อยังมีกิเลส ก็ย่อมเกิดอกุศล มีความพอใจติดข้องในสิ่งต่างๆ และเพราะอาศัย ความพอใจ ติดข้องในสิ่งต่างๆ ก็เป็นเหตุให้ มีความไม่ชอบไม่พอใจในสิ่งต่างๆ ได้เป็นธรรมดา

ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมหลากหลายนัย เพื่อเกื้อกูลให้ผู้ที่ฟังและพุทธบริษัทละคลายอกุศลที่เกิดขึ้น และเกิดกุศลจิตแทนอกุศลที่เกิดขึ้น

สำหรับการพบเจอสิ่งต่างๆ อันไม่เป็นที่รัก ไม่มีใครห้ามได้ ให้ไม่ให้เจอ เพราะมีเหตุก็ต้องเห็นรูปนั้น ต้องได้ยินเสียงนั้น และก็เพราะ มีสัญญาที่เคยทรงจำเอาไว้ ที่ทำให้เกิดความไม่ชอบ ความรู้สึกไม่ดี ที่เป็น โทมนัสเวทนา เมื่อได้เห็น ได้ประจวบกับอารมณ์นั้นอีกก็เกิดความขุ่นเคืองใจได้เป็นธรรมดา

ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เป็นเหตุละอกุศล กุศลเจริญ เมื่อได้พบกับบุคคลที่ไม่ชอบ ด้วยการพิจารณาธรรมดังนี้ครับ

ประการที่ ๑. พิจาณาโดยความเป็นญาติกันในสังสารวัฏฏ์ สัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดมาในสังสาวัฏฏ์ เกิดมาในฐานะต่างๆ กันมากมาย ทั้งเคยเป็นบิดาและมารดาเรามาแล้ว เมื่อเคยเป็นมารดาเรา เคยดูแล อุ้มท้องและให้สิ่งดีๆ กับเรามากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรมีเมตตาและเข้าใจถึงความมีพระคุณของบุคคลนั้น แม้บุคคลนั้นจะทำไม่ดีกับเรา แต่เขาก็เคยมีพระคุณกับเรานั่นเอง ควรเข้าใจและอดทน ในบุคคลที่เคยมีพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 30 ม.ค. 2555

ประการที่ ๒. พิจารณาส่วนที่ดีของบุคคลอื่น ทุกคนที่ยังเป็นปุถุชนยังมีกิเลสสะสมมามากมาย ไม่เว้นแม้แต่เรา เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีกิเลสเกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมและก็มีการล่วงเกินทางกายและวาจา ตามกำลังของกิเลสที่แต่ละคนสะสมมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นคนไม่ดีไปทั้งหมด ส่วนที่ดี ก็อาจจะมีบ้าง ดังนั้นควรพิจารณาส่วนที่ดีของเขา แม้เพียงเล็กน้อย เมื่อมีการกระทำไม่ดีกับเรา ก็เข้าใจถึงความเป็นธรรมดาของปุถุชนที่จะต้องมีทุกคนรวมทั้งเราด้วย จึงพิจารณาส่วนที่ดีของเขานั่นเอง ครั

ประการที่ ๓. พิจารณาโดยความเป็นธาตุ คือ เป็นธรรมเท่านั้น ในความเป็นจริงมีแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ขณะที่ไม่ชอบ ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เราที่ไม่ชอบ และที่คิดว่ามีคนที่ไม่ชอบ ก็เป็นเพียงความคิดเท่านั้นที่เกิดขึ้น สิ่งที่มีจริง จึงเป็นแต่เพียงธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูปเท่านั้นที่เกิดขึ้นและดับไป ดังนั้น จะโกรธใครในเมื่อมีแต่ธรรมครับ

อกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งนั้น หนทางเดียวที่จะค่อยๆ ขัดเกลา หรือละคลายอกุศลให้เบาบางลง ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เข้าใจอกุศลว่าเป็นอกุศล อกุศล ให้ผลที่เป็นทุกข์ ไม่นำประโยชน์มาให้เลย ถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจว่า เป็นธรรมจริงๆ ความโกรธความขุ่นเคืองใจ ความไม่ชอบก็จะค่อยๆ เบาบางลงได้ ตามกำลังของปัญญา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 30 ม.ค. 2555

ที่สำคัญควรเข้าใจความจริงของสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น แม้แต่ความไม่โกรธ ความขุ่นใจที่เกิดขึ้นก็พราะมีกิเลสที่สะสมมามาก เมื่อได้ยินเสียงที่ไม่ดีก็ทำให้เกิดโทสะได้เป็นธรรมดาครับ ซึ่งผู้ที่จะไม่เกิดโทสะอีกเลย คือถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีนั่นเองครับ ดังนั้นหนทางในการอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลสได้จริงๆ นั้น จะต้องดับกิเลสไปตามลำดับขั้น ไม่ใช่จะไม่ให้โทสะเกิดเลย ต้องเกิดแน่นอนครับ แต่หนทางในการอบรมปัญญา คือ เข้าใจสิ่งที่เกิดแล้ว แม้โทสะที่เกิดขึ้น ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะการพิจารณาถูก ไม่เกิดโทสะในขณะนั้น แต่เดี๋ยวก็เกิดโทสะอีก เพราะการคิดพิจารณาถูก เพียงความคิดนึกยังไม่ใช่หนทางในการดับกิเลส ดังนั้นเริ่มจากความเห็นถูกว่า ควรเข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เมื่อเข้าใจดังนั้น ก็จะละกิเลสเป็นลำดับขั้นจนถึงความไม่มีโทสะได้ในอนาคตครับ แต่ต้อง เริ่มจากความเห็นถูกเบื้องต้นก่อนครับว่า ปัญญาเบื้องต้นต้องเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใชเรา แม้แต่โทสะที่เกิดขึ้นครับ

สรุป คือ ไม่ต้องทำอะไร เพียงฟังพระธรรม และ พิจารณาพระธรรมตามกำลังของปัญญา ความไม่ชอบยังมีอยู่ และความทุกข์ยังมีอยู่ หากยังต้องพบ ประสบเจอกับสิ่งนั้น แต่ก็ให้รู้ความจริงว่า นี่คือ กิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว และก็ยังไม่สามารถละได้ ความทุกข์ เกิดขึ้น หนทางเดียว คือ ฟังพระธรรมต่อไป ก็จะค่อยๆ ละทุกข์ ละอกุศลได้ แต่ไม่ทันที แต่ค่อยๆ อบรมไปทีละเล็กละน้อย ก็จะละอกุศลได้ในที่สุดครับ เพราะหากยิ่งจะทำก็จะ ยิ่งทุกข์ เข้าใจความจริงในสิ่งที่เกิดแล้วครับว่า หากยังเป็นปุถุชนก็ยังต้องทุกข์อยู่ร่ำไป แต่กัลยาณปุถุชน รู้ว่าทุกข์แล้ว จึงศึกษา อบรมปัญญามากขึ้นนั่นเองครับ เป็นกำลังใจ ให้ด้วยความเข้าใจพระธรรมครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 30 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปกติในชีวิตประจำวัน บุคคลแต่ละบุคคล มีอกุศลมากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งความติดข้องยินดีพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นต้น แต่ถ้าถึงกับที่จะต้องล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นนั้น ขณะนั้นแสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสว่ามีมาก ผู้ที่มีปัญญา ท่านจึงเห็นโทษแม้ในอกุศลเพียงเล็กน้อย การที่บุคคลประพฤติไม่ดีประการต่างๆ แท้ที่จริง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย แต่เป็นเพราะ อกุศลธรรมที่มีกำลังเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้น เมื่อพบเห็นบุคคลผู้ประพฤติไม่ดีเช่นนี้ จึงไม่ควรที่จะเพิ่มกิเลสให้กับตนเองด้วยการไปโกรธหรือผูกโกรธเขา (ขณะที่เราโกรธเขา ก็เป็นอกุศลของเราเอง และไม่เป็นมิตรกับบุคคลนั้นด้วย) แต่ควรที่จะสงสารเขา เพราะเมื่อเขาทำไม่ดี ผลที่ไม่ดีย่อมเกิดขึ้นแก่เขาอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวเรา เป็นเพื่อนร่วมงานกัน เป็นต้น ก็ควรที่จะให้คำแนะนำที่ดีให้เขาเห็นโทษของอกุศล ให้เห็นคุณประโยชน์ของกุศล ตามกำลังของความเข้าใจของตนเอง และเป็นความจริงที่ว่า ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อมีเหตุที่จะทำให้ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา ถ้าเป็นผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจสภาพธรรม ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มีความเข้าใจว่าเป็นธรรมจริงๆ แล้ว ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ก็จะลดน้อยลง ทุกอย่างเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นจริงๆ จึงไม่ควรโกรธใครเลยทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวัน อย่างแท้จริง ทำให้ทุกคนมีที่พึ่ง นั่นก็คือ ปัญญา (ความเข้าใจถูก) ของแต่ละบุคคล นั่นเอง ครับ

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
dets25226
วันที่ 31 ม.ค. 2555

ขอบคุณคำแนะนำที่อนุเคราะห์ให้ผมได้พิจารณาและนำไปใช้ในทางที่ควร

ผมมีความเข้าใจว่า ทุกข์นั้น มีเหตุมาจากตัวเราเองทั้งสิ้น เพราะเหตุแห่งกิเลสของเราที่ได้สั่งสมมานานแสนนาน ก็ได้แต่หวังว่า จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อพ้นจากทุกข์นี้เสียที

ได้ศึกษาแล้ว ก็เห็นว่า ธรรมนั้น มีสภาวะเช่นใด และได้รู้ว่า อันไหนเป็นกุศล อันไหนเป็นอกุศล ดีมากครับ ...ฯ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 31 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ไม่เป็นศัตรูกับใคร แม้เขาจะเป็นศัตรูกับเรา"

"ควรที่จะเมตตากับบุคลที่ทำไม่ดีกับเรา"

"ทุกข์มากก็เกิดมาจากใจตนเอง"

"เขาไม่ได้ทุกข์ไปกับเรา"

ขอบคุณ และขออนุโมทนา อ.ผเดิม, อ.คำปั่นด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 31 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
thorn
วันที่ 31 ม.ค. 2555

สภาพธรรม เป็นไปตามเหตุปัจจัย ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ความจริงคือ จิตนั้นวิจิตรในการสั่งสมกรรมและกิเลส และจิตนั้นเองวิจิตรในการรักษาไว้ซึ่งวิบากที่กรรมและกิเลสสั่งสมไว้นั้น

เพราะมีอกุศลกรรมที่สั่งสมมานาน ทำให้ต้องมาประสบกับอกุศลวิบาก เป็นความไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ กับคนที่ร่วมงานกัน แล้วก็เป็นทุกข์กับอกุศลวิบากนั้น โดยไม่เข้าใจตามความเป็นจริงว่า อกุศลวิบาก เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่อยากให้เป็น กุศลวิบาก คือ ไม่ต้องพบกับคนที่ไม่ชอบใจ ไม่ทำงานกับคนที่ไม่ถูกใจ แล้วก็เป็นทุกข์เดือดร้อน แต่ถ้าเข้าใจตามความเป็นจริงว่า เพราะมีเหตุมีปัจจัย จึงทำให้ต้องมาทำงานที่นี้ และเราจะอยู่ต่อไปโดยไม่เป็นทุกข์ ก็ควรสร้างเหตุปัจจัยให้ทุกข์นั้น ลดน้อยลง ด้วยการมีเมตตาต่อเพื่อนร่วมงานทุกคน เป็นมิตรกับคนที่รู้สึกไม่ดี หรือ อื่นๆ ....

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 1 ก.พ. 2555

กุศลและอกุศลเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ตามการสะสม ธรรมที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับโทสะ คือเมตตา เมตตาจริงๆ คือ ความรู้สึกเป็นมิตร หวังดี เกื้อกูล แสวงหาสิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์กับคนนั้น การอบรมเมตตาเป็นการขัดเกลากิเลส ขัดเกลาโทสะด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 1 ก.พ. 2555

แม้แต่พระพุทธองค์ซึ่งเป็นบุคคลที่เลิศประเสริฐที่สุด

ก็ยังมีคน (ต่างลัทธิ) ไม่ชอบพระองค์เลยค่ะ

จะทำอะไรได้กับกิเลสของคนอื่น

ที่ทุกข์เพราะยังไม่เข้าใจสภาพธรรม (ตามความเป็นจริง)

อยากเปลี่ยนจากไม่ชอบให้เป็นชอบ จากไม่ดีให้เป็นดี

ทั้งๆ ที่ทุกอย่างเสมอกันโดยความเป็น ... ธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
tookta
วันที่ 4 ก.พ. 2555

ด้วยหน้าที่ของการทำงานเราก็ต้องจำเป็นที่จะต้องติดต่อกับผู้ที่เราไม่ค่อยชอบ เราก็ต้องอดทนที่จะต้องประสานงานต่างๆ ให้ลุล่วงจะได้ไม่เกิดความเสียหายกับงานที่เราทำ และการที่เราไม่ชอบเขา เราเท่านั้นที่จะเป็นผู้ทุกข์ใจนะคะ (เพราะฉะนั้น เราไม่ชอบเขา เราก็อย่าไปยุ่งกับเขาน่าจะดีกว่านะคะ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องพูดคุยกับเขาก็คุยเท่าที่จำเป็นก็แล้วกันนะคะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
tookta
วันที่ 6 มี.ค. 2555

โดยปกติเราจะเป็นคนที่ไม่ค่อยถือสาหรือถือโกรธใคร แต่วันนี้เราเกือบตะบะแตก ด้วยหน้าที่การงาน อาจจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันก็ได้ เราก็คุยกับเขาดีๆ ด้วยเหตุผลว่า งานที่เราทำถูกต้อง ซึ่งในความจริงเราก็อาจจะผิดก็ได้ แต่เขาก็ใส่อารมณ์กับเรา ตอนแรกเราก็โมโหนะ แต่ก็ต้องทำใจคิดว่าคนเราไม่เหมือนกัน (ก็คิดว่าใครทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น) เราเลยไม่ค่อยชอบเขาเลย เขาเป็นคนที่หลงตนเองและชอบยกตนข่มท่าน ซึ่งเพื่อนๆ ของเราหลายคนก็ไม่ค่อยชอบเขานะ แต่เราก็มานึกว่าถ้าเราไม่ชอบเขา เรานั้นแหละที่จะเป็นทุกข์ ก็เลยไม่เอาเขามาใส่ใจน่าจะดีกว่านะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ